การจัดโครงการ “คนไทยรักษ์ หวงแหนป่า” โดย ภาคีเครือข่ายจังหวัดเชียงใหม่ ภาคการศึกษา ภาคประชาสังคม และภาคเอกชนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เพื่อรณรงค์และปลูกจิตสำนึกให้คนไทยหันมาสนใจรักษ์และหวงแหนป่าซึ่งเป็นแหล่งกำเนิดทรัพยากรน้ำรวมทั้งรณรงค์ลดการสร้างหมอกควันและไฟป่า ซึ่งนอกจากการสื่อสารผ่านบทเพลง “หวงแหนป่า” โดยแอ๊ด คาราบาวแล้ว ยังได้เปิดเวทีเสวนา โดย ผู้นำชุมชน ผู้แทนภาครัฐ ภาควิชาการ และภาคเอกชนในหัวข้อ “การปลูกจิตสำนึกการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชน” โดยมีเกษตรกรจาก 25 อำเภอ ในจังหวัดเชียงใหม่ และสื่อมวลชนกว่า 300 คน เข้าร่วมรับฟังเมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ ที่ผ่านมา ณ สนามหน้าศาลากลางจังหวัดเชียงใหม่
โดยการเสวนาในครั้งนี้นายสุพจน์ ริแจ่ม นายกเทศบาลตำบลท่าผา อำเภอแม่แจ่ม จังหวัดเชียงใหม่ ได้นำเสนอรูปแบบการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของอำเภอแม่แจ่ม เป็นโมเดลต้นแบบ ทั้งนี้เนื่องจากมี เกษตรกรกว่า5 หมื่นคนปลูกข้าวโพดเป็นอาชีพหลัก ที่ผ่านมาอำเภอแม่แจ่มมีการเผาป่าและหมอกควันถึงขั้นวิกฤติ ได้จัดทำโครงการนำร่อง “โรงหมักอาหารโค” ใช้วัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร ได้แก่ซังข้าวโพดมาเป็นวัตถุดิบ คาดการณ์ว่าจะใช้ปริมาณ 600 ตัน/ปี โดยได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และ สวทช.ภาคเหนือ รวมทั้งรณรงค์ให้เกษตรกรช่วยทำหน้าที่ดูแลรักษาต้นลำน้ำปิง
นายสุพจน์ ยังได้กล่าวถึงปัญหาการที่เกษตรกรไม่มีเอกสารสิทธิ์ในที่ทำกิน โดยที่อำเภอแม่แจ่มนั้นมีพื้นที่มากกว่า 2 ล้านไร่ แต่มีพื้นที่ที่มีเอกสารสิทธิ์เพียง 1 แสนไร่เศษ ดังนั้นจึงย้ำว่าปัญหาดังกล่าวภาครัฐต้องเข้ามาจัดการอย่างเร่งด่วนเพื่อให้คนสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างสมดุลย์
นอกจากนี้ นายวิโรจน์ หมอกใหม่ รักษาการผู้ใหญ่บ้าน บ้านดอยสันเกี๋ยง อ.แม่แจ่ม ได้กล่าวถึงการแก้ปัญหาการบุกรุกพื้นที่ป่า ว่า คณะกรรมการหมู่บ้านได้รวมตัวกันจัดทำแนวเขตพื้นที่ทำกินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ของชาวบ้านให้ชัดเจน จัดทำแหล่งกักเก็บน้ำเพื่อปลูกพืชทดแทนเป็นอาชีพเสริมให้ชาวบ้าน และเข้ารับการอบรมเการฝึกอาชีพ เช่น การเลี้ยงหมู เลี้ยงไก่ โดยได้รับความช่วยเหลือจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้ และเครือเจริญโภคภัณฑ์
ผศ.ดร.ปุ่น เที่ยงบูรณธรรม จากคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ซึ่งเป็นผู้ที่ได้ลงพื้นที่ทำงานวิจัยในอำเภอแม่แจ่มมาหลายปี ระบุว่า การแก้ปัญหาดังกล่าวต้องกำหนดเป็นวาระแห่งชาติที่ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเข้ามาร่วมแก้ไขอย่างเป็นรูปธรรม เพราะข้าวโพดไม่ใช่ปัญหาของแม่แจ่ม แต่เป็นเรื่องระดับโลกที่เกี่ยวกับห่วงโซ่อุปาทานของอาหาร ต้องอาศัยกระบวนการจัดการทั้งระบบ นอกจากภาครัฐแล้ว ภาคเอกชนก็มีบทบาทและมีศักยภาพ “ปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของบริษัทใดบริษัทหนึ่งแต่ถือว่าเป็นความกล้าหาญที่ซีพีอาสาเข้ามาช่วยแก้ปัญหา การร่วมพูดคุยทำให้เห็นภาพว่าปัญหาที่เกิดขึ้นไม่ใช่เรื่องของภาคเกษตรเพียงอย่างเดียวแต่มันพัวพันไปถึงอย่างอื่นด้วยมันเป็นวาระของโลก สิ่งที่เรากำลังเดินหน้าอยู่นี้คือการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่การผลิต หรือซัพพลายเชน ให้อยู่ได้อย่างยั่งยืน และความจริงใจในการแก้ปัญหานี้สำคัญมากเพราะต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการส่งต่อไปจนถึงรุ่นลูกหลานดังนั้นต้องให้กำลังใจคนที่ลงมือทำ” ผศ.ดร.ปุ่นกล่าวในการเสวนา
ส่วนเครือเจริญโภคภัณฑ์ ในฐานะภาคเอกชน โดยนายอภัยชนม์ วัชรสินธุ์ รองกรรมการผู้จัดการด้านประสานกิจการสัมพันธ์ กล่าวยืนยันว่า เครือฯ ตระหนักถึงความสำคัญของความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อม ได้กำหนดเป็นนโยบายหลักในการดำเนินธุรกิจ ได้ประกาศหลักเกณฑ์การตรวจสอบย้อนกลับแหล่งที่มาของวัตถุดิบในห่วงโซ่การผลิตอย่างเข้มงวดโดยเฉพาะในธุรกิจข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ซึ่งเป็นห่วงโซ่สำคัญในการผลิตอาหารสู่ผู้บริโภคที่ต้องไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมและถูกต้องตามกฎหมาย และเครือฯมีความจริงใจต่อการแก้ไขปัญหาของเกษตรกร โดยขณะนี้กำลังศึกษาหาพืชทางเลือกเข้ามาทดแทนเพื่อลดพื้นที่การทำเกษตรในพื้นที่ป่าและภูเขา ซึ่งเป็นความท้าทายอย่างมากที่จะทำให้เกิดความเหมาะสมและปลูกแล้วได้ผลผลิตที่ดีมีตลาดรองรับโดยได้หยิบยกโมเดลการทำธุรกิจเพื่อสังคม (Social Enterprise )มาใช้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำและพัฒนาคนในทุกมิติ เป็นคำตอบของการที่เกษตรกรจะมีชีวิตที่ดีขึ้น และสามารถอยู่ได้อย่างยั่งยืน