ยามเช้าของวันเสาร์ในช่วงต้นเดือนกรกฎาคม ณ True Incube ย่านสยามสแควร์เต็มไปด้วยผู้คนกว่า 60 ชีวิต แม้จะเป็นเพียงกลุ่มคนเล็กๆ จากหลากหลายที่มา แต่การมารวมกัน ณ ที่นี้ของพวกเขามีความหมายยิ่งคือ “รวมพลังเปลี่ยนโลก” ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน ข้อ หรือ SDGs 17 (Sustainable Development Goals) ของสหประชาชาติ ที่ทั่วโลกกำลังพูดถึง
กลุ่มคนเล็กๆ ที่ว่าคือ นักเขียนบทภาพยนตร์ ผลิตผลจากโครงการอบรม “เข็นบทขึ้นภูเขา” รุ่นที่ 1 ที่จัดโดย เครือเจริญโภคภัณฑ์ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ร่วมกับคณะปรัชญาคีโน๊ต รวมถึงกลุ่มนักศึกษาปริญญาโท วิทยาลัยการจัดการ มหาวิทยาลัยมหิดล โดยเฉพาะคนเขียนบทภาพยนตร์ พวกเขาให้ความสนใจกับ SDGs เพื่อนำไปเป็นโจทย์และถ่ายทอดเนื้อหาออกมาในรูปแบบภาพยนตร์ หนังสั้น หรือหนังสารคดี จุดประสงค์ก็ต้องการสร้างการตระหนักรู้ด้านความยั่งยืนในมิติต่างๆ ของสังคมในวงกว้าง
นี่คือโครงการริเริ่มเล็กๆ ดีๆ ของเครือเจริญโภคภัณฑ์ และบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ที่ต้องการต่อยอดจากโครงการอบรม “เข็นบทขึ้นภูเขา” หวังที่จะใช้ปลายปากกาของบรรดานักเขียนบทและอาศัยโลกบันเทิงของพวกเขา ช่วยขยายเครือข่ายพันธมิตรสร้างความยั่งยืนให้กับสังคมและโลกใบนี้
งานครั้งนี้ ดร.ธีระพล ถนอมศักดิ์ยุทธ ผู้บริหารด้านยุทธศาสตร์ความยั่งยืน ธรรมาภิบาล การสื่อสารและนวัตกรรมสู่ความยั่งยืน เครือเจริญภัณฑ์และหัวหน้าคณะผู้บริหารด้านนวัตกรรมและความยั่งยืนบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ผู้รู้ด้านความยั่งยืน รับอาสาเป็นคนถอดรหัสเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือ SDGs 17 ข้อ ที่หลายคนอาจจะยังไม่เข้าใจ หรืออาจจะงงๆ หรืออาจจะไม่รู้ด้วยซ้ำ ให้มีความกระจ่างด้วยภาษาที่ง่ายและตัวอย่างที่ชัด
“การออกมารวมตัวกันครั้งนี้ก็นับเป็นการออกจาก comfort zone เพื่อมาร่วมรับรู้แนวโน้มปัญหาสำคัญของโลกผ่าน SDGs 17 ข้อ ซึ่งเป็นกรอบการพัฒนาที่ยั่งยืนที่องค์การสหประชาชาติกำหนดเป็นเป้าหมายการพัฒนาของโลกครอบคลุมมิติ สำคัญ 3 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อมซึ่งล้วนมีความสัมพันธ์เชื่อมโยงกัน แน่นอนว่ารวมถึงตัวเราทุกคนด้วย” ดร.ธีระพล เริ่มเกริ่นกับผู้เข้าร่วมฟัง
ดร. ธีระพล บอกว่า สภาพปัญหาต่างๆ ของโลกสะสมกันมานานและหลายปัญหาแก้ไขไม่สำเร็จได้ง่ายๆ นั่นเพราะหลายๆ คนไม่ตระหนักรู้ ไม่สนใจ หรือไม่คิดว่าตนเองก็มีหน้าที่ จนนำไปสู่พฤติกรรมเคยชินด้วยการบริโภคทรัพยากรต่างๆ อย่างมหาศาล โดยหลงลืม หรือละเลยที่จะคำนึงถึงความอยู่รอดและอนาคตของโลกและคนรุ่นต่อไป ก่อนจะขยายความลงรายละเอียดสาระสำคัญของ SDGs ทั้ง 17 ข้อว่าเป็นกรอบเป้าหมายการพัฒนาที่มีระยะเวลา 15 ปีหรือตั้งแต่ ปี 2558 ถึงเดือนสิงหาคม 2573 และได้เน้นย้ำถึง SDGs บางเป้าหมายที่มีผลกระทบต่อผู้คนและสังคมในวงกว้าง
