“เครือเจริญโภคภัณฑ์” จับมือกับคณะเศรษฐศาสตร์และศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระดมความคิดเห็นภาครัฐและเอกชน เพื่อหาทางออกปัญหายางพาราทั้งระบบให้เติบโตอย่างยั่งยืน เพราะยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจสำคัญของไทยที่เป็นตัวขับเคลื่อนภาคส่งออก โดยได้จัดสัมมนาเวทีประเทศไทยกับ Global Connectivity เรื่อง AEC : อนาคตยางพาราไทย วิกฤตหรือโอกาส ที่โรงแรมแกรนด์ เมอร์เคียว ฟอร์จูน เมื่อวันที่ 23 เมษายน 2558
นายอำนวย ปะติเส รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวถึงทิศทางยางพาราไทยว่า ต้องพัฒนาตลาดกลางยางพาราไทยให้เข้มแข็ง เพื่อสร้างมาตรฐานและระบบการส่งมอบ รวมทั้งต้องสนับสนุนให้ตลาดกลางยางพาราเข้าสู่ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยและสร้างตลาดซื้อขายล่วงหน้า อีกทั้งต้องส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้นจากเดิม 14% เป็น 20-30% ที่สำคัญจะต้องกำหนดยุทธศาสตร์ดำเนินการแบบเจาะลึกลงรายละเอียดให้ชัดเจน ไม่ใช่วิเคราะห์ข้อมูลกว้างๆ หรือบริหารแบบเสื้อโหล แต่ต้องบริหารแบบเสื้อตัด เพื่อกำจัดปิศาจที่ซ่อนอยู่ในนโยบาย
สำหรับแนวทางแก้ไขปัญหาราคายางพาราในระยะเร่งด่วน รมช.เกษตรและสหกรณ์ กล่าวว่า คณะรัฐมนตรีกำลังให้ความเห็นชอบมาตรการยางพาราภายในเดือนพฤษภาคมนี้ โดยจะกำหนดรายละเอียดอย่างชัดเจนว่า ควรรับซื้อในราคากิโลกรัมละเท่าไหร่ และใช้เครื่องมือบริหารจัดการอย่างไร ส่วนในระยะยาวมี 16 โครงการ 4 แนวทางแก้ไขปัญหาคือ ลดผลิตยางลง ด้วยการโค่นต้นยางหมดอายุทิ้งภายใน 7 ปี ซึ่งรัฐบาลกำลังใช้รัฐธรรมนูญชั่วคราวมาตรา 44 โค่นต้นยางในพื้นที่ป่าสงวนจากเดิมไม่สามารถทำได้ นอกจากนี้จะต้องเพิ่มสภาพคล่องสินเชื่อสนับสนุนสถาบันการเกษตรกรและสนับสนุนเอกชนแปรรูปยาง จากนั้นเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตและการตลาด และเพิ่มการใช้ยางพาราในประเทศ ส่วนพระราชบัญญัติการยางแห่งประเทศไทย ที่กำลังอยู่ระหว่างการพิจารณาของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ หรือ สนช. มีสาระสำคัญในการควบรวมองค์กรที่เกี่ยวกับการบริหารจัดการยางของไทยอยู่ในรูปรัฐวิสาหกิจและราชการ ให้เป็นองค์กรเดียวกันในรูปแบบรัฐวิสาหกิจ ที่มีจุดเด่นในการจัดทำนโยบายส่งเสริมและสนับสนุนให้ภาคส่วนต่างๆ เป็นหนึ่งเดียวกัน ภายใต้การจัดการของพระราชบัญญัติควบคุมยาง คาดว่าจะประกาศใช้ในเร็วๆ นี้
ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช คณบดีคณะเศรษฐศาสตร์ และผู้อำนวยการศูนย์ศึกษาการค้าระหว่างประเทศ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ประเทศไทยส่งออกยางพารามากที่สุดในโลก 4.1 ล้านตัน เป็นพืชส่งออกติด 1 ใน 10 ของไทย มีมูลค่ารวมกว่า 400,000 ล้านบาทต่อปี ส่วนพื้นที่ปลูกยางพาราพบว่า อินโดนีเซียมีมากที่สุด 23 ล้านไร่ รองลงมาคือไทย 20.7 ล้านไร่ ตามมาด้วยจีน 7.1 ล้านไร่ และมาเลเซีย 6 ล้านไร่ ซึ่งประเทศในกลุ่มอาเซียนให้ความสำคัญกับยางพาราอย่างมาก โดยเฉพาะมาเลเซียตั้งเป้าจะเป็นศูนย์กลางยางพาราและผลิตภัณฑ์ยางพาราของโลกในปี ค.ศ. 2020 แต่เห็นว่าไทยมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางยางพาราโลกมากกว่า เพราะมีวัตถุดิบและมีตลาดใหญ่กว่ามาเลเซีย
