เมื่อกลับมากรุงเทพฯ ผมได้เข้ามาช่วยพี่ชาย 2 คนทำงาน ทำให้มีรายได้เล็กๆ น้อยๆ พอดีตอนนั้นท่านประธานมนตรี ซึ่งเป็นพี่ชายคนรองของผม ได้ร่วมมือกับผู้ส่งออกรายหนึ่ง ทำธุรกิจส่งออกหมูไปฮ่องกง ท่านประธานมนตรีมอบหมายหน้าที่สำคัญ คือ การขนส่งหมูทางเรือให้ผมรับผิดชอบ เรือ 1 ลำ สามารถขนส่งหมูได้ครั้งละ 2,000-3,000 ตัว ซึ่งงานในสถานที่ที่ใช้ลำเลียงหมูนั้นรีบเร่งและยุ่งวุ่นวายมาก
หมู 2,000-3,000 ตัว บนเรือจะเบียดกันไปมาในที่แคบๆ โดยมีใบมะพร้าวบังฝนบังลม ทุกครั้งเมื่อเรือเดินทางถึงฮ่องกง จะมีหมูตายเป็นจำนวนมาก เพื่อลดจำนวนการตายของหมู พี่ชายของผมจึงเสนอกับผมว่า ถ้าหมูตายน้อยลง 1 ตัว จะให้เงินรางวัลผม 100 บาท ดังนั้นถ้าหมูตายน้อยลงสัก 10 ตัว ผมก็จะได้เงิน 1,000 บาท สมัยนั้นถ้ามีเงินสัก 300 บาท ก็สามารถไปรับประทานอาหารในภัตตาคารที่หรูหราที่สุดของฮ่องกงได้แล้ว แถมยังมีเงินเหลืออีกมากด้วย
หลังจากที่ผมได้สังเกตอย่างละเอียดแล้วก็พบว่า จำนวนหมูที่ตายมีความสัมพันธ์อย่างมากกับการโคลงเคลงของเรือ การที่หัวเรือกระทบกับเกลียวคลื่นโดยตรง และโคลงเคลงอย่างแรง จึงทำให้หมูที่อยู่ในพื้นที่แคบๆ บริเวณหัวเรือชนกระแทกกันได้ง่ายมาก ซึ่งสาเหตุอาจมาจากทิศทางของลม แต่ถ้าจัดวางหมูไว้ช่วงกลางลำเรือในช่วงฤดูร้อน (เดือนพฤษภาคม-กันยายน) และจัดวางหมูไว้ช่วงท้ายเรือในฤดูหนาว (เดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์) หมูจะตายน้อยลง
ผมจึงเสนอกับหัวหน้าที่ดูแลเรื่องงานลำเลียงสินค้าที่ท่าเรือว่า ถ้าหมูตายลดลง 1 ตัว ผมจะให้เงินเขา 20 บาท หัวหน้างานยินดีรับข้อเสนอของผม ทุกครั้งเขาจึงจัดวางหมูไว้ที่ช่วงกลางหรือช่วงท้ายของเรือตามที่ผมต้องการ สำหรับพนักงานลำเลียงและขนส่งคนอื่นๆ ที่ท่าเรือ ผมก็แบ่งเงิน 30 บาท จาก 100 บาท ให้พวกเขาด้วย แม้ว่าผมจะแบ่งเงินให้คนงานแล้ว ผมก็ยังมีเงินเหลืออีก 50 บาท หลังจากที่ปรับตำแหน่งการจัดวางหมูบนเรือแล้ว ปรากฏว่าอัตราการตายของหมูก็ลดลง จากประสบการณ์นี้ ผมจึงได้เรียนรู้ถึงความสำคัญของการบริหารจัดการการขนส่งสินค้าและการแบ่งปันประโยชน์ร่วมกันกับผู้อื่น
เปลี่ยนงาน
ช่วงปลายทศวรรษ 2490 รัฐบาลไทยดำเนินนโยบายใหม่ คือ เข้ามาบริหารจัดการการส่งออกไข่สัตว์ปีกเช่น ไข่ไก่ ไข่เป็ด เป็นต้น และจัดตั้งหน่วยงานเฉพาะขึ้นเป็น “สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทย” ช่วงนั้นผมทำงานอยู่ที่ร้านเจียไต๋มาได้ประมาณ 2 ปี ผมรู้สึกกระตือรือร้นที่จะทำงานนี้ จึงเสนอตัวอาสาเข้ามาทำงานที่สหพันธ์สหกรณ์ค้าไข่แห่งประเทศไทยควบคู่กันไปด้วยในตำแหน่งผู้จัดการสหกรณ์ ซึ่งเป็นองค์กรที่บริหารร่วมกับรัฐบาล
