• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

KKP Research วิเคราะห์วิกฤตภัยแล้ง 2020 ปีนี้รุนแรงแค่ไหน – ความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย


14 มกราคม 2563

KKP Research ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร

KKP Research ฝ่ายวิจัยเศรษฐกิจและกลยุทธ์ กลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร วิเคราะห์ “วิกฤตภัยแล้ง 2020 อีกหนึ่งความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจไทย” โดยมองว่า

  • สถานการณ์ภัยแล้งปีนี้เทียบความรุนแรงใกล้เคียงกับปี 2015-16 เนื่องจาก (1) ปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤต (2) น้ำในแม่น้ำสายหลักอยู่ในเกณฑ์น้อย และ (3) ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง
  • ภาคการเกษตรในภาคกลางและภาคเหนือได้รับผลกระทบมากที่สุด จากสัดส่วนการปลูกข้าวนาปรังที่สูงกว่าภาคอื่นๆ และพื้นที่ปลูกข้าวส่วนใหญ่อยู่ในเขตชลประทานซึ่งขาดแคลนน้ำในปีนี้
  • ภัยแล้งอาจะทำให้การบริโภคภาคครัวเรือนในปีนี้เสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 3%
  • แม้ผลกระทบโดยตรงต่อ GDP อาจจะไม่มากนัก แต่ผลลบทางอ้อมต่อเศรษฐกิจโดยรวมอาจสูง อีกทั้งยังกระทบคนจำนวนมาก และจะซ้ำเติมภาวะการจ้างงานและรายได้ครัวเรือนที่ได้รับแรงกดดันจากการหดตัวของภาคการผลิตอยู่แล้ว

ประเทศไทยกำลังเผชิญวิกฤตน้ำแล้งที่ลากยาวมาตั้งแต่ปี 2019 และมีแนวโน้มจะรุนแรงมากขึ้นในปี 2020 คำถามสำคัญคือ วิกฤตในครั้งนี้เกิดจากอะไร มีความรุนแรงมากน้อยแค่ไหน และจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างไร บทวิเคราะห์ของ KKP Research จะตอบคำถามเหล่านี้

วิกฤตน้ำแล้งปีนี้รุนแรงแค่ไหน?

สัญญาณภัยแล้งในปีนี้ปรากฏให้เห็นมาตั้งแต่ช่วงกลางปี 2019 โดยเฉพาะพื้นที่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคกลาง มีสาเหตุหลักจากปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อน (ภัยแล้ง) ที่เริ่มต้นมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2018 ส่งผลให้ในปีถัดมาเกิดฝนทิ้งช่วงในฤดูฝนนาน 2 เดือน (มิ.ย.–ก.ค. 2019) ปริมาณฝนตกน้อยกว่าค่าเฉลี่ยประมาณ 10% และปริมาณน้ำในเขื่อนหลายแห่งอยู่ในระดับต่ำ ถึงแม้ว่าประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลของพายุโซนร้อนในปี 2019 ไม่ว่าจะเป็น “วิภา” “โพดุล” และ “คาจิกิ” ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังแรงพัดปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ฝนตกหนักในหลายพื้นที่ และบางพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม แต่ฝนที่ตกส่วนใหญ่ตกในพื้นที่ใต้เขื่อนจึงไม่ได้ช่วยเติมน้ำในเขื่อนเท่าใดนัก และเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง (เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคมถึงประมาณกลางเดือนกุมภาพันธ์) จึงทำให้ปริมาณน้ำที่กักเก็บไว้ได้ หรือ “น้ำต้นทุน” ต่ำกว่าความต้องการใช้จริง

