• หน้าแรก
  • คุยกับ CP
  • ข่าวเศรษฐกิจ - ธุรกิจ
  • CP เพื่อสังคมที่ยั่งยืน
  • ข้อเท็จจริง CP
  • แวดวง CP
  • เปิดหน้าต่างมองโลก
  • วิดีโอ
  • วารสารบัวบาน
  • ติดต่อเรา

ศุภชัย เจียรวนนท์ มั่นใจ Social Enterprise ยกระดับชนบทไทยสู่ความยั่งยืนด้วยพลังประชารัฐ พร้อมกระตุ้นไทยก้าวสู่ฮับอุตสาหกรรมใหม่ทั้งด้านเกษตรและเทคโนโลยีเพื่อดึงดูดนักลงทุนโดยต้องเร่งพัฒนาคนและการศึกษารองรับ


08 กันยายน 2559

วันที่ 24 สิงหาคม 2559 ที่ผ่านมา นายศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการด้านความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ และประธานคณะผู้บริหาร บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น ร่วมเสวนาหัวข้อ "ผสานพลังธุรกิจ ยกระดับชนบทไทย" พร้อมกับผู้บริหารองค์กรธุรกิจต่างๆ ในงานสัมมนา CSR 360 องศา "ธุรกิจเพื่อสังคมบริบทใหม่ สร้างไทยยั่งยืน" จัดโดย หนังสือพิมพ์ประชาติธุรกิจ ณ ห้องบอลรูม ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์

ทั้งนี้นายศุภชัยได้แสดงทัศนะว่าปัญหาที่เกิดขึ้นกับเกษตรกรในชนบทไทยเป็นสิ่งที่สั่งสมมาตั้งแต่อดีตเช่นเดียวกับทั่วโลกที่เดิมทีเกษตรกรซึ่งเป็นประชากรส่วนใหญ่ โดยเฉพาะกลุ่มปลูกพืชผลไม่สามารถปรับตัวจากยุคเกษตรกรรมสู่ยุคอุสาหกรรม (Industrialization) ได้ จึงทำให้เกิดช่องว่างของรายได้ประชากร โดยตัวอย่างโมเดลที่ประสบความสำเร็จในการช่วยให้เกษตรกรปรับตัวสู่ยุคอุตสาหกรรม เช่น ในยุโรปใช้การรวมกลุ่มเป็นสหกรณ์ภายใต้ผู้นำที่เข้มแข็ง ขณะที่สหรัฐอเมริกาใช้ระบบคอนแทร็กฟาร์มมิ่งขนาดใหญ่ แต่เมื่อนำมาปรับใช้กับประเทศไทยอาจไม่ประสบความสำเร็จนัก เพราะเกษตรกรยังขาดจิตวิญญาณในการเป็นผู้ประกอบการ (Entrepreneurial Spirit) การใช้เครื่องทุ่นแรงในการผลิตและแปรรูป ตลอดจนการกระจายรายได้สู่เกษตรกรที่ไม่ดีพอ

“โมเดลที่เหมาะสมในการนำเกษตรกร และชนบทไทยให้ก้าวสู่ยุคอุตสาหกรรมใหม่ได้ก็คือวิสาหกิจเพื่อสังคมหรือ Social Enterprise ที่ถือเป็นย่างก้าวสำคัญในการพัฒนาชุมชน และก่อให้เกิดการกระจายรายได้ไปสู่ภาคชนบท พร้อมกันนี้ก็ต้องสะท้อนราคาพืชผลที่แท้จริงตามต้นทุนการผลิตและความเสี่ยงที่เกษตรกรแบกรับทั้งเรื่องโรคพืช ภัยธรรมชาติ ความผันผวนของราคาสินค้า พร้อมเสริมด้านองค์ความรู้ ความช่วยเหลือด้านการบริหารจัดการ และการตลาด เพื่อนำไปสู่ความยั่งยืน”

