เมื่อผมกลับมาถึงประเทศไทย ผมจำเป็นต้องเปลี่ยนชื่อเป็นภาษาไทย
ชื่อภาษาจีนของผม “เจี่ย ก๊กหมิน” เป็นชื่อที่คุณพ่อของผมตั้งให้ โดยออกเสียงตามภาษาจีนแต้จิ๋ว (ในภาษาจีนกลาง อ่านว่า “เซี่ย กั๋วหมิน”) ตอนที่ผมเดินทางจากฮ่องกงเพื่อกลับเมืองไทย ผมใช้หนังสือเดินทางที่มีชื่อภาษาจีนอยู่ ตอนนั้นประเทศจีนปกครองโดยพรรคคอมมิวนิสต์ ในขณะที่รัฐบาลไทยต่อต้านการปกครองระบบคอมมิวนิสต์ ความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศจึงไม่ค่อยดีนัก รัฐบาลไทยเข้มงวดการอพยพของคนจีนเข้ามาในประเทศและให้ลูกหลานคนจีนที่เกิดในประเทศไทยเปลี่ยนชื่อจากภาษาจีนเป็นชื่อไทย
“ธนินท์” เป็นชื่อไทยของผม ซึ่งมีข้าราชการในสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองช่วยตั้งให้ ผมไม่ได้เป็นคนเลือกสรรเอง ผมไม่เข้าใจความหมายของชื่อ แต่ฟังแล้วรู้สึกไพเราะดีก็เลยตกลง และใช้ชื่อนี้มาโดยตลอด
“เจียรวนนท์” นามสกุลภาษาไทยของผมนี้ ผมใช้ตามพี่ชายคนที่ 3 คือ ท่านประธานสุเมธซึ่งใช้เป็นคนแรก สมัยนั้นตอนที่ท่านประธานสุเมธกลับประเทศไทย ก็จำเป็นต้องเปลี่ยนจาก Xie Zhongmin (เซี่ย จงหมิน) มาใช้ชื่อภาษาไทยเช่นกัน ภายหลังผมก็ใช้นามสกุลนี้ตามท่าน
เริ่มจากงานระดับล่าง
ตอนที่ผมเรียนอยู่ที่ซัวเถา กวางเจาและฮ่องกงนั้น คุณพ่อได้ขยายกิจการไปมากแล้ว ร้านเจียไต๋จึง ซึ่งเป็นร้านขายเมล็ดพันธุ์ที่คุณอาของผมดูแล ขยายร้านออกไปจนเป็นร้านค้าใหญ่ นอกจากขายเมล็ดพันธุ์แล้ว เรายังเริ่มขายปุ๋ยและยาปราบศัตรูพืชด้วย
หลังจากที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรีเรียนจบจากเสฉวน ก็กลับมากรุงเทพฯ เพื่อช่วยกิจการของที่บ้าน ในปี พ.ศ. 2496 ท่านประธานจรัญได้เริ่มทำธุรกิจอาหารสัตว์ โดยท่านตั้งใจขยายกิจการออกไปเป็นธุรกิจเกี่ยวกับการเกษตรเป็นหลัก และตั้งชื่อบริษัทว่า “เจริญโภคภัณฑ์” หรือเรียกย่อๆ ภาษาอังกฤษว่า CP
“เจริญโภคภัณฑ์” เป็นชื่อที่คุณพ่อบุญธรรมของพี่สะใภ้ผม ซึ่งเป็นนายทหารตั้งขึ้น “เจริญ” หมายถึง เติบโต รุ่งเรือง และ “โภคภัณฑ์” หมายถึง สินค้าอุปโภคบริโภค
ร้านเจียไต๋จึง ในยุคเริ่มแรก จนถึงปัจจุบันก็ยังใช้ชื่อเจียไต๋อยู่ และภายหลังเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ขยายกิจการไปยังประเทศจีน เราจึงใช้ชื่อ “เจิ้งต้า” (ภาษาจีนกลางของคำว่า เจียไต๋) เป็นชื่อบริษัทในประเทศจีน
ตอนที่ผมกลับมาจากฮ่องกง ซีพีได้ขยายกิจการไปเป็นธุรกิจขนาดกลางแล้ว และเข้าสู่ธุรกิจอาหารสัตว์ภายใต้การบริหารของพี่ชายทั้งสอง โดยอาหารสัตว์ที่บริษัทขายในตอนนั้นเน้นขายอาหารเลี้ยงไก่ หมู มีทั้งข้าวโพด แป้งถั่วเหลือง รำข้าว ปลาป่น เป็นต้น ยุคนั้นเรามีโรงแปรรูปเล็กๆ อยู่ แต่เรายังไม่ได้ผสมอาหารสัตว์เอง
พ่อสอนผมว่า “ต้องเริ่มเรียนรู้งานตั้งแต่ขั้นแรกของงาน ตอนนั้นผมเพิ่งจะมีอายุ 18 ปีเต็ม ผมทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยทั่วไปในร้าน เปิดปิดร้าน เช็ดโต๊ะ และงานจิปาถะอื่นๆ รวมทั้งรับผิดชอบงานด้านการรับเงิน ออกใบเสร็จ การจ่ายเงิน ค่าใช้จ่ายต่างๆ อีกด้วย ผมไม่ได้เรียนด้านการบริหารธุรกิจจากสถาบันการศึกษาใดๆ แต่เรียนรู้จากของจริง และจากการลงมือทำงานจริง”
ทุกๆ เช้า จะมีรถบรรทุกคันหนึ่งมาจอดที่หน้าร้านของเรา เพื่อจัดหาวัตถุดิบอาหารสัตว์และนำไปส่งที่โรงงาน ผมอยากจะรู้ว่าธุรกิจอาหารสัตว์ทำอย่างไร เช้าวันหนึ่งผมจึงตื่นแต่เช้าตรู่ แล้วเดินทางไปกับรถบรรทุกคันนี้ ผมได้มีโอกาสสังเกตกระบวนการทั้งหมดตั้งแต่การรับวัตถุดิบ การแปรรูปจนกลายเป็นสินค้า รวมทั้งการบริหารจัดการสินค้าอีกด้วย และเมื่อรถบรรทุกกลับมาถึงร้านก็เป็นเวลา 08.00 น. ซึ่งได้เวลาเปิดร้านพอดี
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04610300Y6A700C1BC8001/