ดร.อัทธ์ ยังบอกด้วยว่า ปัจจุบันยางพาราถูกนำไปใช้ทำยางรถยนต์มากที่สุด 70% ตามมาด้วยเครื่องมือทางการแพทย์ 13% และโรงงานอุตสาหกรรม 9% โดยจีนใช้ยางมากที่สุดในโลก 3.5 ล้านตันต่อปี คิดเป็น 35% ตามด้วยสหภาพยุโรป (อียู) และสหรัฐอเมริกา ส่วนไทยใช้ยางพาราภายในประเทศเพียง 12.8% ที่เหลือ 87.2% พึ่งพาการส่งออก ทำให้ราคายางพาราถูกกำหนดโดยประเทศผู้ซื้อ อย่างจีน อียู และสหรัฐอเมริกา แต่หากไทยเพิ่มปริมาณการใช้ยางพาราภายในประเทศและแปรรูปมากขึ้น จะช่วยลดความเสี่ยงเรื่องตลาดและราคาได้ หากใช้ในประเทศเพิ่มเป็น 20% จะสร้างมูลค่าได้ถึง 1.7 ล้านล้านบาท และจะส่งผลดีกับอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสิ่งทอ ปุ๋ย และเครื่องจักร อีก 500,000 ล้านบาท มีการจ้างงาน 96,000 คน แต่หากเพิ่มการใช้ในประเทศเป็น 40% จะสร้างมูลค่าถึง 2.7 ล้านล้านบาท และเพิ่มมูลค่าอุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องอีก 2 ล้านล้านบาท มีการจ้างงาน 300,000 คน
นายขุนศรี ทองย้อย รองกรรมการผู้จัดการอาวุโส กลุ่มธุรกิจพืชครบวงจร เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าวว่า ยางพาราไทยมีโอกาสในช่วงวิกฤต เพราะในอนาคตประชากรโลกที่เพิ่มขึ้น จะทำให้มีความต้องการใช้ยางพาราเพิ่มขึ้น และการเปิดเสรีทางการค้าในกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC จะมีการยกเลิกกำแพงภาษี ทำให้ยางพาราไทยมีศักยภาพในการแข่งขันในฐานะผู้ผลิตเบอร์หนึ่งของโลก โดยยางพาราของไทยมีจุดแข็งเรื่องสายพันธุ์ ถึงแม้เกษตรกรจะมีปัญหาเรื่องการเข้าถึงเทคโนโลยี โดยเฉพาะเรื่องการดูแลและการให้ปุ๋ย ทำให้ผลผลิตต่ำ แต่มีโอกาสในการพัฒนาสายพันธุ์ให้ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น
สำหรับข้อจำกัดของยางพาราไทย นายขุนศรี กล่าวว่า ไทยพึ่งพาตลาดส่งออกไปจีน อียู และสหรัฐอเมริกาเป็นหลัก ทำให้ต่างประเทศเป็นผู้กำหนดราคา ไทยจึงต้องพัฒนาเรื่องคุณภาพยางให้เป็นเกรดพรีเมียม เพื่อให้มีราคาสูงขึ้น สามารถเป็นผู้กำหนดราคาได้เอง ส่วนการแปรรูป ภาครัฐจะต้องกำหนดนโยบายให้ใช้ยางพาราในประเทศ เช่น สร้างถนน และสนามเด็กเล่น ขณะที่โรงงานแปรรูปจากน้ำยางหรือยางแผ่นมาเป็นยางแท่งจะต้องสงวนไว้ให้คนไทย ส่วนนักลงทุนต่างชาติควรอนุญาตให้ลงทุนในอุตสาหกรรมปลายน้ำที่ใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเท่านั้น นอกจากนี้ภาครัฐจะต้องมีเทคนิคในการบริหารสต็อก ไม่เปิดเผยตัวเลขทั้งหมดให้ต่างประเทศได้รู้เพื่อไม่ให้มีการกดราคา และรัฐบาลต้องดึงตลาดซื้อขายยางล่วงหน้าจากสิงคโปร์มาอยู่ที่ไทย เพื่อให้มีการซื้อขายจริงและสะท้อนราคาตามความเป็นจริง ที่สำคัญภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยสนับสนุนเกษตรกรในเรื่องแหล่งทุนด้วยการค้ำประกันสินเชื่อ รวมถึงจัดหาเทคโนโลยีและตลาดให้ชาวสวนยางด้วย
นายบุญหาญ อู่อุดมยิ่ง ประธานกลุ่มอุตสาหกรรมผลิตภัณฑ์ยาง สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย กล่าวว่า แนวโน้มการผลิตยางพาราจะเพิ่มขึ้นทุกปี โดยกูรูเรื่องยางของโลกวิเคราะห์ว่า ปี ค.ศ. 2025 ทั่วโลกจะผลิตได้ 10.7 ล้านตัน และปี ค.ศ. 2035 จะผลิตเพิ่มเป็น 23.7 ล้านตัน ส่วนใหญ่นำไปใช้ภาคอุตสาหกรรมรถยนต์ ซึ่งแนวทางแก้ไขปัญหายางพาราไทยอย่างยั่งยืนคือ ส่งเสริมให้มีโรงงานแปรรูปเกิดขึ้น โดย BOI ต้องเชิญชวนต่างชาติเข้ามาลงทุน จากนั้นต้องจัดทำโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เช่น ห้องทดสอบยางพารา กำหนดมาตรฐานตรวจสอบสินค้าให้เข้มข้น และจัดให้มีการวิจัยและพัฒนา เพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ๆ นอกจากนี้ต้องดูแลกฎหมายส่งเสริมขีดความสามารถในการแข่งขันของไทย และสนับสนุนให้ใช้ยางพาราในประเทศให้มากขึ้น เพราะประเทศไทยส่งออกยางดิบมากถึง 87% สร้างรายได้ 250,000 ล้านบาท ส่วนยางแปรรูป 13% กลับสร้างรายได้มากถึง 270,000 ล้านบาท จึงต้องเร่งส่งเสริมแปรรูปยางพาราให้มากขึ้น