ทั้งนี้การพัฒนาชนบทของไทย ควรพิจารณาความเหมาะสมของพื้นที่และสภาพดินฟ้าอากาศด้วย เช่น ภาคเหนือที่ไม่เหมาะกับการเพาะปลูกแบบพื้นราบด้วยข้อจำกัดเรื่องขนาดพื้นที่ และต้นทุนการขนส่งสูง ซึ่งเหมาะกับการปลูกพืชบางชนิดเช่น กาแฟ ก็อาจพลิกวิกฤตเป็นโอกาสโดยตั้งเป้าเป็นแหล่งผลิตกาแฟที่ดีที่สุดในภูมิอากาศป่าฝนเขตร้อน (Best rain forest coffee of the world) พร้อมทั้งส่งเสริมไปยังประเทศที่มีศักยภาพเช่น ประเทศจีนให้หันมาดื่มกาแฟมากขึ้น หากทำได้สำเร็จก็อาจผลิตไม่พอป้อนตลาด หรือในภาคอีสานมีชื่อเสียงในการปลูกข้าวหอมมะลิและข้าวเหนียวหลายสายพันธุ์ หากวิจัยพันธุ์ให้มีความแข็งแรงมากขึ้น และปลูกได้หลายพื้นที่ ก็ย่อมเป็นโอกาสของเกษตรกรเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม การจะไปถึงจุดนั้นได้ต้องมีความชัดเจนเรื่องกฎหมายเกี่ยวกับป่าอนุรักษ์และพื้นที่ทำกิน (Land Use) เพื่อเกษตรกร จะได้เพาะปลูกได้อย่างถูกต้อง ภาคเอกชนก็จะมั่นใจว่าไม่ได้สนับสนุนการเพาะปลูกที่ผิดกฎหมาย และไม่ควรแทรกแซงราคา (Subsidies) เพราะเป็นสิ่งไม่ยั่งยืน แต่ควรให้เป็นไปตามกลไกตลาดที่ทำให้ธุรกิจอยู่ได้ ดีต่อสังคม และดีต่อสิ่งแวดล้อม ธุรกิจที่ทำไม่ดีย่อมถูกสังคมตรวจสอบ สุดท้ายเมื่อเกษตรกรปรับตัวไปสู่ยุคอุตสาหกรรมได้ดี มีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยทุ่นแรง และมีเวลาเพิ่มขึ้น ก็ยังสามารถไปส่งเสริมด้านงานฝีมือเพื่อเพิ่มรายได้เพิ่มมากขึ้น

ความร่วมมือแบบประชารัฐทำให้เอกชนเริ่มเห็นปัญหาในระดับประเทศ จากเดิมที่ต่างฝ่ายต่างทำตามหน้าที่ของตนเอง แต่มิติเหล่านั้นล้าสมัยไปแล้ว เพราะการพัฒนาอย่างยั่งยืนต้องสร้างความร่วมมือกันทุกฝ่ายเพื่อช่วยกันหาจุดที่ต้องการจะนำประเทศก้าวไปเพื่อเป็นศูนย์กลาง (Hub) ด้านต่างๆ ในระดับภูมิภาค และระดับโลก เช่น ด้านการท่องเที่ยว, การผลิตรถยนต์, Mechatronics และ Robotics, การแพทย์, อาหารและการเกษตรว่าด้วย Bio-Food โดยมีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านเทคโนโลยี โลจิสติกส์ และโทรคมนาคมที่ดีมารองรับ แต่สำหรับปัจจุบันองค์ประกอบสำคัญเร่งด่วนที่ควรเร่งพัฒนาก็คือคนหรือทรัพยากรมนุษย์ และการศึกษาซึ่งต้องกำหนดเป็นยุทธศาสตร์แห่งชาติ

 “การศึกษาไทยต้องเปลี่ยนวิธี ให้นักเรียนเป็นจุดศูนย์กลาง ครูและผู้ปกครองไม่ควรตัดสินเด็ก สั่งให้ทำ หรือห้ามทำ (Do & Don’t) แต่ต้องทำให้เด็กรักที่จะตั้งคำถาม รู้จักวิเคราะห์ และลงมือทำแทนการท่องจำแบบสมัยก่อน ต้องดึงศักยภาพของเขาออกมา ให้เติบโตไปในเส้นทางที่ถนัด ให้ความรักเอาใจใส่ (Encouraged) เด็กรับรู้จากการเรียน 20% ส่วนอีก 80% รับรู้จากการเห็นผู้ใหญ่เป็นเป็นตัวอย่าง ควรมีชั่วโมงเรียนที่ให้เด็กได้ออกไปช่วยเหลือสังคม (Social Services Hours) ไม่เน้นแต่คนเก่งวิชาการ แต่ต้องคำนึงถึงเยาวชนทุกกลุ่มให้รู้สึกว่าตนเองก็คุณค่า ซึ่งอาจใช้เวลานานในการเห็นผล หากแต่เป็นสิ่งสำคัญยิ่งต่อความเข้มแข็งและยั่งยืนของสังคม การเมือง และภาคธุรกิจไทยในอนาคต”

