โดย ณรงค์ เจียมใจบรรจง รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)
บทสรุปจากเวทีวิชาการ และเวทีสาธารณะต่างๆ ทำให้นักวิชาการและสื่อมวลชนเริ่มมีความเข้าใจตรงกันว่า เกษตรกรที่ทำธุรกิจด้านปศุสัตว์ส่วนใหญ่ของประเทศไทย มีปัญหาและมีความเสี่ยงต่อปัจจัยต่างๆมากมาย ซึ่งพอสรุปได้ดังนี้
1.ความเสี่ยงต่อสภาวะสิ่งแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลง เช่นภัยจากน้ำท่วมและภัยแล้ง ทำให้กระทบต่อผลผลิต เกิดความเสียหายและผลผลิตไม่เป็นไปตามเป้าหมาย ทำให้มีรายได้ไม่แน่นอน
2.ความเสี่ยงต่อโรคระบาด ที่ทำความเสียหาย ผลผลิตลดลง และคุณภาพผลผลิตไม่เป็นไปตามมาตรฐาน หรือสินค้าที่ผลิตได้คุณภาพต่ำไม่ตรงกับความต้องการของตลาด ทำให้ขายสินค้าได้ราคาต่ำ รายได้ลดลง
3.ความเสี่ยงต่อภาวะราคาสินค้าปศุสัตว์ที่ผันผวนตาม Demand – Supply ขณะที่ต้นทุนการผลิตมีแนวโน้มสูงขึ้นตลอด ทำให้ในบางช่วงเวลาเกษตรกรอาจมีกำไรบ้างถ้าขายสินค้าได้ราคาดี และมักจะขาดทุนในช่วงที่ราคาตกต่ำ เช่นปัจจุบันที่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ขาดทุนเพราะปริมาณผลผลิตไข่ไก่ทั้งประเทศมีมากกว่าความต้องการบริโภค ทำให้ขายไข่ได้ราคาต่ำกว่าต้นทุน
4.เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วไปไม่มีตลาดรองรับสินค้าที่แน่นอน จึงจำเป็นต้องขายสินค้าให้กับพ่อค้าในพื้นที่ หรือขายสินค้าผ่านคนกลาง ทำให้มีความเสี่ยงว่าเมื่อขายสินค้าไปแล้วจะถูกกินหัวคิว และหลายรายที่ขายสินค้าไปแล้ว แต่เก็บเงินไม่ได้
5.เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ทั่วไปไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสม เช่นโรงเรือนและอุปกรณ์ที่ทันสมัย ซึ่งจะสอดคล้องกับระบบการป้องกันโรคที่ดี ที่จะทำให้สัตว์ในฟาร์มอยู่อย่างสบาย ไม่เครียด และยังช่วยให้คนดูแลสัตว์ในฟาร์มได้ง่ายขึ้น ใช้คนดูแลสัตว์ลดลง เกิดประสิทธิภาพการผลิตที่ดีขึ้น มีต้นทุนต่อหน่วยลดลง ส่วนสาเหตุหลักที่ไม่สามารถเข้าถึงเทคโนโลยีที่เหมาะสมนั้น เพราะเทคโนโลยีใหม่ๆต้องลงทุนสูงในช่วงต้น
6.เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ส่วนใหญ่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุน จึงทำให้เกษตรกรไทยจำนวนมาก ลงทุนโรงเรือนและอุปกรณ์แบบง่ายๆ ใช้เงินลงทุนน้อย และไม่มีระบบการป้องกันโรคที่ดี ผลที่ตามมาคือ สัตว์อยู่ไม่สบาย เกิดความเครียด ทำให้ป่วยเป็นโรคได้ง่าย และคนดูแลสัตว์ทำงานไม่สะดวก ต้องใช้คนดูแลจำนวนมาก สินค้าที่ผลิตได้จึงมีประสิทธิภาพต่ำ เช่น สัตว์โตช้า ผลผลิตลดลง หรือเสียหายสูง ทำให้ต้นทุนต่อหน่วยสูง
