- นักธุรกิจชั้นนำทั้งชาวไทยและต่างชาติ ชี้ไทยมีศักยภาพที่จะพัฒนาประเทศก้าวเข้าสู่ยุค 4.0 แนะไทยควรเร่งสร้างนวัตกรรมและเทคโนโลยี ลงทุนด้านการวิจัยเพิ่ม พร้อมกับพัฒนาบุคลากรให้มีคุณภาพและตรงกับความต้องการ
- ด้านคุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ย้ำรัฐบาลไทยมาถูกทาง พร้อมให้ความร่วมมือ หากประสบความสำเร็จ จะเป็นการพลิกโฉมประเทศครั้งใหญ่
การเสวนา “สร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริงได้อย่างไร” เป็นส่วนหนึ่งของงานสัมมนา “Opportunity Thailand 2017” หรือ “โอกาสกับประเทศไทย 2560” จัดขึ้นโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เมื่อวันที่ 15 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาแลนเจอร์ ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุมอิมแพ็คเมืองทองธานี โดยมีนักธุรกิจชั้นนำในระดับนานาชาติ 4 ท่านเข้าร่วมการเสวนาในหัวข้อนี้คือ คุณธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริหาร บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (เอสซีจี) คุณปิแอร์ เจฟเฟอร์ ประธานเอเชียแปซิฟิก แอร์บัส กรุ๊ป คุณจอย ทาน ประธานฝ่ายสื่อสารองค์กร หัวเว่ย เทคโนโลยี และนายคาโอรุ คุราชิมะ ประธานบริษัท อายิโนะโมะโต๊ะ ประเทศไทย จำกัด ทั้งหมดได้เสนอความคิดเห็น พูดถึงโอกาสและความท้าทายข้างหน้าของแนวทางสร้างประเทศไทย 4.0 ทั้งในมุมกว้างและในมุมของอุตสาหกรรมที่ตนเองเกี่ยวข้อง
ท่านประธานฯ ธนินท์ กล่าวว่า ตนรู้สึกตื่นเต้นและดีใจ ที่รัฐบาลเข้าใจถึงการเปลี่ยนแปลงของโลก ทั้งยังมุ่งมั่นที่จะผลักดันสร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริงขึ้นมา การผลักดันครั้งนี้ มองว่า ไม่เพียงจะเกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ของประเทศทั้งในเชิงเศรษฐกิจและสังคม แต่จะยังช่วยเพิ่มศักยภาพการแข่งขันของไทยให้แข็งแกร่งและมีโอกาสอย่างยั่งยืนในตลาดโลก นอกจากนี้ ยังจะช่วยยกระดับคุณภาพชีวิตของคนไทยให้ดีขึ้นและมองว่า คนไทยจะร่ำรวยขึ้น ซึ่งอาจจะมีรายได้ต่อหัวมากกว่าคนสิงคโปร์ในอีก 10 ปีข้างหน้า
“ประเทศไทยมีตำแหน่งทางภูมิศาสตร์ที่ยอดเยี่ยม เชื่อว่านโยบาย 4.0 ยังมีโอกาสการลงทุนที่นี่อีกมาก” ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ กล่าว
ตามแนวทางประเทศไทย 4.0 ทุก ๆ บริษัทและอุตสาหกรรมต่าง ๆ ต้องปรับตัว รวมถึงภาคเกษตรและเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็ไม่สามารถหนีพ้นจากการเปลี่ยนแปลงได้ ทั้งนี้ท่านประธานฯธนินท์มองว่า ทุกคนควรตระหนักว่า ประเทศไทยไม่ได้ปลูกข้าวเป็นสินค้าเกษตรหลักเพียงอย่างเดียว แต่ยังมีสินค้าเกษตรอื่นๆที่ยอดเยี่ยมอีกมาก เช่น มังคุด ทุเรียนและมะพร้าว ซึ่งอย่างหลังนี้ มะพร้าวไทยเป็นที่รู้จักกันดีในตลาดโลก