นายฐาปน  สิริวัฒนภักดี กรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเบฟเวอเรจ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่าบริษัทฯ ร่วมกับธุรกิจหลายภาคส่วนทำงานสานพลังประชารัฐซึ่งมี 12 คณะ โดยคณะที่บริษัทฯ รับผิดชอบคือด้านการพัฒนาฐานรากประชารัฐ ด้วยเป้าหมายเพิ่มรายได้คนในชุมชน ประชาชนมีความสุข โดยมียุทธศาสตร์หลัก ได้แก่ ธรรมาภิบาล นวัตกรรม คุณภาพคน และการมีส่วนร่วมในการเจริญเติบโตของคน มุ่งที่ 3 กลุ่มใหญ่คือการเกษตร แปรรูป และการท่องเที่ยวในชุมชน มี 5 ขั้นตอนดำเนินงานคือ 1.การเข้าถึงปัจจัยการผลิต 2.การสร้างองค์ความรู้ 3.การตลาด 4.การสื่อสารการรับรู้เพื่อความยั่งยืน และ 5.การบริหารจัดการ พร้อมเชิญบริษัทเอกชนรายอื่นๆ เข้ามาถือหุ้น ซึ่งได้รับการตอบรับอย่างดี สะท้อนว่าภาคเอกชนยินดีสนับสนุนการยกระดับชุมชน เช่น ช่วยเผยแพร่ความรู้การบริหารจัดการ และการเข้าถึงการตลาด”

องค์กรของเราวาง 2 เส้นทางในการบริหารงานที่ยั่งยืน  1.คือในการดำเนินธุรกิจปกติ เราทำสิ่งที่สร้างเสริมสังคม ระมัดระวังว่าเรามีส่วนทำร้ายหรือไม่ คำนึงถึงทุกส่วนในห่วงโซ่ให้ส่งเสริมและยั่งยืนไปด้วยกัน ซึ่งก็คือทุกคนในสังคมไทย เราต้องขยายกรอบความคิดนี้ออกไป และ 2.คือเราไม่ทำองค์กรเดียว แต่สร้างการมีส่วนร่วมกับสังคมในการช่วยกันแก้ปัญหาสังคม และพัฒนาระบบนิเวศ เพื่อให้ผลสำเร็จขยายออกไป

นายวิเชียร พงศธร ประธานกรรมการพรีเมียร์ กรุ๊ป กล่าวว่า ในอดีตต่างคนต่างมีเป้าหมายความยั่งยืนและความสุขในแบบของตัวเอง แต่ในวันนี้ ประชากรโลกเพิ่มขึ้นประมาณ 3 เท่า เศรษฐกิจเติบโต 10 เท่า ใช้พลังงานเพิ่มขึ้น 5 เท่า ใช้น้ำมากขึ้น 5 เท่า ใช้ทรัพยากรธรรมชาติเพิ่มขึ้น 10 เท่า พืชและสัตว์ที่สูญพันธุ์เพิ่มขึ้น 10 เท่า ใช้ที่ดินเพิ่มขึ้น 8 เท่า สำหรับประเทศไทยในรอบ 60 ปี ป่าหายไปครึ่งหนึ่ง การเจริญเติบโตของเศรษฐกิจทวีคูณ ความมั่งคั่งของเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น ขณะที่ประชากรยากจนไม่ได้ลดลง ความเหลื่อมล้ำในสังคมก็ยังไม่เปลี่ยน การศึกษาไม่ได้ดีขึ้น เมื่อเทียบกับประเทศอื่นแล้วเราถอยหลัง ที่สำคัญคือธรรมาภิบาลในสังคมถดถอยไปมาก เห็นได้จากปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่น ดังนั้นกรอบความคิดแบบต่างฝ่ายต่างคิด ใครมือยาวสาวได้สาวเอาแบบเดิมต้องเปลี่ยนไป เราต้องไปด้วยกัน ได้ดีด้วยกัน ยั่งยืนด้วยกัน หากไม่ปรับย่อมส่งผลโดยรวมให้ความสามารถในการแข่งขันทางเศรษฐกิจของเราลดลง”

