เมื่อวันอาทิตย์ที่ 4 มีนาคม 2561 ที่ผ่านมา ณ รอยัล พารากอน ฮอลล์ ศูนย์การค้าสยามพารากอน เครือเจริญโภคภัณฑ์ นำโดย รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ อธิการบดีสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ เป็นตัวแทนเครือฯ เปิดมุมมองผ่านประเด็นเสวนาหัวข้อ “มุมมองของภาคอุตสาหกรรมและความคาดหวังต่อบัณฑิตระดับอุดมศึกษา (Industrial Viewpoint on the Expectation on University Graduates)” ในงาน “มหกรรมอุดมศึกษา: อุดมศึกษา – พลังขับเคลื่อนประเทศไทย 4.0 (UNIVERSITY EXPO)” เนื่องในโอกาสครบรอบ 45 ปีที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยมีวิทยากรทรงคุณวุฒิอีก 5 ท่านได้แก่ ดร.เอกพล ณ สงขลา รองกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ กลุ่มทรัพยากรบุคคล บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) คุณคมเดช เรืองเดชวรชัย บริษัท หัวเว่ย เทคโนโลยี่ (ประเทศไทย) จำกัด ดร. ทวีลาภ ฤทธาภิรมย์ กรรมการผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) คุณวนัส แต้ไพสิฐพงษ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารเครือเบทาโก (Betagro Group) คุณประพันธ์ จันทร์วัฒนพงษ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทยจำกัด ขึ้นร่วมเวทีเสวนา เพื่อแสดงมุมมองแนวโน้มตลาดแรงงานไทยและก้าวต่อไปของอุตสาหกรรมไทยที่ปัจจุบันต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งภาคอุตสหกรรมและภาคการศึกษาต้องปรับตัวให้ทันยุคสมัย และสนับสนุนให้องค์กรธุรกิจและมหาวิทยาลัยร่วมมือกันออกแบบหลักสูตร ตอบโจทย์ตลาดแรงงานให้มากที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ มานะรังสรรค์ กล่าวว่า ภาคธุรกิจต้องการบัณฑิตและคนที่พร้อมทำงานที่มีกระบวนการทางความคิดที่ถูกต้อง (Correct Mindset) และต้องเป็น Flexible Mindset สามารถยืดหยุ่น ปรับตัวไปตามยุคดิจิทัลได้ อีกทั้งยังต้องเป็นผู้ที่มีความรู้ความเข้าใจ (Knowhow) ความรู้ที่ใช้งานได้จริงใช้ในการแก้ปัญหาในการทำงาน และตามทันเทคโนโลยี (Technology) ต้องเรียนรู้และใช้ให้เป็น โดยเฉพาะเทคโนโลยี 4.0 ที่แปรเปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว และสภาวะการเปลี่ยนแปลงสู่ยุคดิจิทัลนี้บทบาทของหุ่นยนต์และเครื่องกลเพิ่มขึ้นอย่างมาก ทักษะและสมรรถนะของคนรุ่นใหม่ที่พึ่งมีนั่นคือ ความมุ่งมั่น ความรักงานที่ทำ มีแรงบันดาลใจ มีจินตนาการ และความไฝ่ฝัน สิ่งเหล่านี้เป็นสิ่งที่หุ่นยนต์และเครื่องกลทำไม่ได้
รองศาสตราจารย์ ดร.สมภพ ยังกล่าวต่ออีกว่า คนต้องทำงานร่วมกับเทคโนโลยีมากขึ้น ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้ทัน ในขณะเดียวกันมหาวิทยาลัยควรมีบทบาทในการสร้างคนเก่งหลากหลายด้าน เช่น เก่งงานที่ทำ เก่งเงิน เมื่ออยู่ในโลกที่เศรษฐกิจและการเงินมีบทบาทสำคัญทักษะด้านนี้จึงจำเป็นอย่างมาก เก่งภาษาไม่ได้แค่ใช้แต่เพื่อต่อยอดในด้านธุรกิจ เก่งเทคโนโลยี ตามให้ทันใช้ให้เป็นและถูกต้อง และเก่งคน สามารถทำงานร่วมกับผู้อื่นได้และบริหารจัดการคนได้ดี ซึ่งทักษะเหล่านี้เพื่อให้บัญฑิตเตรียมรับมือกับการขยายตัวเศรษฐกิจและสังคมในอนาคตที่ เทคโนโลยีดิจิตอลหรืออินเตอร์เน็ตเข้ามามีบทบาทในทุกด้าน หรือที่เรียกว่า Digital Disruptive หากมหาวิทยาลัยยังไม่ตื่นตัว หรือยังยึดติดกับ โมเดลการเรียนเดิมๆ คงอาจจะไม่เพียงพออีกต่อไป