งานเสวนาวิชาการหัวข้อ “การดำเนินการตามหลักการชี้แนะของสหประชาชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชน: กรณีศึกษาแนวปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาและระงับข้อพิพาทโดยภาคธุรกิจไทย” (Implementing the UNGP: Good Practices on Remediation and Conflict Resolution by Thai Businesses) ได้จัดขึ้น ณ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ในช่วงบ่ายวันนี้ โดยมี คุณวัส ติงสมิตร ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย และดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเป็นภาคีเครือข่ายด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน ที่ผนึกกำลังร่วมกันจัดเสวนาวิชาการดังกล่าว ได้ร่วมกล่าวเปิดงาน หลังจากนั้นเป็นการเสวนากรณีศึกษา “แนวทางปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาและระงับข้อพิพาทโดยภาคธุรกิจไทย” แลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับด้านสิทธิมนุษยชน เพื่อนำไปจัดทำแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยเรื่องสิทธิมนุษยชน
คุณศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะประธานสมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย กล่าวว่า สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ซึ่งประกอบด้วย 15 องค์กรภาคเอกชน มีเป้าหมายสำคัญคือการส่งเสริมการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน ด้วยเหตุนี้จึงพร้อมที่จะขับเคลื่อนแนวทางการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยเพื่อให้เกิดการตระหนักรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและขยายผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ต่อยอดไปเป็นตัวอย่างในระดับภูมิภาค ซึ่งสอดคล้องกับหลักสากล 10 ประการของโกลบอลคอมแพ็ก ซึ่งเน้นเรื่องสิทธิมนุษยชน และยังส่งเสริมเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนทั้ง 17 ประการ (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ อีกด้วย
ในการนี้ ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองเลขาธิการ สมาคมเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย ได้ร่วมเสวนาในหัวข้อกรณีศึกษา “แนวทางข้อปฏิบัติที่ดีในการเยียวยาและระงับข้อพิพาทโดยภาคธุรกิจไทย” โดยมีผู้ร่วมเสวนาจากหลายภาคส่วน อาทิ ดร.ปกป้อง ศรีสนิท รองคณะบดี คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คุณประกายรัตน์ ต้นธีรวงศ์ กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ คุณอนันต์ชัย อุทัยพัฒนาชีพ อธิบดีกรมสวัสดิการและคุ้มครองแรงงาน คุณจันทิมา ธนาสว่างกุล อัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย คุณสืบพงษ์ ศรีพงษ์กุล อธิบดีผู้พิพากษาภาค2 คุณปิติกาญจน์ สิทธิเดช อธิบดีกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ฯลฯ จากนั้น ดร.เสรี นนทสูติ ผู้แทนประเทศไทยในคณะกรรมาธิการระหว่างรัฐบาลอาเซียนว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (AICHR) ได้ดำเนินการถามตอบและเสนอข้อคิดเห็นร่วมกัน ซึ่งต่างเน้นให้เห็นประโยชน์ของการระงับข้อพิพาท โดยไม่จำเป็นต้องเป็นการฟ้องร้องเสมอไป
อนึ่งการเสวนาครั้งนี้มีความสำคัญอย่างยิ่ง โดยภาคีเครือข่ายด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน จะนำข้อคิดเห็นจากการเสวนานี้ไปจัดทำเป็นข้อเสนอแนะแก่ผู้ที่เกี่ยวข้องในทุกภาคส่วน อีกทั้งอาจเป็นส่วนหนึ่งเพื่อประกอบการพิจารณาในแผนปฏิบัติการระดับชาติว่าด้วยธุรกิจและสิทธิมนุษยชนด้วย