จากข้อมูลของคลังข้อมูลน้ำและภูมิอากาศแห่งชาติ ณ วันที่ 1 ม.ค. 2020 พบว่า ปริมาณน้ำในอ่างเก็บน้ำลุ่มน้ำเจ้าพระยา (4 เขื่อนหลัก) อยู่ในระดับใกล้เคียงหรือต่ำกว่าภัยแล้งปี 2015-16 (รูปที่ 1) และหากพิจารณาเป็นรายภูมิภาค พบว่า ภาคกลางน่าเป็นกังวลมากที่สุด เนื่องจากระดับน้ำของทั้ง 3 เขื่อน ได้แก่ เขื่อนป่าสักฯ เขื่อนกระเสียว และเขื่อนทับเสลา อยู่ในระดับต่ำที่ 20% – 24% ของความจุสูงสุดของเขื่อน ซึ่งต่ำกว่าทั้งค่าเฉลี่ยในอดีตและระดับน้ำในวันเดียวกันเมื่อปี 2016 หลายเขื่อนในภาคเหนือประสบกับปัญหาน้ำน้อยด้วยเช่นกัน มีเพียงภาคตะวันตกที่สถานการณ์น้ำอยู่ในเกณฑ์ดี (รูปที่ 2)

ระดับน้ำต้นทุนที่ต่ำต่อเนื่องมาจากปีก่อน และปริมาณน้ำในแม่น้ำสายหลักที่อยู่ในเกณฑ์น้อยและเริ่มแห้งขอด จะทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ลากยาวไปจนถึงเดือน มิ.ย. เทียบเคียงได้กับวิกฤตภัยแล้งในปี 2016 แต่ปัจจัยที่อาจทำให้สถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้ย่ำแย่ไปกว่าปี 2016 คือ ภาวะน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้จำเป็นต้องระบายน้ำในเขื่อนเพื่อใช้เจือจางและผลักดันน้ำเค็มที่รุกล้ำเข้ามา ส่งผลให้ปริมาณน้ำที่จะได้รับการจัดสรรสำหรับเกษตรกรรมอาจน้อยลงจนอาจเข้าขั้นวิกฤต นอกจากนี้ หากในช่วงครึ่งปีหลังปริมาณฝนยังคงต่ำกว่าค่าปกติ อาจยิ่งทำให้สถานการณ์ในปี 2020 รุนแรงกว่าภัยแล้งที่เคยเกิดในปี 2016

เกษตรกรผู้ปลูกข้าวในภาคกลางและภาคเหนือกระทบหนักสุด

สินค้าเกษตรสำคัญที่จะได้รับผลกระทบจากภาวะแล้งมากที่สุดคือข้าวนาปรัง เนื่องจากเป็นพืชที่มีการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วง
ฤดูแล้งคือระหว่างเดือนมกราคมถึงเมษายน ขณะที่พื้นที่เสี่ยงจะได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีนี้มากที่สุดคือภาคกลางและภาคเหนือ เพราะไม่เพียงแต่มีปริมาณน้ำต้นทุนอยู่ในระดับต่ำขั้นวิกฤต แต่ยังเป็นพื้นที่ที่มีสัดส่วนการปลูกข้าวนาปรังมากที่สุด (รูปที่ 3 และ 4) และอยู่ในเขตอาศัยน้ำจากชลประทานมากที่สุด (รูปที่ 5) โดยพื้นที่ปลูกข้าวนาปรังในภาคกลางและเหนืออยู่ในเขตชลประทานถึง 95% และ 50% ตามลำดับ ในปีวิกฤตภัยแล้ง 2016 พบว่าผลผลิตข้าวนาปรังของทั้งประเทศหดตัวลงถึง 63%
เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า โดยผลผลิตลดลงมากที่สุดในภาคกลางและภาคเหนือ (รูปที่ 6)

