ครั้งแรกของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโสเครือซี.พี. ถ่ายทอดอัตชีวประวัติ ผ่านหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” รวบรวมทุกประสบการณ์ชีวิตอย่างครบรสทั้งเรื่องธุรกิจ ชีวิต และสุขภาพ พร้อมส่งต่อแนวคิด “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ให้คนรุ่นใหม่ได้เรียนรู้ รายได้จากการจำหน่ายหนังสือมอบการกุศล
วันที่ 6 ตุลาคม 2562 เครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซี.พี.) ร่วมกับ สำนักพิมพ์มติชน จัดงานเปิดตัวหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ณ ห้อง The Portal Ballroom อิมแพ็ค เมืองทองธานี
หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” เป็นหนังสือเล่มแรกและเล่มสำคัญ ที่รวบรวมแนวคิดปรัชญาการทำงาน และเรื่องราวอัตชีวประวัติของ “ธนินท์ เจียรวนนท์” ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไว้ได้อย่างครบถ้วนและสมบูรณ์ที่สุด ถือเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่เล่าเรื่องโดยนักธุรกิจระดับตำนานของไทยที่มีชื่อเสียงเป็นที่ยอมรับในระดับโลก
โดยในงานเปิดตัวหนังสือ มีช่วงพิเศษที่ได้รับความสนใจอย่างมากคือ การจัดงานเวทีทอล์กแห่งปี “Exclusive Talk ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่ง “ธนินท์” ได้มาร่วมพูดคุยกับบรรดานักอ่านและผู้มาร่วมงานมหกรรมหนังสือฯ ดำเนินรายการโดย "หนุ่มเมืองจันท์" สรกล อดุลยานนท์ นักเขียนและคอลัมนิสต์ชื่อดัง
นางสาวคริสมาส ศุภทนต์ รองกรรมการผู้จัดการ บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด ในฐานะบรรณาธิการหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” กล่าวว่า หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” คือ หนึ่งในภารกิจสำคัญ ที่เกิดขึ้นจากความมุ่งมาดปรารถนา (Passion) ของนายธนินท์ เจียรวนนท์ ประธานอาวุโส เครือเจริญโภคภัณฑ์ โดยถ่ายทอดเรื่องราวทั้งหมดจากคำบอกเล่าโดยตรงของประธานอาวุโสเครือซี.พี. ถือเป็นหนังสือที่นำอัตชีวประวัติของตนเองมาถอดเป็นบทเรียนชีวิต บทเรียนธุรกิจ เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้ศึกษาเรียนรู้ โดยเฉพาะแนวคิด “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ซึ่งถือเป็น 1 ในวิธีคิดสู่ความสำเร็จตามแบบฉบับของประธานอาวุโส เครือซี.พี. ทั้งนี้ ได้ใช้เวลาในการสร้างสรรค์และผลิตหนังสือเล่มนี้นานนับ 8 ปี เพื่อถอดบทเรียน และให้ได้มาซึ่งปรัชญา แนวคิด จากประสบการณ์ที่ได้สั่งสมมายาวนาน ผ่านเรื่องราวที่มีทั้งความล้มเหลวและความสำเร็จ เส้นทางชีวิต วิธีคิด และการสร้างธุรกิจ เพื่อให้เป็นบทเรียนและเคล็ดวิชาและแรงบันดาลใจแก่คนรุ่นหลัง โดยเฉพาะนักธุรกิจรุ่นใหม่ หรือ Start up ทั้งนี้ทั้งนี้รายได้จากการจำหน่ายหนังสือจะมอบให้กับการกุศลเพื่อนำไปใช้ในกิจกรรมที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม
สำหรับหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ประกอบด้วย 7 บท 27 ตอน ผ่านเรื่องราวการสร้างธุรกิจตั้งแต่ระดับเล็กจนเติบโตให้ซี.พี.เป็นองค์กรชั้นนำของประเทศและในเวทีโลก จนเป็นหนึ่งในความมหัศจรรย์ของธุรกิจเมืองไทย นับตั้งแต่ บทแรก “เปิดม่าน” ด้วยเรื่อง “ดีใจวันเดียว” ซึ่งเป็นที่มาของชื่อหนังสือเล่มนี้ ที่ถือเป็นเคล็ดวิชาประจำตัวของ "ธนินท์" ที่ยึดถือมาโดยตลอด ส่วนอีก 6 บทที่เหลือประกอบด้วย เมล็ดพันธุ์แห่งชีวิต,ยุทธศาสตร์ซี.พี., พิมพ์เขียวประเทศไทย “สองสูง”, “คน”สร้างธุรกิจ, หลังม่าน และ บทส่งท้าย “วันพรุ่งนี้ของผม”
ในหนังสือจะไขความคิดของ “ธนินท์” ตั้งแต่การบริหารจัดการธุรกิจ แนวคิดการดูแลลูกน้องผู้ใต้บังคับบัญชา การสร้างผู้นำในองค์กร การเรียนรู้จากผู้คนที่มีความสามารถในแขนงต่างๆ มุมมองต่อปัญหาและการรับมือ วิสัยทัศน์ทางธุรกิจที่ต้องมองอนาคตให้ออก ไปจนถึงเรื่องราวส่วนตัวที่เป็นเกร็ดประโยชน์ทั้งการดูแลสุขภาพกายและใจ การรับมือกับความเครียด ชีวิตและครอบครัว ซึ่งบุตร-ธิดา ทั้ง 5 คน ได้เปิดความรู้สึกและสะท้อนความในใจที่มีต่อ “ธนินท์” ในฐานะ “คุณพ่อใจนักสู้” ไว้ได้อย่างลึกซึ้งกินใจ
ปัจจุบัน ธนินท์ ได้ปรับบทบาทตัวเอง ก้าวลงจากตำแหน่งประธานกรรมการบริษัทในเครือ มาดำรงตำแหน่งเป็นประธานอาวุโสเครือซี.พี.มาตั้งแต่ต้นปี 2561 เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้นำรุ่นถัดมาขึ้นสู่ตำแหน่งบริหาร เป็นภาพชัดเจนที่เครือซี.พี.กำลังเดินหน้าเข้าสู่ยุคใหม่ สอดคล้องกับภารกิจสำคัญขณะนี้ ที่ “ธนินท์" ผันตัวไปสู่บทบาทการ "สร้างคน สร้างผู้นำ" ที่จะสานต่อองค์กรซี.พี. ผ่าน"สถาบันผู้นำ เครือเจริญโภคภัณฑ์" ที่ อ.ปากช่อง จ.นครราชสีมา
ทั้งนี้ หนังสือ "ความสำเร็จ..ดีใจได้วันเดียว" จัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์มติชน เปิดจำหน่ายครั้งแรก ณ งานมหกรรมหนังสือระดับชาติครั้งที่ 24 ระหว่างวันที่ 2-13 ตุลาคม 2562 ณ อิมแพ็ค เมืองทองธานี วางจำหน่ายในราคาเล่มละ 295 บาท หรือสั่งซื้อออนไลน์ได้ที่ https://www.matichonbook.com
