ปีพ.ศ. 2522 ฮ่องกงยังคงอยู่ภายใต้การปกครองของอังกฤษ มีหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ข้างๆ เกาะฮ่องกง เมืองนั้นคือ “เซินเจิ้น” ซึ่งมีประชากรอยู่เพียงไม่กี่หมื่นคน แตกต่างกับปัจจุบันที่เซินเจิ้นมีประชากรมากกว่า 10 ล้านคน สมัยนั้นเซินเจิ้นยังไม่มีโรงแรมที่จะสามารถเข้าพักได้สักแห่ง เมื่อเติ้ง เสี่ยวผิง ได้กลับมามีบทบาททางการเมืองอีกครั้ง หลังจากที่ถูกปลดออกในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีน ท่านได้ตั้งหมู่บ้านชาวประมงเล็กๆ แห่งนี้เป็นเขตเศรษฐกิจพิเศษที่กลายเป็นต้นแบบดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ
ในตอนนั้นบริษัทต่างประเทศส่วนใหญ่ต่างมองเขตเศรษฐกิจพิเศษเซินเจิ้นด้วยความเคลือบแคลงสงสัย แต่ผมกลับเชื่อมั่นท่านเติ้ง เสี่ยวผิง เนื่องจากตั้งแต่ช่วงก่อนการปฏิวัติวัฒนธรรม ท่านก็มีวิสัยทัศน์ที่เปิดโอกาสให้ภาคเอกชนมีบทบาทในการพัฒนาเศรษฐกิจแล้ว เมื่อผมได้กลับไปประเทศจีนในปีพ.ศ. 2522 อีกครั้ง ผมรู้สึกได้ถึงความปรารถนาและความกระตือรือร้นของชาวจีนซึ่งอยากจะมีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น ผมเชื่อมั่นเป็นอย่างมากว่าจีนจะไม่กลับไปเดินบนเส้นทางดังเช่นสมัยปฏิวัติวัฒนธรรมอีกแล้ว
เริ่มเปิดสนาม
ในปีพ.ศ. 2523 รัฐบาลจีนประกาศจัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษอย่างเป็นทางการ ซึ่งประกอบด้วย 4 เมือง ได้แก่ เมืองเซินเจิ้น เมืองจูไห่ เมืองซัวเถา ของมณฑลกวางตุ้ง และเมืองเซี่ยเหมินในมณฑลฝูเจี้ยน หลังจากการปฏิวัติวัฒนธรรมสิ้นสุดลง ข้าราชการระดับผู้บริหารท้องถิ่นในสมัยที่คุณพ่อยังทำธุรกิจฟาร์มเกษตรอยู่ที่ซัวเถา ก็ทยอยกลับมามีบทบาทการเมืองอีกครั้ง การเจรจาร่วมทุนทางธุรกิจเกิดขึ้นที่บ้านของข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งซึ่งเป็นเพื่อนเก่าของคุณพ่อที่เมืองกวางเจา มณฑลกวางตุ้ง เครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัทคอนติเนนตัล เกรน ของสหรัฐอเมริกา ได้ร่วมลงทุนก่อตั้งบริษัท “เจียไต๋คอนติ” (Chia Tai Conti) ซึ่งชื่อบริษัท 2 ตัวแรก ตั้งตามชื่อร้านเจียไต๋ กิจการเมล็ดพันธุ์ที่คุณพ่อตั้งขึ้นที่กรุงเทพฯ เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ใช้ชื่อ “เครือเจียไต๋” (Chia Tai Group) ที่ประเทศจีนตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
ไม่นานรัฐบาลท้องถิ่นของเมืองเซินเจิ้นได้อนุมัติใบอนุญาตประกอบกิจการให้เครือเจียไต๋ได้ใบอนุญาตฯ เลขที่ 0001 ซึ่งหมายถึง เครือฯ เป็นบริษัทต่างชาติรายแรกที่เข้าไปลงทุนที่เซินเจิ้น ในปีพ.ศ. 2524 โดยเป็นการลงทุนเปิดโรงงานอาหารสัตว์ที่เซินเจิ้น และในบริเวณใกล้เคียงกันก็ได้สร้างฟาร์มเลี้ยงหมูและไก่ และเริ่มทำธุรกิจครบวงจร (integration) ตามแบบที่เมืองไทย