นอกจากนี้ ท่านประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เสนอแนวทางให้กับประเทศไทย 4.0 คือ ทฤษฎี 3 สูง 1 ต่ำ กล่าวคือ การลงทุนสูง ประสิทธิภาพสูง คุณภาพสูง และต้นทุนต่ำ แต่สิ่งที่ภาครัฐต้องตระหนักตามมาคือ การจัดการทางด้านโลจิสติกส์ให้เหมาะสมกับแนวโน้มดังกล่าว ท่านประธานฯธนินท์มองว่า ยุค 4.0 เป็นยุคแห่งความเร็วและการผลิตต้องมีคุณภาพ ซึ่งสินค้าเหล่านั้นหลังที่ถูกผลิตเป็นจำนวนมาก จะต้องถูกระบายออกสู่ช่องทางต่าง ๆ ให้ทันท่วงที และนั่นคือ ความสำคัญของโลจิสติกส์ในวงจร 4.0 นี้ ซึ่งรัฐบาลจะต้องเข้ามาช่วยวางระบบ นอกจากนี้แล้ว การแก้ไขกฎหมายต่างๆ การจัดโซนพื้นที่อุตสาหกรรมและการวางผังเมืองให้สอดคล้อง ยังมีความจำเป็นที่ต้องเร่งทำ เพื่อให้วงจร 4.0 สมบูรณ์และสร้างประโยชน์สูงสุดให้กับประเทศ
นอกจากนี้ ยุค 4.0 ท่านประธานฯธนินท์ยังมองอีกว่า เทคโนโลยีจะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงในสังคมและมีผลให้คนทำงานน้อยลง แต่ผลลัพท์ที่ได้มีมากหลาย 10 เท่า สิ่งที่จะเกิดตามมาคือ สินค้าจะถูกผลิตออกมามากจนล้น ไม่ขาดเหมือนเมื่อก่อน เงินเฟ้อไม่มี แต่จะเกิดเงินฝืด ซึ่งความท้าทายตรงนี้ รัฐบาลควรต้องเตรียมรับมือเพื่อหาทางแก้ไข
สำหรับเกษตรกร พวกเขาจะได้ใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยีเช่นกัน กล่าวคือ ได้ผลผลิตเพิ่มขึ้น ผลตามมาคือ เกษตรกรจะมีเวลามากขึ้น เพื่อจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในชีวิตที่ต้องการ อาทิ ท่องเที่ยว และท้ายสุดก็เกิดการจับจ่ายใช้สอย ซึ่งจะเป็นผลดีกับเศรษฐกิจโดยรวม นอกจากนี้ หุ่นยนต์จะเข้ามาบทบาทในภาคอุตสากรรม ซึ่งท่านประธานฯธนินท์มองว่า หุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยเสริมงานของมนุษย์มากกว่าจะมาแย่งงานมนุษย์เหมือนที่กังวลกัน โดยหุ่นยนต์จะเข้ามาช่วยเหลืองานของมนุษย์ในส่วนที่ทำไม่ได้หรือส่วนที่ยากลำบาก เพื่อเติมเต็มให้ผลผลิตออกมาสมบูรณ์ตามแผนที่วางไว้
ยุค 4.0 มีทั้งวิกฤติและโอกาสในเวลาเดียวกัน ในฐานะที่เป็นนักธุรกิจท่านประธานฯธนินท์ มองว่า เป็นโอกาสมากกว่าวิกฤติ โดยเฉพาะวิกฤติ ท่านประธานฯธนินท์มองว่า เกิดจากการไม่ปรับตัวเองให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลง ทำให้ธุรกิจล้มละลายตามมา ขณะที่โอกาสต่างๆในยุค 4.0 ต้องฝากความหวังไว้กับคนรุ่นใหม่หนุ่มสาว ท่านประธานฯธนินท์กล่าวว่า พวกเขาจะต้องคิด “นอกกรอบ” เพื่อนำความคิดใหม่ ๆ มาพัฒนาธุรกิจ ซึ่งเครือเจริญโภคภัณฑ์ก็เห็นความสำคัญในจุดนี้และให้โอกาสพวกเขาอย่างเต็มที่ โดยศูนย์พัฒนาผู้นำเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้เข้ามามีบทบาททำหน้าที่ตรงนี้ ช่วยสร้างผู้นำรุ่นใหม่ให้กับเครือฯ แนวการทำงานคือ ผนึกกำลัง แลกเปลี่ยนความรู้ประสบการณ์และเทคโนโลยีใหม่ ๆ ปีหนึ่ง ๆ ผลิตได้มากกว่า 2,000 คน นอกจากนี้ เครือฯ ยังสนับสนุนกลุ่มธุรกิจสตาร์ทอัพ ซึ่งเป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ โดยยินดีที่จะเข้าร่วมลงทุนในธุรกิจที่น่าสนใจและมีแนวโน้มที่ดี
“เราจะสร้างคนเก่ง ผลิตสินค้ากระจายไปทั่วโลก โลกต่อไปจะไม่มีขอบเขต แต่เราจะต้องผลิตสินค้าที่เขาต้องการ” ท่านประธานฯธนินท์ กล่าว
ขณะที่คุณกานต์ ตระกูลฮุน กรรมการบริหาร เครือเอสซีจี กล่าวว่า องค์ความรู้เป็นสิ่งสำคัญในยุค 4.0 และประเทศไทยต้องสร้างองค์ความรู้เป็นของตนเอง ที่ผ่านมาประเทศไทยต้องสูญเสียเงินกับการนำเข้าองค์ความรู้จากต่างประเทศผ่านการซื้อเทคโนโลยีต่าง ๆ ปีละ 2 แสนล้านบาท ขณะที่ปี 2559 ประเทศไทยมีงบวิจัยและพัฒนาอยู่ที่ 0.6% เพิ่มขึ้นจาก 0.48% ในปีก่อนหน้า หากเทียบกับประเทศพัฒนาแล้วยังห่างไกลกันมาก สำหรับเครือเอสซีจีมีงบวิจัยและพัฒนาอยู่ที 1% ของยอดขาย ซึ่งเป็นส่วนผลักดันให้กำไรสุทธิเติบโตขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีปัญหาด้านบุคลากร เนื่องจากการผลิตบัณฑิตของมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ไม่สอดคล้องกับภาคเอกชน โดยทั้ง 2 ภาคส่วนยังไม่ได้ร่วมมือกันอย่างจริงจังให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน
“บางบริษัทไม่เห็นความสำคัญทางด้านวิจัยและพัฒนา ซึ่งมองเป็นค่าใช้จ่ายมากกว่าการลงทุน” คุณกานต์กล่าว
คุณปิแอร์ เจฟเฟอร์ จากค่ายแอร์บัส กล่าวว่า อุตสาหกรรมอากาศยานไม่ใช่เรื่องใหม่ของประเทศไทย ที่ผ่านมามาบริษัทก็ได้ทำงานร่วมกับบริษัทไทยในรูปแบบ sub-contract อยู่แล้ว โดยมองว่า ยังมีเทคโนโลยีอีกมากในโลกที่ยังไม่นำมาใช้ เขาเชื่อว่า แนวทาง 4.0 ของประเทศไทยเดินมาถูกทางแล้ว
คุณเจฟเฟอร์ บอกว่า เทคโนโลยีดิจิทัลกำลังเข้ามาบทบาทสำคัญ เห็นได้ว่าได้ช่วยย่นระยะเวลาทำงานได้มาก โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค เป็นผู้นำในการนำเทคโนโลยีที่สำคัญต่าง ๆ มาใช้ จนสามารถสร้างนวัตกรรมใหม่ ๆ ให้กับชุมชนทั่วโลก รวมไปถึงสร้างนวัตกรรมในบริษัทต่าง ๆ แม้แต่วิศวกร พวกเขาก็ไม่ได้ทำงานให้กับบริษัทเดียวอีกต่อไป โลกออนไลน์ทำให้เขารวมกลุ่มกันและสามารถทำโครงการให้เสร็จได้ภายใน 2 เดือน และกลุ่มสตาร์ทอัพในเมืองไทยก็เดินตามรอยความสำเร็จนั้น ดังนั้น พวกเราจะเห็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ในอุตสาหกรรมนี้ภายใน 10 ปี อาจจะได้เห็นเครื่องบินไฟฟ้าหรือรถบินได้ และเป็นไปได้อาจจะเห็นเทคโนโลยีเหล่านี้ในยุคประเทศไทย 4.0 ดังนั้น ประเทศไทยต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนและเทคโนโลยีดิจิทัล รวมไปถึงด้านการลงทุนด้านการวิเคราะห์ข้อมูลที่ทันสมัยในอุตสาหกรรมอากาศยานอีกด้วย