ไฮไลท์ จากหนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว”
“ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ไล่เรียงให้เห็นภาพตั้งแต่การบุกเบิกสร้างธุรกิจ "ร้านเจริญโภคภัณฑ์" จากสองมือของบรรพบุรุษด้วยความหมั่นเพียร ช่างสังเกต นำเทคโนโลยีมาใช้ให้เกิดคุณภาพ ซึ่ง “ธนินท์” ใช้เวลา 10 ปี แรกของชีวิตการทำงาน ทุ่มเทสร้างรากฐานสำคัญให้ธุรกิจการเกษตรและอาหาร ด้วยการ "คิด หา ทดลอง" เทคโนโลยีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ด้วยหลักคิด “เรื่องใดไม่รู้ยิ่งต้องเจาะลึก” ศึกษาไปให้ถึงที่สุด กระทั่งลงพื้นที่พบปะเกษตรกรเพื่อถ่ายทอดวิธีการที่ค้นคว้ามาเป็นประโยชน์ให้กับทั้งเกษตรกรและองค์กรบริษัท
แนวคิดการทำงานของ “ธนินท์” ที่ย้ำเสมอในหนังสือเล่มนี้คือ การเป็นนักเรียนรู้ สร้างการเปลี่ยนแปลงที่จะเริ่มต้นใหม่ ไม่กลัวงานหนัก และรักที่จะท้าทายเรื่องยาก นำมาสู่ "ความกล้า" ที่จะบุกเบิกพัฒนาสิ่งใหม่ๆ ให้ประเทศ อาทิ ระบบการเลี้ยงไก่รูปแบบใหม่ที่ต้อง "กล้า" ทั้งการลงทุนด้านเทคโนโลยีระดับสูงเพื่อมุ่งสู่คุณภาพ และ "กล้า" ที่จะหยิบยื่นโอกาสให้เกษตรกรไทยมีอาชีพและรายได้ที่เพิ่มขึ้นจนกลายเป็นอุตสาหกรรมที่มีระบบ "ครบวงจร"
ขณะเดียวกัน "การไม่หยุดนิ่ง" คือจุดสำคัญของธุรกิจที่จะเติบใหญ่ แม้จะประสบความสำเร็จในประเทศ แต่ต้องรู้จักที่จะ "กระจายความเสี่ยงในการลงทุน" ไม่ลงทุนในประเทศเดียว แต่ต้องกระจายการลงทุนในหลายประเทศ ไม่คิดแต่จะคุมตลาด เนื่องจากไทยเป็นประเทศเสรีใครก็มีสิทธิ์แข่งกับเราได้
"อย่าคิดว่าเราทำได้แต่ผู้เดียว คนเก่ง ๆ ในโลกมีมาก ฉะนั้น ที่หลายคนเข้าใจว่า ซี.พี.จะผูกขาดตลาดประเทศไทยได้ ไม่ใช่เลย อย่างมากที่สุดที่เราสามารถทำได้ คือ เป็นผู้นำตลาดเท่านั้น แต่ก็มีคู่แข่งอยู่ดี มีเบอร์ 2 เบอร์ 3 และเบอร์อื่น ๆ อีกมากมาย ไม่ใช่ว่าผูกขาดตลาดอยู่คนเดียว บริษัทใหญ่ ๆ ในต่างประเทศทุกวันนี้ก็เข้ามาลงทุนในไทย เรื่องผูกขาดตลาดนี่ ทำไม่ได้อยู่แล้ว" เจ้าสัวเล่าไว้ในหนังสือ
ประธานอาวุโสเครือซี.พี. ยังถ่ายทอดเคล็ดวิชาให้คนรุ่นใหม่ที่สนใจจะทำธุรกิจในระดับนานาชาติมองเห็นแง่มุม "วิธีเลือกทำธุรกิจ" ได้อย่างน่าสนใจไว้ว่า จุดที่จะตัดสินใจว่าจะไปลงทุนที่ไหน ตัวชี้ขาดอยู่ที่ "ตลาด" ที่ต้องพิจารณาว่า ตลาดนั้นมีโอกาสให้เราขยายหรือไม่ จำนวนประชากรมากพอที่จะคุ้มค่ากับการลงทุนหรือไม่ ถ้าตลาดเล็กเกินไป การลงทุนจะไม่คุ้ม ยกเว้นกรณีที่ตลาดนั้นเป็นตลาดที่ติดกับตลาดใหญ่ที่เราลงทุน ก็ถือว่าเป็นผลพลอยได้ เช่น ประเทศเพื่อนบ้านที่มีชายแดนติดกัน