วาสนา ลาทูรัส เจ้าของผู้ก่อตั้งผลิตภัณฑ์ “นารายา” เปิดเผยว่า ถ้าเทียบกับองค์กรขนาดใหญ่แบรนด์นารายายังเป็นงานทำมือ โดยชาวบ้านเป็นผู้ผลิต บริษัทจะฝึกชาวบ้าน อาทิ ทอเสื่อ เย็บจักร โดยผลิตภัณฑ์จะเป็นกระเป๋า ของใช้ในครัว ของใช้เด็ก ผลิตภัณฑ์ของผู้ชาย เครื่องประดับ อีกทั้งมีโครงการสนับสนุนผ้าไหมไทยภายใต้ชื่อ Lalama by Naraya และโครงการร่วมกับรัฐบาลคือการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมชนบท โดยนำชาวบ้านมาอบรมกับบริษัท 45 วัน สอนทำเสื้อผ้า เครื่องประดับ รองเท้า มีเบี้ยเลี้ยงให้ สอนให้ชาวบ้านเป็นเถ้าแก่ ให้รู้จักบริหารเงินและธุรกิจ ถ้าทำกระเป๋าก็ต้องคิดและวางแผนได้ว่าจะขายให้บริษัทเท่าใด เมื่อสิ้นสุดการอบรมนารายาจะพิจารณารับซื้อผลิตภัณฑ์ หรืออนาคตจะขายให้ที่อื่นๆ ก็ได้ นารายาเป็นเพียงภาคเล็กๆ แต่ยินดีที่ได้ช่วยพัฒนาคน ให้ความรู้ นำเครื่องจักร และอุปกรณ์เกี่ยวกับการตัดเย็บผ้าไปให้ ชาวบ้านมีอาชีพ มีรายได้เพิ่มขึ้น สามารถเลี้ยงลูกหลานได้ ไม่ต้องเข้ามาแย่งกันทำมาหากินที่กรุงเทพ ให้วิถีชีวิตความเป็นอยู่มีความมั่นคงยั่งยืน”

ปรับปรุง และเรียบเรียงจาก หนังสือพิมพ์ประชาชาติธุรกิจ (ซีเอสอาร์-เอชอาร์)

ข่าวยอดนิยม

ประโยชน์ของข้าวแดง หรือ ข้าวซ้อมมือ...

13 ตุลาคม 2558
35934

อาหารจานด่วน-อาหารขยะ ผลเสียต่อสุขภาพ...

22 กรกฎาคม 2558
33327

เอ็มจี เติบโตต่อเนื่อง ทุ่มงบลงทุนกว่าหมื่นล้าน เปิดโรงงานผลิตรถยนต์แห...

08 ธันวาคม 2560
25258

ซีพี-เมจิ ตอกย้ำภาพเบอร์ 1 ตลาดนมพาสเจอร์ไรซ์ พร้อมยกระดับตลาดโยเกิร์ต...

03 กรกฎาคม 2558
18035

แชร์ข่าวสาร

โครงการสานพลังประชารัฐ ด้านการศึกษาพื้นฐานและการพัฒนาผู้นำ เ... ซีพีเอฟได้รับคัดเลือกเป็นสมาชิก DJSI เป็นปีที่ 2 ตอกย้ำการดำ...
  • CP Group
  • เครือเจริญโภคภัณฑ์
  • ความยั่งยืน
  • Social Enterprise
  • ศุภชัย เจียรวนนท์

ข่าวที่น่าสนใจ

อ่านข่าวทั้งหมด อ่านข่าวทั้งหมด

เวิลด์แบงก์เตือนหนี้สูงฉุดแผนฟื้นตัวเศรษฐกิจโลก...

29 ธันวาคม 2564
11418

บริโภค-ลงทุนเอกชนทยอยฟื้นตัว “สศค.” เผยหนุน ศก.ภูมิภาคพ.ย.ปรับดีขึ้น...

29 ธันวาคม 2564
11595

นายกฯ พอใจศักยภาพส่งออกสินค้าเกษตร/อุตสาหกรรม ขยายตัวต่อเนื่อง เร่งพัฒ...

28 ธันวาคม 2564
10252

ครม.ทราบมติ คกก.นโยบายการเงินรัฐ ขยับสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพีไม่เกิ...

28 ธันวาคม 2564
10347

เครือเจริญโภคภัณฑ์
Copyright 2016.
Privacy Policy | Rules & Regulations

ลิงค์ที่เกี่ยวข้อง

  • ความรู้คู่คุณธรรม: www.truepookpanya.com
  • CP-Enews ปี 2013: news.cpfworldwide.com
  • CP-Enews ปี 2012: www.cpthailand.com/enews

ติดต่อเรา

สำนักกิจกรรมสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เลขที่ 18 อาคาร ทรู ทาวเวอร์ ชั้น 25 ถนนรัชดาภิเษก แขวงห้วยขวาง เขตห้วยขวาง กรุงเทพฯ 10310

  • โทรศัพท์ : 02-858-6286 / 02-858-2564 / 02-858-3721-2
  • โทรสาร : 02-858-3726
  • อีเมล์ : prcpgroup@cp.co.th