ผมเห็นทะเลและนั่งเรือครั้งแรกในชีวิตก็ตอนอายุ 11 ขวบ ผมนั่งเรือขนส่งลำใหญ่จากไทยไปซัวเถา เรือโคลงเคลงไปตามคลื่นทะเล คนจำนวนมากเมาเรือ แต่ผมไม่รู้สึกเมาเรือเลย หลังจากนั้น 1 สัปดาห์ เรือก็เดินทางถึงบ้านเกิดของคุณพ่อที่ซัวเถา
บ้านเกิดของคุณพ่ออยู่ที่หมู่บ้านโผ่วเล้ง อำเภอเถ่งไฮ่ ปัจจุบันอยู่ในการปกครองของเมืองซัวเถา คุณพ่อมีบ้านอยู่ที่นั่น ซัวเถาเป็นเมืองท่าเรือการค้า แบบของอาคารบ้านเรือนเป็นตึกแถวที่ติดถนนมีระเบียงแบบ “อาเขต” ซึ่งได้รับอิทธิพลมาจากอาคารสถาปัตยกรรมแบบตะวันตก กล่าวคือ ถ้าเป็นอาคารสองชั้นจะทำเป็นกึ่งร้านค้ากึ่งที่อยู่อาศัย ชั้นล่างของอาคารจะมีหลังคายื่นออกมาติดต่อเนื่องกันเป็นระยะๆ เพื่อให้มีทางเท้าที่ขนานไปกับถนน ทั้งยังเป็นทางเดินที่มีหลังคาช่วยบังแดดบังฝนให้คนเดินเท้าอีกด้วย อาคารแบบนี้เป็นเอกลักษณ์ของซัวเถา ผมอาศัยบนชั้น 3 ของอาคาร ตอนนี้อาคารนั้นก็ยังอยู่ แต่ไม่มีคนอาศัยแล้ว สมัยนั้นคุณพ่อของผมมักไม่ค่อยพำนักอยู่บ้าน แต่จะไปอยู่ที่สวน ตอนที่ผมอยู่ซัวเถา ไม่มีปัญหาเรื่องการสื่อสารเลย เพราะตอนที่อยู่กรุงเทพฯ ผมใช้ภาษาแต้จิ๋วสื่อสารกับคุณแม่อยู่แล้ว
เรียนตามให้ทัน
อย่างไรก็ตาม ปัญหาใหญ่ของผมในเรื่องการสื่อสารอยู่ที่ตัวอักษรจีน ตอนผมอยู่ที่กรุงเทพฯ ผมได้เรียนภาษาจีนที่โรงเรียนแรกเพียง 1 ปี หลังจากนั้นพอย้ายมาเรียนที่โรงเรียนสารสิทธิ์พิทยาลัยก็ไม่ได้เรียนภาษาจีนอีก เพราะที่โรงเรียนสอนแต่ภาษาไทย ในปีพ.ศ. 2495 ผมเข้าไปเรียนชั้น ป.4 ที่ซัวเถา เพื่อจะเขียนภาษาจีนให้คล่อง ผมต้องเอาตำราต่ำกว่า ป.4 มาศึกษาเพิ่มเติม
ในสมัยนั้น นักเรียนที่อยู่ในชั้นเดียวกันมีอายุต่างกันมาก สาเหตุเพราะเมื่อเกิดการก่อตั้งชาติจีนใหม่ คนที่ไม่เคยได้เรียนหนังสือแต่มีอายุมากแล้ว ก็มีโอกาสได้เรียนหนังสืออีกครั้ง ประกอบกับมีลูกหลานชาวจีนอีกจำนวนไม่น้อยที่ได้กลับมาเรียนที่ซัวเถา เด็กๆ เลยถูกนำมาเรียนรวมกัน ตอนนั้นผมก็ถือว่าอายุมากในชั้นเรียนเหมือนกัน แต่ก็ยังไม่ใช่เด็กโตสุด เพื่อนร่วมชั้นบางคนอายุมากกว่า 15 ปี
ผมไม่อยากให้เพื่อนๆ ล้อ จึงตั้งใจเรียนภาษาจีนโดยซื้อพจนานุกรมภาษาแต้จิ๋วมาจากร้านขายหนังสือ และขอยืมหนังสือเรียนของเพื่อน ป.1 และ ป.2 เพื่อมาศึกษาด้วยตนเองที่บ้านตอนหลังเลิกเรียน และผมจะตื่นตอน 6 โมงเช้าเพื่อลุกขึ้นมาท่องหนังสือจีนที่ระเบียงบ้านทุกวัน ที่โรงเรียนมีการสอบแทบทุกวัน ทุกครั้งหลัง