"ในธุรกิจอื่น ๆ ก็เช่นกัน มีผู้เล่นอยู่มากมาย สำหรับธุรกิจอื่น ๆ เราจะทำหรือไม่ขึ้นอยู่กับจังหวะและโอกาส ถ้าศึกษาแล้วคิดว่า เราทำได้ เราถึงจะทำ แต่ถ้าธุรกิจนั้นมีผู้ลงทุนอยู่แล้ว และเขาประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แปลว่าเขามีคนเก่งอยู่แล้ว ไม่ควรจะไปแข่งกับเขา...เพราะว่าในโลกนี้มีธุรกิจอีกมากมายที่ยังไม่มีใครลงทุน และมีช่องว่างสำหรับการลงทุนเสมอ ตัวอย่างเช่น ถ้าผมจะทำเบียร์ ทำไมผมต้องทำที่เมืองไทย ในเมื่อเบียร์สิงห์และเบียร์ช้างเขาทำได้ยอดเยี่ยมอยู่แล้ว ตลาดมีอยู่ทั่วโลก ฉะนั้นถ้าประเทศไหนยังไม่มีคู่แข่งที่แข็งแกร่ง และมีตลาดใหญ่พอ มีโอกาสที่จะเข้าไปได้ เราก็ไปที่นั่น"
อีกหลักใหญ่สำคัญของผู้จะลงมือทำธุรกิจ "เมื่อคิดจะลงทุนแล้ว อย่าคิดทำธุรกิจด้อยพัฒนา" เพราะเมื่อตัดสินใจลงทุนแล้วจะต้องทำให้ดีที่สุดเอาเทคโนโลยีทันสมัยเข้าไปใช้และลงทุนให้ครบทุกขั้นตอนการผลิต คนมักจะคิดว่าเราอยู่ประเทศกำลังพัฒนา คนก็ไม่พร้อม เงินก็ไม่มี เราจะไปสู้เขาได้อย่างไร คิดแบบนี้แพ้ตั้งแต่ตอนคิด
"อย่าไปคิดว่าเราความรู้ไม่ถึง ลองสังเกตดู ทำไมคนใช้คอมพิวเตอร์เป็น คนใช้โทรศัพท์มือถือเป็น นั่นเพราะยิ่งไฮเทค ยิ่งใช้ง่าย ดังนั้นต้องใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยถึงจะสู้เขาได้...นักธุรกิจไทยอย่าจำกัดตัวเอง"
"ความสำเร็จ...ดีใจได้วันเดียว" เป็นปรัชญาอันลุ่มลึกและแยบคายของนักธุรกิจผู้เรียนรู้จากประสบการณ์จริงจนประสบความสำเร็จในระดับโลก กระนั้นทั้งความสำเร็จ และวิกฤติมักอยู่คู่กัน หนึ่งในเรื่องราวสำคัญที่ "ธนินท์" เล่าไว้ในหนังสือเล่มนี้ถึง ความสำเร็จและวิกฤติ ในเรื่องเดียวกัน เพื่อให้คนรุ่นหลังได้รับรู้ ว่า วันนี้สำเร็จ พรุ่งนี้ก็อาจล้มเหลว ความสำเร็จ จึงดีใจได้วันเดียว ซึ่งในประเด็นนี้ได้ถ่ายทอดผ่านเรื่องราวของ "สยามแม็คโคร"
"เมื่อปี 2531 ซี.พี.ได้ร่วมทุนกับบริษัท เอสเอชวี ที่เป็นเจ้าของห้างแมคโคร ก่อตั้งบริษัท สยามแมคโคร จำกัด (มหาชน) ขึ้นมาทำธุรกิจค้าส่งในประเทศไทย สยามแม็คโคร ไม่ใช่ได้มาง่ายๆ ตอนนั้นผมต้องใช้ความพยายามพอสมควร เพราะผู้จัดการใหญ่เขามาบอกว่า รายได้คนไทยยังน้อยเกินไป เขาจะไปทำที่ไต้หวัน ผมจึงต้องบินไปหาประธานบริษัท เอสเอชวี ไปอธิบายให้ท่านเข้าใจว่า ประเทศไทยเหมาะกว่าไต้หวันเสียอีก เพราะรายได้ต่อหัวน้อยกว่าก็จริง แต่คนเรามากกว่าตั้ง 4-5 เท่า ที่ดินก็ถูกกว่า ในที่สุดประธานบริษัท เอสเอชวี ก็เชื่อผม เราจึงได้ร่วมทุนกันเปิดสยามแม็คโครที่ประเทศไทยขึ้นมา ซึ่งกิจการก็ไปได้ดี จนกระทั่งเกิดวิกฤติเศรษฐกิจในประเทศไทย เมื่อ พ.ศ.2540 ที่ทำให้ เครือซี.พี. ต้องเจอกับปัญหาหนัก"
