โดย ณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
จากข้อมูลถึงเดือนธันวาคม 2557 ซีพีเอฟมีเกษตรกรเข้าร่วมโครงการทั้งหมด 4,999 ราย เป็นเกษตรกรในรูปแบบประกันตลาด อยู่เพียง 1% โดยเกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการ Contract Farming กับบริษัท ส่วนใหญ่อยู่ในรูปแบบประกันรายได้ 87% และรูปแบบประกันราคา 12% ซึ่งอาจมีความเสี่ยงอยู่บ้างกรณีที่เกิดโรคระบาดและวิบัติภัย แต่ก็มีความเสี่ยงน้อยกว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยอิสระทั่วไป
สำหรับดัชนีที่ใช้วัดความสำเร็จของเกษตรกรในโครงการ Contract Farming กับซีพีเอฟ คือ
สามารถคืนเงินกู้ให้กับสถาบันการเงินภายในระยะเวลาของโครงการ (ภายใน 8-9 ปี) สูงถึง 98 %
เกษตรกรมากกว่า 50% เข้าร่วมโครงการนานกว่า 10ปี บ่งบอกถึงการส่งเสริมอาชีพที่มั่นคง กล่าวคือ มีเกษตรกรร่วมโครงการมากกว่า 30 ปี มีมากถึง 120 ราย, ร่วมโครงการตั้งแต่ 20-29 ปีมีถึง 571 ราย, ร่วมโครงการเป็นระยะเวลา 10-19 ปีมีมากถึง 2,190 ราย และร่วมโครงการ 1-9 ปีมีจำนวน 2,118 ราย
เกษตรกรหลายรายที่มีศักยภาพ มีการขยายกิจการจาก 1 ฟาร์ม (1 หลัง) เป็นหลายๆฟาร์ม (หลายๆหลัง) และยังสืบทอดความสำเร็จจากรุ่นพ่อ-แม่ สู่รุ่นลูก-หลาน ให้ Generation ใหม่เข้ามาสานต่อความยั่งยืนของอาชีพได้อย่างมั่นคง
อย่างไรก็ตามที่ผ่านมายังพบว่ามีสื่อมวลชนและนักวิชาการบางสวน ที่อาจจะยังไม่ได้ศึกษาอย่างถ่องแท้ ส่งผลให้มีมุมมองตามความเชื่อที่บอกต่อๆกันมา เช่น Contract Farming เป็นเรื่องเลวร้าย? ทั้งที่ในความเป็นจริงข้อตกลงนี้เกิดขึ้นเพราะทั้งสามฝ่ายมาลงนามกัน และระบบนี้เกิดมานานมากหากเลวร้ายจริงคงไม่มีระบบนี้อยู่แล้ว แต่กลับดำเนินการอย่างต่อเนื่องมาร่วม 40 ปี หรืออีกเรื่องที่คนมักคิดไปว่า Contract Farming เพิ่มความเสี่ยงให้เกษตรกร? ปกติเกษตรกรจะไม่รู้เลยว่าสินค้าของตนเองจะขายได้ในราคาเท่าไหร่ ไม่รู้ว่าผลผลิตประเภทเดียวกันจะออกมาล้นตลาดขนาดไหน ซึ่งส่งผลถึงราคาและรายได้ที่เขาจะได้รับ แต่รูปแบบระบบประกันราคาทำให้เกษตรกรรู้ราคาผลผลิตที่เขาจะผลิตตั้งแต่ยังไม่เริ่มผลิต หรือรูปแบบการประกันรายได้ก็มีค่าตอบแทนที่ชัดเจน ระบบนี้จึงเป็นการลดความเสี่ยงให้เกษตรกรด้วยซ้ำ ส่วนความเข้าใจที่ว่าเกษตรกร Contract Farming ส่วนใหญ่ล้มเหลว? นั้นก็ไม่จริง โดยเฉพาะในช่วงที่ราคาสินค้าตกต่ำ เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์โดยทั่วไปส่วนใหญ่จะขาดทุน แต่เกษตรกรในโครงการ Contract Farming ยังได้รับผลตอบแทนที่เป็นกอบเป็นกำและน่าพอใจ เกษตรกรหลายรายจึงสามารถลืมตาอ้าปากได้หลังเข้ามาอยู่ในระบบนี้
ที่สำคัญคือเมื่อพูดถึง Contract Farming ทีไร คนก็มักหมายถึงบริษัทใหญ่ไม่กี่ราย ทั้งที่ในความเป็นจริงจากข้อมูล Contract Farming ทั้งประเทศประเมินว่ามีประมาณ 2 แสนราย กระจายอยู่ในภาคปศุสัตว์และพืชเศรษฐกิจสำคัญ ทั้งหมู ไก่ไข่ ไก่เนื้อ เป็ด อ้อย ข้าวโพด มันฝรั่ง มะเขือเทศ ข้าวบาร์เลย์ สับปะรด เป็นต้น ส่วน Contract Farming ด้านปศุสัตว์ทั่วประเทศมีการประเมินกันว่ามีประมาณ 5 หมื่นราย เท่ากับว่าจำนวนเกษตรกรที่ร่วมโครงการเลี้ยงสัตว์กับซีพีเอฟที่มี 4,999 รายนั้น คิดเป็นเพียง 10% ของเกษตรกรผู้เลี้ยงสัตวทั้งประเทศเท่านั้น และเป็นเรื่องที่น่ายินดีที่หลังจากได้นำคณะสื่อมวลชนและนักวิชาการหลายคณะ ไปเยี่ยมและดูงานที่ฟาร์มของเกษตรกร ทำให้คณะที่ไปดูงานได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และทราบว่าซีพีมีการดำเนินการอย่างมีระบบ และมีความเป็นมืออาชีพ ส่งเสริมให้มีการเลี้ยงสัตว์โดยใช้เทคโนโลยีและคำนึงถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ตลอดจนคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภคด้วย และที่สำคัญเกษตรกรในโครงการมีความเสียงน้อยมาก มีความมั่นคงในอาชีพสามารถส่งต่ออาชีพถึงรุ่นลูกหลาน และเกษตรกรหลายรายต้องการขยายงานเพิ่ม ซึ่งแน่นอนว่าการทำงานร่วมกับเกษตรกรหลายราย ปัญหาย่อมมีบ้างเป็นธรรมดา แต่มีน้อยมาก มักจะเป็นปัญหาเฉพาะราย เฉพาะบุคคล ซึ่งบริษัทได้ตั้งคณะกรรมการขึ้นมาดูแลปัญหาที่เกิดขึ้น และเกษตรกรจะได้รับการดูแลอย่างเหมาะสมทุกราย
ทั้งหมดนี้คงพอจะตอบโจทย์คำถามและข้อสงสัยที่มีต่อ Contract Farming ว่าไม่ใช้ระบบที่ทำร้ายเกษตรกร หรือให้ประโยชน์กับฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง หากแต่เป็นการสร้างประโยชน์ให้กับทุกฝ่ายทั้ง บริษัท เกษตรกร และที่สำคัญคือผู้บริโภคที่จะได้รับอาหารที่ปลอดภัยเพื่อสุขภาพที่ดีต่อไป....
ที่มา : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)