ตอนอายุ 20 ต้นๆ ชีวิตผมก็ราบรื่นดี แม้ผมอายุยังน้อยก็ได้บริหารงานส่งออกไข่ไก่ที่สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย สมัยนั้นญี่ปุ่น สหรัฐอเมริกา และยุโรป มีการใช้เครื่องถอนขนไก่แล้ว รัฐบาลไทยก็ได้ซื้อเครื่องจักรนี้มาจากเดนมาร์ก อย่างไรก็ตาม เครื่องจักรนี้ก็ยังใช้ไม่ได้ เพราะไก่เนื้อมีขนาดไม่เท่ากัน
เครื่องถอนขนไก่ของญี่ปุ่นแตกต่างกับเครื่องของยุโรปและอเมริกา ราวทศวรรษ 2500 ผมถูกส่งไปดูงานที่ประเทศญี่ปุ่น นี่เป็นครั้งแรกที่ผมได้ไปญี่ปุ่น เจ้าหน้าที่ชาวญี่ปุ่นที่รับผิดชอบงานต้อนรับ เมื่อเห็นว่ารัฐบาลไทยส่งเด็กหนุ่มอายุ 21 ปี อย่างผมมาดูงาน ก็ถึงกับประหลาดใจ
แม้ขณะนั้นเทคโนโลยีแปรรูปไก่ของญี่ปุ่นยังไม่ทันสมัยมากนัก แต่ผมก็จองซื้อเครื่องถอนขนไก่จำนวน 16 เครื่องกลับประเทศไทย ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ ซึ่งเป็นประธานสหกรณ์ได้ชี้แนะว่า “มีแค่เครื่องจักรอย่างเดียว ยังไม่สามารถจัดการแบบอัตโนมัติได้ เพราะขนาดของไก่ต้องเท่ากันด้วยถึงจะใช้การได้”
ไก่เนื้อในประเทศไทยทั้งหมดเป็นไก่พันธุ์พื้นเมืองที่เกษตรกรเลี้ยงแบบปล่อย ทั้งขนาดและอายุของไก่ก็แตกต่างกัน “ทำอย่างไรถึงจะเลี้ยงไก่เนื้อออกมาให้ได้ขนาดเท่ากัน” ปัญหาใหญ่ข้อนี้เป็นปัญหาที่สหกรณ์ยังคงแก้ไขไม่ได้ ภายหลังเมื่อผมได้ทำงานที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ ผมได้แก้ไขปัญหานี้ได้สำเร็จ ทำให้เกิดการพัฒนาแบบก้าวกระโดด ซึ่งเราจะพูดกันในช่วงหลัง
โลกตึงเครียด ไทยได้รับผลกระทบ
ผมแต่งงานตอนอายุ 23 ปี ซึ่งตอนนั้นกำลังประสบความสำเร็จในชีวิต เมื่อผมตั้งใจจะเดินหน้าทำงานอย่างเต็มกำลัง ความโชคร้ายก็มาเยือน
ในช่วงทศวรรษ 2500 ประเทศจีนและอดีตสหภาพโซเวียตซึ่งต่างก็เป็นประเทศสังคมนิยม เกิดข้อขัดแย้งกันอย่างรุนแรง จากการที่จีนวิพากษ์วิจารณ์สหภาพโซเวียตว่าเป็นลัทธิแก้ (Revisionism : ประเทศสังคมนิยมที่เบี่ยงเบนตัวเองออกจากแนวทางของระบอบคอมมิวนิสต์ดั้งเดิมแล้วเดินไปเข้าสู่ระบอบทุนนิยม) ทำให้สหภาพโซเวียตไม่พอใจเป็นอย่างมาก จึงยุติความช่วยเหลือที่ให้แก่จีน โดยจีนต้องชำระหนี้คืนให้สหภาพโซเวียตก่อนกำหนด
