สมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย ร่วมกับ บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ร้านอิ่มสะดวกของคนไทย จัดงานแถลงข่าวอัพเดทสถานการณ์เศรษฐกิจไทยปี 2558 "ส่องเทรนด์เศรษฐกิจ-ธุรกิจค้าปลีกปี 2558 ในยุคดิจิตอล" โดยภายในงานพบกับ "ภาพรวมเศรษฐกิจไทย-AEC และปี 2558" โดย รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) และ "ทิศทางธุรกิจค้าปลีกไทยปี 2558" โดยนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว นายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ ณ ห้อง 1102 ชั้น 11 อาคารซีพี ทาวเวอร์ ถนนสีลม
รศ.ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) กล่าวถึงภาพรวมเศรษฐกิจในปีนี้ว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ต้องโตไม่ต่ำกว่า 5% โดยไตรมาสแรกของปี 2015 ต้องโตไม่ต่ำกว่า 4% ทั้งนี้การวิเคราะห์ GDP ต้องดูจากองค์ประกอบของ GDP ด้วย นั่นคือ C+I+G+(X-M) C คือ Domestic Consumption , I คือการลงทุนของภาคเอกชน ,G คือ การใช้จ่ายของภาครัฐ , X คือการส่งออก และ M คือการนำเข้า จากข้อมูลของสภาพัฒน์ Domestic Consumption ปีที่แล้วที่โต 0.7% ปีนี้ จะโตขึ้น 3.4% หรือโตขึ้นถึง 5 เท่า ส่งผลให้ธุรกิจค้าปลีกก็จะโตขึ้นเช่นกัน ในด้านของการลงทุนของภาคเอกชนจะโตขึ้น 6% จากปีที่แล้วที่ติดลบ 2.8% การส่งออกปีนี้จะโต 3.5% จากปีที่แล้ว ติดลบ 0.3% ส่วนการนำเข้าปีนี้โต 1.8% ในขณะที่ปีที่แล้วติดลบถึง 8.5% ดังนั้นจากข้อมูลดังกล่าวจะเห็นได้ว่าพระเอกของ GDP ปีนี้คือการลงทุนของภาคเอกชน
“ในปีนี้ต่างประเทศจะหันมาลงทุนที่ไทยมากขึ้น เนื่องจากประเทศจีนที่ไม่มุ่งการผลิตเพื่อส่งออก และประกาศจากการโรงงานโลกเป็นตลาดโลก ทำให้ต่างชาติย้ายฐานการผลิตออกจากประเทศจีนเป็นจำนวนมาก และไม่เพียงเท่านั้น จีนเองยังไปลงทุนในต่างประเทศมากขึ้น ที่สำคัญประเทศไทยยังรายล้อมไปด้วย CLMV และการคมนาคมขนส่งทางบกก็เชื่อมกับมาเลเซียและสิงคโปร์ ต่างประเทศจึงหันมาลงทุนที่ไทยมากขึ้นและจะใช้เมืองไทยเป็นตัวเชื่อมซัพพลายเชนจากเมืองไทยไปสู่ CLMV”
ด้านนายสุวิทย์ กิ่งแก้ว ในฐานะนายกสมาคมพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจค้าปลีกทุนไทย และรองกรรมการผู้จัดการอาวุโส บมจ.ซีพี ออลล์ กล่าวว่า ภาวะการบริโภคของคนไทยเริ่มมีทิศทางที่ดีขึ้นจากปลายปีที่แล้ว เป็นผลมาจากช่วงเทศกาลต่าง ๆ และวันหยุดยาวที่เป็นฤดูที่มีการจับจ่ายใช้สอยมากขึ้น โดยสิ่งที่เป็นปัจจัยสำคัญและส่งผลต่อธุรกิจค้าปลีกไทยในปี 58 คือเรื่องของการค้าชายแดนในกลุ่มประเทศ CLMV (กัมพูชา ลาว เมียนมาร์ เวียดนาม) โดยในช่วงที่ผ่านมาประเทศไทยมีการส่งออกสินค้าต่างๆ เข้าไปจำหน่ายยังประเทศกัมพูชา ลาว และเมียนมาร์ เติบโตเฉลี่ยประมาณ 14-18% ส่วนหนึ่งของการส่งออกเป็นสินค้าจากห้างใหญ่ ๆ ที่ส่งสินค้าออกไปจำหน่ายยังประเทศเพื่อนบ้าน ซึ่งถึงแม้จะมีสินค้าจากจีนและเวียดนามเข้ามาแข่งขัน แต่สินค้าจากไทยก็ได้รับความนิยมจากประเทศเพื่อนบ้านเป็นอย่างมาก ส่วนภาคธุรกิจการท่องเที่ยวที่ทำให้เศรษฐกิจไทยคึกคักมาจากนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาท่องเที่ยวที่ประเทศไทยจำนวนมากในช่วงเทศกาลตรุษจีนที่ผ่านมา และคาดการว่าปี 58 จะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเข้ามาเมืองไทยไม่ต่ำกว่า 5.6 ล้านคน และสร้างรายได้ประมาณ 248,000 ล้านบาท นอกจากนั้นยังมีเรื่องของแนวโน้มของราคาน้ำมันที่ไม่เพิ่มสูงขึ้นมากนัก รวมไปถึงการเร่งรัดการใช้จ่ายงบประมาณค้างท่อของภาครัฐ ที่จะกระตุ้นการใช้จ่ายให้มากขึ้น ซึ่งขณะนี้ก็ยังไม่เป็นไปตามเป้าหมายและถือว่ายังใช้ไม่มากนัก นอกจากนั้นการเร่งรัดงบประมาณค้างท่อของภาครัฐจะเป็นการใช้เงินเพื่อช่วยเหลือเกษตรกรในโครงการต่าง ๆ ด้วย ส่วนปัจจัยอื่น ๆ ที่เป็นอุปสรรค คือเรื่องของภาวะหนี้สินของครัวเรือน รายได้ของเกษตรกร ที่ยังคงทรงตัว ซึ่งถือเป็นข้อจำกัดของการขยายตัวของธุรกิจค้าปลีกในบ้านเรา
ในด้านของการแข่งขันของธุรกิจค้าปลีก แนวโน้มการขยายตัวจะมุ่งเน้นในเรื่องร้านค้าขนาดเล็ก หรือ “คอนวิเนียนสโตร์” ทั้งนี้เป็นผลมาจากการขยายตัวของคอมมูนิตี้มอลล์ ในหลาย ๆ พื้นที่โดยเฉพาะอย่างยิ่งย่านชานเมือง ในขณะที่ร้านค้าปลีกขนาดใหญ่อย่างห้างสรรพสินค้าขนาดใหญ่มีการขยายตัวไปยังหัวเมืองใหญ่ ๆ ในต่างจังหวัด ตัวนี้ก็เป็นตัวชี้ให้เห็นอย่างหนึ่งว่าเศรษฐกิจ ในภูมิภาคของไทยยังมีกำลังซื้ออยู่
ส่วนพฤติกรรมผู้บริโภค เรื่องของสุขภาพและความงามมาเป็นอันดับหนึ่ง และแนวโน้มการซื้อขายผ่านออนไลน์เพิ่มมากขึ้น ห้างค้าปลีกขนาดใหญ่เกือบทุกห้างมีช่องทางในการซื้อออนไลน์และมีแนวโน้มที่จะขยายตัวมากขึ้นในอนาคต ผู้ประกอบการหันมารุก Digital Marketing มากขึ้น ทั้งนี้เพื่อรองรับพฤติกรรมของผู้บริโภคที่ใช้โทรศัพท์มือถือถึง 90 ล้านเลขหมาย และ 36% เป็นสมาร์ทโฟน และแน่นอนว่าสมาร์ทโฟนมีประโยชน์ในเรื่องของ Digital Marketing ในการอ่านริวิวและการสั่งซื้อสินค้า มีการใช้อินเตอร์เน็ต ถึง 27 ล้านคน มีการใช้ Facebook ถึง 18.5 ล้านบัญชี นี่เองที่ทำให้การค้าผ่านดิจิตอลมาร์เก็ตติ้งมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งแน่นอนว่าผู้ประกอบการต้องติดตามพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไป เรื่องของเทคโนโลยีต่างๆ ที่มีความเจริญก้าวหน้า และมีการเปลี่ยนแปลงไป ต้องปรับปรุงเครื่องมือทางด้านเทคโนโลยีให้ทันยุคทันสมัย ที่สำคัญต้องศึกษาหาความรู้ และแสวงหาช่องทางใหม่ ๆ เพื่อรองรับความต้องการของผู้บริโภค