“ไม่ควรวางไข่ทั้งหมดไว้ในตระกร้าใบเดียว” คือแนวคิดของผมในช่วงหลังจากวิกฤตเศรษฐกิจเอเชียผ่านพ้นไปแล้ว ผมเห็นถึงความจำเป็นที่จะต้องกระจายความเสี่ยงเพื่อลดผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นกับธุรกิจของเครือฯ เราได้เพิ่มความสำคัญของการขยายธุรกิจ เช่น โรงงานอาหารสัตว์ และโรงงานแปรรูปไปยังประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ กิจการในแต่ละประเทศประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการดำเนินงานที่เวียดนามมีการขยายตัวเติบโตขึ้นอย่างชัดเจน
ในประเทศจีน เครือเจริญโภคภัณฑ์ ทำธุรกิจด้านอาหารสัตว์มาเป็นเวลานาน แต่เพื่อให้จีนเป็นฐานการส่งออกผลิตภัณฑ์อาหารไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลกนอกเหนือจากประเทศไทย เราได้ไปสร้างโรงงานผลิตอาหารที่เมืองฉินหวงเต่า (Qinhuangdao) มณฑลเหอเป่ย (Hebei) และเมืองชิงเต่า (Qingdao) มณฑลซานตง (Shandong) เพื่อเตรียมพร้อมส่งออกอาหารแปรรูปจากจีนไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก ในอดีตเครือเจริญ-โภคภัณฑ์จะเป็นฝ่ายขยายการลงทุนในจีนเป็นหลัก แต่เมื่อเร็วๆ นี้ เราได้ชักชวนให้บริษัทจากจีนเข้ามาลงทุนในไทยบ้าง เช่น บริษัท ไชน่า โมบายล์ (China Mobile) ผู้ให้บริการโทรศัพท์เคลื่อนที่รายใหญ่ระดับโลกได้เข้ามาถือหุ้น บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) 18% และ บริษัท เซี่ยงไฮ้ ออโต้โมทีฟ อินดัสทรี คอร์ปอเรชั่น จำกัด (SAIC) บริษัทรถยนต์ขนาดใหญ่ที่สุดในจีนได้ร่วมลงทุนกับเครือฯ ตั้งโรงงานประกอบรถยนต์ “เอ็มจี” (MG) ขึ้นในประเทศไทย
นอกจากนี้ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ขยายธุรกิจในระดับโลก เรายังสร้างโรงงานปรับปรุงคุณภาพข้าวที่ใหญ่และทันสมัยที่สุดในโลกขึ้นที่จังหวัดพระนครศรีอยุธยา โดยมีการส่งออก “ข้าวหอมมะลิตราฉัตร” จำนวนมากสู่ตะวันออกกลางและทวีปแอฟริกา สำหรับประเทศตลาดเกิดใหม่อย่างตุรกีและอินเดีย เราได้สร้างธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหารครบวงจร ตั้งแต่โรงงานผลิตอาหารสัตว์จนถึงการแปรรูปเนื้อไก่อีกด้วย
ในทวีปยุโรป เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ซื้อบริษัทท็อปส์ฟู้ดส์ (Top’s Foods) ซึ่งเป็นธุรกิจผลิตอาหารพร้อมรับประทานของเบลเยี่ยม ท็อปส์ฟู้ดส์ได้รับสิทธิบัตรนวัตกรรมการฆ่าเชื้อโรคด้วยคลื่นไมโครเวฟ ซึ่งเป็นเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดของโลกในปัจจุบัน ทำให้อาหารสามารถเก็บในอุณหภูมิปกติได้เป็นเวลานาน โดยมีกำลังการผลิตอาหารพร้อมรับประทานวันละ 100,000 กล่อง และส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปกว่า 10 ประเทศ
การที่รัสเซียลดค่าเงินรูเบิลได้นำมาซึ่งโอกาส จากการที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ กำลังขยายธุรกิจไก่เนื้อครบวงจร โดยได้ซื้อฟาร์มไก่เนื้อในรัสเซียเพื่อให้ได้ส่วนแบ่งการตลาด 5% นอกจากนี้ยังได้สร้างกิจการเลี้ยงหมูครบวงจร เพื่อให้รัสเซียเป็นฐานการส่งออกสินค้าไปยังสหภาพยุโรปของเครือฯ ด้วย
แก่นของเครือฯ
