วันที่ 3-4 ธันวาคม 2562 องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) จัดการประชุมเพื่อการศึกษาโลก 2019 หรือ "2019 Forum for World Education" ขึ้นเป็นครั้งแรกที่กรุงปารีส สาธารณรัฐฝรั่งเศส โดยเวทีนี้ได้เชิญบรรดาผู้นำด้านธุรกิจระดับโลกที่ให้ความสำคัญด้านการพัฒนาคนและการศึกษาเข้าร่วมประชุมเพื่อระดมความเห็นในการออกแบบ "รูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า" โดยตั้งเป้าหมายที่จะใช้นวัตกรรมทางการศึกษาเป็นพลังเสริมสร้างอนาคตเศรษฐกิจโลกให้แข็งแกร่ง
ในโอกาสนี้ ประธานอาวุโสเครือเจริญโภคภัณฑ์ ธนินท์ เจียรวนนท์ ได้รับเชิญพร้อมนักธุรกิจและนักการศึกษาชั้นนำในระดับนานาชาติ ให้เข้าร่วมประชุมและรับฟังปาฐกถาพิเศษของนายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งและอดีตประธานบริหารบริษัท อาลีบาบา กรุ๊ป ในหัวข้อ Progress, challenges and opportunities โดยเวทีนี้จะได้ร่วมให้ภาคธุรกิจ และภาคการศึกษา สะท้อนความคิดเห็นหลังการฟังปาฐกถา
นายแจ็ค หม่า ผู้ก่อตั้งอาลีบาบากรุ๊ป กล่าวปาฐกถา Progress, challenges and opportunities ถึงอนาคตการศึกษา โดยกล่าวถึง สถานการณ์ปัจจุบันที่ กว่า 50-60% ของอาชีพในโลกกำลังหายไปอย่างที่เราจะคาดไม่ถึง ดังนั้นคำถามสำคัญคือ การศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร และอะไรที่ลูกหลานของเราต้องกังวล และสิ่งไหนที่เราต้องเตรียมให้พร้อมสำหรับคนรุ่นใหม่ โดยแจ็ค หม่า ได้กล่าวถึงสิ่งสำคัญอย่างแรก คือ 1.ครูเป็นสิ่งสำคัญมากที่จะวางพื้นฐานการศึกษา ต้องไปสอนในโรงเรียนที่ขาดโอกาสมากกว่าจะสอนในโรงเรียนที่มีนักเรียนเก่งแล้ว รวมทั้งอาชีพครูต้องดึงให้คนเก่งเข้ามา มีการสนับสนุนส่งเสริมด้านรายได้ สิ่งสำคัญคือ เด็กจะต้องได้เรียนกับครูที่สร้างแรงบันดาลใจให้พวกเขา ทำให้พวกเขามีความเชื่อมั่น และมั่นใจ 2.โอกาสและเนื้อหาการศึกษาที่ถูกต้อง ซึ่งอนาตตจะเป็นโลกของหุ่นยนต์ และปัญญาประดิษฐ์จะมาทำงานแทนมนุษย์ในแง่ภารกิจหน้าที่ที่เป็นตรรกะ และงานที่คงที่ จึงจำเป็นที่ต้องฝึกให้คนมีความคิดเชิงวิเคราะห์ ดังนั้นถึงเวลาที่จำเป็นต้องปฏิรูประบบการศึกษาตั้งแต่โรงเรียน ครู นักเรียน ระบบการศึกษา ต้องเริ่มส่งเสริมตั้งแต่ระดับครูใหญ่ให้มีประสิทธิภาพ ส่งต่อมายังครูผู้สอนในห้องเรียน และคุณภาพก็จะส่งต่อถึงเด็กในห้องเรียนนั่นเอง และต้องลดความเหลื่อมล้ำเพื่อให้ทุกคนเข้าถึงความรู้ได้
นายแจ็ค หม่า กล่าวต่อว่า สำคัญมากที่อนาคตจะเข้าสู่โลกยุคดิจิทัล หากเครื่องจักรทำงานที่เป็นเหตุผลและตรรกะได้ดีกว่ามนุษย์แล้ว จึงต้องกลับมาคิดถึงเนื้อหาการเรียนการสอนใหม่ อาทิ การสอนให้เด็กรู้จักการทำงานเป็นทีมเวิร์ก สอนให้รู้จักโลกความจริง รู้จักการแก้ปัญหา โดยต้องให้ความสำคัญการเรียนการสอนตั้งแต่เด็กในระดับชั้นอนุบาล ประถม มัธยม รวมทั้งสร้างครูที่ดีมีคุณภาพ นอกจากนี้ต้องเปลี่ยนดัชนีวัดการเรียนรู้ของเด็กไม่ใช่แค่ใช้การทำแต่ข้อสอบ แต่ต้องทำให้เด็กรู้ว่าเขาเรียนหนังสือไปเพื่ออะไรในอนาคต ต้องให้เขารู้เป้าหมายที่ชัดเจน
นายแจ็ค หม่า กล่าวถึงตัวเขาที่เป็นคนที่ไม่หยุดเรียนรู้ และเห็นว่าการเรียนรู้จากสังคมและการทำงานถือเป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุด ดังนั้นการวางการเรียนการสอนต้องเร็ว และให้ความรู้ใหม่ โดยสถานศึกษาต้องเชื่อมโยงกับบริษัท การผลิตนิสิตนักศึกษาต้องสำรวจตลาด ในอนาคตเป็นยุคของบริษัทสตาร์ทอัพ ดังนั้นต้องพิจารณาว่าบริษัทในอนาคตต้องการบุคลากรแบบไหนเพื่อผลิตคนให้สอดคล้องกับตลาด ขณะที่เด็กควรเรียนจบเร็วขึ้น และได้มีโอกาสทำงานพร้อมกับการเรียน เพื่อเข้าใจชีวิตจริง เรียนรู้จากปัญหาจริงๆ และต้องให้อำนาจเด็กรุ่นใหม่ในการตัดสินใจ จึงเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องให้เด็กได้รับโอกาส และเมื่อได้รับโอกาสก็ต้องมีความอดทน
