เมื่อเร็ว ๆ นี้สำนักข่าวออนไลน์ไทยพับลิก้าและมูลนิธิมั่นพัฒนา ได้จัดงานเสวนา Thailand SDGs Forum#1 Thailand SDGs Roundtable : Global Transformation to Local Drive ขึ้นที่ โรงแรม เดอะ สุโกศล โดยมีผู้เข้าร่วมเสวนา ประกอบด้วยผู้แทนจากภาครัฐ ภาควิชาการ องค์กรเอกชน อาทิ ผู้แทนจาก สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เครือเจริญโภคภัณฑ์ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย กระทรวงการต่างประเทศ สภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ มูลนิธิมั่นพัฒนา ไพรซ์ วอเตอร์เฮ้าส์ คูเปอร์ (PWC) เอสซีจี ปตท. รวมถึงนักวิชาการอีกหลายท่าน
โดยการเสวนาครั้งนี้ถือเป็นครั้งแรกของการเปิดเวทีสาธารณะ ที่ดึงเอาผู้เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนทั้งภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนได้มาร่วมพูดคุยในเวทีเดียวกัน เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนข้อมูลเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน( SDGs) องค์ประกอบของความสำเร็จ รวมทั้งอุปสรรคปัญหาที่ต้องได้รับการแก้ไข
ดร.เนติธร ประดิษฐ์สาร รองกรรมการผู้จัดการ ด้านการสื่อสารเครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งได้เข้าร่วมงาน ทั้งในฐานะของภาคธุรกิจเอกชน และ ยังมีบทบาทในฐานะผู้แทน UN Global Compact Local Network Thailand ด้วย ได้กล่าวว่า ภาคเอกชนนับว่าเป็นอีกส่วนที่มีบทบาทสำคัญในการผลักดัน SDGs (Sustainable Development Goals) ซึ่งเป็นวาระแห่งการพัฒนาของโลกในอีก 15 ปีข้างหน้า (ค.ศ.2015-2030) เนื่องจากภาคเอกชนเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากตลอดทั้งห่วงโซ่อุปทาน หากดูแลไม่ดีพออาจส่งผลกระทบต่อการดำเนินงานของประเทศในภาพรวม ขณะเดียวกัน ภาคเอกชนก็ไม่สามารถทำได้เพียงลำพัง เพราะการขับเคลื่อนจำเป็นต้องอาศัยนโยบายจากภาครัฐด้วย เป็นต้น สิ่งสำคัญที่จะนำไปสู่ความสำเร็จคือการลงมือทำอย่างจริงจัง (implementation) และการจะประสบผลสำเร็จได้ ต้องมีความร่วมมือจากทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้อง มีการกำหนดเป้าหมาย และมีแผนงานที่ชัดเจน
ในส่วนของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ นั้น มีแนวคิดเรื่องการทำธุรกิจอย่างยั่งยืนมาตั้งแต่ยุคเริ่มก่อตั้งเมื่อเกือบร้อยปีก่อน ตัวอย่างคือ การพิมพ์วันหมดอายุของเมล็ดพันธุ์พืชที่จำหน่ายบนซองเป็นเจ้าแรก และได้มีพัฒนาการมาโดยตลอด โดยต่อมามีการนำเทคโนโลยีเข้ามาใช้ ในธุรกิจ อาทิ การเลี้ยงไก่ที่พัฒนามาเป็นการเลี้ยงในระบบปิด เพื่อป้องกันโรคไข้หวัดนก การเลี้ยงกุ้งในระบบปิดที่ไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม และเป็นการทำการเกษตรอย่างยั่งยืน เป็นต้น ปัจจุบันได้การพัฒนาด้านความยั่งยืนของกลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ได้ก้าวสู่ระดับสากลมากขึ้น โดยในปี 2558 ได้เข้าร่วม UN Global Compact รวมทั้งได้เป็นสมาชิกใหม่ของ WBCSD (World Business Council for Sustainable Development ) นอกจากนี้บมจ.เจริญโภคภัณฑ์อาหาร หรือ CPF ซึ่งเป็นบริษัทหลักในกลุ่มธุรกิจเกษตรอุตสาหกรรมและอาหาร ยังเป็นองค์กรธุรกิจที่ได้รับมาตรฐาน DJSI (Dow Jones Sustainability Indexes – การจัดอันดับความยั่งยืนทางธุรกิจระดับโลก ซึ่งกองทุนทั่วโลกใช้ในการพิจารณาการลงทุน)