จากสาเหตุทั้ง 6 ข้อนี้ จึงทำให้เกษตรกรผู้เลี้ยงสัตว์ของไทยส่วนใหญ่ ต้องล้มลุกคลุกคลาน และตกอยู่ภายใต้วังวนของความยากจนตลอดมา หลายคนอาจรู้จักคำว่า “Contracting Farming : คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” แล้ว แต่ก็ยังมีบางคนที่ยังเข้าใจคำนี้อย่างคลาดเคลื่อน และอาจถึงกับมองคำนี้ในภาพลบเสียด้วยซ้ำ...กล่าวให้เข้าใจกันง่ายๆ Contract Farming คือ การทำธุรกิจที่มีข้อตกลงไว้ล่วงหน้าภายใต้เงื่อนไขว่า จะลงทุนผลิตอะไร ผลิตที่ไหน ใช้เทคโนโลยีแบบไหน ใช้แหล่งเงินทุนจากที่ใด เกษตรกรลงทุนอะไรบ้าง ภาคบริษัทลงทุนส่วนใดบ้าง ที่สำคัญคือมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบชัดเจน และมีข้อตกลงเรื่องรายได้ที่จะเกิดขึ้น สรุปแล้วระบบนี้เป็นลักษณะของโครงการ 3 ประสาน คือ เกษตรกร, ภาคบริษัท, และสถาบันการเงิน
อย่างไรก็ดี Contracting Farming มีรายละเอียดค่อนข้างมากต้องศึกษาอย่างถ่องแท้จึงจะเกิดความเข้าใจ แล้วจะพบว่าระบบนี้สามารถตอบโจทย์ทั้ง 6 ข้อได้เป็นอย่างดี
Contract Farming นี้ถือเป็นระบบการทำธุรกิจด้านการเลี้ยงสัตว์ที่ทางเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) ได้นำมาใช้เป็นครั้งแรกเมื่อปี 2518 คือ โครงการเลี้ยงไก่เนื้อ ที่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี ต่อมาได้ขยายพื้นที่โครงการส่งเสริมไปอีกหลายจังหวัดจนครบทุกภูมิภาคทั่วประเทศ และมีการขยายเพิ่มจากโครงการส่งเสริมเลี้ยงไก่เนื้อ เป็นส่งเสริมการเลี้ยงสุกร และส่งเสริมการเลี้ยงไก่ไข่ ซึ่ง Contract Farming มี 3 ลักษณะ คือ รูปแบบการประกันรายได้, รูปแบบการประกันราคา และรูปแบบการประกันตลาด
1.รูปแบบการประกันรายได้ เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายย่อย และเป็นเกษตรกรที่ไม่จำเป็นต้องมีความรู้เรื่องการเลี้ยงสัตว์มาก่อน ซึ่งสถาบันการเงินพร้อมที่จะปล่อยเงินกู้ให้แก่เกษตรกรที่ผ่านการคัดเลือกจากบริษัท โดยพิจารณาแล้วว่ามีความเหมาะสมที่จะเข้าร่วมโครงการนี้ โดยเกษตรกรต้องเป็นผู้ลงทุนก่อสร้างโรงเรือน ด้วยการใช้อุปกรณ์และเทคโนโลยีการเลี้ยงสัตว์ที่เหมาะสม และเป็นผู้รับผิดชอบด้านแรงงาน ค่าน้ำ-ค่าไฟฟ้าที่เกิดขึ้น ส่วนบริษัทจะเป็นผู้ลงทุนเกี่ยวกับทรัพย์สินหมุนเวียน ได้แก่ พันธุ์สัตว์ อาหารสัตว์ และวัคซีนป้องกันโรค พร้อมทั้งจัดส่งเจ้าหน้าที่มาช่วยบริการและแนะนำด้านวิชาการตั้งแต่เริ่มต้นโครงการ พูดง่ายๆคือ บริษัทจะเป็นเจ้าของไก่ หรือหมูที่เลี้ยงในฟาร์มทั้งหมด จึงถือเป็นผู้แบกรับความเสี่ยงทุกอย่างแทนเกษตรกร ทั้งกรณีที่เกษตรกรดูแลไม่ดี หรือเกิดความเสียหายสัตว์ป่วยตาย หรืออาจเสียหายจากวิบัติภัย เช่น น้ำท่วม ขณะเดียวกันบริษัทต้องรับความเสี่ยงต่อสภาวะตลาดและราคาสินค้าที่ผันผวนอีกด้วย รูปแบบประกันรายได้นี้ เกษตรกรจะมีรายได้ค่อนข้างแน่นอน จะได้มากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับประสิทธิภาพการเลี้ยงสัตว์ เช่น ถ้าประสิทธิภาพการผลิตดี เสียหายน้อย สินค้ามีคุณภาพได้มาตรฐาน เกษตรกรก็จะมีรายได้ดี ซึ่งบริษัทจะมีข้อมูลที่ใช้เป็นมาตรฐานเปรียบเทียบกับเกษตรกรในโครงการทั่วประเทศ และกำหนดเป็นข้อตกลงเพื่อกำหนดรายได้ที่เหมาะให้แก่เกษตรกร
2.รูปแบบการประกันราคา เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรขนาดกลางหรือเกษตรกรรายใหญ่ เหมาะสำหรับเกษตรกรที่มีความรู้และมีประสบการณ์เรื่องการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี เกษตรกรกลุ่มนี้ยินดีที่จะลงทุนเพิ่มขึ้น นอกจากลงทุนด้านโรงเรือนและอุปกรณ์แล้ว ยังต้องลงทุนเรื่องทรัพย์สินหมุนเวียนทั้งหมด คือ ลงทุนซื้อพันธุ์สัตว์และซื้ออาหารสัตว์จากบริษัทในราคาข้อตกลง รวมทั้งขายผลผลิตให้บริษัทในราคาข้อตกลงเช่นเดียวกัน เนื่องจากเกษตรกรกลุ่มนี้ไม่อยากเสี่ยงเรื่องสภาวะราคาพันธุ์สัตว์และราคาวัตถุดิบอาหารสัตว์ที่ผันผวน การกำหนดราคาล่วงหน้า ทำให้เขาสามารถคำนวนต้นทุนได้แน่นอน และไม่ต้องเสี่ยงหรือกังวลเรื่องการหาตลาดจัดจำหน่ายสินค้า และเรื่องราคาผลผลิตที่ผันผวน เกษตรกรกลุ่มนี้จึงมุ่งเน้นด้านการผลิตให้มีประสิทธิภาพดี ซึ่งจะส่งผลให้มีต้นทุนต่ำ เกษตรกรกลุ่มนี้ถ้าเขามีประสิทธิภาพการผลิตที่ดีจะทำให้มีรายได้สูงกว่ารูปแบบประกันรายได้ แต่ถ้าการจัดการเลี้ยงไม่มีประสิทธิภาพ หรือเกิดปัญหาวิบัติภัย หรือโรคระบาด ก็อาจจะขาดทุนอย่างมากได้เช่นกัน
3.รูปแบบการประกันตลาด เป็นรูปแบบการทำธุรกิจที่เหมาะสำหรับเกษตรกรรายใหญ่ ที่มีความรู้และมีประสบการณ์ด้านการเลี้ยงสัตว์เป็นอย่างดี หรืออยู่ในธุรกิจเลี้ยงสัตว์แบบอิสระมานานแล้ว ส่วนใหญ่มักเป็นลูกค้าของบริษัท ที่อยากจะลงทุนขยายกิจการฟาร์มเลี้ยงสัตว์เพิ่มขึ้น แต่ไม่มีตลาดรองรับ จึงทำการตกลงกับบริษัท โดยจะลงทุนและใช้เทคโนโลยีของบริษัท และยินดีซื้อพันธุ์สัตว์และอาหารสัตว์ของบริษัทในราคาขึ้นลงตามสภาวะตลาด และตกลงขายผลผลิตในราคาขึ้นลงตามสภาวะตลาด โดยบริษัทต้องรับซื้อผลผลิตทั้งหมด
ที่มา : บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน)