สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม หรือ ส.ป.ก. และ บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส์ จำกัด (มหาชน) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือจัดทำโครงการ “เกษตรกรพึ่งตน ข้าวโพดยั่งยืน” เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตเกษตรกรผู้ปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ และลดผลกระทบสิ่งแวดล้อมจากกระบวนการเพาะปลูก โดยจะพัฒนาองค์ความรู้และพัฒนาระบบการผลิตของเกษตรกรในเขตปฏิรูปที่ดินของ ส.ป.ก. ในพื้นที่นำร่อง 8 จังหวัดได้แก่ แพร่ น่าน อุตรดิตถ์ ตาก พิษณุโลก เพชรบูรณ์ เลย และนครราชสีมา ครอบคลุมพื้นที่กว่า 45,000 ไร่ในปี 2558 และจะขยายพื้นที่กว่า 225,000 ไร่ในปี 2562 มีเกษตรกรร่วมโครงการกว่า 20,000 ราย
นายสมชาย กังสมุทร กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า พื้นที่เป้าหมายของ ส.ป.ก. จะเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพในการเพาะปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จากนั้นบริษัทฯ จะทำหน้าที่จัดอบรมให้ความรู้เรื่องการเพาะปลูกอย่างถูกต้องกับเกษตรกร ตั้งแต่การวิเคราะห์ธาตุอาหารในดิน ไปจนถึงการจัดการหลังเก็บเกี่ยว การเพิ่มผลผลิต และผลักดันให้เกิดศูนย์การเรียนรู้ เพื่อเป็นแหล่งข้อมูลในการพัฒนาเกษตรกรไทยสู่ความยั่งยืน
“จุดมุ่งหมายสำคัญของโครงการนี้ก็คือ ต้องการให้เกษตรกรมีความรู้ในการปลูกข้าวโพดอย่างถูกต้อง รู้จักการวิเคราะห์ดินด้วยตัวเอง และการใส่ปุ๋ยให้เหมาะกับดิน ทำให้ผลผลิตต่อไร่สูงขึ้น ต้นทุนต่อหน่วยลดลง รายได้เกษตรกรจะสูงขึ้นจากคุณภาพผลผลิตที่ดีขึ้น ลดปัญหาสุขภาพของเกษตรกรที่เกิดจากการใช้สารเคมี ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมจากการเพาะปลูก เช่น การเผาตอซัง การบุกรุกป่าและเผาป่าในพื้นที่หวงห้าม ที่ผ่านมาบริษัทฯ ไม่ส่งเสริมให้เผาตอซัง เพราะเป็นการทำลายแร่ธาตุในดิน แต่สนับสนุนให้ไถกลบแทน ซึ่งกระบวนการทั้งหมดเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาระบบตรวจสอบย้อนกลับ” นายสมชาย กล่าว
ด้านนายสรรเสริญ อัจจุตมานัส เลขาธิการ ส.ป.ก. กล่าวว่า ความร่วมมือกับภาคเอกชนครั้งนี้ จะไม่มีการผูกมัดว่า เกษตรกรจะต้องซื้อเมล็ดพันธุ์ หรือจำหน่ายข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ให้กับบริษัทกรุงเทพโปรดิ๊วส จำกัด (มหาชน) แต่เกษตรกรสามารถขายผลผลิตได้อย่างอิสระ เพราะโครงการนี้เน้นสร้างความเข้มแข็งให้กับผู้ปลูกข้าวโพด โดย ส.ป.ก.จะสนับสนุนการอบรมเนื้อหาด้านการดำเนินโครงการตามมาตรฐานสินค้าเกษตร เพื่อเตรียมความพร้อมเกษตรกรให้ผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ตามมาตรฐานการปฏิบัติทางการเกษตรที่ดี หรือ GAP (Good Agricultural Practices) ที่รับรองโดยศูนย์ตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรในเขตปฏิรูปที่ดิน หรือ ศรม. เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้ผู้รับซื้อ ซึ่งมาตรฐาน GAP สามารถเชื่อมโยงสู่มาตรฐาน GAP อาเซียน และ GAP สากลได้