เศรษฐกิจไทยในปี 2559 จะขยายตัวร้อยละ 3.1-3.2 จากร้อยละ 2.8 ในปี 2558 จากการบริโภคภาคเอกชนที่ฟื้นตัวตามรายได้เกษตรกร มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ การใช้จ่ายภาครัฐ และการท่องเที่ยวภายในประเทศ
ในปี 2560 สถาบันหลายแห่งประมาณการว่าเศรษฐกิจไทยจะขยายตัวร้อยละ 3.2-4.0 แรงขับเคลื่อนสำคัญมาจากการลงทุนภาครัฐอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน ขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นผลให้ภาคเอกชนเกิดความเชื่อมั่นและเร่งการลงทุน โดยรัฐบาลมุ่งที่จะให้ปี 2560 เป็น ปีทองของการลงทุนไทย โดยมุ่งเน้นการลงทุนที่มีความสมดุลทั้งเศรษฐกิจภายนอกและภายใน ตามแนวทาง “ประเทศไทย 4.0” ประกอบกับการเร่งผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการท่องเที่ยวในอาเซียน คาดว่าจะมีรายได้จากการท่องเที่ยวจากนักท่องเที่ยวต่างชาติราว 1.78 ล้านล้านบาท ซึ่งจะเพิ่มขึ้นประมาณร้อยละ 8.5 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจไทยในปี 2560 ยังเผชิญหน้ากับความเสี่ยงต่างๆ รวมทั้งความผันผวนของตลาดการเงินโลกและการเคลื่อนย้ายเงินทุนระหว่างประเทศตามทิศทางการปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยของ Fed ภาคการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อมจากนโยบายเศรษฐกิจของรัฐบาลสหรัฐฯ ที่มีต่อประเทศคู่ค้าหลักของไทยอย่างประเทศจีน และสถานการณ์น้ำท่วมในภาคใต้
สำหรับเศรษฐกิจโลกในปี 2560 IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 3.4 จากร้อยละ 3.1 ในปี 2559 จากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจสหรัฐฯ จีนและอินเดียเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ความไม่แน่นอนเกี่ยวกับนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักร รวมทั้งแนวโน้มการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของธนาคารกลางสหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง จะส่งผลกระทบต่อกระแสเงินทุนของโลกและอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศต่างๆ
เศรษฐกิจสหรัฐอเมริกาในปี 2560 คาดว่าจะได้แรงสนับสนุนจากนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ผ่านนโยบายเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ตลอด 4 ปี การยกเลิกภาษีมรดก การลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาและภาษีเงินได้นิติบุคคลลงเหลือ 15% และลดภาษีเหลือ 10% สำหรับการนำเงินฝากในต่างประเทศกลับประเทศ โดย IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ จะขยายตัวสูงร้อยละ 2.3 จากร้อยละ 1.6 ในปี 2559 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังมีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจ และค่าเงินดอลลาร์สหรัฐฯ ที่มีแนวโน้ม แข็งค่าขึ้น ซึ่งจะกระทบการส่งออกสหรัฐฯ และอาจทำให้เกิดความผันผวนในตลาดการเงินโลกเพิ่มขึ้น