ผลกระทบจากภัยแล้งต่อเศรษฐกิจ

ภาวะภัยแล้งจะส่งผลให้รายได้ของเกษตรกรไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญ และเพิ่มความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศ ประเทศไทยนับเป็นประเทศที่ยังมีการทำการเกษตรค่อนข้างมาก โดยการจ้างงานในภาคการเกษตรสูงถึงเกือบ 1 ใน 3 ของการจ้างงานทั้งหมด ขณะเดียวกันเกษตรกรไทยยังขาดกลไกในการป้องกันความเสี่ยงต่อสภาพอากาศที่ไม่แน่นอนในแต่ละปี ในอดีตประเทศไทยเคยประสบภาวะภัยแล้งหลายครั้ง จากการสำรวจผลกระทบของภาวะภัยแล้งในปี 2015-16 โดยสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรพบว่า ความเสียหายครอบคลุมพื้นที่ถึง 2.87 ล้านไร่ ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ปลูกข้าวซึ่งเสียหายถึงกว่า 2 ล้านไร่ ขณะที่เกษตรกรได้รับผลกระทบ 272,743 ราย และเกษตรกรสูญเสียรายได้รวมทั้งสิ้น 15,514 ล้านบาท ซึ่งส่งผลกระทบต่อทั้งเกษตรกร การอุปโภคบริโภค และการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาพรวม

KKP Research คาดว่าสถานการณ์ภัยแล้งในปีนี้จะมีความรุนแรงเทียบเท่ากับหรือรุนแรงกว่าวิกฤตภัยแล้งในปี 2016 จากปริมาณน้ำต้นทุนที่อยู่ในระดับต่ำเข้าขั้นวิกฤตในหลายพื้นที่ชลประทาน อีกทั้งยังประสบปัญหาน้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งจำเป็นต้องจัดสรรน้ำที่มีอยู่เพื่อการอุปโภคบริโภคและเพื่อรักษาระบบนิเวศ (การป้องกันน้ำเค็มรุก) ก่อนที่จะจัดสรรให้กับภาคการเกษตรและอุตสาหกรรม โดย KKP Research ประเมินผลกระทบในด้านต่างๆ ดังนี้

1.ผลผลิตทางการเกษตรโดยรวมคาดลดลง 5% ในครึ่งปีแรก และลดลง 1.3% สำหรับทั้งปี

ผลผลิตข้าวนาปรังในช่วงครึ่งแรกของปีนี้คาดว่าอาจลดลงถึง 60% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยลดลงเหลือ 3.5 ล้านตันจากระดับปกติที่ 8.3 ล้านตันต่อปี ซึ่งทำให้ผลผลิตข้าวทั้งปีลดลง 1.5% ในกรณีที่ข้าวนาปีในช่วงฤดูฝนของปีนี้กลับมาปลูกได้ตามปกติ (สัดส่วนผลผลิตข้าวนาปรังต่อข้าวนาปีประมาณ 25:75)

ผลกระทบต่อผลผลิตทางการเกษตร (Farm Production) คาดว่าลดลง 5% สำหรับครึ่งปีแรก และ 1.3% สำหรับทั้งปี 2020
หากพิจารณาจากวิกฤตภัยแล้งครั้งที่ผ่านมาในปี 2016 ซึ่งระดับน้ำต้นทุนในช่วงต้นปีต่ำกว่าค่าเฉลี่ยค่อนข้างมาก จะเห็นว่าผลผลิตทางการเกษตรหดตัวโดยเฉลี่ย 5.7% ในช่วงครึ่งปีแรก โดยหดตัวสูงสุดในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. ซึ่งเป็นฤดูกาลเก็บเกี่ยวข้าวนาปรัง (รูปที่ 7) อย่างไรก็ดี หากในฤดูฝนของปีนี้คือตั้งแต่เดือนกรกฎาคมเป็นต้นไป ฝนกลับมาตกตามปกติเช่นเดียวกับที่เกิดขึ้นในปี 2016 ก็จะทำให้ผลผลิตข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปีไม่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งในช่วงต้นปีมากนัก

