ผมเคยกล่าวไปแล้วว่าเครือเจริญโภคภัณฑ์มีความร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัท Takii & Co., Ltd. ของญี่ปุ่นมาตั้งแต่สมัยคุณพ่อแล้ว และเมื่อผมเข้ามารับช่วงบริหารงานเครือฯ ก็ได้มีความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นเพิ่มมากขึ้น ในปีพ.ศ. 2515 โรงชำแหละไก่แห่งแรกที่บางนานำเข้าเครื่องแช่แข็งจากบริษัทคู่ค้าในประเทศญี่ปุ่น
ในปีต่อมา เครือเจริญโภคภัณฑ์เริ่มส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งไปญี่ปุ่น โดยผ่านบริษัท Itoman Corporation (ปัจจุบันคือบริษัท Nippon Steel & Sumikin Bussan) เมื่อเห็นความสำเร็จของเครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัทอื่นๆ ในประเทศไทยก็เริ่มลงทุนทำธุรกิจเลี้ยงไก่อย่างต่อเนื่อง จนทำให้ช่วงหนึ่ง ญี่ปุ่นนำเข้าเนื้อไก่สดแช่แข็งจากประเทศไทยถึงร้อยละ 30 ของเนื้อไก่สดแช่แข็งที่นำเข้าทั้งหมด
แต่น่าเสียดายที่ในปีพ.ศ. 2547 เกิดไข้หวัดนกระบาดเข้ามายังประเทศไทย ทำให้ไทยไม่สามารถส่งออกเนื้อไก่สดแช่แข็งได้จนถึงปีพ.ศ. 2556 โชคดีที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ร่วมมือทางธุรกิจกับบริษัทที่ผลิตอาหารและเครือข่ายธุรกิจร้านอาหาร (Chain Restaurant) ของญี่ปุ่นมาตั้งแต่ปลายทศวรรษ 2530 ที่ได้มีการปรับเปลี่ยนจากการส่งออกเนื้อไก่สดแปรรูปมาเป็นส่งออกอาหารแปรรูปปรุงสุก โดยปัจจุบันปริมาณการส่งออกผลิตภัณฑ์ของเครือฯ ไปยังญี่ปุ่นคิดเป็นร้อยละ 20 ของปริมาณการส่งออกทั้งหมดของเครือฯ
ความเกื้อกูลกันของชาวจีนโพ้นทะเล
นอกจากญี่ปุ่น ผมยังมีโอกาสเดินทางไปไต้หวันบ่อยครั้ง โดยครั้งแรกคือตอนต้นทศวรรษ 2500 ระหว่างการเดินทางไปญี่ปุ่น สมัยนั้นสนามบินไต้หวันมีรถแท็กซี่น้อยมาก เพื่อนของพี่ชายผมขับรถยนต์ยี่ห้อโฟล์คมารับที่สนามบิน ซึ่งเป็นคุณลักษณะหนึ่งของชาวจีนโพ้นทะเลที่มักจะมีคนรู้จักในหลายประเทศทั่วโลก และด้วยความช่วยเหลือของเพื่อนๆ ชาวไต้หวัน ผมจึงได้เปิดโรงงานอาหารสัตว์แห่งแรกที่ไต้หวันในปีพ.ศ. 2510
ผมเคยเรียนหนังสือที่ซัวเถาและสามารถพูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้ แต่ยังพูดภาษาจีนกลางซึ่งเป็นภาษาจีนมาตรฐานไม่ค่อยดีนัก ระหว่างที่ได้ติดต่องานกับคนไต้หวัน ทำให้ภาษาจีนกลางของผมพัฒนาดีขึ้นเป็นลำดับจนสามารถสื่อสารได้คล่อง ซึ่งเป็นประโยชน์อย่างมากในภายหลัง ต่อมากิจการที่ไต้หวันได้พัฒนาไปสู่ธุรกิจเลี้ยงไก่และอุตสาหกรรมแปรรูปอาหารจากเนื้อสัตว์ ขณะที่บริษัทซึ่งจดทะเบียนในท้องถิ่นก็เปลี่ยนเป็นบริษัทจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ไต้หวันด้วย
