ปีพ.ศ. 2540 ปีที่ต้องจดจำ...เมื่อวันที่ 1 กรกฎาคม พ.ศ. 2540 สหราชอาณาจักรส่งมอบคืนเกาะฮ่องกงสู่ประเทศจีน ผมตอบรับคำเชิญให้เป็นที่ปรึกษาของคณะทำงานบริหารเกาะฮ่องกง และเข้าร่วมทำงานเพื่อเตรียมการส่งมอบอำนาจการปกครองคืนให้เกาะฮ่องกง เช้าตรู่ของวันที่ 1 กรกฎาคม ผมเข้าร่วมพิธีส่งมอบคืนเกาะฮ่องกง ซึ่งมีประธานาธิบดีเจียง เจ๋อหมิน และผู้นำจีนท่านอื่นๆ เข้าร่วมพิธีด้วย
ในวันต่อมา คือวันที่ 2 กรกฎาคม ผมเดินทางจากฮ่องกงกลับกรุงเทพฯ พอลงจากเครื่องบินไม่นานก็รู้ว่าเกิดเรื่องใหญ่ขึ้นแล้ว
เรื่องท้าทายใหญ่ที่สุดในชีวิตผม
ประเทศไทยใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนคงที่มาเป็นเวลานาน โดยกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนไว้ที่ 25 บาทต่อ 1 ดอลลาร์สหรัฐ ทำให้การค้า การลงทุน เงินกู้ และธุรกรรมทางการเงินระหว่างไทยกับต่างประเทศจึงไม่เคยได้รับผลกระทบด้านความเสี่ยงจากการเปลี่ยนแปลงค่าเงิน
บริษัทไทยสามารถกู้เงินจากต่างประเทศได้โดยง่าย จึงขยายกิจการกันอย่างเต็มที่ รวมทั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เช่นเดียวกัน
อย่างไรก็ตาม ในปีพ.ศ. 2539 บัญชีเดินสะพัดของไทยเริ่มขาดดุลหนัก หลายคนเห็นว่าเงินบาทต่อดอลลาร์มีมูลค่าเกินจริง การขาดดุลอย่างหนักนี้ตกเป็นเป้าของนักฉวยโอกาส ทำการโจมตีค่าเงิน โดยการถล่มขายเงินบาท รัฐบาลไทยพยายามรักษาค่าเงินโดยการเข้าแทรกแซงซื้อเงินบาทในตลาด แต่ก็ไม่ประสบความสำเร็จ
ในวันที่ 2 กรกฎาคม รัฐบาลยกเลิกระบบค่าเงินคงที่ และประกาศใช้ระบบแลกเปลี่ยนลอยตัวเงินบาท ค่าเงินบาทเมื่อเทียบกับค่าเงินดอลลาร์ก็ลดฮวบลง
ภายในครึ่งปีเงินตราสกุลท้องถิ่นในประเทศแถบเอเชียอื่นๆ ก็ถูกนักลงทุนเทขาย อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราระหว่างประเทศตกต่ำเป็นประวัติการณ์ เป็นสัญญาณว่าวิกฤตการเงินเอเชียได้มาถึงแล้ว
เดือนมกราคมพ.ศ. 2541 ค่าเงินบาทอ่อนตัวลงไปอยู่ที่ 50 บาทต่อ 1 ดอลลาร์ หรือเท่ากับเงินบาทมีมูลค่าลดลง 1 เท่า นั่นหมายความว่าเงินกู้จากต่างประเทศเมื่อคิดเป็นเงินบาทแล้ว ผู้กู้จะมีภาระต้องหาเงินมาชำระหนี้เพิ่มขึ้นเป็นทวีคูณทันที
ธนาคารต่างประเทศเกรงว่าจะไม่ได้รับชำระเงินกู้คืนจากลูกหนี้แถบภูมิภาคเอเชีย จึงไม่ยอมปล่อยเงินกู้ให้ประเทศในแถบนี้ ไม่เพียงเท่านั้น ธนาคารต่างประเทศยังขอให้เครือเจริญ-โภคภัณฑ์คืนเงินกู้ก่อนกำหนดเวลาชำระอีกด้วย สัญญาเงินกู้ระยะเวลา 5 ปี กลายเป็นโมฆะ มีเพียงไม่กี่ธนาคารเท่านั้นเช่น ธนาคาร HSBC ของอังกฤษ ที่ยอมยืดเวลาในการชำระคืนเงินกู้ให้แก่เครือฯ ตอนนั้นกิจการใหญ่ๆ ในทวีปเอเชียที่ขาดเงินทุนค่อยๆ ล้มละลายและสูญหายไปในที่สุด