2.การปรับตัวของราคาสินค้าเกษตรไม่เพียงพอที่จะชดเชยรายได้เกษตรกรที่ลดลงจากผลผลิต

หากสถานการณ์ภัยแล้งรุนแรงขึ้นและเกิดขึ้นเป็นวงกว้าง อาจทำให้ราคาสินค้าเกษตรปรับตัวสูงขึ้นได้บ้าง แต่ไม่น่าเพียงพอที่จะชดเชยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวลดลงจากผลกระทบด้านปริมาณผลผลิต รูปที่ 8 แสดงให้เห็นว่าราคาข้าวเปลือกหอมมะลิและข้าวเปลือกเจ้าไม่ได้ปรับตัวสูงขึ้นในช่วงภัยแล้งปี 2015-16 มีเพียงข้าวเปลือกเหนียว ที่ปรับตัวขึ้นเนื่องจากผลผลิตไม่เพียงพอต่อการบริโภคในประเทศ

นอกจากนี้ อุปสงค์โลกที่ยังคงอ่อนแอโดยเฉพาะอุปสงค์การนำเข้าของประเทศจีนที่มีแนวโน้มลดลงจากสต๊อกข้าวในประเทศที่มีอยู่สูง ประกอบกับค่าเงินบาทที่แข็งค่าขึ้นมากเมื่อเทียบกับคู่ค้าคู่แข่งของไทยยังทำให้ประเทศไทยส่งออกข้าวได้น้อยลงมาก โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปี 2019 ปริมาณข้าวที่ไทยส่งออกไปยังตลาดโลกลดลงถึง 28% เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า กดดันราคาข้าวในประเทศอีกทางหนึ่ง ทั้งนี้ในปี 2015 ที่ประเทศไทยประสบภัยแล้ง รายได้เกษตรกรติดลบถึง 10% โดยเป็นผลจากผลผลิตที่ลดลง 5% และราคาสินค้าเกษตรที่ลดลงอีก 5%

3.ภัยแล้งส่งผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมต่อ GDP โดยการบริโภคภาคครัวเรือนเสี่ยงขยายตัวต่ำกว่า 3%

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นในภาคเกษตรอาจส่งผลกระทบในวงกว้างต่อเศรษฐกิจโดยเฉพาะในเขตภูมิภาค โดยหากประเมินเฉพาะผลกระทบโดยตรงจากความสูญเสียของผลผลิตทางการเกษตร คาดว่าจะทำให้การเติบโตของ GDP ปีนี้ลดลงประมาณ 0.1% (จากที่ KKP Research คาดการณ์ที่ 2.6%) และการบริโภคภาคเอกชนคาดลดลงประมาณ 0.15% (จากการคาดการณ์ที่ 3.0%) ซึ่งอาจเป็นตัวเลขที่ไม่สูงนักเนื่องจากผลผลิตภาคการเกษตรคิดเป็นเพียงประมาณ 6% ของ GDP ทั้งประเทศ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบที่เกิดขึ้นจะรุนแรงกว่านี้เนื่องจากมีผลกระทบทางอ้อมอื่นๆ จากการขาดรายได้และสภาพคล่องของผู้ประกอบการที่เกี่ยวเนื่องกับภาคเกษตร เช่น โรงสีข้าว เครื่องมือเครื่องจักร และวัตถุดิบทางการเกษตร อีกทั้งยอดขายรถกระบะและรถจักรยานยนต์อาจเสี่ยงหดตัวได้สูงในปีนี้จากรายได้เกษตรกรที่ลดลง (รูปที่ 9) ดังนั้น ผลกระทบทางเศรษฐกิจจึงมิได้จำกัดอยู่เพียงในกลุ่มเกษตรกรเท่านั้น