ด้าน คุณจอย ทาน จากหัวเว่ย กล่าวว่า การลงทุนด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ (ไอซีที) มีความสัมพันธ์กับการเติบโตของจีดีพี กล่าวคือ การลงทุนเพิ่มขึ้น 20% ในไอซีทีจะช่วยให้จีดีพีเติบโตได้ราว 1% สำหรับประเทศไทยการลงทุนด้านนี้ยังค่อนช้าและมูลค่าน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น โดยประเทศไทยมีการลงทุนด้านไอซีทีคิดเป็น 1.9% ของจีดีพี ขณะที่มาเลเซียลงทุนคิดเป็น 2.6% ของจีดีพี
หากประเทศไทยต้องการจะให้อุตสาหกรรมนี้เกิดขึ้น ผู้บริหารจากหัวเว่ยบอกว่า ภาครัฐและเอกชนจะต้องช่วยกันสร้างระบบนิเวศน์วิทยาทางด้านดิจิทัลขึ้นมา โดยเฉพาะโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากนี้ ยังจะต้องหาบุคลากรที่เชี่ยวชาญเข้ามาทำงานและยังต้องลงทุนด้านการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการสร้างนวัตกรรม แม้จะต้องใช้เวลาหลายปีกว่าจะเกิดขึ้นได้ก็ตาม
ส่วน คุณคาโอรุ คุราชิมะ รองประธาน กลุ่มอายิโนะโมะโต๊ะ กล่าวว่า แนวทางการทำงานของอายิโนะโมโต๊ะเน้นสร้างคุณค่าทางสังคมควบคู่กับการทำกำไร นอกจากนั้น ยังเน้นวิจัยและการพัฒนาบริษัทในประเทศไทย เห็นได้ว่า พนักงานราว 1% จากทั้งหมด 3,000 คน หรือราว 294 คนทำงานด้านวิจัย ในอนาคต บริษัทก็ยังให้ความสำคัญกับการวิจัยและพัฒนาอย่างต่อเนื่อง อย่างเช่น ถ่ายทอดผลวิจัยอย่างได้สาระให้กับสังคมไทยและสนับสนุนกิจกรรมของรัฐบาล และความปลอดภัยของอาหาร รวมถึงโภชนาการของผู้สูงอายุ
อนึ่ง งานสัมมนา “Opportunity Thailand 2017” หรือ “โอกาสกับประเทศไทย 2560" จัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่เมื่อวันที่ 15ก.พ.60 ที่ผ่านรมา ณ ห้องรอยัลจูบิลี่ อาคารชาแลนเจอร์ศูนย์แสดงสินค้าและการประชุม อิมแพ็คเมืองทองธานี โดยมี พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เป็นประธานพร้อมกล่าวปาฐกถาพิเศษ พร้อมด้วยนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ดร.สุวิทย์ เมษินทรีย์ รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี และนายอุตตม สาวนายม รัฐมนตรีว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ทั้งนึ้โดยมีผู้บริหารระดับสูงทั้งในประเทศไทยและต่างประเทศเข้าร่วมงานกว่า2,500คน สำหรับการเสวนาในหัวข้อ "สร้างประเทศไทย 4.0 ให้เป็นจริงได้อย่างไร" จะจัดขึ้นในช่วงบ่ายเวลาประมาณ 13.35 – 15.10 น. โดยมีคุณบัญชา ชุมชัยเวทย์ จากรายการ จอโลกเศรษฐกิจ สถานีโทรทัศน์ไทยทีวีสีช่อง 3 เป็นผู้ดำเนินการเสวนา