(ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญา ได้เข้าสู่การพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) วาระที่หนึ่งแล้ว เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 10 พฤศจิกายน 2559 ที่ผ่านมา ซึ่งอยู่ในความสนใจของประชาชนจำนวนมาก
รวมถึงกระผมเอง ที่มีโอกาสทำงานอยู่ในสำนักพัฒนาความยั่งยืนของเครือเจริญโภคภัณฑ์ (เครือฯ) และได้พูดคุยอยู่ตลอดจนถึงมีความร่วมมือกับหน่วยงานระดับโลกเช่น FAO ผู้ซึ่งเมื่อกลางปีที่แล้วได้มีการออก Legal Guide on Contract Farming อันเกิดจากการทำงานร่วมกันของหลายหน่วยงานระดับโลก ทั้ง UNIDROIT, FAO และ IFAD ในการกำหนดแนวทางเกษตรพันธสัญญาที่ส่งเสริมทั้งความสัมพันธ์ของคู่สัญญาและเป็นธรรม โดย FAO มองว่าเกษตรพันธสัญญาเป็นสิ่งที่ดี ช่วยส่งเสริมระบบเศรษฐกิจ รวมทั้งกระจายความรู้และรายได้ให้เกษตรกรแต่ต้องมีการกำหนดเงื่อนไขให้มีความสมดุล มีความเป็นธรรม
ทั้งนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นบริษัทแรกๆ ของโลกที่ได้นำ Legal Guide on Contract Farming มาประยุกต์ใช้ในระบบเกษตรพันธสัญญาของ ตัวเอง โดยเริ่มต้นจากปศุสัตว์ ไก่ หมู ที่มีเกษตรกรประมาณ 5,000 ราย ก็ได้ปรับรูปแบบสัญญาตามแนวทาง FAO แล้วทั้งสิ้น
โดยหลักการสากลนั้นได้มีการกำหนดแนวทางที่ดีไว้หลายข้อ ในที่นี้กระผมจะขอยกตัวอย่างที่เป็นประเด็นสำคัญสามข้อด้วยกันคือ 1) สัญญาจะต้องมีความโปร่งใสในกระบวนการรับซื้อหรือขบวนการส่งมอบสินค้า ซึ่งความโปร่งใสนี้หมายรวมถึงการระบุราคารับซื้อ วิธีคำนวณราคารับซื้อ วิธีการขั้นตอนการรับซื้อ เช่น การชั่งน้ำหนักสุกร วิธีการชำระค่าตอบแทน และระยะเวลาในการชำระค่าตอบแทนกับเกษตรกร 2) สัญญาควรจะต้องระบุอย่างชัดเจนในเรื่องภาระหน้าที่และความรับผิดชอบของทั้งบริษัทและเกษตรกร ซึ่งภาระหน้าที่และความรับผิดชอบนั้นรวมไปถึงวิธีการส่งมอบและราคาของวัตถุดิบที่บริษัทต้องส่งมอบให้เกษตรกร กระบวนการผลิต มาตรฐานโรงเรือนและวิธีการเลี้ยงที่เกษตรกรต้องปฏิบัติตาม 3) สัญญาควรมีการคำนึงถึงการแบ่งรับความเสี่ยงในกรณีเหตุสุดวิสัยและโรคระบาดที่เหมาะสม
นอกจากนี้ เกษตรพันธสัญญาของเครือฯ ยังได้นำให้คณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ตรวจสอบว่ามีแนวทางที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล ตามแนวทาง FAO ซึ่งได้ผลตอบรับที่ดี
ขณะเดียวกัน FAO ยังได้นำรูปแบบสัญญาของเครือฯ ไปนำเสนอในประเทศอื่นๆ เป็นตัวอย่างของแบบอย่างที่ดีอีกด้วย
สุดท้ายนี้ กระผมอยากฝากถึงผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการร่าง ตลอดจนพิจารณา (ร่าง) พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาระบบเกษตรพันธสัญญาฉบับใหม่ว่า กระผมมีความยินดีเป็นอย่างยิ่ง ที่ได้ทราบว่าคณะร่างกฎหมายฉบับนี้ได้มีการเก็บรวบรวมข้อมูลจากเกษตรกรภายใต้เกษตรพันธสัญญาจากที่ต่างๆ ซึ่งเป็นเจตนารมณ์ที่ดีอย่างยิ่ง แต่จากการที่กระผมได้ติดตามเรื่องเกษตรพันธสัญญามาระยะเวลาหนึ่ง ทำให้ค้นพบว่าความเข้าใจเกี่ยวกับเกษตรพันธสัญญาในสังคมไทยนั้น มีทั้งเรื่อง ที่ถูก และเรื่องที่คลาดเคลื่อนไปมาก ดังนั้นการเก็บรวบรวมข้อมูลจึงมีความจำเป็นต้องเก็บรวบรวมข้อมูลอย่างครบถ้วน รอบด้าน ครบทุกแง่มุม
และขอเสนอให้ (ร่าง) พ.ร.บ.ฉบับใหม่นี้ ควรยึดถือตามรูปแบบเกษตรพันธสัญญาที่เป็นสากล ตามแนวทาง FAO ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สหประชาชาติ เพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อส่วนรวม ซึ่งรวมไปถึงความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของเกษตรกรภายใต้ระบบ พันธสัญญา