ในปีพ.ศ. 2513 ผมนำเข้าพันธุ์ไก่เนื้อจากบริษัท อาร์เบอร์ เอเคอร์ส ของสหรัฐอเมริกา ไก่เนื้อจำเป็นต้องมีคนเลี้ยง บริษัทอาหารสัตว์เซ็นสัญญากับเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ให้เกษตรกรเป็นผู้เลี้ยง เมื่อไก่โตได้น้ำหนักที่ตกลงกันไว้แล้วบริษัทจึงรับซื้อกลับไป ที่สหรัฐฯ รูปแบบการเลี้ยงแบบนี้แพร่หลายมากแล้ว ผมจึงตัดสินใจนำรูปแบบธุรกิจนี้จากสหรัฐอเมริกาเข้ามาในประเทศไทย และสิ่งที่ต้องทำเป็นอันดับแรก คือทำให้เกษตรกรเชื่อมั่นในรูปแบบการเลี้ยง
เครือเจริญโภคภัณฑ์ใช้รูปแบบการบริหารที่บริษัทเป็นผู้รับผิดชอบทั้งหมด โดยจะช่วยเกษตรกรจัดหาทุนโดยเป็นตัวกลางประสานงานกับธนาคาร แนะนำการสร้างฟาร์มเลี้ยงไก่ จัดหาอาหารที่ใช้เลี้ยงไก่และวัคซีนป้องกันโรคให้เกษตรกร รวมถึงส่งสัตวแพทย์เข้าไปให้บริการด้วย ในช่วงแรกเกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ไม่เชื่อเลยว่าจะมีบริษัทที่ดีขนาดนี้
ผมไปตามบ้านของเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ ค่อยๆ อธิบายพวกเขาว่า “ไม่ว่าราคาตลาดอยู่ที่เท่าใด ซีพีจะรับซื้อตามราคาที่ระบุไว้ในสัญญาเมื่อไก่โต” ในที่สุดก็มีเกษตรกรเลี้ยงไก่รายหนึ่งในอำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี ตกลงเซ็นสัญญากับเรา จนกระทั่งปีพ.ศ. 2518 เริ่มมีการเลี้ยงไก่เนื้อในปริมาณมาก กลุ่มเกษตรกรเลี้ยงไก่ที่เคยเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง เมื่อเห็นว่ามีผู้หันมาเลี้ยงไก่ในรูปแบบที่เครือเจริญโภคภัณฑ์แนะนำ ก็ค่อยๆ มีเกษตรกรรายอื่นๆ ทยอยเลี้ยงตามกันมา
ต้นปีพ.ศ. 2516 เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างโรงฟักไข่เพื่อส่งลูกไก่เนื้อจำนวนมากให้เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ ขณะเดียวกันก็ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ โรงเชือด และโรงงานแปรรูปเนื้อไก่ที่บางนาซึ่งเป็นเขตชานเมืองของกรุงเทพฯ เมื่อไก่มีขนาดเท่ากันก็สามารถทำการแปรรูปขั้นต้นด้วยเครื่องถอนขนไก่ได้ การแปรรูปเนื้อไก่ด้วยระบบอัตโนมัติที่เคยเป็นปัญหาค้างคามาหลายปีก็ได้รับการแก้ไขในที่สุด
ทำให้ครบวงจร
เมื่อเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างโรงงานอาหารสัตว์ขึ้นเองแล้ว ก็สามารถผลิตอาหารสัตว์ให้พอเพียงกับการใช้งานได้ นอกจากนี้ยังจัดตั้งบริษัทก่อสร้างฟาร์มไก่ และบริษัทขนส่งไก่อีกด้วย เครือฯ ได้สร้างระบบการผลิตไก่เนื้อแบบครบวงจรในประเทศไทย กล่าวคือ ตั้งแต่อาหารสัตว์ที่เป็นต้นน้ำ จนถึงการแปรรูปเนื้อไก่ที่เป็นปลายน้ำ
