การผสานจุดแข็งทางธุรกิจระหว่างออฟไลน์-ออนไลน์ หรือ ออนไลน์-ออฟไลน์ (O2O) เป็นสูตรสำเร็จในโลกการค้ายุคดิจิทัล เชื่อว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 5 ปีจากนี้จะยังเติบโตก้าวกระโดด
ธุรกิจค้าปลีกในประเทศไทยและทั่วโลก กำลังเผชิญการเปลี่ยนแปลงระลอกใหญ่จากยุค 3.0 สู่ 4.0 พลิกทุกอย่างจากหน้ามือ เป็นหลังมือ เข้าสู่ยุค 5.0 และการมาของ 5G จะยิ่งเร่งสปีดการเปลี่ยนแปลงแค่ชั่วพริบตา ผู้ประกอบการที่ยังไม่ปรับตัวอาจต้องเริ่มนับถอยหลัง!!
ในงานสัมมนาธุรกิจค้าปลีกประจำปี ของสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ปิยะวัฒน์ ฐิตะสัทธาวรกุล รองประธานกรรมการบริหาร บริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ผู้บริหารร้าน "เซเว่นอีเลฟเว่น" สะท้อนมุมมอง "จับกระแส Modern Trade ยุคใหม่ 2020 : ทำกำไรด้วย O2O" ระบุว่า ภาคธุรกิจค้าปลีกเผชิญความท้าทายอย่างมาก จากพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว และเทคโนโลยีทันสมัยส่งผล ต่อโลกการค้าเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มตัว เป็นหนึ่งในสาเหตุสำคัญต่อแนวโน้ม ร้านค้าปลีกทั่วโลกทยอยปิดตัวลงอย่างต่อเนื่อง
"พฤติกรรมผู้บริโภคยุค 4.0 อดทนต่ำ ไม่ทน ไม่รอ ยอมจ่ายเพื่อซื้อความสะดวกรวดเร็ว ชีวิตขาดสมาร์ทโฟน อินเทอร์เน็ต ไม่ได้ ศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบก่อนตัดสินใจซื้อ ค้าปลีกยุคใหม่ต้องผสมผสานออฟไลน์และ ออนไลน์เข้าด้วยกันเพื่อดักทุกความต้องการ เป็นการเพิ่มฐานลูกค้าและยอดขายจากการ เข้าถึงได้ทุกช่องทาง"
จะเห็นว่า ขณะนี้บรรดาร้านค้าปลีก (ออฟไลน์) ต่างมุ่งหน้าปรับตัวสู่การขายออนไลน์มากขึ้นเพื่อความอยู่รอด!! ด้วยเหตุผลเดียวกัน ทั้งค้าปลีกออนไลน์และออฟไลน์เริ่มเชื่อมโยงเข้าหากันมากขึ้น เพื่อดักลูกค้าได้ทุกความต้องการ หลายแบรนด์ชั้นนำระดับโลกมีการผนึกรวม และขยายการลงทุนระหว่างออนไลน์และออฟไลน์ ควบคู่กันมากขึ้น
ยกตัวอย่าง "อาลีบาบา" ยักษ์อีคอมเมิร์ซ ขยายสู่กิจการซูเปอร์มาร์เก็ตดิจิทัล เหอหม่า (Hema) เชื่อมโยงการซื้อขายในโลกออนไลน์และออฟไลน์ด้วยแพลตฟอร์มดิจิทัลของอาลีบาบา เป็น Cashless Supermarket จ่ายผ่านโมบายแอพพลิเคชั่น "เถาเป่า" หรืออาลีเพย์ หรือการยืนยันตัวตน ด้วยการสแกนนิ้ว สแกนใบหน้า เช่นเดียวกับ"อเมซอน" ที่เปิดโมเดลอเมซอนโก ขณะที่ค้าปลีกยักษ์ใหญ่ออฟไลน์อย่าง "วอลมาร์ท"ขยายสู่อีคอมเมิร์ซภายใต้กิจการ Jet.com เป็นการสร้างแพลตฟอร์ม "สโตร์ดิจิทัล"หรือ "สมาร์ทสโตร์" ที่แน่นอนว่าจะเกิดมากขึ้น ในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งเวลานี้"เซเว่นอีเลฟเว่น" ได้ทดลอง "สมาร์ทสโตร์"แห่งแรกแล้ว ที่ ทรู ดิจิทัล พาร์ค บริเวณชั้น 7 โดยนำเทคโนโลยีมาใช้ทั้ง Shelf Checkout, Digital Price Tags, การชำระเงินผ่าน ทรูมันนี่ วอลเล็ท ฯลฯ