เริ่มที่ตัวอย่างคือ ข้อที่ 1 No Poverty หรือขจัดความยากจน ดร.ธีระพลบอกว่า ความยากจนเป็นอุปสรรคพื้นฐานที่ทำให้คนขาดโอกาสในข้ออื่นๆ ตามมา ทั้งการรู้หนังสือ สุขภาพอนามัย อาหาร น้ำสะอาด สิทธิ์อำนาจ ความเท่าเทียม การมีงานทำ ที่อยู่อาศัย เทคโนโลยี หรือทรัพยากร ขณะที่ข้อที่ 4 Quality Education หรือการศึกษาที่เท่าเทียม จะช่วยให้คนเข้าถึงโอกาสต่างๆ มากขึ้น ซึ่งในประเทศไทยยังมีความไม่สมดุลอยู่มากและจำเป็นต้องเร่งบูรณาการระบบการศึกษาใหม่อย่างเร่งด่วน
อีกตัวอย่างหนึ่งคือ ข้อที่ 13 Climate Action หรือ การรับมือการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมที่อาจส่งผลต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ ตลอดจนผลผลิตทางการเกษตรที่เป็นอาหารเลี้ยงผู้คน แต่ข้อที่สำคัญที่สุดก็คือ ข้อ 17 Partnerships for the Goals หรือความร่วมมือเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ที่หมายความว่า ทุกเป้าหมายจะไม่อาจสำเร็จได้ หากไม่มีข้อที่ว่าด้วยความร่วมมือของทุกภาคส่วน
ดร. ธีระพล บอกว่า การที่จะบรรลุเป้า SDGs ต้องอาศัยพลังของเรา ซึ่งไม่ต่างอะไรจากการต่อเลโก้ (Lego) กล่าวคือ ต้องใช้ตัวต่อหลายๆ แบบมาประกอบกันเพื่อให้ได้ชิ้นงานที่สมบูรณ์ ซึ่งตัวต่อแบบเดียวกันย่อมไม่มีทางทำให้สำเร็จได้ การทำงานใหญ่ๆ จึงต้องขับเคลื่อนด้วยทีมงานจากหลากหลายกลุ่มมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเพื่อนำไปสู่การเกิดแนวคิดและพัฒนาเป็น ผลงานใหม่ๆ หรือ “นวัตกรรม” ขึ้นมาช่วย
“นี่อาจเป็นความหวังสุดท้ายของโลกใบนี้ เพราะโลกดำรงอยู่มาเป็นล้านๆ ปี แต่มนุษย์เพิ่งอยู่มาไม่นานกลับบริโภคทรัพยากรไปอย่างมากมาย โดยเฉพาะในช่วงเพียงไม่กี่ร้อยปีนี้ ถือว่าพวกเราโชคดีที่เกิดมาในยุคที่เริ่มมีคำถามว่าจะช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร ซึ่งสิ่งง่ายๆ ที่ทำได้ในชีวิตประจำวันตอบโจทย์ SDGs ก็คือช่วยกันสร้างสิ่งดีๆ ให้มากกว่าสิ่งที่ไม่ดี เพื่อเปลี่ยนแปลงให้โลกใบนี้ดีขึ้น”
ด้านนายปรัชญา ปิ่นแก้ว ผู้กำกับภาพยนตร์ไทยชื่อดังและเป็นวิทยากร “เข็นบทขึ้นภูเขา” บอกว่า การรับรู้และเรียนรู้ถึง SDGs ในวันนี้เป็นประโยชน์มากที่จะนำไปปรับใช้ ทั้งหมดเป็นเรื่องที่อยู่ใกล้ตัวพวกเรามาก โดยเฉพาะคนเขียนบทสามารถนำไปเป็นโจทย์ในการขบคิดและถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องราวในสื่อรูปแบบต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นภาพยนตร์ สารคดี หรือหนังสั้น เพื่อสะท้อนให้เห็นความสำคัญของการพัฒนาที่ยั่งยืนในมุมมองที่เข้าใจง่ายและเข้าถึงกลุ่มคนในวงกว้าง ในขณะที่นักศึกษาก็สามารถนำข้อมูลที่ได้ไปปรับใช้กับชีวิตจริงในปัจจุบันได้และยังสามารถนำไปบอกต่อคนอื่นๆ ให้เกิดการรับรู้และการตระหนักเรื่องความยั่งยืนตามมา
สุดท้าย ดร.ธีระพลเชื่อว่า พลังในตัวของคนรุ่นใหม่ทั้ง 2 กลุ่ม เป็นหนึ่งในความหวังในอนาคต ที่จะก่อเกิดการเปลี่ยนแปลงดีๆ บนโลกใบนี้ การช่วยกันคนละไม้คนละมือนั้น จะทำให้พวกเขาหลุดจากกับดักเดิมๆ ในคำถามเดิมๆ ที่ว่า “เรามีหน้าที่อะไรและจะช่วยทำให้โลกนี้ดีขึ้นได้อย่างไร” เพราะเพียงแค่เราร่วมมือกัน มิใช่เพียงจะทำให้โลกนี้น่าอยู่ยิ่งขึ้นเท่านั้น แต่มันจะอยู่กับพวกเราอย่างยั่งยืนตลอดไป