4.ภัยแล้งกระทบคนรายได้น้อยจำนวนมากถึงแม้ผลกระทบต่อ GDP จะน้อย

ภัยแล้งที่เกิดขึ้นถึงแม้จะประเมินเป็นตัวเลขความเสียหายทางเศรษฐกิจไม่สูงมากนัก แต่กระทบคนจำนวนมาก โดยจำนวนครัวเรือนเกษตรกรไทยมีมากกว่า 7 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศ และจากสถิติแรงงานไทยล่าสุด จำนวนแรงงานในภาคเกษตรมีทั้งสิ้น 11.9 ล้านคน หรือกว่า 1 ใน 3 ของจำนวนแรงงานทั้งสิ้น 37.7 ล้านคน โดยสัดส่วนอาชีพเกษตรกรสูงที่สุดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยอยู่ที่ 46% และ 54% ตามลำดับ (รูปที่ 10) เกษตรกรในภาคเหนือและตะวันออกเฉียงเหนือส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนาข้าว ซึ่งเป็นพืชหลักที่เสี่ยงได้รับความเสียหายจากภัยแล้งมากที่สุด ยิ่งทำให้กลุ่มเกษตรกรผู้มีรายได้น้อยและผันผวนอยู่แล้วมีความเปราะบางต่อวิกฤตภัยแล้งมากเป็นพิเศษ

ผลกระทบจากภัยแล้งจะยิ่งซ้ำเติมตลาดแรงงานและรายได้ของภาคครัวเรือนที่กำลังเผชิญกับการชะลอตัวของเศรษฐกิจจากภาคอุตสาหกรรมการผลิตที่ซบเซาอยู่แล้ว ทำให้ภาคเกษตรไม่สามารถทำหน้าที่รองรับการถูกเลิกจ้างและการลดชั่วโมงทำงานของแรงงานในภาคการผลิตได้เหมือนในอดีต และอาจทำให้ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยทวีความรุนแรงขึ้นอีกทางหนึ่งอีกด้วย

5.ผลกระทบจากภัยแล้งต่อภาคอุตสาหกรรมและการอุปโภคบริโภคอยู่ในวงจำกัด

แผนบริหารจัดการน้ำของกรมชลประทานมีการกำหนดลำดับความสำคัญของการจัดสรรทรัพยากรน้ำตามลำดับดังนี้

  • (1) น้ำเพื่ออุปโภค-บริโภค
    (2) น้ำเพื่อรักษาระบบนิเวศ ได้แก่ การป้องกันน้ำเค็มรุก ระดับน้ำลดลงต่ำจนตลิ่งทรุด หรือน้ำเน่าเสีย
    (3) น้ำเพื่อการเกษตร
    (4) น้ำสำหรับภาคอุตสาหกรรม

วิกฤตน้ำประปากร่อย โดยในปีนี้ที่นอกจากจะมีปัญหาน้ำแล้งแล้ว ประเทศไทยยังเผชิญกับภาวะน้ำทะเลหนุนสูงที่ส่งผลให้เกิด
‘วิกฤตน้ำกร่อย’ ซึ่งทำให้น้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑลมีค่าความเค็มสูงกว่าปกติถึง 5-10 เท่าตัว จนเสี่ยงที่จะเกินเกณฑ์มาตรฐานการผลิตน้ำประปา ซึ่งจากลำดับความสำคัญของการบริหารจัดการน้ำเพื่ออุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศ ทำให้ทางการจำเป็นต้องผันน้ำจืดต้นทุนส่วนหนึ่งไปใช้ในการไล่ความเค็มในแหล่งน้ำหลักถึงแม้สถานการณ์ภัยแล้งจะอยู่ในขั้นรุนแรง หากปัญหาน้ำประปาเค็มยังคงไม่คลี่คลาย จะยิ่งเพิ่มความเสี่ยงภาวะขาดแคลนน้ำสำหรับการเกษตรและทวีความรุนแรงของผลกระทบต่อเกษตรกรและเศรษฐกิจโดยรวมในปีนี้

จากรายงานของกรมโรงงานอุตสาหกรรม ในช่วงเกิดวิกฤตภัยแล้งปี 2015-16 โรงงานที่ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งรวมทั้งสิ้น 1,131 โรงงาน ส่วนใหญ่เป็นอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม อุตสาหกรรมเยื่อและกระดาษ อุตสาหกรรมฟอกย้อม อุตสาหกรรมแป้งมัน และอุตสาหกรรมฆ่าสัตว์ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมที่มีการใช้น้ำมากและมีการระบายน้ำเสียออกสู่สิ่งแวดล้อมสูงสุด อย่างไรก็ดี ไม่มีโรงงานที่ปิดตัวลงเนื่องจากปัญหาการขาดแคลนน้ำในกระบวนการผลิต แต่อาจได้รับผลกระทบทางอ้อม โดยเฉพาะกลุ่มอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม จากผลผลิตการเกษตรที่ใช้เป็นวัตถุดิบมีปริมาณลดลง มีคุณภาพไม่คงที่และมีราคาสูงขึ้น และจากต้นทุนการบริหารจัดการน้ำที่มีแนวโน้มสูงขึ้น