นอกจากนี้หลายแบรนด์ในหลายกลุ่มสินค้าปรับสัดส่วนการขายจาก "ออฟไลน์" มาสู่ "ออนไลน์" มากขึ้น เช่น ร้านขายหนังสือ, เพลง, วีดิโอเกม, ภาพยนตร์, ของเด็กเล่น ขณะที่สินค้าประเภทกีฬา เฮลธ์แอนด์บิวตี้ เสื้อผ้ารองเท้า ขยับสัดส่วนออนไลน์มากขึ้นเช่นกัน
อีกเทรนสำคัญแห่งอนาคตที่จะมีความชัดเจนขึ้นภายใน 5 ปีจากนี้ นั่นคือ "สมาร์ทโฟน" ปัจจัยที่ 5 ในชีวิตที่ขาดไม่ได้ ของทุกคน จะเป็นแพลตฟอร์มหลักในการ ซื้อขายสินค้าและบริการ!! เข้าสู่ยุค "สมาร์ทชอปปิง" อย่างแท้จริง
ทั้งนี้ ปัจจุบันคนไทยใช้เวลาบนโมบายอินเทอร์เน็ต 5 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน สูงอันดับ 1 ของโลก ที่มีค่าเฉลี่ย 3 ชั่วโมง 13 นาทีต่อวัน
การผสานจุดแข็งทางธุรกิจระหว่างออฟไลน์-ออนไลน์ หรือ ออนไลน์-ออฟไลน์ (O2O) เป็นสูตรสำเร็จในโลกการค้ายุคดิจิทัล เชื่อว่าธุรกิจอีคอมเมิร์ซ 5 ปีจากนี้จะยังเติบโตก้าวกระโดด!! โดยปี 2561 การซื้อสินค้า ออนไลน์ผ่านมือถือเติบโตสูง 44% ปี 2562-2566 คาดการณ์ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 22.4% ต่อปี ขณะที่ยอดขายออนไลน์ผ่านมือถือ คิดเป็นสัดส่วน 48% ของยอดขายออนไลน์ทั้งหมด คาดว่าจะเพิ่มเป็น 57% ภายใน ปี 2566
ซึ่งการเติบโตของอีคอมเมิร์ซ ส่งผลให้ธุรกิจอื่นๆ เติบโตตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็น อีเพย์เมนท์ ที่จะเข้ามามีบทบาทมากขึ้น แทนเงินสด ซึ่งปี 2553-2561 การให้บริการอีเพย์เม้นท์เติบโต 23% ขณะที่ ธุรกิจรับส่งสินค้า ขยายตัวไม่ต่ำกว่า 10% ต่อปี
บิ๊กสเต็ปของธุรกิจอีคอมเมิร์ซ หรือ ช้อปออนไลน์ ชนะกันที่ความเร็ว (Speed) ต่ำกว่าครึ่งชั่วโมงได้ชนะกว่า!!
นั่นหมายความว่าธุรกิจต้องปรับตัวสู่ "Smart Retail" ด้วยเทคโนโลยีครบทั้ง Big Data, AI, AR, IoT สู่ "Smart Delivery" การเข้ามาของโดรน ยานยนต์ไร้คนขับ การบริการส่งสินค้าที่เรียกได้ว่า จะต้องถึงตู้เย็นในบ้านเลยทีเดียว (Inhome Grocery Delivery Walmart) ที่ผู้ค้าปลีกยักษ์ใหญ่อย่างวอลมาร์ทเตรียมดำเนินการ อยู่ขณะนี้ หรือ โดมิโนพิซซ่า ที่บริการส่งพิซซ่า ด้วยรถไฟฟ้าขับเคลื่อนอัตโนมัติ Rakuten ส่งสินค้าด้วยโดรน
การก้าวเข้าสู่โลกของ Smart Shopping ไม่เพียงนำเทคโนโลยีมาสร้างประสบการณ์และตอบโจทย์ความต้องการของลูกค้า ยุคดิจิทัล แต่ยังลดอุปสรรคในเชิงธุรกิจ! โดยเฉพาะการขยายเครือข่ายสาขา จำนวนมาก จำเป็นต้องใช้ "พนักงาน จำนวนมาก" เทคโนโลยีจึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการผสานผสานทุกๆ มิติ ด้วยระบบ "อัตโนมัติ" สามารถให้บริการได้แตกต่างจากแรงงานมนุษย์
ที่มา: กรุงเทพธุรกิจ