ขณะที่เศรษฐกิจยูโรโซนในปี 2560 จะมีความเสี่ยงจากการที่ศาลฎีกาตัดสินว่า รัฐบาลต้องนําข้อเสนอในการเจรจาเพื่อออกจากยุโรปไปผ่านความเห็นชอบของรัฐสภาก่อนนำไปดำเนินการ ทำให้ การออกจากสหภาพยุโรปของสหราชอาณาจักรอาจยืดเยื้อ นอกจากนี้ เศรษฐกิจยุโรปยังเผชิญกับความ ไม่แน่นอนทางการเมือง เนื่องจากจะมีการเลือกตั้งหลายประเทศในยุโรป โดย IMF ประมาณการว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะปรับตัวดีขึ้นเล็กน้อยที่ร้อยละ 1.6 ขณะที่เศรษฐกิจสหราชอาณาจักรจะชะลอตัวมาอยู่ที่ร้อยละ 1.5 จากร้อยละ 2.0 ในปี 2559
เศรษฐกิจญี่ปุ่นในปี 2560 IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.8 โดยแรงขับเคลื่อนมาจากมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจทางการคลังและการใช้จ่ายภาครัฐ รวมทั้งการบริโภคภาคเอกชนที่จะดีขึ้น เนื่องจากมีการเลื่อนการขึ้นภาษีบริโภคจากร้อยละ 8 เป็นร้อยละ 10 จากเม.ย. 2560 เป็นต.ค. 2562 อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจญี่ปุ่นมีความเสี่ยงจากความผันผวนของค่าเงินเยน และการขาดแคลนแรงงาน จากปัญหาโครงสร้างประชากรที่มีผู้สูงอายุจำนวนมาก ซึ่งจะเป็นอุปสรรคต่อภาคการลงทุนและ การขยายตัวของเศรษฐกิจ
ด้านเศรษฐกิจจีนในปี 2560 จะชะลอตัวลงเล็กน้อย โดย IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวร้อยละ 6.5 จากร้อยละ 6.7 ในปี 2559 จากความคาดหวังของนโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการเงินและการคลัง มากขึ้น เพื่อลดผลกระทบจากนโยบายกีดกันทางการค้าของสหรัฐอเมริกา และการอ่อนค่าของเงินหยวน ขณะที่เงินสำรองระหว่างประเทศของจีนลดลงอย่างต่อเนื่องเพื่อพยุงค่าเงินหยวนไม่ให้อ่อนค่าเร็วเกินไป แต่ยังอยู่ในระดับที่สูงมาก จึงยังไม่เป็นปัญหาทางด้านเสถียรภาพทางการเงินระหว่างประเทศในระยะสั้น
เศรษฐกิจอาเซียนในปี 2560 IMF ประมาณการว่าจะขยายตัวต่อเนื่องที่ร้อยละ 4.9 จากร้อยละ 4.8 ในปี 2559 เนื่องจากจะได้รับอานิสงส์จากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่เพิ่มขึ้น ภายหลังจากกลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมัน (OPEC) และรัสเซียตกลงปรับลดกำลังการผลิตน้ำมัน ซึ่งจะส่งผลให้การส่งออกสินค้าของประเทศอาเซียนขยายตัวเพิ่มขึ้น อย่างไรก็ตาม เศรษฐกิจอาเซียนอาจจะเผชิญหน้ากับกระแสเงินทุนไหลกลับเข้าสหรัฐฯ ขณะที่นโยบายกีดกันทางการค้าของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ต่ออาเซียนค่อนข้างจำกัด
ประเด็นเศรษฐกิจที่น่าสนใจ
สภาข่าวกรองแห่งชาติของสหรัฐฯ จะออกรายงานสำคัญประเมินสถานการณ์โลก ทุกๆ 4 ปี ก่อนเข้ารับตำแหน่งของประธานาธิบดีคนใหม่ ครั้งนี้ใช้ชื่อว่า ความขัดแย้งของความก้าวหน้า (Paradox of Progress) โดยคาดว่าจะมี 4 แนวโน้มสำคัญ ได้แก่
1. ความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างประเทศต่างๆจะมากขึ้น ทั้งในประเทศและระหว่างประเทศ
2. การเติบโตของโลกจะชะลอตัว
3. ความร่วมมือระดับสากลจะเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อความร่วมมือระหว่างรัฐบาล ขณะที่ความแตกต่างในค่านิยมและผลประโยชน์จะคุกคามความมั่นคงระหว่างประเทศ
4. ความไม่แน่นอนในสหรัฐฯ และความอ่อนแอของหลักการป้องกันความขัดแย้ง และสิทธิมนุษยชนจะส่งเสริมให้จีนและรัสเซียท้าทายอิทธิพลของสหรัฐฯ มากขึ้น ซึ่งนำไปสู่ความเสี่ยงของความขัดแย้งระหว่างประเทศในระดับที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน
แนวโน้มของโลกและผลกระทบต่อเศรษฐกิจพอสรุปได้ดังนี้
