“ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” เล่าเหตุการณ์สร้างแรงบันดาลใจสู่การเป็นสุดยอดคนใจบุญในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ Heroes of Philanthropy บนเวทีระดับโลก Forbes Global CEO Conference 2014 ณ ประเทศสิงคโปร์
“ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” บุตรสาวคนสุดท้องของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานกรรมการและประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์และคุณหญิงเทวี เจียรวนนท์ ได้แสดงวิสัยทัศน์เรื่อง “Giving : the promise of fresh starts” บนเวทีระดับโลก Forbes Global CEO Conference ซึ่งนิตยสารฟอร์บส์สื่อดังระดับโลกจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี โดยมีนักธุรกิจชั้นนำซึ่งมีทั้งเจ้าของธุรกิจ ซีอีโอ และผู้บริหารระดับสูงในองค์กรธุรกิจจากทั่วโลกมาร่วมงานประมาณ 400 คนเพื่อพบปะ พูดคุย และร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ที่จะทำให้ธุรกิจ และสังคม เติบโตก้าวหน้าไปด้วยกันอย่างยั่งยืน
ปฐมบทแห่งการทำความดีอย่างเป็นรูปธรรมของผู้หญิงชื่อ “ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์” เกิดขึ้นเมื่อ 23 ปีก่อน ขณะนั้นเธอกำลังศึกษาอยู่ในระดับมหาวิทยาลัย เธอและพี่ ๆ ของเธอได้ตั้งกองทุนเพื่อนำเงินไปช่วยเหลือคนยากจนและเด็ก ๆ ด้อยโอกาส โดยเธอรับหน้าที่เป็นตัวแทนของพี่ๆในการนำไปเงินบริจาคหรือทำกิจกรรมช่วยเหลือสังคมในรูปแบบต่าง ๆ
เรื่องราวประทับใจ 2 เหตุการณ์สำคัญที่ทิพาภรณ์จำได้จนถึงทุกวันนี้ และเป็นแรงจูงใจให้เธอดำเนินชีวิตและทำธุรกิจโดยคิดถึงผู้อื่นก่อนเสมอและยึดหลักการเป็นผู้ให้ ครั้งแรกเกิดขึ้นเมื่อเธอนำเงินไปบริจาคที่บ้านเด็กกำพร้าแห่งหนึ่ง ขณะที่เธอไปถึงและกำลังก้าวลงจากรถยนต์ ก็ปรากฏว่ามีเด็กชายตัวเล็ก ๆ คนหนึ่งวิ่งเข้ามาจับมือเธอไว้ไม่ยอมปล่อย เด็กคนนี้ทำเหมือนไม่รับรู้ไม่รับฟังว่าใครจะว่าจะพูดอย่างไร จะห้าม จะสั่งอย่างไร ก็ไม่ฟัง สิ่งที่ทำมีเพียงเกาะกุมมือของเธอไว้อย่างเหนียวแน่นตลอดเวลาจนกระทั่งเธอปฏิบัติภารกิจต่าง ๆ เสร็จ จนจะขึ้นกลับก็ยังไม่ยอมปล่อยมือเพื่อไม่ให้เธอขึ้นรถกลับ จนคุณครูที่ดูแลต้องมาแกะมือเด็กคนนั้นออกจากมือเธอ เด็กคนนั้นร้องไห้ เธอรู้สึกเศร้าอย่างจับใจและสัมผัสได้ว่าเด็ก ๆ เหล่านี้ต้องการความรักความห่วงใยเป็นอย่างมาก
อีกครั้งหนึ่งที่ไม่เคยลืมคือ เมื่อครั้งไปบริจาคเงินเพื่อช่วยเหลือโรงเรียนในชนบททางภาคเหนือของไทย เธอได้นำคุกกี้บรรจุถุงไปมอบให้กับเด็ก ๆ ด้วย เด็กส่วนใหญ่ก็แกะถุงหยิบคุกกี้กินกันอย่างเอร็ดอร่อยจนหมดถุงและค่อย ๆ ทยอยเดินออกไปกันจนหมดห้อง แต่ปรากฏว่ามีเด็กเหลืออยู่ในห้องอีก 1 คนนั่งอยู่บนพื้นเอามือลูบไปที่พื้นแล้วเอาขึ้นมาเลีย ทำเช่นนี้ซ้ำเล่า จนเธอเดินเข้าไปใกล้จึงเห็นว่าเด็กคนนี้ทำแบบนี้เพื่อกินเศษคุกกี้ที่ร่วงหล่นบนพื้น ส่วนถุงคุกกี้ของตนเองนั้นซุกซ่อนอยู่ในเสื้อ แม้เธอจะห้ามอย่างไรก็ไม่สนใจ
เด็กคนนี้อายุประมาณ 5 ขวบแต่ตัวเล็กมากผิดกับเด็กในวัยเดียวกัน คุณครูบอกว่ากินอาหารไม่เพียงพอและขาดสารอาหารจึงมีพัฒนาการและเติบโตช้ากว่าคนอื่น พูดช้า ทำให้เธอสะท้อนใจมาก เมื่อนึกถึงหลานชายของเธอที่อยู่ในวัยเดียวกัน ซึ่งพูดได้หลายภาษา ได้รับความรักความอบอุ่นจากพ่อแม่ ญาติพี่น้องอย่างเต็มเปี่ยม
ด้วยเหตุนี้จึงเป็นแรงจูงใจให้เธอแบ่งปันความรักความอบอุ่นและความห่วงใยให้กับเด็กกำพร้าหรือเด็กด้อยโอกาส เธอเชื่อว่าหากเราดูแลเด็กสัก 2,000 คนและมี 200 คนโตขึ้นมาเป็นคนเก่ง เป็นคนดี โตขึ้นมาเป็นผู้นำ เป็นนักธุรกิจ เป็นข้าราชการ ฯลฯ เด็กเหล่านี้จะมีส่วนช่วยเปลี่ยนแปลงสังคมไปในทางที่ดีขึ้น
ทิพาภรณ์ เจียรวนนท์ เป็นผู้ร่วมก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดีทีซึ่งเป็นบริษัทของครอบครัว โดยเมื่อกลางปี 2557 ทิพาภรณ์ได้รับการยกย่องจากนิตยสารฟอร์บส์ เอเชีย ให้เป็น 1 ใน 48 สุดยอดคนใจบุญจาก 12 ประเทศในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก หรือ Heroes of Philanthropy เพราะเห็นว่าเป็นผู้ที่มีบทบาทสำคัญและเป็นผู้ดำเนินงานมูลนิธิพุทธรักษา ซึ่งเป็นองค์กรการกุศลของครอบครัวซึ่งก่อตั้งเมื่อปี 2542 รายได้หลักของมูลนิธิจากยอดขาย 2%ของกลุ่มบริษัทดีที มูลนิธิพุทธรักษามีภารกิจหลักคือการช่วยเหลือเด็กที่ด้อยโอกาสให้ได้รับการศึกษา และพัฒนาทางด้านความคิดและจิตใจผ่านทางพระพุทธศาสนาควบคู่กัน เพื่อให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตเป็นคนดีของสังคม มีจิตสำนึกที่จะกลับไปช่วยเหลือคนอื่นต่อไป
การยกย่องสุดยอดคนใจบุญของนิตยสารฟอร์บส์จัดขึ้น เพื่อกระตุ้นให้สังคมเกิดการเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และส่งเสริมให้สังคมทำความดี โดยยกย่องบุคคลที่ทำประโยชน์เพื่อสังคม ซึ่งมีตั้งแต่บุคคลที่เป็นเศรษฐีระดับโลก จนถึงนักธุรกิจที่ยังไม่ชื่อเสียง แต่ต้องเป็นบุคคลที่มีจิตใจช่วยเหลือผู้อื่นภายใต้แนวคิดใหม่ ๆ ที่สร้างสรรค์และเกิดประโยชน์ต่อคนจำนวนมาก โดยใช้เงินทุนหรือทรัพย์สินส่วนตัวที่ไม่เกี่ยวกับการดำเนินธุรกิจ และไม่ได้วัดจากจำนวนเม็ดเงินว่ามากน้อยแค่ไหน