ตอนนั้นเศรษฐกิจจีนขาดสภาพคล่อง ต้องส่งออกสินค้าเพื่อหาเงินมาชำระหนี้ แต่จีนยังขาดผลผลิตทางด้านอุตสาหกรรมที่จะส่งออก จึงเน้นส่งออกผลผลิตทางการเกษตร ซึ่งก่อนเกิดกรณีพิพาท จีนส่งออกเนื้อหมูจำนวนมากไปยังสหภาพโซเวียตจนทำให้เกิดภาวะขาดแคลนเนื้อหมูในฮ่องกง แต่ภายหลังเมื่อจีนได้หันมาส่งออกยังฮ่องกงเป็นหลัก และส่งออกผลผลิตทางการเกษตรเป็นจำนวนมาก ทำให้ราคาเนื้อหมูและไข่ไก่ตกต่ำอย่างหนัก ไข่ไก่ที่สหกรณ์ขายไปฮ่องกงจึงประสบภาวะขาดทุน
สภาพเงินทุนของเราตกต่ำ เพราะเป็นองค์กรที่ตั้งขึ้นมาเพื่อมุ่งช่วยเหลือเกษตรกรที่เลี้ยงไก่ไข่ แต่สหกรณ์ไม่ได้มีเงินมากมายมาตั้งแต่ต้นแล้ว ผมพยายามคิดหาวิธีแก้ปัญหาและปรับปรุงการบริหารงานอย่างเต็มที่แต่ก็ยากจะแก้ไข เพราะปัญหาใหญ่คือการขาดเงินทุน การที่ผมบริหารงานสหกรณ์ด้วยความซื่อสัตย์สุจริตมาโดยตลอด จึงไม่มีสมาชิกคนใดตำหนิผมในสถานการณ์ที่ยากลำบากเช่นนี้
ผมตกงานในวัย 25 ปี เมื่อรัฐบาลไทยยกเลิกสหกรณ์ และกลับไปดำเนินนโยบายที่อนุญาตให้ส่งออกไข่ไก่อย่างเสรี ผมได้กลับมาช่วยธุรกิจที่บ้านอีกครั้งในปีพ.ศ. 2507 ขณะนั้นท่านจรัญ พี่ชายคนโตของผมเป็นประธานบริษัท และท่านมนตรี พี่ชายคนรองเป็นผู้จัดการใหญ่ ดูแลธุรกิจอาหารสัตว์
ท่านมนตรีเป็นผู้ที่มีวิสัยทัศน์กว้างไกล ความคิดหลักแหลม และเฉลียวฉลาด นอกจากท่านจะดูแลกิจการอาหารสัตว์แล้ว ท่านยังบริหารงานการค้าสินค้าเกษตร ได้แก่ ข้าวโพด ถั่วเขียว ถั่วเหลือง เป็นต้น อีกทั้งยังรับผิดชอบดูแลการผลิตกระสอบที่ใช้บรรจุธัญพืช และท่านต้องการจะทุ่มเทกำลังทั้งหมดให้กับการค้าขายและการบริหารโรงงาน จึงเสนอตำแหน่งผู้จัดการทั่วไปให้แก่ผม
ด้วยเหตุนี้ ผมจึงได้สืบทอดกิจการอาหารสัตว์จากท่านประธานมนตรี ซึ่งตอนนั้นเครือเจริญโภคภัณฑ์มีพนักงานประมาณ 200 คน และขนาดของธุรกิจอาหารสัตว์ก็เป็นธุรกิจที่ใหญ่ที่สุดของประเทศไทย ประสบการณ์การบริหารองค์กรที่ผมได้สั่งสมมาเมื่อครั้งยังทำงานที่สหกรณ์ ก็ได้นำมาใช้ปฏิบัติจริง ท่านประธานจรัญไว้วางใจผมที่เป็นน้องชายคนเล็กให้เข้ามารับตำแหน่งสำคัญ และยังให้โอกาสผมในการบริหารงานเองอย่างเต็มที่
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04695740R10C16A7BC8001/