ผู้ก่อตั้งอาลีบาบา ชี้ให้เห็นว่าระบบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัย เคยเป็นคำตอบของการศึกษาที่สร้างหลักประกันให้นักศึกษาที่เรียนจบและคิดว่าเรียนจบแล้วจะไปทำงานมีอาชีพ แต่จากประสบการณ์ของเขาในการบริหารอาลีบาบากรุ๊ป เราได้รับพนักงานที่จบการศึกษาระดับมหาวิทยาลัยเข้ามา แต่สิ่งสำคัญที่องค์กรธุรกิจทำต่อ คือเราได้เทรนและฝึกฝนพวกเขาเหล่านี้ต่ออีกครั้ง ดังนั้นขอให้คนรุ่นใหม่ตระหนักว่าการเรียนระดับอุดมศึกษาไม่ได้เป็นหลักประกันในหน้าที่การงาน อาลีบาบากรุ๊ปไม่ได้จ้างคนที่จบการศึกษาจากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด หรือเอ็มไอทีเพียงเพราะเขาจบจากสถาบันเหล่านั้น แต่เราจ้างบุคลากรที่มีความพร้อมที่จะเรียนรู้ มีความต้องการเปลี่ยนแปลงและสร้างสรรค์ บุคคลากรที่เราจ้างงานคือ คนที่ต้องการเรียนรู้ตลอดชีวิต เราไม่ได้จ้างคนเพียงเพราะเขามีปริญญาหรือมีวุติการศึกษาขั้นสูง เปรียบไปก็เหมือนใบเสร็จที่เราจ่ายค่าเรียนไป เพราะทันทีที่คุณเรียนจบได้รับวุฒิการศึกษา คือ การบอกว่านี่คือจุดเริ่มต้นที่จากนี้คุณต้องต่อสู้เพื่อชีวิตของคุณ
แจ็ค หม่า กล่าวต่อว่า เราต้องการบุคลากรที่มีจิตใจเป็นผู้ใฝ่รู้ รักการศึกษา มีความ School of Life และ School of Society อยู่ในตัวเรา สิ่งสำคัญคือ การเทรนนิ่งหรือฝึกฝนให้คนรุ่นใหม่เหล่านี้ให้เขามีความมั่นใจ และมีชีวิตที่ดีในอนาคต นอกจากนี้สิ่งที่ขาดไม่ได้นอกจากการสอนให้คนรุ่นใหม่เป็นคนที่รักในการเรียนรู้แล้ว ยังต้องสอนให้เขาเรียนรู้ที่จะรักด้วย เราอาจจะรู้ว่าการมีความฉลาดทางสมอง หรือไอคิว และการมีความฉลาดทางอารมณ์ หรืออีคิวนั้น เป็นสิ่งที่จะทำให้เราประสบความสำเร็จ แต่สิ่งสำคัญที่ต้องมีจากนี้ คือ The Q of Love หรือแอลคิว ที่เป็นความฉลาดทางจิตใจ สิ่งนี้จำเป็นอย่างยิ่งในยุคที่สังคมโลก และการทำงานในวันข้างหน้าจะมีหุ่นยนต์ออโตเมชั่น เครื่องจักรเหล่านี้มีเพียงชิปส์ แต่ไม่มีความคิดจิตใจเฉกเช่นมนุษย์ ดังนั้นหัวใจและความรู้สึกนึกคิดของมนุษย์นี่เองที่จะทำให้เราเป็นผู้มีปัญญาญาณ หรือ Wisdom เหนือปัญญาประดิษฐ์ที่แท้จริง
แจ็ค หม่ายังเรียกเสียงปรบมือกึกก้องจากผู้ร่วมฟัง เมื่อเขาเสนอว่าการเรียนการสอนในอนาคตต้องเน้นไปที่ “วิสัยทัศน์ระดับโลก” เช่นเรื่องการเมืองการปกครองแทนที่จะสอนสิ่งที่ซับซ้อน ควรสอนให้เด็กเรียนรู้ถึงความแตกต่าง เพื่อจะได้มีความเคารพต่อโลก เคารพความแตกต่าง เคารพทุกศาสนา เคารพทุกวัฒนธรรม เด็กทุกคนควรได้เรียนสิ่งเหล่านี้ และนี่คือคำตอบของการศึกษาโลก เพื่อให้เด็กได้เข้าใจ เรียนรู้และให้เกียรติผู้อื่น และสำคัญคือ อนาคตจะสอนให้พวกเขามีความสร้างสรรค์ได้อย่างไร มีประสิทธิภาพ และนวัตกรรมได้อย่างไร ดังนั้นวิชาบังคับที่ควรให้เด็กได้เรียน คือ วิชาศิลปะ กีฬา เต้นรำ
“การศึกษาวันนี้ต้องวางแผนนึกถึงผู้คนในวันข้างหน้า ส่วนผู้คนในวันนี้ต้องออกแบบการศึกษาสำหรับอนาคต ผมเริ่มต้นอาชีพจากเป็นครู และหวังว่าอาชีพสุดท้ายคือได้ทำงานร่วมกับพวกคุณ และได้ทำอะไรให้กับการศึกษา ผมต้องการเรียนรู้ ทำงานกับทุกคน และร่วมหาหนทางแก้ปัญหาในอนาคตด้วยกัน”