ก่อนหน้าที่จะมีการใช้นโยบายนี้ การส่งออกไข่ไก่ไปยังสิงคโปร์ มาเลเซีย ฮ่องกง และมาเก๊า ทำได้อย่างเสรี ภายหลังจากที่มีการใช้นโยบายนี้ การส่งออกไข่ไก่จึงอยู่ภายใต้การดำเนินการของสหกรณ์แต่เพียงผู้เดียว
ข้อดีของนโยบายนี้คือ ไม่มีการแข่งขันระหว่างผู้ส่งออก ราคาสินค้าค่อนข้างคงที่ รัฐบาลก็มีรายได้จากเงินภาษีซึ่งเก็บจากสหกรณ์
ผมเข้ามาทำงานในสหกรณ์โดยรับผิดชอบงานด้านการส่งออก รัฐบาลไทยได้เชิญข้าราชการระดับสูงท่านหนึ่งมาเป็นประธานของสหกรณ์ ท่านคือ ดร.ชำนาญ ยุวบูรณ์ ซึ่งเรียนจบด็อกเตอร์ด้านกฎหมายจากฝรั่งเศส ท่านเป็นอธิบดีกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ซึ่งถือเป็นตำแหน่งที่มีความสำคัญยิ่ง ท่าน ดร. ชำนาญบอกกับผมว่า “ผมเชื่อมั่นในตัวคุณ คุณทำงานให้เต็มที่” และท่านยังได้มอบหมายงานสำคัญๆ เกือบทั้งหมดให้ผมรับผิดชอบ
เด็กหนุ่มในวัย 20 ปี อย่างผมจึงได้เป็นผู้รับผิดชอบและมีอำนาจเต็มในการแปรรูปขั้นต้นของเนื้อไก่ เนื้อเป็ด และเนื้อห่านทั้งหมดของกรุงเทพฯ ผมได้เรียนรู้วิธีการทำงานในองค์กรจากท่านดร.ชำนาญ ได้เรียนรู้การเป็นผู้นำ การบริหารคน การเตรียมการประชุมและการจัดประชุม แม้แต่การรายงานต่อคณะกรรมการบริหารก็เป็นงานที่ผมรับผิดชอบ
นอกจากนี้ ผมยังมีเลขานุการซึ่งเป็นข้าราชการที่ท่านประธานส่งมาช่วยงานด้วยคนหนึ่ง ระหว่างที่ผมทำงานอยู่ที่สหกรณ์ ผมบริหารงานด้วยความซื่อตรง ไม่เคยยักยอกเงินและไม่ทำเรื่องผิดกฎหมาย เมื่อเวลาผ่านไป บรรดาเถ้าแก่ที่อยู่ในสหกรณ์ทั้งหลายก็ให้การยอมรับและมีทัศนคติที่ดีต่อคนหนุ่มอย่างผม
ช่วงที่มีการจัดตั้งสหกรณ์ กิจการสัตว์ปีกของประเทศไทยประสบปัญหาใหญ่ปัญหาหนึ่งคือ สมัยนั้นการแปรรูปขั้นต้น เช่น การถอนขน และการเชือด ต้องอาศัยแรงงานคนทั้งหมด ซึ่งใน 1 วัน ต้องแปรรูปสัตว์ปีกมากกว่า 100,000 ตัว หากใช้แรงงานคนเพียงอย่างเดียว จะไม่สามารถทำได้ทันเวลา และยังทำให้มีต้นทุนที่สูงอีกด้วย ดังนั้นหนทางเดียวที่จะช่วยลดต้นทุนในการแปรรูปลงได้ จึงจำเป็นต้องนำเครื่องจักรแปรรูปแบบอัตโนมัติเข้ามาใช้งาน
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04661940Z00C16A7BC8001/