ขณะเดียวกัน เพื่อขับเคลื่อนอย่างต่อเนื่องในระดับเครือฯ เมื่อต้นปี 2559 กลุ่มบริษัทเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้ประกาศหลักการความยั่งยืน ซึ่งประกอบด้วยสามส่วนสำคัญ คือ การนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ปรัชญา 3 ประโยชน์สู่ความยั่งยืนซึ่งเป็น 1 ในค่านิยมหลักขององค์กร และการบรรจุเป้าหมาย SDGs ทั้ง 17 ข้อไว้ด้วย และมีการนำ SDGs เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของการวางแผนการทำงาน โดยการเทียบ SDGs ทั้ง 17 ข้อ กับการดำเนินการของทั้งระดับเครือฯ และระดับกลุ่มธุรกิจ เพื่อพิจารณาว่า โครงการที่ทำอยู่เข้าข่าย SDGs ข้อใดบ้าง โดยมีเข็มทิศ 5 ขั้นตอนในการนำ SDGs มาใช้ เริ่มจากเข้าใจว่า SDGs คืออะไร จากนั้นนำมาลำดับเรียงความสำคัญ และจัดตั้งเป้าหมาย นำมารวมกับกระบวนการผลิตทั้งกระบวนการ และสุดท้าย การบริหารเรื่องการสื่อสาร เพื่อเป็นแนวทางผลักดัน SDGs และการตั้งเป้าหมายการพัฒนาอย่างเป็นระบบ ต่อไป
นอกจากนี้ ในฐานะที่เป็นผู้แทน UN Global Compact Local Network ยังได้กล่าวถึงการก่อตั้ง UN Global Compact Local Network Thailand ซึ่งเริ่มต้นจาก 14 องค์กร อาทิ เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซีพีเอฟ ทรูคอร์ปอเรชั่น ปตท. บางจาก มิตรผล กลุ่มไทยยูเนี่ยน ฯลฯ เพื่อนำหลักการของ UN Global Compact 10 ข้อ ใน 4 หมวด (สิทธิมนุษยชน แรงงาน สิ่งแวดล้อม และการต่อต้านทุจริต) มาปฏิบัติในประเทศไทย เพื่อให้เกิด ผลเป็นรูปธรรมอย่างชัดเจน ปัจจุบันประเทศไทยมีองค์กรที่เป็นสมาชิกทั้งหมด 66 องค์กร ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นภาคธุรกิจ ทั้งนี้ UN Global Compact Local Network Thailand มีเป้าหมายหลัก คือ การส่งเสริมการดำเนินธุรกิจที่เคารพสิทธิมนุษยชน เนื่องจากเป็นเรื่องละเอียดอ่อน และมีผู้เข้าใจเรื่องสิทธิมนุษยชนอย่างแท้จริงยังมีอยู่น้อย โดยเฉพาะในภาคธุรกิจด้วยกันเอง ดังนั้น Global Compact Network Thailand จึงเน้นที่การส่งเสริมธุรกิจขนาดใหญ่ และบริษัทคู่ค้าในห่วงโซ่อุปทาน ให้เคารพสิทธิมนุษยชนไปทั้งกระบวนการผลิต เข้าใจหลักการสิทธิมนุษยชนที่สำคัญต่อการดำเนินธุรกิจ เพื่อป้องกันผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นทั้งห่วงโซ่การผลิต
ปัจจุบัน UN Global Compact Local Network Thailand มี Steering Committee ขับเคลื่อนการดำเนินงาน โดยมี คุณศุภชัย เจียรวนนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เป็นประธาน พร้อมด้วยคณะกรรมการท่านอื่นๆ ที่มาจากหลายบริษัท เพื่อเป็นสะพานเชื่อมระหว่างกลุ่มธุรกิจ และภาคส่วนต่าง ๆ ในประเทศ กับเครือข่ายของ UN และเครือข่าย UN Global Compact Local Network ในประเทศอื่น นอกจากนี้ยังจะเป็นจุดประสานการติดต่อระหว่างเครือข่ายในภูมิภาคกับสำนักงานใหญ่ของ UN Global Compact ณ นครนิวยอร์ก อีกทางหนึ่งด้วย