เครือเจียไต๋ได้เริ่มเปิดโรงงานพรมที่ซัวเถา และก็ได้รับใบอนุญาตประกอบธุรกิจหมายเลข 1 เช่นกัน สมัยนั้นภัตตาคารของจีนจำนวนมากมีความต้องการใช้พรม ธุรกิจของเราที่เริ่มต้นในมณฑลกวางตุ้งค่อยๆ ขยายไปที่เมืองกวางเจาและเมืองจูไห่
เวลาต่อมาการเจรจาความร่วมมือทางธุรกิจที่นครเซี่ยงไฮ้ซึ่งเป็นเมืองการค้าที่ใหญ่ที่สุด กลับเริ่มต้นอย่างไม่ค่อยราบรื่นนัก จากการที่ผมพยายามอธิบายรูปแบบการเลี้ยงไก่ในเวลานั้นของไทยให้ มร. วาง เต้าหาน (Mr. Wang Daohan) ผู้ว่าการนครเซี่ยงไฮ้ฟังว่า “ที่เมืองไทย เกษตรกร 1 คน สามารถเลี้ยงไก่ได้ถึง 10,000 ตัว” แต่ท่านอาจจะรู้สึกสงสัยว่าทำได้จริงหรือ โบราณว่าสิบปากว่าไม่เท่าตาเห็น ผมจึงเชิญคณะรองผู้ว่าฯ นครเซี่ยงไฮ้มาดูงานที่เมืองไทย
เมื่อคณะผู้แทนจากเซี่ยงไฮ้เดินทางถึงสนามบินนานาชาติดอนเมืองก็ถึงกับตกตะลึง เพราะสนามบินกรุงเทพฯ ที่อยู่ต่อหน้าพวกเขานั้นใหญ่กว่าสนามบินเซี่ยงไฮ้หลายเท่านัก รถยนต์บนท้องถนนก็มีจำนวนมาก เพราะในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมจีนนั้น เศรษฐกิจของประเทศไทยได้เติบโตไปอย่างรวดเร็ว
คณะผู้แทนพูดกับผมด้วยความประหลาดใจว่า “พวกเราคิดว่าประเทศไทยยังล้าหลังกว่าประเทศจีน แต่เราน่าจะประเมินผิดเสียแล้ว” หลังจากที่คณะฯ ได้ดูงานฟาร์มเลี้ยงไก่ที่เกษตรกร 1 คน เลี้ยงไก่ได้ 10,000 ตัว แล้ว เมื่อกลับถึงโรงแรมก็ประชุมกันต่อจนดึกและมีมติที่จะนำเทคโนโลยีการเลี้ยงแบบนี้ไปใช้ ในที่สุดเราก็ได้เริ่มทำธุรกิจเลี้ยงไก่ เลี้ยงหมู และธุรกิจแปรรูปเนื้อสัตว์ที่เซี่ยงไฮ้ ภายหลังเจียไต๋ยังได้ขยายกิจการเข้าไปในมณฑลเสฉวน และเขตการเกษตรแถบตะวันออกเฉียงเหนือใน 3 มณฑล จนกลายเป็น 1 ใน 2 บริษัทผลิตอาหารสัตว์ที่ใหญ่ที่สุดของประเทศจีน
เจียไต๋นำรูปแบบการผลิตแบบครบวงจร ตั้งแต่การปลูก การผลิตอาหารสัตว์ จนถึงการแปรรูปเนื้อสัตว์เข้ามาในประเทศจีน เป็นการกระตุ้นการพัฒนาธุรกิจในท้องถิ่น ธุรกิจสัญชาติจีนเองก็ยึดเอาเจียไต๋ ซึ่งมีเทคโนโลยีที่ยอดเยี่ยมในด้านต่างๆ เป็นแบบอย่าง เช่น สูตรอาหารสัตว์ บางบริษัทถึงกับซื้อตัวพนักงานด้านเทคนิคของเราไป การที่ธุรกิจอาหารสัตว์ ธุรกิจเลี้ยงไก่ และธุรกิจเลี้ยงหมูของจีน สามารถเพิ่มปริมาณการผลิตได้ในระยะเวลาอันสั้น อีกทั้งยังมีประสิทธิภาพในการผลิตสูงขึ้นนั้น ปฏิเสธไม่ได้ว่าเจียไต๋มีส่วนอย่างสำคัญจากการนำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยเข้ามาในจีน
ก่อนที่จีนจะปฏิรูปเศรษฐกิจและดำเนินนโยบายเปิดประเทศ คนจีนต้องใช้คูปองในการแลกซื้อไข่ไก่และเนื้อหมู ปัจจุบันถ้าต้องการจะรับประทานก็ซื้อได้ทันที และนี่เป็นสิ่งที่ระบบคอมมูนและรัฐวิสาหกิจทำไม่ได้ แต่เอกชนสามารถทำให้เกิดขึ้นได้
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04952780W6A710C1BC8001/