ในช่วงต้น เกษตรกรผู้เลี้ยงไก่ที่เซ็นสัญญากับเครือเจริญโภคภัณฑ์ ส่วนใหญ่อยู่ในอำเภอศรีราชา ในปีพ.ศ. 2520 เครือฯ จึงได้ลงทุนสร้างโรงงานอาหารสัตว์ในอำเภอศรีราชาขึ้น และภายหลังเครือฯ ยังได้จัดรวมเอาทุกห่วงโซ่การผลิตเข้าไว้ด้วยกันอย่างครบถ้วน เพื่อสร้างระบบการผลิตแบบครบวงจร กล่าวคือ นำโรงงานอาหารสัตว์ โรงฟักไข่ ฟาร์มเลี้ยงไก่ โรงเชือดและโรงงานแปรรูปมาไว้ในบริเวณเดียวกัน
ลูกไก่ที่ได้จากการฟักแล้วจะถูกส่งไปฟาร์มเลี้ยงไก่ที่อยู่ใกล้เคียง อาหารสัตว์ก็จะส่งมาจากโรงงานที่อยู่ไม่ห่างกันนัก หลังจากที่ไก่โตแล้ว ฟาร์มเลี้ยงไก่จะส่งไก่ไปโรงงานแปรรูป แล้วเข้าสู่กระบวนแปรรูปเป็นอาหารสำเร็จรูป เช่น ไก่ทอด ไส้กรอก เป็นต้น จะเห็นได้ว่า ทุกกระบวนการผลิตจะอยู่ในพื้นที่ใกล้ๆ กัน ตั้งแต่การปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นขั้นตอนแรกของการผลิตอาหารสัตว์ จนถึงการแปรรูปอาหารซึ่งเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการผลิต
เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างฐานการผลิตไก่เนื้อ 3 แห่ง ได้แก่ เขตชานเมืองของกรุงเทพฯ ภาคกลาง และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ต่อมาธุรกิจเลี้ยงหมู ธุรกิจเลี้ยงกุ้ง ก็ใช้รูปแบบการผลิตแบบครบวงจรเช่นกัน โมเดลการบริหารแบบครบวงจรนี้ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต สามารถตรวจสอบย้อนกลับที่มาของอาหารได้ เป็นวิธีการที่มีประสิทธิภาพอย่างยิ่งยวด
ปัจจุบันการผลิตแบบครบวงจรของเครือเจริญโภคภัณฑ์ยังคงขยายห่วงโซ่อุปทานอย่างต่อเนื่อง กล่าวคือ ขึ้นไปถึงจุดเริ่มต้นของต้นน้ำในการพัฒนาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ให้มีการเจริญเติบโตที่ดีและได้ปริมาณผลผลิตสูง ในด้านปลายน้ำ เราเข้าสู่ธุรกิจอาหารจานด่วนและธุรกิจค้าปลีก เพื่อขยายช่องทางการจำหน่ายสินค้าของบริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ได้สร้างห่วงโซ่อุปทานอาหารแบบครบวงจร นับตั้งแต่ฐานการผลิตจากไร่นา หรือฟาร์มเลี้ยงสัตว์ มาจนถึงโต๊ะอาหาร (From Farm to Table) ซึ่งยังไม่มีบริษัทใดมีห่วงโซ่อุปทานที่ครบถ้วนเช่นนี้
การที่เครือเจริญโภคภัณฑ์พัฒนาธุรกิจไก่เนื้อให้ก้าวหน้านั้น นับเป็นการสร้างคุณประโยชน์ต่อภาคชนบทของประเทศไทยเป็นอย่างยิ่ง โดยการรับซื้อข้าวโพดที่เกษตรกรปลูก สร้างโอกาสให้มีอาชีพใหม่ในฟาร์มเลี้ยงไก่และโรงงาน ที่สำคัญไปกว่านั้น เครือฯ ทำให้เนื้อไก่ที่เคยมีราคาสูงกลายเป็นอาหารราคาย่อมเยาที่ครัวเรือนในชนบทก็สามารถซื้อหารับประทานได้
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04843050U6A710C1BC8001/