ช่วงเริ่มต้นของการทำธุรกิจแปรรูปอาหารนั้น เนื้อไก่และเนื้อหมูที่ได้รับการแปรรูปขั้นต้นแล้วของเครือเจริญโภคภัณฑ์ จะถูกส่งกระจายออกไปให้ตัวแทนจำหน่าย เช้าวันรุ่งขึ้นสินค้าจะวางจำหน่ายในตลาดสด แต่ด้วยอุณหภูมิเฉลี่ยตลอดปีของประเทศไทยสูงถึง 30 องศา ดังนั้นตลาดสดที่ไม่มีตู้แช่เย็นจะมีกลิ่นไม่พึงประสงค์เกิดขึ้น แน่นอนว่าถ้าสินค้าเน่าเสียและเสื่อมคุณภาพก็จะส่งผลกระทบต่อชื่อเสียงของเครือฯ ดังนั้นต้องหาวิธีแก้ปัญหากลิ่นไม่พึงประสงค์นี้ให้ได้
ในช่วงแรกเรานำผู้ค้าปลีกมารวมตัวกัน ให้พวกเขานำเนื้อสัตว์แปรรูปของเครือเจริญ-โภคภัณฑ์ใส่ตู้เย็นแล้วนำไปวางขาย ซึ่งตู้เย็นนี้เราเป็นฝ่ายจัดหาให้ อย่างไรก็ตาม สมัยนั้นระบบการขนส่งของไทยค่อนข้างล้าหลัง ด้วยเหตุนี้จึงยังไม่สามารถรับประกันคุณภาพของสินค้าได้อย่างเต็มที่ ปัญหานี้ทำให้ผมตระหนักว่า หากต้องการจะแก้ปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า และบริหารธุรกิจอาหารแบบครบวงจรให้สำเร็จนั้น จำเป็นที่เราจะต้องมีช่องทางการจัดจำหน่ายของธุรกิจค้าปลีกรายย่อยด้วย
ในขณะที่เรากำลังหาแนวทางแก้ไขปัญหา โอกาสก็มาถึงโดยไม่คาดคิด ต้นทศวรรษ 2520 SHV Holding Company ซึ่งเป็นบริษัทด้านพลังงานรายใหญ่ของเนเธอร์แลนด์ได้มาขอปรึกษากับผมว่า ต้องการจะทำธุรกิจถ่านหินที่ประเทศจีน เพราะสมัยนั้นมีเครือเจริญโภคภัณฑ์เป็นบริษัทต่างชาติเพียงรายเดียวที่เข้าไปทำธุรกิจในประเทศจีน
บริษัท SHV ต้องการที่จะซื้อถ่านหินจากประเทศจีน ขณะเดียวกันก็มีเป้าหมายจะขายท่าเรือลอยน้ำให้จีนด้วย เมื่อผมได้ช่วยประสานงานกับกระทรวงพลังงานของจีนจนเป็นที่เรียบร้อยและกำลังจะเริ่มดำเนินการแล้วนั้น สัญญาธุรกิจระหว่างสองฝ่ายกลับต้องยุติลง เนื่องจากรัฐบาลเนเธอร์แลนด์ขณะนั้นตัดสินใจขายเรือดำน้ำให้ไต้หวัน ส่งผลกระทบต่อความสัมพันธ์ทางการทูตระหว่างสองประเทศ
ถึงแม้ว่าธุรกิจถ่านหินจะเจรจาไม่สำเร็จ แต่ผมกับผู้บริหารระดับสูงของ SHV ก็กลายเป็นเพื่อนกัน บริษัท SHV นั้นมีแม็คโคร (Makro) เป็นบริษัทลูก ซึ่งดำเนินธุรกิจค้าส่งจำพวกผลิตภัณฑ์อาหารให้แก่ร้านอาหารและลูกค้ารายย่อยในรูปแบบ cash and carry คือ ลูกค้ามาซื้อสินค้าด้วยเงินสดและขนสินค้าไปเอง ผมตั้งใจว่าจะนำแม็คโครเข้ามาเปิดกิจการในประเทศไทย
ตอนนั้นผู้บริหารแม็คโครของ SHV ไม่เห็นด้วยนักและมีทีท่าห่วงใยว่า “รูปแบบการบริหารนี้อาจยังเร็วเกินไปสำหรับประเทศไทย” ผมจึงได้ไปพบประธานของ SHV ที่เนเธอร์แลนด์ด้วยตนเอง และพยายามโน้มน้าวท่าน ในที่สุดปีพ.ศ. 2531 เครือเจริญโภคภัณฑ์และบริษัท SHV ก็ได้จัดตั้งบริษัทร่วมทุนกัน และสร้างระบบโลจิสติกส์คุณภาพตามที่รอคอยมานาน ปีต่อมาก็ได้เปิดแม็คโคร สาขาแรกขึ้นในประเทศไทย โดยเพียงแค่ร้านอาหารและร้านค้าปลีกรายย่อยมาสมัครเป็นสมาชิกของแม็คโคร ก็สามารถซื้อสินค้าของเครือฯ ได้ในราคาพิเศษ
