การจับปลาในปริมาณที่มากเกินควร (Overfishing) การทำประมงอย่างไร้ความรับผิดชอบ ซึ่งรวมถึงการทำผิดกฎหมายในเรื่องต่างๆ ขาดการรายงาน และขาดการควบคุม (Illegal, Unreported, and Unregulated - IUU) ทำให้ปริมาณปลาลดน้อยลงเป็นจำนวนมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นในการออกทำประมงแต่ละครั้งจึงต้องมุ่งหวังให้สามารถจับสัตว์น้ำได้ปริมาณที่มากเพียงพอเพื่อสร้างรายได้ในการดำรงชีพ ซึ่งรวมถึงรายได้จากการขายปลาขนาดเล็กเข้าโรงงานผลิตปลาป่นด้วย
ปัญหานี้สร้างความเดือดร้อนแก่ผู้ประกอบอาชีพประมงชายฝั่งเป็นอย่างมากทั้งมิติของสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจ อันอาจนำไปสู่การล่มสลายของชุมชนประมงชายฝั่งในที่สุด ทำให้เกิดข้อเรียกร้องขึ้นอย่างมากจากชุมชนประมงชายฝั่งให้ผู้ประกอบการในห่วงโซ่อุปทานตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว รวมถึงในฐานะผู้ผลิตอาหารสัตว์และธุรกิจฟาร์มกุ้ง โดยอาหารกุ้งนั้นมีส่วนผสมจากปลาป่น 2 ประเภท ได้แก่ 1) ปลาป่นประเภท By Product ซึ่งเป็นส่วนเหลือจากโรงงานอุตสาหกรรม เช่น หัว หางปลาทูน่า เป็นต้น และ 2) ปลาป่นประเภท By Catch อันประกอบด้วยปลาเป็ด (ปลาขนาดเล็กที่ไม่มีมูลค่าทางเศรษฐกิจ) และลูกปลาเศรษฐกิจ ซึ่งถือเป็นผลพลอยได้จากการทำประมง
ตระหนักเห็นว่าปลาเล็กปลาน้อยที่ถูกส่งเข้าโรงงานผลิตปลาป่นประเภท By Catch เกิดจากการทำประมงอย่างไร้ความรับผิดชอบและส่งผลกระทบต่อประมงชายฝั่ง ได้ออกแถลงการณ์เพื่อยุติการซื้อวัตถุดิบปลาป่นประเภท By Catch ในวันที่ 14 สิงหาคม 2558 คงไว้เพียงการรับซื้อเฉพาะปลาป่นประเภท By Product จากโรงงานที่ได้รับมาตรฐานสากลเท่านั้น
ต่อมาได้ประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการส่งเสริมและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน โดยเชิญผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการด้านประมง ภาคประชาสังคม รวมถึงตัวแทนจากภาครัฐที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมเป็นคณะกรรมการร่วมภาคประชาสังคมเพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการศึกษา ให้คำแนะนำ และมีส่วนร่วมในการให้แนวทางอันเป็นประโยชน์มุ่งเน้นเพื่อขยายผลไปยังมิติเพื่อการส่งเสริมและพัฒนาวิถีประมง ซึ่งจะนำไปสู่การฟื้นฟูอย่างยั่งยืน
นอกจากนี้แล้ว ได้ตั้งทีมกิจกรรมชุมชนสัมพันธ์ในพื้นที่เขตประมงชายฝั่ง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดำเนินการโครงการต่าง ๆ ร่วมกับชุมชนประมงชายฝั่ง นักวิชาการ และส่งเสริมเยาวชนให้เห็นความจำเป็นของงานอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน รวมถึงการศึกษาเทคโนโลยีทางด้านประมง เช่น VMS เรดาร์ เซ็นเซอร์ เป็นต้น ด้วยมุ่งหวังให้สามารถใช้เทคโนโลยีเพื่อแก้ไขปัญหาและฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างบูรณาการ ซึ่งปัจจุบันได้มีการกำหนดโครงการต้นแบบเพื่อการฟื้นฟูแล้ว และคาดว่าจะสามารถเริ่มเห็นผลได้ในปี 2560
ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการผลักดัน การปรับแก้กฎหมายและร่างหลักเกณฑ์ใหม่ ได้แก่ พระราชกำหนดประมง รวมถึงหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการทำประมงเพื่อให้มีความสอดคล้องกับหลักเกณฑ์สากล โดยการประสานความร่วมมือ รับฟังข้อกังวลของทั้งประมงพื้นบ้าน ประมงพาณิชย์ หน่วยงานภาครัฐ การขอความเห็นจากนักวิชาการ ภาคประชาสังคม และองค์กรระหว่างประเทศ โดยมีเป้าประสงค์ให้ทั้งประมงชายฝั่ง และการประมงในประเทศไทยสามารถประกอบอาชีพต่อไปได้ควบคู่กับการอนุรักษ์ การฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติ ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษา การปรับแก้ และการประสานทุกภาคส่วนเพื่อร่วมทำข้อเสนอต่อไปยังภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง
การผลักดันตามเจตนารมณ์เพื่อส่งเสริมการฟื้นฟูทรัพยากรทางทะเลอย่างยั่งยืน ตามที่ตั้งไว้จะไม่สามารถบรรลุผลได้อย่างสูงสุด หากไม่มีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในห่วงโซ่อุปทาน จึงริเริ่มการประชุมโดยเชิญผู้มีส่วนได้เสียในห่วงโซ่อุปทานประมงเข้าร่วม รวมถึงสมาคมต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง กลุ่มนักวิชาการประมง ผู้ประกอบการรายใหญ่ของประเทศ ภาคประชาสังคมไทยและภาคประชาสังคมสากล โดยมีอธิบดีกรมประมงเป็นประธานในที่ประชุม ซึ่งได้หารือและกำหนดกรอบแนวทางความร่วมมือทั้งด้านนโยบายและการปฏิบัติภายใต้วัตถุประสงค์และเจตนารมณ์ตามที่กล่าวข้างต้น