1. การเปลี่ยนแปลงของประชากรอาจทำให้ประเทศกำลังพัฒนามีบทบาทมากขึ้น
ประชากรของโลกจะเข้าสู่สังคมสูงอายุและมีแนวโน้มย้ายถิ่นฐานเข้าสู่เมืองมากขึ้น การขยายตัวของประชากรโลกจะช้าลง ขณะที่อายุเฉลี่ยของประชากรโลกจะเพิ่มขึ้น โดยองค์การสหประชาชาติ (UN) คาดว่าประชากรวัยแรงงานของโลกจะหดตัวอย่างมากจาก 1.2 พันล้านคนในช่วงปี 2538-2558 เหลือ 850 ล้านคนในปี 2558-2578 โดยเฉพาะในประเทศจีนและรัสเซีย แต่จะขยายตัวสูงในประเทศกำลังพัฒนา การพัฒนาทักษะแรงงานและการศึกษาจะเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้ประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนาเกิดความเท่าเทียมกัน
2. การเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจมาก ทั้งประเทศพัฒนาแล้วและกำลังพัฒนาด้วยเทคโนโลยีใหม่
ประเทศพัฒนาแล้วจะพยายามรักษาการขยายตัวทางเศรษฐกิจ ขณะที่ประเทศกำลังพัฒนา จะมุ่งเน้นแก้ปัญหาความยากจนและผลักดันเศรษฐกิจจากการเติบโตของประชากรวัยทำงานสูง โดยทั้ง 2 กลุ่มประเทศได้รับแรงกดดันในการสร้างภาคการจ้างงานในสาขาใหม่ๆ เพื่อทดแทนการเปลี่ยนแปลงของภาคการผลิตที่เน้นใช้ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีชั้นสูงมากขึ้น
3. เทคโนโลยีอัตโนมัติจะก้าวสู่ภาคการผลิตเต็มรูปแบบ
ระบบอัตโนมัติและเทคโนโลยีระดับสูงจะมีบทบาทมากขึ้น อาจเข้ามาแทนที่แรงงานและจะตอกย้ำความแตกต่างทางฐานะทางเศรษฐกิจและสังคมของแต่ละประเทศสูงขึ้น
4. ความคิดทางการเมืองจะเป็นไปตามความต้องการของกลุ่มคนและเป็นประชานิยม
การเชื่อมโยงของโลกที่เติบโตท่ามกลางการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอจะเพิ่มความตึงเครียดภายในและระหว่างสังคมมากขึ้น โดยในช่วง 20 ปีข้างหน้า ประชานิยมจะเพิ่มสูงขึ้น ผู้นำทางการเมือง จะใช้นโยบายเศรษฐกิจแบบประชานิยมในการควบคุมประเทศ และเกือบทุกประเทศจะกระตุ้นสถานะและบทบาทความเป็นผู้นำของสตรี
5. การบริหารประเทศทำได้ยากขึ้นเพราะมีความแตกต่างทางความคิดสูง
เนื่องจากมีข้อจำกัดทางการคลัง การเมือง ความสามารถในการบริหาร และการทุจริตของรัฐบาล ทำให้ช่องว่างระหว่างรัฐบาลและประชาชนเพิ่มมากขึ้น อาจส่งผลให้การดูแลประเทศยากลำบาก ทำให้เกิดความไม่แน่นอนทางการเมืองสูงและเพิ่มโอกาสการชุมนุมประท้วงของประชาชน
6. ความขัดแย้งที่มากขึ้น อาจนำไปสู่การขาดเสถียรภาพในทางการเมืองและเศรษฐกิจ
ความเสี่ยงของความขัดแย้งจะเพิ่มขึ้นในช่วง 20 ปีต่อจากนี้ อาทิ จากการแสวงหาผลประโยชน์ของกลุ่มมหาอำนาจ ซึ่งอาจนำพาไปสู่ภัยคุกคามจากก่อการร้าย โดยความรุนแรงของความขัดแย้งจะหวนกลับมาสูงขึ้นอีกครั้ง แต่มาในรูปแบบที่เปลี่ยนแปลงไป ส่วนหนึ่งมาจากความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและการพัฒนาบริบททางการเมืองทั่วโลก
7. การเปลี่ยนแปลงทางภูมิอากาศ สิ่งแวดล้อมและสุขภาพอาจนำไปสู่ความร่วมมือที่ใกล้ชิดขึ้น
ในอนาคตทั่วโลกจะต้องเผชิญกับสภาพอากาศที่รุนแรงมากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมกับประเทศต่างๆ ทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคม หรือความมั่นคงทางอาหาร ดังนั้น จึงมีความจำเป็นที่ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันเตรียมรับความพร้อมรับมือสถานการณ์ต่างๆ ที่จะเกิดขึ้น