ฮ่องกงเป็นหนึ่งในฐานสำคัญของเครือเจริญโภคภัณฑ์มานาน โดยในปลายทศวรรษ 2490 เครือฯ ได้เข้าไปตั้งบริษัทอาหารสัตว์และบริษัทนำเข้าไข่ไก่ พอมาถึงทศวรรษ 2510 ก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ นอกจากนี้ยังได้ตั้งบริษัทลูกของเครือฯ ซึ่งเป็นบริษัทโฮลดิ้ง (holding company : บริษัทที่ประกอบธุรกิจลงทุนในหุ้นเพื่อเป็นเจ้าของหุ้นใหญ่ในบริษัทอื่นๆ) เช่น บริษัทการค้า บริษัทประกันภัย และบริษัทการเงิน เป็นต้น ปัจจุบันยังมีอีกหลายบริษัทในเครือที่เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฮ่องกง เช่น C.P. Pokphand ที่ทำธุรกิจการเกษตร เป็นต้น
เครือเจริญโภคภัณฑ์ยังขยายธุรกิจที่มาเลเซียและสิงคโปร์อีกด้วย ท่านประธานสุเมธ พี่ชายคนที่ 3 ของผม เป็นผู้เข้าไปบุกเบิกธุรกิจที่อินโดนีเซีย แม้ว่าเครือข่ายกิจการของเครือฯ จะขยายไปในทวีปเอเชีย แต่ก็ยังไม่ได้เข้าไปในจีนแผ่นดินใหญ่ ซึ่งเป็นสถานที่ที่ผมเคยไปเรียนชั้นประถมและมัธยม
ระหว่างปีพ.ศ. 2503-2513 ซึ่งเป็นช่วงการปฏิวัติวัฒนธรรมในจีน ช่วงนั้นผู้นำจีนอย่างหลิว เส้าฉี และเติ้ง เสี่ยวผิง ถูกปลดออกจากตำแหน่ง กิจกรรมทางเศรษฐกิจภาคเอกชนถูกระงับ ประเทศจีนและสหภาพโซเวียตซึ่งต่างก็ยึดถือแนวทางการปกครองระบอบสังคมนิยมเกิดข้อขัดแย้งกัน จีนถูกโดดเดี่ยวจากทั่วโลก คนจีนที่มีเพื่อนในต่างประเทศถูกมองว่าเป็นฝ่ายต่อต้านรัฐบาล ชาวจีนโพ้นทะเลเองก็ไม่สามารถกลับเข้าจีนแผ่นดินใหญ่ได้
คุณพ่อของผมดำเนินธุรกิจฟาร์มเกษตรที่ซัวเถาในช่วงทศวรรษ 2490 ถ้าตอนนั้นท่านไม่ออกจากประเทศจีนเนื่องจากต้องมารักษาตัวที่ฮ่องกง ท่านอาจไม่มีชีวิตรอดแล้วก็ได้ ในช่วงนั้นรัฐบาลไทยก็ดำเนินนโยบายต่อต้านคอมมิวนิสต์ คุณพ่อจึงไม่สามารถกลับประเทศไทยได้ ต้องอาศัยอยู่ที่ฮ่องกงและสิงคโปร์ และเฝ้าคอยติดตามสถานการณ์ของจีนแผนดินใหญ่ คุณพ่อมักจะพูดกับผมว่า “ต้องเตรียมตัวไว้เสมอ เมื่อโอกาสกลับเมืองจีนมาถึง จะได้พร้อมเดินทางทุกเมื่อ”
ในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมนั้น การยิ่งห้ามดำเนินกิจกรรมทางเศรษฐกิจของภาคเอกชน ได้ส่งผลให้ประชาชนจีนประสบภาวะยากจนข้นแค้นมากขึ้น แต่คุณพ่อก็มีความเชื่อเสมอว่า สิ่งใดก็ตามเมื่อดำเนินไปจนถึงที่สุดแล้ว ก็จะมีการพลิกเปลี่ยนกลับ และจะเกิดโอกาสในเวลาเดียวกัน ผมมีความคิดเช่นเดียวกันกับคุณพ่อ ซึ่งการคาดการณ์ของท่านก็เป็นจริง เพราะหลังจากมีการประกาศสิ้นสุดการปฏิวัติวัฒนธรรมในปีพ.ศ. 2519-2520 เติ้ง เสี่ยวผิงได้กลับมากุมอำนาจทางการเมืองอีกครั้ง โดยท่านหันมาใช้นโยบายเปิดประเทศสู่ภายนอกพร้อมทั้งทำการปฏิรูปเศรษฐกิจจีนครั้งใหญ่
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04896270V10C16A7BC8001/