แม้ว่าคุณพ่อจะเปิด “ร้านเจียไต๋จึง” ที่กรุงเทพฯ แต่ธุรกิจหลักยังคงอยู่ที่ซัวเถามาตั้งแต่สมัยเริ่มทำธุรกิจใหม่ๆ ในเมืองจีน เมล็ดพันธุ์ที่เราพัฒนาที่ซัวเถาจะส่งผ่านฮ่องกงแล้วเข้ามาประเทศไทย และส่งต่อไปยังประเทศอื่นๆ ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมทั้งประเทศอินเดียด้วย เมล็ดพันธุ์ที่คุณพ่อขายสามารถปลูกได้ในประเทศเขตร้อนทุกประเทศ
เมื่อสงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้นในเดือนธันวาคม ปีพ.ศ. 2484 เส้นทางการเดินเรือระหว่างไทยและจีนถูกตัดขาด ถึงกระนั้นคุณพ่อก็ไม่ได้นิ่งเฉย แต่ย้ายไปอยู่ที่สาขาย่อยในมาเลเซีย แต่คาดไม่ถึงว่ามาเลเซียก็ถูกกองทัพญี่ปุ่นยึดครอง คุณพ่อจึงออกจากประเทศมาเลเซียไม่ได้ จนกระทั่งสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง คุณพ่อจึงได้กลับมาประเทศไทยอีกครั้ง
ในช่วงนั้นพี่ชายทั้งสองคนของผมคือ ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรี ยังเรียนอยู่ที่มณฑลเสฉวน ทั้งสองท่านก็ไม่สามารถเดินทางออกจากประเทศจีนได้เช่นกัน
ก่อนที่กองทัพญี่ปุ่นเคลื่อนพลเข้าสู่ประเทศไทย รัฐบาลไทยได้ลงนามร่วมเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น ไทยจึงรอดพ้นจากภัยสงครามมาได้ ช่วงสมัยสงครามนี้เอง คุณอาของผมคือท่านชนม์เจริญได้เข้ามาช่วยดูแลกิจการร้านแทนคุณพ่อ
สองแขนที่คอยโอบอุ้ม
ด้วยคุณพ่อไม่ค่อยได้อยู่ที่ประเทศไทย ชีวิตในวัยเด็กของผมจึงมีความผูกพันกับคุณแม่เฉิน จิน จี้ (Chen Jinji) เป็นอย่างมาก คุณแม่เป็นคนจิตใจอ่อนโยน คิดถึงผู้อื่นอยู่เสมอ จะเห็นได้จากเมื่อถึงเวลากินข้าว คุณแม่มักจะพูดกับคนงานในบ้านว่า “พวกเธอเตรียมกับข้าวเสร็จแล้ว ฉันก็หิวแล้ว พวกเธอก็คงหิวเหมือนกัน งานตรงนี้ไม่มีอะไรแล้ว พวกเธอไปกินข้าวก่อนเถอะ” เสียงที่อ่อนโยนของคุณแม่ยังคงวนเวียนอยู่ที่ข้างหูผมเสมอมา
คุณตาของผมก็เป็นคนแต้จิ๋ว ครอบครัวของท่านทำการค้าใหญ่ที่เจริญรุ่งเรืองมาก แต่โชคร้าย ที่มาประสบภัยพิบัติทางธรรมชาติครั้งใหญ่จนทำให้สูญเสียทุกสิ่งในชั่วพริบตา
ขณะนั้นคุณแม่ยังเป็นเด็ก เมืองแต้จิ๋วถูกคลื่นยักษ์เข้าซัดกระหน่ำและได้คร่าชีวิตผู้คนไปจำนวนนับไม่ถ้วน บ้านของคุณแม่ซึ่งอยู่ไม่ห่างจากทะเลถูกทำลายจนไม่เหลืออะไรเลย ธุรกิจของครอบครัวล่มสลาย คุณยายของผมก็เสียชีวิตในเหตุการณ์ครั้งนั้น แต่คุณแม่และพี่น้องบางคนอพยพออกมาได้ทัน และรอดชีวิตมาได้ด้วยการปันส่วนอาหารกันอย่างยากลำบาก ในที่สุดคุณตาจึงตัดสินใจย้ายถิ่นฐานมากรุงเทพฯ
อาจจะด้วยประสบการณ์เลวร้ายในครั้งนั้น คุณแม่จึงมีอุปนิสัยใจคอที่อ่อนโยน เป็นคนเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เห็นอกเห็นใจผู้อื่น และชอบช่วยเหลือคนที่ลำบากอยู่เสมอ คุณแม่ดูแลญาติพี่น้องที่มีฐานะยากจนกว่าเป็นอย่างดี ทุกสัปดาห์คุณแม่ต้องไปเยี่ยมญาติ และให้เงินพวกเขาอยู่เสมอ เงินของคุณแม่ส่วนใหญ่นำไปช่วยเหลือคนที่ลำบากทั้งสิ้น คุณแม่มักจะพูดกับคนรอบข้างเสมอว่า “ฉันไม่ต้องการเงิน เพราะลูกๆ คือสมบัติที่ล้ำค่าของฉัน” เมื่อถึงวาระที่คุณแม่จากโลกนี้ไป ไม่เพียงแต่ครอบครัวและญาติพี่น้องที่ร้องไห้เสียใจ แม้แต่คนงาน คนขับรถที่บ้านต่างก็พากันเสียใจทั้งสิ้น นี่เป็นเพราะเมื่อตอนที่คุณแม่ยังมีชีวิตอยู่นั้น ท่านเป็นคนที่ดูแลเอาใจใส่พวกเขาเหมือนคนในครอบครัวคนหนึ่ง
คุณแม่เป็นผู้ที่นึกถึงคนอื่นอยู่เสมอ ท่านเป็นคนที่เอาใจเขามาใส่ใจเรา มักช่วยเหลือคนที่ลำบากเป็นประจำ บางคนอาจจะคิดว่าคุณแม่ช่วยเหลือคนเพื่อหวังผลตอบแทนในภายหลัง แต่ในความเป็นจริงคุณแม่ไม่เคยคาดหวังให้พวกเขากลับมาทดแทนบุญคุณใดๆ เลย
คุณแม่ได้สอนปรัชญาในการดำเนินชีวิตที่สำคัญที่สุดให้แก่ผม นั่นก็คือ “การรู้จักให้ผู้อื่น” ซึ่ง “การให้” นี้เองเป็นพื้นฐานหลักของการบริหารธุรกิจของเครือเจริญโภคภัณฑ์ผู้บริหารจะต้องรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา รู้จักเข้าใจผู้อื่น และต้องรู้จักให้โอกาส ให้ประโยชน์กับคู่ค้าและพนักงาน
ในช่วงสุดท้ายของชีวิตคุณแม่ ผมทุ่มเทให้กับงานมากจนเกินไป จนมีเวลาให้คุณแม่น้อยลง สิ่งนี้ทำให้ผมเสียใจจนถึงทุกวันนี้
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด