ปี 2560 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) เครือข่ายธุรกิจยักษ์ใหญ่ของประเทศไทยที่ครอบคลุมธุรกิจเกือบทุกวงการ มีการเปลี่ยนผ่านครั้งสำคัญ นั่นคือการส่งไม้ต่อการบริหารอาณาจักรธุรกิจ ของเจ้าสัว "ธนินท์ เจียรวนนท์" ให้กับ "ศุภชัย เจียรวนนท์" แม่ทัพกลุ่มทรู ก้าวขึ้นมานั่งเก้าอี้ "ประธานคณะ ผู้บริหารเครือ ซี.พี." พร้อมภารกิจสำคัญในการ เปลี่ยนผ่านเครือข่ายธุรกิจก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 ที่ไม่ใช่แค่การปรับกระบวนการทางธุรกิจ เข้าสู่การ บริหารข้อมูลดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ (digitize and information base) เท่านั้น
"ศุภชัย" เล่าว่า เพื่อให้ตอบโจทย์ธุรกิจในอนาคต การปรับเปลี่ยนองค์กรเป็นเรื่องที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ซึ่งไม่ใช่แค่การลงทุนฮาร์ดแวร์ แต่ต้องสร้างและพัฒนาศักยภาพของบุคลากรในองค์กรให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงในอนาคต เพราะธุรกิจในอีก 5-10 ปีข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมอย่างมาก
เพราะที่มากกว่าเรื่อง 4.0 ก็คือ "คน" ดังนั้นต้องสร้างความสามารถใหม่ของคนที่มีอยู่ พร้อมกับต้องหาคนที่มีความสามารถและประสบการณ์ใหม่ ๆ เข้ามาช่วย และถ้าในประเทศไม่มี ก็ต้องดึงทาเลนต์ ระดับโลก ระดับภูมิภาคเข้ามาช่วย
แม่ทัพ ซี.พี.อธิบายว่า องค์กรที่ปรับตัวได้ทัน กับการเปลี่ยนแปลงจะเป็น "ผู้นำ" แต่ถ้าจะอยู่ได้ อย่างยั่งยืน ต้องไม่ใช่แค่ตอบสนองและปรับตัวได้เท่านั้น แต่จะต้องเป็น "ผู้สร้างการเปลี่ยนแปลง" โดยการนำเทคโนโลยีและนวัตกรรมต่าง ๆ มาใช้ พัฒนา และยกระดับการผลิต การแปรรูปผลิตภัณฑ์ ก้าวสู่ยุคดิจิทัลเต็มรูปแบบ
เพราะธุรกิจของ ซี.พี. ต้องแข่งกับผู้เล่น ระดับโลก จึงต้องต่อสู้ด้วยอินโนเวชั่น, อาร์แอนด์ดี และการสร้างทาเลนต์ ดังนั้นเครือ ซี.พี. จึงให้ ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนา (R&D) การลงทุนในสตาร์ตอัพ และการสร้างอีโคซิสเต็มแพลตฟอร์มเพื่อให้เกิดนวัตกรรมใหม่ ๆ โดยโฟกัสใน 3 ด้าน คือ 1.ไบโอฟู้ด-ไบโอเมดิคอล 2.โรโบติก-เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ 3.เทคโนโลยีคลาวด์
"การลงทุนทั้ง 3 เรื่อง เป็นสิ่งที่แต่ละองค์กรในเครือต้องสร้าง เพื่อต่อยอดจากสิ่งที่มีอยู่เดิม เพราะจะเป็นนิวเอสเคิร์ฟให้กับเครือ ซึ่งถ้าตัวเองทำได้ดีพอ และเป็นโอเพ่นซิสเต็มมากพอ ก็สามารถขยับเป็นธุรกิจใหม่ในตัวเองได้ อย่างการเกษตรก็จะทำฟาร์มมิ่งออโตเมชั่น หรือโรโบติกก็ต้องทำมากขึ้น ในบางเรื่องที่มีความถนัดก็ไปสนับสนุนอุตสาหกรรมอื่นได้"
สำหรับการต่อยอดสู่ธุรกิจไบโอเมดิคอล ดูจะเป็นเรื่องใหม่สำหรับเครือ ซี.พี. แต่ศุภชัยอธิบายว่า "เรื่องธุรกิจฟาร์มาซูติคอลของ ซี.พี. ทำอยู่แล้วในประเทศจีน ค่อนข้างใหญ่ มูลค่าบริษัท 5-6 พันล้านเหรียญ ซึ่งธุรกิจอาหารก็ต้อง ต่อยอดเป็นไบโอฟู้ด เพราะต้องบอกว่า จริง ๆ ปัจจุบันเราเข้าใจสัตว์มากกว่าเข้าใจคน เข้าใจ หมูกับไก่มากกว่าเข้าใจคน แต่ต่อไปต้องเข้าใจคนมากขึ้น"
"ในเครือ ซี.พี. มีนักวิทยาศาสตร์ที่เพิ่งประสบความสำเร็จในการวิจัยว่า อาหารสัตว์ที่ให้หมูกินเข้าไปมีส่วนผสมอะไรที่ไม่มีประโยชน์ต่อร่างกายเลย เอาส่วนผสมนี้ออก ยิงปืนนัดเดียว ได้นกสองตัว คือ หนึ่ง ลดต้นทุน สอง ทำให้หมูแข็งแรงขึ้น แต่จะทำแบบนี้กับคน ให้กิน ตามสูตรแบบนี้คงไม่ได้ แต่องค์ความรู้เหล่านี้ ต่อไปจะมากขึ้น เราสามารถพัฒนาต่อยอดได้"
เช่นต่อไปหากผู้บริโภคที่ซื้อสินค้า (อาหาร) ของ ซี.พี. เป็นสมาชิกออนไลน์ สั่งซื้อด้วยออนไลน์ และให้สมาชิกเข้าโปรแกรมวัดเลือด, วัดหัวใจ และสุขภาพอื่น ๆ ถ้ามีสมาชิกสัก 1 ล้านคน ถือเป็นฐานข้อมูลมหาศาลที่จะทำให้รู้ถึงไลฟ์สไตล์และพฤติกรรมของผู้บริโภคได้
และต่อไปเอไอจะสามารถคาดการณ์ไปถึงขั้นถ้าไลฟ์สไตล์แบบนี้ จะรู้ว่าจะตายอายุเท่าไร
นั่นคือทิศทางการเป็น "ผู้สร้างการเปลี่ยน แปลง" ด้วยการพัฒนาต่อยอดสร้างอาณาจักรของยักษ์ใหญ่เครือเจริญโภคภัณฑ์
และการเข้าถึงพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป ความสำเร็จจากช่องทางแบบเดิม ๆ วิธีการเดิม ๆ ก็ไม่เพียงพอ
"ในอดีตจากไอเดียกว่าจะทำเป็นสินค้าไปถึงมือผู้บริโภคทั่วโลกใช้เวลา 40 ปี แต่เฟซบุ๊กใช้เวลา 4 ปี ในการเข้าถึงคนพันกว่าล้านคนทั่วโลก เราจึงต้องมองว่าจะประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในกระบวนการทำธุรกิจที่จะทำให้ประสานองค์ความรู้ได้เร็วขึ้น ตัดสินใจได้เร็วขึ้น สอดคล้องความต้องการของตลาด และแก้ปัญหาของบริษัทได้ หมายถึงต้องดิจิไทซ์ตัวเองก่อน ถึงจะมี ข้อมูลที่ทันเวลา มีความหมายต่อการตัดสินใจ และตัดสินใจได้เร็ว ถูกต้อง ลดความไม่มีประสิทธิภาพในด้านต่าง ๆ ได้"
สำหรับองค์กรธุรกิจขนาดใหญ่ที่ครอบคลุมธุรกิจหลากหลายที่มีการลงทุนในกว่า 20 ประเทศทั่วโลก และการค้าในกว่า 100 ประเทศ พร้อมด้วยบุคลากรทั่วโลกกว่า 3.5 แสนคน ไม่ง่ายเลยกับการปรับเข็มทิศธุรกิจและให้ทุกคนมองเห็นไปในทิศทางเดียวกัน
แม่ทัพ ซี.พี.เล่าว่า เรื่อง "คน" เริ่มจากการให้ความสำคัญกับการสื่อสารเพื่อให้บุคลากรในองค์กรเข้าใจยุทธศาสตร์ธุรกิจของเครือ ซี.พี.ที่กำลังจะมุ่งไป และมีการฝึกอบรมด้านต่าง ๆ พร้อมกับการสร้างอีโคซิสเต็มในการสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กร, สถาบันการศึกษา และมหาวิทยาลัยต่าง ๆ เช่น การจัดทำ "ทรูแล็บ" ร่วมกับมหาวิทยาลัย เป็นต้น และขั้นถัดไป ต้องทำศูนย์วิจัยและพัฒนาเพื่อบ่มเพาะบุคลากรให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์และวิสัยทัศน์ที่วางไว้
"เราประกาศวิสัยทัศน์และยุทธศาสตร์ (ใหม่) เมื่อเดือน มี.ค. 60 แต่ละองค์กรก็วางแผนให้เชื่อมโยงกับยุทธศาสตร์ มองไปข้างหน้าไกล ๆ ขณะที่แต่ละบริษัทก็มีภารกิจ มีเป้าหมายของตัวเอง เรามีหน้าที่อำนวยความสะดวก ดูว่าตัวชี้วัดการร่วมมือ การเชื่อมโยงยุทธศาสตร์มีคุณภาพพอไหม มีความสามารถเกิดขึ้นจริงหรือไม่ สร้างโปรดักทิวิตี้สูงกว่านี้ได้มั้ย ทำให้ต้นทุนต่ำกว่านี้ หรือรั่วไหลน้อยกว่านี้ได้หรือไม่ เหล่านี้เป็นเรื่องที่ต้องทำต่อเนื่องภายใน 3 ปีนี้"
"ศุภชัย" อธิบายถึงภาพในใจของเครือ ซี.พี. ภายใต้การนำทัพของเขาว่า เป็นเรื่องของการสร้างคุณค่า (แวลูครีเอชั่น) ตอบสนองความต้องการของตลาด และผลักดันให้เครือ ซี.พี. เป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลง และมีความยั่งยืน
"ขณะที่เดินไปข้างหน้า เราก็ต้องเมกชัวร์ว่าสิ่งที่ทำไม่ได้เกิดผลกระทบต่อสังคม สิ่งแวดล้อม คือต้องพัฒนาไปพร้อม ๆ กันทั้งสองด้าน เป็นสิ่งที่เราตั้งใจให้เกิด ไม่ใช่เน้นมูลค่าทางเศรษฐกิจอย่างเดียว ต้องบาลานซ์เรื่องสิ่งแวดล้อม และตอบโจทย์คุณค่าที่ยั่งยืนทางสังคมได้ เครือต้องเป็นบริษัทที่อยู่ในระดับโลกที่ทำทั้งสองอย่างสำเร็จ ทั้งแวลูครีเอชั่น และความยั่งยืน"
แม่ทัพ ซี.พี.ย้ำว่า นอกจากวัฒนธรรมองค์กรที่มุ่ง 3 ประโยชน์ คือ ประเทศดี ประชาชนดี และบริษัทถึงดีแล้ว เครือ ซี.พี.ยังให้ความสำคัญ กับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เพื่อยกระดับองค์กรเข้าสู่มาตรฐานสากล ตามข้อตกลงโลกแห่งสหประชาชาติ หรือ UN Global Compact (UNGC) ที่ให้ความสำคัญกับการสร้างสมดุลระหว่างการดำเนินธุรกิจและความรับผิดชอบต่อสังคม และการพัฒนาอย่างยั่งยืน
Suphachai Chearavanont Transforming CP To Be a Leader of Change
Charoen Pokphand Group, or CP, remains one of the most influential conglomerates in Thailand, with dominance in nearly every major sector. The new leader of the group, Suphachai Chearavanont, resolves to maintain the lead by embracing modern technology.
Because CP operates in many overseas markets, challenges and competition come in many forms. To stay at the top, Suphachai said the company is focusing on three areas: biofood and biomedical, robotics and artificial intelligence, and cloud technology.
"Investing in those three issues are what each organization in our group must do, in order to expand from what we already have," Suphachai said. "It will be a new S-Curve for the group . we may be able to expand them into a new business of our own."
He envisioned a fully automated farms, and a new front in biofood industry. Suphachai also stressed the importance of Big Data, a valuable innovation for a company that has millions of customers such as CP.
"In the future, there might be online membership for customers who buy food from CP, and members can register for blood, heart and other health tests," he said. "If we have just a million members, it will be a precious data source to understand lifestyle and behavior of our customers."
ที่มา : ประชาชาติธุรกิจ ฉบับวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2560