31 พฤษภาคม 2560 – นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะกรรมการบริหาร บมจ. ทรู คอร์ปอเรชั่น ในฐานะ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand – GCNT) ร่วมผนึกกำลังกับภาคีเครือข่ายหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชนอีก 7 องค์กร ลงนามปฏิญญาความร่วมมือครั้งสำคัญระดับชาติเพื่อการขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติ (UNGPs) ในประเทศไทย จัดโดย สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นสักขีพยาน ณ ศูนย์ประชุมสหประชาชาติ ถ. ราชดำเนิน เพื่อร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนแนวทางการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยใ ห้เกิดการตระหนักรู้ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ขยายผลในเชิงปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม และต่อยอดไปเป็นตัวอย่างในระดับภูมิภาค
นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) กล่าวถึงความสำคัญของการหารือว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนว่า “ปัจจุบันการทำธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนได้รับความสนใจจากผู้มีส่วนได้ส่วนเสียต่างๆ อาทิ ผู้บริโภค หน่วยงานกำกับดูแลทั้งในและต่างประเทศ NGOs สื่อมวลชน ภาคการเงินการธนาคารที่ออกเงินกู้ นักลงทุน ตลอดจนหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งที่ผ่านมา กสม. ได้จัดทำหลักการชี้แนะเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนในกรอบสหประชาชาติขึ้นเมื่อปี 2554 เพื่อเป็นเครื่องมือช่วยป้องกันและแก้ไขปัญหาการละเมิดสิทธิมนุษยชนโดยภาคธุรกิจ ที่ได้กำหนดบทบาทและความรับผิดชอบของภาครัฐและภาคเอกชน รวมทั้งหลักการแนวทางคุ้มครองและเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบด้านสิทธิมนุษยชนจากการประกอบธุรกิจ แต่อาจยังไม่เป็นที่รับรู้ในวงกว้าง จึงได้ร่วมกับภาคีเครือข่ายองค์กรภาคส่วนที่เกี่ยวข้องผนึกกำลังลงนามปฏิญญาความร่วมมือครั้งสำคัญของประเทศไทยเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ สู่สังคม มุ่งส่งเสริมให้ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องเกิดการตระหนักรู้ มีแนวทางการนำไปปฏิบัติที่เป็นรูปธรรม ตลอดจนยกระดับการรับรู้ประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนของไทยให้เป็นตัวอย่างในระดับภูมิภาค”
นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะกรรมการเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย (Global Compact Network Thailand - GCNT) ซึ่งเป็นการรวมตัวของภาคเอกชนชั้นนำของไทย 15 องค์กร ที่เป็นสมาชิก UN Global Compact และมีการส่งเสริมการทำธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเน้นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนเป็นพิเศษ กล่าวว่า “ที่ผ่านมา แม้บริษัทต่างๆ ทั่วโลกจะให้ความสำคัญกับแนวคิดเรื่องบรรษัทภิบาล และความรับผิดชอบต่อสังคมเพื่อให้ธุรกิจและสังคมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน แต่หลักการและแนวปฏิบัติเหล่านี้ยังไม่เพียงพอต่อการแก้ไขปัญหาสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นประเด็นที่มีความซับซ้อน และจำเป็นต้องอาศัยทุกภาคส่วนร่วมมือกัน นอกจากนั้นความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนและความเสี่ยงของการละเมิดสิทธิมนุษยชนในแต่ละภาคธุรกิจ รวมถึงการละเมิดในห่วงโซ่อุปทานของธุรกิจนั้นๆ ยังแตกต่างกันด้วย GCNT จึงภูมิใจที่ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งในปฏิญญาความร่วมมือเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ ร่วมกับภาคีเครือข่ายรวม 8 องค์กรในครั้งนี้ ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางการดำเนินงานหลักของ GCNT ที่เน้นเรื่องธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนอยู่แล้ว และมีพันธกิจหลักมุ่งส่งเสริมให้ภาคเอกชนอื่น ๆ ให้ความสำคัญ และเข้าร่วมเป็นสมาชิก GCNT เพื่อขับเคลื่อนประเด็นดังกล่าวในประเทศไทยให้สำเร็จอย่างเป็นรูปธรรม ได้รวดเร็วยิ่งขึ้น”
อนึ่งการลงนามปฏิญญาเพื่อขับเคลื่อนหลักการชี้แนะฯ จัดขึ้นภายในงานสัมมนาวิชาการเรื่อง “การเผยแพร่และขับเคลื่อนหลักการชี้แนะว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนของสหประชาชาติในประเทศไทย” โดยมี พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวปาฐกถาเปิดงาน และร่วมเป็นสักขีพยานการลงนามระหว่างผู้แทนของ 8 องค์กร ได้แก่ นายวัส ติงสมิตร ประธานกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ นายสุวพันธุ์ ตันยุวรรธนะ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม นายดอน ปรมัตถ์วินัย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ นายสนธิรัตน์ สนธิจิรวงศ์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงพาณิชย์ นายเจน นำชัยศิริ ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย นายผยง ศรีวณิช กรรมการสมาคมธนาคารไทย กรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานเครือข่ายโกลบอลคอมแพ็กประเทศไทย
ภายในงานยังประกอบด้วยการสัมมนาเพื่อแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในประเด็นการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชนขององค์กรต่างๆ ครอบคลุมทั้งระดับภูมิภาค หน่วยงานภาครัฐ และภาคเอกชนของไทยอีกด้วย