ลำดับต่อมาก็คือร้านสะดวกซื้อ ซึ่งการนำธุรกิจนี้เข้ามายังประเทศไทยนั้น ธนาคารเชส แมนฮัตตัน (Chase Manhattan Bank) ปัจจุบันคือ เจพี มอร์แกน เชส (J.P. Morgan Chase) ซึ่งสนิทสนมกับเรามีส่วนช่วยเหลือเป็นอย่างมาก ธนาคารฯ ช่วยจัดให้ผมไปเยี่ยมชมธุรกิจต่างๆ และได้พบปะกับบุคคลที่ผมต้องการในสหรัฐอเมริกา
ช่วงทศวรรษ 2520 กิจการ 7-Eleven ยังเป็นของบริษัท เซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น (The Southland Corporation) แห่งประเทศสหรัฐอเมริกาที่ก่อตั้งธุรกิจนี้ขึ้นมาตั้งแต่ปีพ.ศ. 2470 (ต่อมาได้ขายหุ้นให้กับบริษัท เซเว่น แอนด์ ไอ โฮลดิงส์ : Seven & i Holdings แห่งประเทศญี่ปุ่น ที่ได้กลายมาเป็นเจ้าของธุรกิจ 7-Eleven นับตั้งแต่ปีพ.ศ. 2534 จนถึงปัจจุบัน) ขณะนั้นตัวเลขผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ของคนไทยอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 1,000 ดอลลาร์สหรัฐ (ประมาณ 34,000 บาท) ต่อคนต่อปีเท่านั้น ร้านสะดวกซื้อจึงถูกมองว่ายังเร็วเกินไปที่จะเกิดธุรกิจนี้ในประเทศไทย แต่ผมไม่คิดเช่นนั้น เพราะถึงแม้ว่าผู้บริโภคคนไทยจะใช้จ่ายเงินต่อคนไม่สูง แต่จำนวนลูกค้าร้านสะดวกซื้อต่อร้านของไทยสูงถึง 15 เท่าของร้านสะดวกซื้อในสหรัฐอเมริกา ค่าเช่าพื้นที่และค่าจ้างพนักงานก็ถูกกว่า
ผมจึงเชิญมร. จอห์น พี ทอมป์สัน (Mr. John P. Thompson) ประธาน และ มร. เจอเรย์ ดับเบิลยู ทอมป์สัน (Mr. Jere W. Thompson) กรรมการผู้จัดการใหญ่ของเซาท์แลนด์ คอร์ปอเรชั่น ซึ่งเป็นสองพี่น้องตระกูลทอมป์สัน ทายาท มร. โจ ซี ทอมป์สัน ผู้ก่อตั้ง 7-Eleven มาสำรวจพื้นที่จริงที่เมืองไทย หลังจากที่ท่านทั้งสองมาดูแล้ว ก็เห็นด้วยกับความคิดของผม ในปีพ.ศ. 2532 เครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ได้เปิดร้านสะดวกซื้อ 7-Eleven สาขาแรกที่ถนนพัฒน์พงศ์ ซึ่งอยู่ใจกลางกรุงเทพฯ และเป็นแหล่งรวมของชาวต่างชาติ มีลูกค้าเข้ามาอุดหนุนจนเต็มร้านทุกวัน
ธุรกิจสุดท้ายคือร้านค้าปลีกขนาดใหญ่ ที่เราตั้งขึ้นช่วงกลางยุค 2530 ให้ชื่อว่า “โลตัส” หรือโลตัส ซูเปอร์เซ็นเตอร์ ที่ได้ขยายเครือข่ายร้านค้าไปอย่างรวดเร็ว มีศูนย์กระจายสินค้าทั่วประเทศไทย เรายังได้สร้างระบบโลจิสติกส์ทั้งแบบแช่เย็นและแช่แข็งอีกด้วย
ในที่สุดกลิ่นไม่พึงประสงค์จากตลาดสดในอดีตก็ได้รับการแก้ไขจนหมดสิ้น เมื่อเราสามารถสร้างช่องทางการจัดจำหน่ายธุรกิจค้าปลีกรายย่อยและการกระจายสินค้าไปสู่ผู้บริโภคอย่างมีประสิทธิภาพ นับแต่นั้นมาผลิตภัณฑ์ที่วางจำหน่ายของเครือฯ ก็สามารถมั่นใจในคุณภาพระดับสูงสุดได้ตลอดเวลา
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO05188050T20C16A7BC8001/