หากมีใครถามผมว่าจะสืบทอดและรักษากิจการให้คงอยู่ต่อไปได้อย่างไร ผมจะตอบว่า “วิธีการมีอยู่อย่างเดียวคือ “ต้องพัฒนาและคิดสร้างสรรค์สิ่งใหม่อย่างต่อเนื่อง” คุณพ่อของผมเริ่มจากการสร้างกิจการขายเมล็ดพันธุ์ พี่ๆ ก็ได้ช่วยกันขยายกิจการสู่ธุรกิจอาหารสัตว์ เมื่อผมเข้ามาสืบทอดการบริหารต่อ ก็พัฒนาธุรกิจอีกหลากหลายด้าน ได้แก่ เลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู เลี้ยงกุ้ง แปรรูปอาหาร ค้าปลีก โทรคมนาคม และอื่นๆ อย่างต่อเนื่อง จะเห็นว่าเราไม่เคยหยุดการพัฒนาเลย
ในช่วงทศวรรษ 2510 หลังจากทำธุรกิจเลี้ยงไก่ได้ไม่นาน ผมก็เริ่มทำธุรกิจเลี้ยงหมู ซึ่งก็มีรูปแบบคล้ายกับการเลี้ยงไก่ นั่นคือเครือเจริญ-โภคภัณฑ์ให้ลูกหมูแก่เกษตรกรเพื่อนำไปเลี้ยง หลังจากที่หมูโตแล้ว บริษัทก็จะรับซื้อกลับไป แล้วนำเนื้อหมูไปแปรรูปและขายเป็นอาหารต่อไป เครือฯ เป็นผู้สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูและจัดหาอาหารสัตว์ให้เกษตรกร ในช่วงทศวรรษที่ 2520 เครือฯ ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทในยุโรปและสหรัฐอเมริกา นำเข้าหมูที่ได้รับการปรับปรุงพันธุ์แล้วสู่ประเทศไทย อย่างไรก็ตาม เนื้อหมูของยุโรปและสหรัฐอเมริกาไม่ถูกปากคนไทยนัก ทำให้ เครือฯ ริเริ่มที่จะพัฒนาพันธุ์หมูขึ้นเองจนสำเร็จ สามารถนำหมูพันธุ์ใหม่ออกวางขายในตลาดได้ช่วงทศวรรษ 2530
กลับของแพงให้ถูกลง
กุ้งกุลาดำ เป็นกุ้งพันธุ์พื้นเมืองของประเทศไทย ซึ่งได้รับความนิยมจากผู้บริโภคเป็นอย่างมาก แต่สำหรับธุรกิจการเพาะเลี้ยงกุ้งนั้น แรกเริ่มมาจากประเทศญี่ปุ่นตั้งแต่ทศวรรษ 2500 แล้ว จากนั้นจึงถ่ายทอดไปยังไต้หวัน การที่ญี่ปุ่นมีชื่อเสียงในธุรกิจนี้มายาวนาน เครือฯ จึงเริ่มต้นธุรกิจเลี้ยงกุ้งโดยร่วมทุนกับบริษัทญี่ปุ่นก่อน แต่ปรากฏว่า กุ้งของญี่ปุ่นไม่เหมาะกับสภาพอากาศประเทศไทย
ขณะนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์มีธุรกิจอาหารสัตว์และธุรกิจเลี้ยงไก่ที่ไต้หวัน ประธานที่รับผิดชอบงานบริหารธุรกิจที่ไต้หวันได้อธิบายให้ผมฟังว่า “ธุรกิจเลี้ยงกุ้งที่ไต้หวันเองก็ประสบความสำเร็จอย่างมาก” ผมจึงเสนอกลับไปว่า “ถ้าคุณสนใจธุรกิจเลี้ยงกุ้ง ขอให้นำเทคโนโลยีของไต้หวันเข้ามาในประเทศไทย ผมจะให้คุณดูแลธุรกิจนี้”
สุดท้ายเราจึงตัดสินใจนำเทคโนโลยีจากไต้หวันเข้ามาเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำของประเทศไทย และภายหลังได้เปลี่ยนเป็นการเลี้ยงกุ้งขาวพันธุ์ L. Vannamei ซึ่งเป็นกุ้งสายพันธุ์อเมริกาใต้ที่ทนต่อโรคได้ดี
กระบวนการเลี้ยงกุ้ง ก็คล้ายคลึงกับกระบวนการเลี้ยงไก่ และหมู กล่าวคือ เราเริ่มจากการเลี้ยงลูกกุ้งก่อน หลังจากนั้นส่งลูกกุ้งให้เกษตรกรเลี้ยงกุ้งนำไปเลี้ยงต่อจนได้ขนาดที่ต้องการซื้อเพื่อนำมาแปรรูป เครือเจริญโภคภัณฑ์เริ่มส่งออกกุ้งกุลาดำที่เลี้ยงในประเทศไทยไปญี่ปุ่นตั้งแต่ปีพ.ศ. 2530 หลังจากนั้นจึงส่งออกไปยุโรปและสหรัฐอเมริกา
