ผมเกิดในปีพ.ศ. 2482 ในย่านเยาวราช ซึ่งเป็นถนนเก่าแก่สายหนึ่งของกรุงเทพฯ ที่มีชาวจีนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก ปัจจุบันถนนสายนี้กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่มีชื่อเสียงไปแล้ว คุณพ่อของผมเปิด “ร้านเจียไต๋จึง” บริเวณใกล้แม่น้ำเจ้าพระยา ร้านอยู่ห่างจากท่าเรือแค่ประมาณ 200 เมตร
สมัยนั้นยังไม่มีรถยนต์ แม่น้ำเจ้าพระยาจึงเป็นเส้นทางเศรษฐกิจสำคัญของกรุงเทพฯ พ่อค้าและชาวนาต่างก็นั่งเรือสัญจรไปมา ข้างๆ ท่าเรือมีตลาดแห่งหนึ่ง เป็นสถานที่ที่เกษตรกรนำสินค้าเกษตรมาขาย เป็นตลาดที่คึกคัก พอเกษตรกรขายของเสร็จ ก็จะมาซื้อเมล็ดพันธุ์จากร้านเจียไต๋กลับไปเพาะปลูก
บ้านเกิดของผม
คุณพ่อของผมแต่งงานตั้งแต่ครั้งที่อยู่เมืองแต้จิ๋ว หลังจากที่กิจการเริ่มเป็นรูปเป็นร่างขึ้นแล้ว คุณพ่อจึงรับคุณแม่มาอยู่ที่เมืองไทยด้วย คุณพ่อเปิดสำนักงานใหญ่และบ้านพักบนถนนฝั่งตรงข้ามกับร้านเจียไต๋ โดยชั้น 1 เป็นสำนักงาน และที่เก็บของ ชั้น 2 และชั้น 3 เป็นที่พักอาศัย ส่วนชั้นดาดฟ้าเอาไว้ตากเมล็ดพันธุ์
ผมเกิดบนชั้น 3 ของบ้าน ท่านชนม์เจริญและครอบครัวอาศัยอยู่บนชั้น 2 สมัยนั้นที่บ้านไม่ให้ผมเข้าไปยุ่งที่สำนักงานเลย จะอนุญาตให้ผมเล่นที่หลังบ้านอย่างเดียว ผมจำได้ว่าที่ชั้น 1 มีกระป๋องที่เอาไว้ใส่เมล็ดพันธุ์เต็มไปหมด เมล็ดพันธุ์นี้ดูแลรักษาค่อนข้างยาก แห้งไปก็ไม่ได้ ชื้นไปก็ไม่ดี ดังนั้นการบรรจุลงกระป๋องอย่างมิดชิด จึงเป็นการรักษาคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ไว้อย่างดี
ที่สำนักงานมีพนักงาน 3 คน หนึ่งในนั้นคือ มร. อเล็กซานเดอร์ แคมป์เบลล์ (Mr. Alexander Campbell) ซึ่งเป็นพนักงานชาวอังกฤษ มีหน้าที่แปลเอกสารภาษาต่างประเทศต่างๆ และเขียนจดหมายธุรกิจที่เป็นภาษาต่างประเทศ เขามีห้องทำงานส่วนตัว ซึ่งมีขนาดใหญ่กว่าห้องทำงานของคุณพ่อเสียอีก ในห้องของ มร. แคมป์เบลล์ยังมีห้องรับแขกแยกต่างหาก นอกจากนี้ก็ยังมีพนักงานคนไทยที่พูดภาษาอังกฤษได้อีกด้วย
ปัจจุบันบรรยากาศบริเวณร้านเจียไต๋จึงยังคงเหมือนกับสมัยที่ผมยังเป็นเด็ก บริษัทเจียไต๋ในปัจจุบันยังคงขยายกิจการอย่างต่อเนื่อง สถานที่ที่ผมเกิดได้กลายเป็นที่ตั้งของสำนักงานใหญ่ กลุ่มธุรกิจเมล็ดพันธุ์ไปแล้ว ร้านค้าฝั่งตรงกันข้ามยังคงขายเมล็ดพันธุ์อยู่ ร้านค้าที่ท่านประธานจรัญและท่านประธานมนตรี (พี่ชายทั้ง 2 ของผม) เคยเช่าทำธุรกิจอาหารสัตว์ก็ยังคงอยู่ข้างร้านเมล็ดพันธุ์เหมือนเดิม
แผ่นดินที่โอบอ้อมอารี
การที่ยังไม่มีรถยนต์ ทำให้ถนนเงียบมาก แต่ชาวจีนแต้จิ๋วที่เข้ามาในเมืองไทยนั้น มีจำนวนมากที่เปิดร้านอาหารจีนแต้จิ๋ว ร้านขายใบชา และขายสินค้าจากเมืองจีน ป้ายร้านค้าข้างถนนก็ยังเป็นป้ายเดิมที่เขียนด้วยภาษาจีน การอาศัยอยู่ในย่านถนนเยาวราชจึงคล้ายกับอยู่ในเมืองจีนเช่นกัน
พ่อแม่ของผมและคนในครอบครัวต่างก็พูดภาษาจีนแต้จิ๋วได้ ดังนั้นชาวจีนที่มาอาศัยอยู่ย่านเยาวราช หากพูดไทยไม่ได้ก็ไม่เป็นอุปสรรคเท่าใดนัก เพราะพ่อค้าและลูกค้าต่างเป็นคนจีนแต้จิ๋วทั้งนั้น การพูดภาษาจีนแต้จิ๋วไม่ได้ต่างหากที่จะทำให้ค้าขายลำบาก
ดังนั้นถนนเยาวราชของกรุงเทพฯ จึงเหมือนเมืองแต้จิ๋วในจีน สังคมไทยถือว่ามีความโอบอ้อมอารีกับคนจีนที่อพยพเข้ามาในเมืองไทย ชาวจีนโพ้นทะเลในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จำนวนมากถูกต่อต้าน ถูกกดขี่ แต่ที่ประเทศไทยไม่มีเหตุการณ์แบบนี้ นี่อาจจะเป็นเพราะคนไทยส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ จึงมีความเมตตากรุณา และมีจิตใจเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่
เมื่อตอนที่ผมเป็นเด็ก ประเทศไทยเป็นประเทศที่สงบสุข ในขณะที่ประเทศอื่นๆ มีสงครามอย่างต่อเนื่องเป็นเวลานาน แต่เมื่อญี่ปุ่นขยายแนวรบเข้ามาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ สงครามมหาเอเชียบูรพาปะทุขึ้น กิจการของคุณพ่อซึ่งกำลังเจริญเติบโตได้ดีอยู่นั้นจึงพลอยได้รับผลกระทบไปด้วย
แปลและเรียบเรียงโดย :
- คุณภรณี จิรวงศานนท์ สำนักประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์
- มร. หวง เหวยเหว่ย ผู้จัดการทั่วไปฝ่ายพัฒนาโครงการ บริษัท ซีที อินฟราสตรักเจอร์ ดีเวลลอปเมนต์ จำกัด