ผมตั้งใจจะรักษาเครือเจริญโภคภัณฑ์เอาไว้ จึงตัดสินใจขายหุ้นของบริษัทลูกที่อยู่ในเครือฯ ทันที ช่วงนั้นโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ กำลังเจริญรุ่งเรืองถึงขีดสุด ผมจำต้องขายหุ้นจำนวน 75% ของโลตัสฯ ให้แก่บริษัทเทสโก้ของอังกฤษ ส่วนหุ้นของแม็คโคร (Makro) ซึ่งเป็นธุรกิจค้าส่งระบบสมาชิกได้ขายคืนให้บริษัท SHV ของเนเธอร์แลนด์ ส่วนที่เมืองจีนได้ขายบริษัทมอเตอร์ไซค์และหุ้นในอีกหลายบริษัท
ภายใต้วิกฤตครั้งนั้น เครือเจริญ-โภคภัณฑ์มุ่งเน้นการลงทุนใน 3 ธุรกิจหลัก ได้แก่ ธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ธุรกิจค้าปลีก และธุรกิจโทรคมนาคม และเมื่อปริมาณการผลิตอาหารเพิ่มมากขึ้น รวมถึงการส่งออกไปทั่วโลกที่ขยายตัวมากขึ้น จึงช่วยให้เครือฯ ได้รับเงินตราต่างประเทศกลับเข้ามาในมือ ในส่วนของธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อ 7-Eleven ที่เครือฯ บริหารอยู่นั้น เมื่อมีการขยายธุรกิจในรูปแบบการขายแฟรนไชส์ออกไปแทนที่จะเปิดร้านเอง ก็ทำให้ธุรกิจค้าปลีกของเครือฯ ก้าวหน้าไปได้รวดเร็วยิ่งขึ้น ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมมีรายได้เพิ่มขึ้นเมื่อเข้าสู่ธุรกิจ e-Money, e-Commerce และเคเบิลทีวี
ถือได้ว่าวิกฤตเศรษฐกิจครั้งนั้นเป็นปัญหายิ่งใหญ่ที่สุดที่ผมต้องเผชิญตั้งแต่เข้ามารับช่วงการบริหารเครือเจริญโภคภัณฑ์ แต่เป็นเพราะเราสามารถตั้งรับได้ทัน ไม่เพียงแต่จะไม่ล้มละลาย ตรงกันข้ามกลับสร้างความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจหลักของเครือฯ มากขึ้น ดังเช่นความหมายของคำว่า “วิกฤต” ในภาษาจีนที่มีความลึกซึ้งมาก โดยตัวอักษรจีนคำนี้ประกอบด้วยคำที่แปลว่า “ความเสี่ยง” และคำที่แปลว่า “โอกาส” ความหมายที่แฝงอยู่จึงมีทั้งความเสี่ยง แต่ก็ซ่อนไว้ซึ่งโอกาส
ต้นศตวรรษที่ 21 เครือเจริญโภคภัณฑ์ผ่านพ้นวิกฤตเศรษฐกิจมาได้ แล้วกลับมาเติบโตอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ในปีพ.ศ. 2556 เครือฯ ได้ซื้อหุ้นแม็คโครคืนจากบริษัท SHV ในส่วนของโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ที่เราเคยเป็นผู้บุกเบิกมาตั้งแต่ต้น ผมก็ตั้งใจจะซื้อกิจการกลับคืนมาจากบริษัทเทสโก้ แต่เรื่องนี้ต้องขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายเทสโก้ด้วย
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO05222040V20C16A7BC8001/