กุ้งกุลาดำได้เปลี่ยนแปลงวิถีการรับประทานอาหารของญี่ปุ่นเป็นอย่างมาก ทำให้ชาวญี่ปุ่นได้รับประทานกุ้งทอดและซูชิ ซึ่งเคยเป็นสินค้าราคาสูงสำหรับคนส่วนใหญ่ กลายเป็นอาหารที่เกือบทุกคนก็หาซื้อได้ จึงกล่าวได้ว่าทั้งกุ้งกุลาดำและไก่เนื้อของเราได้ออกไปสู่ตลาดโลกแล้ว
ลำดับถัดไป การแปรรูป
ขณะที่ธุรกิจของเครือฯ ในตอนนั้นเกี่ยวข้องกับการเลี้ยงไก่ หมู และกุ้ง ได้มีข้าราชการระดับสูงด้านปศุสัตว์ของไต้หวันท่านหนึ่งให้คำชี้แนะสำคัญแก่ผมที่นำไปสู่การต่อยอดธุรกิจว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ควรทำธุรกิจแปรรูปอาหาร”
ก่อนหน้านี้ แม้ว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ส่งออกเนื้อไก่เสียบไม้สำหรับทำไก่ย่างเสียบไม้ไปญี่ปุ่นแล้วก็ตาม แต่ก็ยังไม่มีผลิตภัณฑ์อาหารแปรรูปแช่แข็ง หลังจากช่วงปลายยุค 2520 แล้ว เมื่อไมโครเวฟเริ่มแพร่หลายในประเทศไทย จึงค่อยๆ มีการอุ่นอาหารแช่แข็งรับประทานกันในครอบครัว
เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงได้เพิ่มสายการผลิตอาหารแปรรูปจากเนื้อสัตว์และกุ้งในโรงงาน มีการผลิตไก่ทอดสไตล์ญี่ปุ่นและนักเก็ตไก่ทอด สเต็กหมู สเต็กกุ้ง เป็นต้น ในบรรดาอาหารเหล่านั้น บะหมี่เกี๊ยวกุ้งซึ่งทำมาจากเกี๊ยวกุ้งทั้งตัวเป็นผลิตภัณฑ์ยอดนิยมที่เราคิดค้นขึ้นมา เกี๊ยวกุ้งนั้นเนื้อแน่นและเด้ง โดยนำเกี๊ยว เส้นบะหมี่และน้ำซุปบรรจุลงภาชนะ แล้วนำไปเข้ากระบวนการแช่เยือกแข็ง (IQF) หลังจากนั้นนำผลิตภัณฑ์ออกจากโรงงานไปวางจำหน่าย สินค้าทุกตัวที่คิดค้นขึ้นมาใหม่ ผมจะต้องชิมและเสนอแนวทางการปรับปรุงด้วยตนเองทั้งสิ้น
รูปแบบการเลี้ยงไก่เนื้อและกุ้งกุลาดำที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ริเริ่มบุกเบิกขึ้นมา นับเป็นต้นแบบให้บริษัทอื่นๆ ในประเทศไทยจำนวนมากได้นำไปใช้และส่งออกไปญี่ปุ่นได้ในปริมาณมากเช่นเดียวกับเครือฯ ผมไม่ทันสังเกตว่าคนเริ่มเรียกประเทศไทยว่า “ครัวของญี่ปุ่น” ตั้งแต่เมื่อใด แต่ผมจะไม่หยุดเพียงแค่นี้...
ผมได้กำหนดวิสัยทัศน์มุ่งสู่การเป็น “ครัวของโลก” โดยเราจะก้าวออกจากเอเชียไปยังภูมิภาคอื่นๆ ทั่วโลกด้วย เมื่อปีพ.ศ. 2558 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้าซื้อกิจการ Top’s Foods ซึ่งเป็นโรงงานผลิตอาหารชนิดปรุงสุกของเบลเยี่ยม ผู้บริโภคชาวยุโรปจะได้มีโอกาสรับประทานอาหารจากโลกตะวันออกอย่างอาหารไทยที่มีความเป็นเอกลักษณ์ ที่สำคัญโรงงานแห่งนี้ยังเป็นโรงงานอาหารแปรรูประบบอัตโนมัติ (Automation) ที่ทันสมัยที่สุดของโลกในปัจจุบัน โดยใช้เจ้าหน้าที่ควบคุมเครื่องจักรเพียง 7 คน และเพื่อให้บริการด้านอาหารที่สะอาดและปลอดภัยแก่ผู้คนทั่วโลกได้อย่างเพียงพอ เครือฯ ยังเตรียมที่จะสร้างโรงงานแปรรูปอาหารแบบนี้ในอีกหลายๆ ประเทศ
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO05136160S6A720C1BC8001/