ยิ่งกิจการขยายไปทั่วโลกมากเพียงใด “ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” ที่เครือเจริญ-โภคภัณฑ์ยึดมั่นในการดำเนินธุรกิจอันได้แก่ การคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติ ประโยชน์ต่อประชาชน และสุดท้ายจึงเป็นประโยชน์ต่อบริษัท ก็ยิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเท่านั้น ไม่ว่าเครือฯ จะเข้าไปลงทุนในประเทศใด ก็จะยึดถือปรัชญานี้เป็นหลักในการดำเนินธุรกิจมาตลอด เพราะหากคิดแต่จะเอาประโยชน์เข้าบริษัทก่อน ก็จะมองข้ามการคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติและประโยชน์ต่อประชาชน ในที่สุดก็จะไม่ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลและประชาชนประเทศนั้นๆ ธุรกิจของเราก็ไม่สามารถเติบโตและเจริญก้าวหน้าได้
อย่างไรก็ตาม บนเส้นทางการดำเนินธุรกิจที่ยึดมั่นปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน ที่มีความเชื่อว่าการคำนึงถึงประโยชน์ต่อประเทศชาติและประชาชนก่อนเป็นสิ่งถูกต้องนั้น ก็มักจะพบอุปสรรคอยู่เสมอ แม้ว่าเครือฯ จะตั้งใจปฏิบัติอย่างเต็มที่ แต่ก็ยังมีผู้ที่ไม่เข้าใจ ออกมาวิพากษ์วิจารณ์และโจมตี ถึงจะไม่สบายใจแต่ผมก็น้อมรับคำวิจารณ์เหล่านั้นด้วยความเคารพ แล้วนำมาวิเคราะห์ ไตร่ตรอง และปรับปรุงแก้ไขให้ดียิ่งขึ้น
ปีพ.ศ. 2547 ประเทศไทยเกิดการระบาดของไข้หวัดนกอย่างรุนแรง เกษตรกรได้รับผลกระทบจนยากลำบากมาก เครือฯ ได้ร่วมมือกับภาครัฐคิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงไก่ระบบสุขาภิบาลและการป้องกันโรคที่มีประสิทธิภาพ นอกเหนือจากโรงเรือนระบบปิดที่ได้รับการพัฒนามาก่อนหน้านี้แล้ว จึงช่วยป้องกันการระบาดของเชื้อโรคที่มากับนกและไก่ได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ในที่สุดเราก็สามารถควบคุมการระบาดของโรคได้
ในส่วนของธุรกิจเลี้ยงกุ้ง เราได้คิดค้นนวัตกรรมการเลี้ยงกุ้งในโรงเรือนระบบปิดแบบครบวงจรที่มีความปลอดภัยทางชีวภาพโดยไม่ใช้ยาปฏิชีวนะชื่อว่า “ฟาร์มร้อยเพชร” ขึ้นที่จังหวัดตราดในปีพ.ศ. 2550 ซึ่งได้ช่วยคลายความกังวล และสร้างความมั่นใจให้กับผู้บริโภคได้อย่างมาก ฟาร์มแห่งนี้สามารถป้องกันเชื้อโรคที่อาจปนเปื้อนมากับอากาศ น้ำ และดินเข้าสู่ฟาร์มเลี้ยงกุ้ง มีระบบบำบัดน้ำที่ใช้ในการเลี้ยงกุ้งและยังป้องกันการรั่วไหลออกสู่ภายนอก ผ่านการรับรองตามระบบมาตรฐานสากลด้านสิ่งแวดล้อมจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
เพื่อพัฒนาบรรดาผู้บริหารในอนาคตของเครือฯ ให้มีศักยภาพในการสรรสร้างธุรกิจใหม่ มาขับเคลื่อนองค์กร เราจึงได้ลงทุนสร้างศูนย์พัฒนาผู้นำขึ้นที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา ที่สามารถรองรับคนได้ถึง 300 คน ซึ่งนอกจากจะใช้ประโยชน์สำหรับฝึกฝนผู้นำให้มีมุมมองระดับโลกและแนวคิดที่เปิดกว้างแล้ว เรายังต้องการที่จะให้พวกเขาได้ซึมซับใน “ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืน” ของเครือฯ ด้วย
แม้ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์จะขยายกิจการไปทั่วโลก ผมและครอบครัวเจียรวนนท์ต่างรู้สึกสำนึกในบุญคุณของแผ่นดินไทยอยู่เสมอ ย้อนไปตั้งแต่ครั้งปฏิวัติวัฒนธรรมในจีนที่รัฐบาลได้ยึดสวนเกษตรและทรัพย์สินของคุณพ่อไปทั้งหมด การที่ท่านได้มาเริ่มต้นธุรกิจใหม่ในประเทศไทยด้วยการเปิดร้านจำหน่ายเมล็ดพันธุ์ผัก จนเวลาผ่านไปเกือบ 1 ศตวรรษ กิจการได้เจริญก้าวหน้า ขยายการเติบโตไปอีกหลายธุรกิจ รวมถึงขยายการลงทุนไปสู่ระดับโลกในวันนี้ ก็ด้วยพระมหากรุณาธิคุณใต้ร่มพระบรมโพธิสมภาร รวมถึงประเทศไทยที่สงบร่มเย็น และคนไทยเปี่ยมไปด้วยจิตใจที่โอบอ้อมอารี
เครือเจริญโภคภัณฑ์ภาคภูมิใจในความเป็นบริษัทไทย สำนักงานและโรงงานของเครือฯ ทั่วโลก จะมีธงชาติไทยที่โบกไสวในทุกประเทศที่เราเข้าไปลงทุน
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO05323880X20C16A7BC8001/