อย่างไรก็ตาม ผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมคาดว่ามีความรุนแรงน้อยกว่าเมื่อเทียบกับภาคการเกษตร ในปีนี้ โรงงานอุตสาหกรรมในภาคกลาง เช่น อยุธยา มีความเสี่ยงขาดน้ำค่อนข้างสูงเนื่องจากปัญหาน้ำต้นทุนน้อยโดยเฉพาะในเขตภาคกลางตามที่กล่าวมาข้างต้น อุตสาหกรรมในภาคตะวันออกมีความเสี่ยงจากปัญหาน้ำแล้งด้วยเช่นกันจากปริมาณน้ำต้นทุนในอ่างเก็บน้ำหลักที่มีเพียงประมาณ 50% ของความจุอ่างซึ่งต่ำกว่าระดับปกติ

อย่างไรก็ดี ผลกระทบน่าจะอยู่ในวงจำกัดเนื่องจาก อุตสาหกรรมส่วนใหญ่มีการประเมินและเตรียมแผนรองรับสถานการณ์ภัยแล้งล่วงหน้า และมีการจัดหาแหล่งน้ำสำรอง โดยเฉพาะโรงงานที่อยู่ภายในนิคมอุตสาหกรรมที่มีอ่างกักเก็บน้ำภายในนิคม ส่วนโรงงานที่อยู่นอกนิคมอุตสาหกรรมมีการพัฒนาน้ำบาดาลขึ้นมาใช้ร่วมกับน้ำประปาและหันมาใช้น้ำที่ผ่านการรีไซเคิลมากขึ้น

สองปัจจัยที่ต้องติดตามในระยะต่อไป

การประเมินผลกระทบภัยแล้งว่าสุดท้ายแล้วจะกระทบต่อเศรษฐกิจในปีนี้มากน้อยเพียงใด ขึ้นอยู่กับปัจจัยสำคัญ 2 ด้าน ได้แก่

1.ปริมาณน้ำฝนในช่วงฤดูฝนของปีนี้ ว่าจะตกมากน้อยเพียงใดและตกในตำแหน่งที่เหมาะสมหรือไม่ เพราะจะมีผลต่อการปลูกข้าวนาปีในช่วงครึ่งหลังของปี โดยหนึ่งในตัวชี้วัดโอกาสที่ฝนจะตกมากหรือน้อยคือการติดตามการเกิดปรากฎการณ์ El Niño ซึ่งสะท้อนในดัชนี Oceanic Niño Index (ONI) ที่เป็นดัชนีชี้วัดค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลที่เปลี่ยนไปจากค่าอุณหภูมิผิวน้ำทะเลปกติ (ค่า ONI เป็นบวกตั้งแต่ +0.5 °C ขึ้นไปจะถือว่าเป็นช่วงของ El Niño แต่ถ้ามีค่าเป็นลบตั้งแต่ -0.5 °C ลงมาถือว่าเป็นช่วงของ La Niña) จากตารางที่ 1 จะเห็นว่าทั้งแต่ปลายปี 2018 ถึงปี 2019 ดัชนีชี้ว่าเกิดปรากฎการณ์ El Niño ซึ่งอธิบายภาวะฝนทิ้งช่วงและฝนตกน้อยในฤดูฝนที่ผ่านมา ล่าสุดดัชนีอยู่ที่ระดับ +0.5 ซึ่งจัดเป็น El Niño ระดับอ่อน