จากสอบเสร็จผมจะขอให้คุณครูช่วยอธิบายข้อผิดพลาดให้ผมอีกครั้ง
ในแต่ละมณฑลของประเทศจีนต่างก็มีภาษาท้องถิ่นเป็นของตนเอง การออกเสียง และไวยากรณ์ก็แตกต่างกันอย่างมาก หลังจากที่พรรคคอมมิวนิสต์ได้จัดตั้งรัฐบาลมาปกครองประเทศจีน ก็ได้ส่งเสริมให้มีการสอนภาษาจีนกลางเป็นภาษามาตรฐานไปทั่วประเทศ โรงเรียนที่ผมเรียนก็มีการสอนภาษาจีนกลางสัปดาห์ละ 1 ครั้ง แต่คะแนนพูดจีนกลางของผมยังไม่ค่อยดีนัก ภายหลังไปทำธุรกิจในไต้หวัน จึงมีโอกาสได้ฝึกพูดจนคล่อง
งานอดิเรกที่สร้างธุรกิจ
ช่วงอยู่ชั้น ป.5 ผลการเรียนของผมดีขึ้นตามลำดับ สอบได้ที่ 2 และ 3 ของห้อง พอเริ่มรู้หนังสือจีนแล้ว ผมก็เรียนได้ดีขึ้นมาก วิชาคณิตศาสตร์เป็นวิชาที่ผมถนัดที่สุด ไม่เรียนก็สามารถสอบได้คะแนนสูงๆ เมื่อผลการเรียนของผมดีขึ้นแล้ว ผมก็มีเวลาให้กับงานอดิเรกมากขึ้น ตั้งแต่ผมเรียนชั้นประถมที่ไทย ผมก็ชอบเลี้ยงไก่ชนแล้ว พอย้ายมาเรียนที่ซัวเถา ผมก็เลี้ยงไก่ชนอีกครั้ง และก็ชอบนำไก่ชนไปฝึกฝีมือกับไก่ชนของคนแถวบ้าน
ผมยังได้ไก่ตัวเมียมาจากสวนของคุณพ่ออีกด้วย ผมจึงเริ่มเลี้ยงไก่ตัวเมีย เพื่อนๆ ที่โรงเรียนมักผลัดเปลี่ยนกันมาให้อาหารไก่ที่บ้านของผม เมื่อไก่ออกไข่ ผมก็แบ่งไข่ให้เพื่อนๆ เอากลับไปบ้าน ที่ระเบียงบ้านของผมยังมีกรงนกอีกด้วย ในกรงมีนกพิราบสีขาวหลายสิบตัว ผมให้อาหารนกพิราบทุกวัน และเริ่มฝึกนกพิราบ ผมยังจำได้ว่าเคยปล่อยให้พวกมันบินไป แต่มีหลายตัวไม่ได้บินกลับมา ผมเลยไปขอความรู้จากเพื่อนข้างบ้านที่ชำนาญการเลี้ยงนกพิราบ ให้สอนเคล็ดลับการเลี้ยง บางทีการที่ผมได้มาทำธุรกิจสัตว์ปีก ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลมาจากการที่ผมผูกพันกับไก่และนกมาตั้งแต่วัยเด็กก็เป็นได้
เมื่อผมยังเด็ก กล้องถ่ายรูปเป็นของที่หาได้ยาก ผมชอบเล่นกล้องถ่ายรูปมาก และผมมักใช้กล้องถ่ายรูปของคุณพ่อ ถ่ายรูปให้คุณครูและเพื่อนๆ เสมอ ผมล้างรูปถ่ายเองที่บ้าน ทุกครั้งหลังจากล้างรูปเสร็จ ผมก็จะเอารูปถ่ายไปแจกให้ทุกคน การที่ผมชื่นชอบเทคโนโลยีและของใหม่ๆ ตั้งแต่เด็กนั้น น่าจะส่งผลต่อการประกอบอาชีพในภายหลังของผมอยู่มากทีเดียว
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด
ที่มา : http://www.nikkei.com/article/DGXKZO04516260W6A700C1BC8001/