ปัจจุบันผู้บริโภคในทุกวันนี้ส่วนใหญ่นิยมบริโภคหมูมีไขมันต่ำและเนื้อแดงมากขึ้น เพราะให้ความสำคัญกับสุขภาพ จึงทำให้ฟาร์มสุกรชั้นนำ ต่างทุ่มเทพัฒนาการผลิตเนื้อหมูที่มีเปอร์เซ็นต์ของเนื้อแดงมากขึ้น และมีไขมันแทรกในเนื้อน้อยลง สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภค
นายสัตวแพทย์ ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์ นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย กล่าวว่า ผู้บริโภคเองควรมีความรู้ในการเลือกบริโภคอาหารให้ถูกหลักอนามัย เพื่อหลีกเลี่ยงการได้รับสารเคมีอันตรายที่แฝงมากับอาหาร โดยเฉพาะสารเร่งเนื้อแดงที่แฝงมากับเนื้อสัตว์ ที่อาจจะยังมีการลักลอบใช้อยู่ ทั้งที่สารเร่งเนื้อแดง หรือ สารกลุ่มเบต้า-อะโกนิสต์ ได้แก่ เคลนบูเทอรอล และซัลบูตามอล และ แรคโตพามีน เป็นเคมีภัณฑ์ ที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ประกาศห้ามใช้เป็นส่วนผสมในการผลิตและนำเข้าซึ่งอาหารสัตว์ ตามพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์มาตั้งแต่ พ.ศ. 2525 และพระราชบัญญัติควบคุมคุณภาพอาหารสัตว์ (ฉบับที่ 2) พ.ศ. 2542 ทั้งนี้ ก็เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจจะเกิดขึ้นแก่ผู้บริโภคหากได้รับสารนี้ที่ตกค้าง อยู่ในเนื้อสุกร นอกจากนี้ ประกาศกระทรวงสาธารณสุข (ฉบับที่ 269) พ.ศ. 2546 เรื่องมาตรฐานอาหารที่มีการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มเบต้าอะโกนิสต์ กำหนดให้ต้องไม่พบการปนเปื้อนสารเคมีกลุ่มนี้ หากพบ ผู้ฝ่าฝืนจะถูกลงโทษทันที
แม้ว่าทุกภาคส่วนจะให้ความร่วมมือในการแก้ปัญหาการใช้สาร เร่งเนื้อแดงอย่างจริงจัง แต่ก็ยังพบปัญหาการปนเปื้อนสารเร่งเนื้อแดง ในเนื้อหมูที่ขายตามร้านค้าแผงลอย ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการเกิดอันตราย ต่อสุขภาพของผู้บริโภค กรมปศุสัตว์จึงเร่งรัดปราบปรามสารเร่งเนื้อแดง ปนเปื้อนในเนื้อสุกร ตามนโยบายด้านอาหารปลอดภัยของกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกรมปศุสัตว์ โดยได้เร่งดำเนินการตรวจสอบ ในโรงฆ่าและฟาร์มสุกรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง ด้วยวิธีการสุ่มตรวจ ตัวอย่างปัสสาวะสุกรในโรงฆ่า ชุดทดสอบเบื้องต้นชนิดรวดเร็ว รู้ผลภายใน 5 นาที และมีความแม่นยำสูง ทำให้ตรวจพบได้อย่างทันที
ขณะเดียวกัน ผู้นำด้านการผลิตและแปรรูปเนื้อหมู อย่างบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ ให้ความสำคัญกับกระบวนการผลิตเนื้อหมูที่มีคุณภาพ ได้มาตรฐาน ปลอดสาร และ ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงมือผู้บริโภค เริ่มจากการผลิตสุกรพันธุ์ดี ที่เติบโตขึ้นท่ามกลางการจัดการฟาร์มที่ถูกสุขลักษณะ มีสภาพแวดล้อม ที่เหมาะสม และการป้องกันโรคอย่างเข้มงวด หมูทุกตัวต้องผ่านการตรวจ วิเคราะห์รับรองว่าปลอดโรคและปลอดสารจากห้องปฏิบัติการของบริษัท ผ่านการรับรองของกรมปศุสัตว์ ก่อนถูกนำไปแปรรูปและตัดแต่งภายในโรงงานที่มีเทคโนโลยีการผลิตทันสมัย ได้มาตรฐานระดับโลกด้านความปลอดภัยของอาหาร (Food Safety) ระหว่างการแปรรูป มีการบันทึกข้อมูลด้วยรหัสสัญญาณวิทยุ (RFID) เพื่อควบคุมการตัดแต่ง เนื้อหมู และความปลอดภัยได้อย่างมีประสิทธิภาพ ก่อนบรรจุและ ปิดผนึกด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติ ติดป้ายแสดงชื่อสินค้า วันที่ผลิตและวันที่บริโภค รวมถึงข้อมูลสำคัญสำหรับการตรวจสอบย้อนกลับทันที ที่สินค้าผลิตเสร็จ เพื่อให้ผู้บริโภคมั่นใจในคุณภาพผลิตภัณฑ์เนื้อหมูของซีพีว่าสะอาด ปลอดสาร ปลอดภัย และสามารถตรวจสอบย้อนกลับได้
สำหรับคำแนะนำในการเลือกซื้อเนื้อหมู ผู้บริโภคควรเลือกซื้อเนื้อหมูจากแหล่งที่ไว้ใจได้ จากผู้ประกอบการที่เชื่อถือได้และสามารถ ตรวจสอบย้อนกลับได้ถึงแหล่งที่มาของวัตถุดิบ ซึ่งผู้บริโภคจะมั่นใจได้ว่า ผลิตภัณฑ์ที่เลือกซื้อไปปลอดสารเร่งเนื้อแดง และปลอดภัยจาก ยาปฏิชีวนะและสารตกค้างต่างๆ นอกจากนี้ผู้บริโภคยังสามารถสังเกตสินค้าได้จากตรารับรองจากหน่วยงานราชการ เช่น ตราสัญลักษณ์ "ปศุสัตว์OK" ที่กรมปศุสัตว์ออกให้กับร้านจำหน่ายเนื้อสัตว์ที่ได้มาตรฐานการรับรองจากกรมปศุสัตว์ เพียงเท่านี้คุณก็จะได้เนื้อหมู รวมถึงเนื้อสัตว์ต่างๆ มาบริโภคได้อย่างปลอดภัย