"ธนินท์" เล่าในหนังสือถึงวิธีรับมือวิกฤติใหญ่ครั้งนี้ว่า ต้องตัดสินใจ "ทิ้งของบางส่วนเพื่อไม่ให้เรือล่ม" ด้วยการขายกิจการหลาย ๆ อย่างไป ซึ่งหนึ่งในนั้นคือ "สยามแม็คโคร"
"วันนี้ขายได้ วันหน้าก็ซื้อกลับมาได้" นี่คือ สิ่งที่ผมคิดในวันที่ตัดใจขาย "สยามแม็คโคร"
เขาเล่าว่า แม้จะเคยเจอมรสุมมาหลายลูกแล้ว เคยเจอภาวะค่าเงินบาทลดมาครั้งหนึ่งแล้วเมื่อปี 2527 แต่ต้องยอมรับว่าวิกฤติปี 2540 ซี.พี.ไม่ได้ตั้งตัว
"ไม่ได้เฉลียวใจเลยจริง ๆ ถึงขนาดที่ผมขอวางมือจากธุรกิจหลักที่อยู่ตัวแล้ว และจะดูแค่ธุรกิจที่เราเพิ่งเริ่มได้ไม่
กี่ปี ยังไม่เข้ารูปเข้ารอยเท่านั้น คือ โทรศัพท์และค้าส่งปลีก แต่เมื่อเกิดวิกฤติเศรษฐกิจขึ้นมา แผนที่จะวางมือของผมก็เป็นอันต้องพับไป"
เป็นตัวอย่างวิกฤติที่ "เจ้าสัวธนินท์" ยังมีกรณีศึกษาเล่าไว้ให้ได้ซึมซับประสบการณ์อีกหลายเรื่อง ว่าช่วงวิกฤติเขาตัดสินใจ "ขายทิ้ง" ธุรกิจใดบ้าง เรื่อยไปถึงวิกฤติที่ลุกลามจนทำให้เกิดหนี้ก้อนโตจากบริษัท เทเลคอมเอเชีย
(ทรู คอร์ปอร์เรชั่น ในปัจจุบัน) ที่ต้องขายกิจการอื่น ๆ บางส่วนเพื่อนำเงินมาใช้หนี้
"ช่วงนั้นเครียดมาก ที่ต้องตัดใจขายกิจการที่สร้างมากับมือ แต่เครียดขนาดไหนก็ต้องนอนให้หลับ ให้สมองปลอดโปร่ง ร่างกายมีแรงตื่นขึ้นมาสู้กับปัญหาในเช้าวันรุ่งขึ้น"
และเมื่อมองย้อนกลับไปหลังผ่านวิกฤติหนักมาแล้ว "เจ้าสัวธนินท์" ยังได้เล่าสรุปบทเรียนการตัดสินใจในครั้งนั้นว่า เรื่องไหนแก้ตรงจุด และเรื่องไหนที่เมื่อนึกย้อนไปรู้สึกเสียดาย
หนังสือ “ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว” ยังมีเนื้อหาที่น่าติดตามอีกมากมาย อาทิ เรื่องราวในบท “หลังม่าน” ที่มีเคล็ดลับการดูแลสุขภาพของเจ้าสัว เป็นทีเด็ดง่าย ๆ ที่ใคร ๆ ก็สามารถนำไปทำตามได้ เจ้าสัวเรียกเคล็ดลับนี้ว่า “หลักการ 8-8-8-8 (สี่แปด)” แปดที่ 1 : กิน 80% แปดที่ 2 : นอน 8 ชั่วโมง แปดที่ 3 : เดิน 8,000 ก้าว แปดที่ 4 : ดื่มน้ำให้ได้ 8 แก้ว
ความสำเร็จ ดีใจได้วันเดียว ถ้ามีใจจะก้าวต่อไป ต้องดูแลทั้งร่างกายและจิตใจของตัวเองเพื่อให้มีแรงทำพรุ่งนี้ของเราให้ดีกว่าวันนี้
...ติดตามอ่านกันได้ต่อในหนังสือ "ความสำเร็จ...ดีใจได้วันเดียว" หนังสือทรงคุณค่าที่ถ่ายทอดจากประสบการณ์จริงของนักธุรกิจในตำนาน