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าประเทศไทยจะเผชิญฝนแล้งยาวนานจนถึงเดือน มิ.ย. และคาดว่าในต้นฤดูฝนของปีนี้ปริมาณฝนจะเข้าใกล้ระดับปกติ โดยอาจต่ำกว่าค่าปกติ 3-5% ในพื้นที่แล้งซ้ำซาก ได้แก่ ภาคเหนือ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคใต้ตอนบน

2.ประสิทธิผลของมาตรการภาครัฐ ทั้งในด้านมาตรการเพื่อรับมือภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือบรรเทาผลกระทบต่อเกษตรกร โดยช่วงภัยแล้งในปี 2019 ที่ผ่านมา ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ประกาศขยายเวลาชำระหนี้คืนต้นเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระออกไปก่อนอีกระยะหนึ่งเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและคลายความกังวลในเรื่องหนี้สินเดิมของเกษตรกร รวมถึงออกมาตรการสินเชื่อใหม่ที่ยังมีผลครอบคลุมถึงภัยแล้งในปีนี้ รวมวงเงินทั้งสิ้น 55,000 ล้านบาท ได้แก่ สินเชื่อเพื่อเป็นค่าใช้จ่ายฉุกเฉิน และสินเชื่อฟื้นฟูและพัฒนาคุณภาพชีวิตสำหรับเกษตรกรลูกค้าผู้ประสบภัยธรรมชาติหรือภัยพิบัติ

นอกจากนี้ โครงการประกันรายได้เกษตรกรผู้ปลูกข้าว จะชดเชยส่วนต่างระหว่างราคาประกันรายได้กับราคาเกณฑ์กลางอ้างอิงให้กับเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามที่กำหนด และโครงการประกันภัยนาข้าวปี 2562/63 จะช่วยชดเชยความเสียหายให้กับเกษตรกรเป็นจำนวนเงิน 1,260 บาทต่อไร่หากทางการมีการประกาศเป็นเขตพื้นที่ภัยพิบัติในแปลงนาที่เกษตรกรลงทะเบียนทำประกันเอาไว้

เรายังคงต้องติดตามต่อไปว่ามาตรการเหล่านี้จะเพียงพอหรือไม่และภาครัฐจะมีมาตรการอะไรเพิ่มเติมเพื่อประคับประคองเกษตรกรและเศรษฐกิจไทยให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปได้

ที่มา - ไทยพับลิก้า

ข่าวยอดนิยม

ประโยชน์ของข้าวแดง หรือ ข้าวซ้อมมือ...

13 ตุลาคม 2558
25735

เอ็มจี เติบโตต่อเนื่อง ทุ่มงบลงทุนกว่าหมื่นล้าน เปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห...

08 ธันวาคม 2560
23210

อาหารจานด่วน-อาหารขยะ ผลเสียต่อสุขภาพ...

22 กรกฎาคม 2558
17994

ซีพี-เมจิ ตอกย้ำภาพเบอร์ 1 ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ พร้อมยกระดับตลาดโยเกิร์ต...

03 กรกฎาคม 2558
15928

แชร์ข่าวสาร

6 ทักษะที่หุ่นยนต์ทำแทนคนไม่ได้... รบ.กำหนด 'ผู้สูงอายุ' เป็นวาระแห่งชาติ พร้อมเตรียมแผนรับมือแ...

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

IMF มอง “เอเชีย” หลังโควิด เศรษฐกิจจะฟื้นตัวอย่างไร ?...

04 มีนาคม 2564
57

กรมการค้าต่างประเทศ สั่งลุยภารกิจยกระดับงานบริการดิจิทัล เพิ่มโอกาสการ...

04 มีนาคม 2564
62

กกร. หนุนโครงการพักทรัพย์พักหนี้ ช่วยเหลือผู้ประกอบการฝ่าโควิด...

03 มีนาคม 2564
121

ประเดิมปี 64 การค้าไทยผ่านเอฟทีเอ โตดี เกษตรบวก19% อุตสาหกรรมเพิ่ม 5%...

03 มีนาคม 2564
111

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th