จากการผนึกกำลังร่วมแก้ไขปัญหาภาวะทุพโภชนาการของเด็กไทย ของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือซีพีเอฟ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบท สนับสนุนโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ตลอดจนภาคีเครือข่าย ที่ได้ร่วมกันดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2531 เป็นต้นมาจนถึงปัจจุบันโครงการได้ก้าวหน้าและขยายสู่โรงเรียนลำดับที่ 465 ที่โรงเรียนบ้านโป่ง ตำบล แม่แฝก อำเภอสันทราย จังหวัดเชียงใหม่ ซึ่งเป็นหนึ่งใน50 โรงเรียนเป้าหมายของปี 2558 ที่ทั้งสอง หน่วยงานมุ่งต่อยอดความสำเร็จอย่างต่อเนื่อง
การเลี้ยงไก่ไข่ด้วยสองมือของเด็กๆนี้นับเป็นโครงการที่ช่วยสร้างพลังเชิงบวกทั้งต่อสังคมอย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งไม่เพียงแต่จะช่วยเสริมสร้างกระบวนการเรียนรู้ในการเข้าถึงอาหารแก่เยาวชนไทย หากยังจะช่วยสร้างรากฐานสังคมพึ่งพาตนเองที่เข้มแข็งต่อไป
“ทรงวุฒิ มลิวรรณ” ผู้แทนเลขาธิการคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน กล่าวว่า สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน มีหน้าที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาในระดับพื้นฐานตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย การที่จะให้เยาวชนมีสติปัญญาเฉลียวฉลาดเพื่อเป็นประชากรที่มีคุณภาพจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องได้รับสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย และจากปัญหาการขาดแคลนสารอาหารของเยาวชนในถิ่นทุรกันดารมีความรุนแรงกว่าในพื้นที่อื่นๆสาเหตุสำคัญที่สุดเกิดจากความการขาดแคลนทางอาหาร เนื่องจากการเข้าถึงอาหารของเด็กเหล่านั้นแตกต่างจากเด็กในเมืองที่มีโอกาสเลือกบริโภคอาหารได้อย่างหลากหลายจึงไม่แปลกที่สถิติข้อมูลทางการศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน ปีการศึกษา 2556 พบว่า ยังมีนักเรียนที่มีน้ำหนักต่ำกว่าเกณฑ์อยู่ร้อยละ 16.91 และมีส่วนสูงต่ำกว่าเกณฑ์ร้อยละ 15.32 จากโรงเรียนประถมศึกษาทั้งหมดทุกสังกัด 32,217 โรงเรียน จำนวนนักเรียนรวม 4,934,569 คน
"ในนามของสำนักงานคณะกรรมการการศึกษา ขั้นพื้นฐาน และโรงเรียนที่ได้รับการสนับสนุนทั้ง 50 แห่ง ขอขอบคุณซีพีเอฟ และมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯ ที่ได้ คัดเลือกทุกโรงเรียนเข้าร่วมโครงการใน ปี 2558 นับเป็นโอกาสอันดียิ่งที่ทุกโรงเรียนได้รับมอบโครงการดีๆ จากคณะผู้สนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวันนักเรียน และภาคีความร่วมมือในวันนี้" ทรงวุฒิ กล่าว
ด้าน ทัศนียา ไชยสมบัติ ผู้อำนวยการ โรงเรียนบ้านโป่ง บอกว่า เด็กนักเรียนและคณะครูต่างดีใจที่ได้มีโอกาสรับมอบโครงการที่ดีและเป็นประโยชน์อย่างแท้จริงให้กับเยาวชนและชุมชน ขอขอบคุณผู้ใหญ่ใจดี ทุกคนที่ให้ความสำคัญกับเด็กๆ ที่ยากจน ที่ไม่สามารถบริโภคอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกายได้อย่างเพียงพอ โครงการนี้สามารถเข้ามาช่วยเติมเต็มในสิ่งที่เขาเหล่านั้นขาด ซึ่งเด็กๆไม่เพียงแต่จะมีภาวะทางโภชนาการที่ดีขึ้น ยังทำให้พวกเขาได้รับความรู้ ด้านโภชนาการและด้านการเกษตรแผนใหม่ที่สามารถนำไปใช้ประกอบเป็นอาชีพได้ต่อไปได้
ส่วน ณัฐพงษ์ ไชยปลาด นักเรียนที่ร่วมทำหน้าที่ดูแลการเลี้ยงไก่ไข่ในโครงการฯ ที่อาสาพาไปดูเพื่อนๆ ที่กำลังเลี้ยงไก่ถึงที่โรงเรือนที่ตั้งอยู่หลังโรงเรียนที่รายล้อมไปด้วย แปลงผักสวนครัวทั้งผักกาด ชะอม หรือแม้แต่โรงเพาะเห็ดที่กำลังเติบโตพร้อมให้เก็บผลผลิต น้องณัฐพงษ์บอกว่า เพื่อนๆแต่ละคน จะรับผิดชอบดูแลงานด้านการเกษตรคนละด้าน แต่ทุกคนสามารถเข้าไปเรียนรู้กิจกรรมของกันและกันได้ เพื่อให้มีประสบการณ์อาชีพที่จะติดตัวไปในอนาคต
"ผมรู้สึกสนุกทุกครั้งที่ได้เลี้ยงไก่ เพราะไม่เหมือนเรากำลังทำงาน แต่เหมือนกับ กำลังเรียนรู้นอกห้องเรียน ทั้งเรื่องวิธีการเลี้ยงไก่ เรื่องการให้อาหาร การดูแลความสะอาด การเก็บไข่ไก่ การจดบันทึก ตัวผมได้ทำงานร่วมกับเพื่อนๆ มีความสามัคคีกัน รู้จักแบ่งงานกันทำ ไข่ไก่ที่เหลือจากโครงการอาหารกลางวันจะนำไปขายให้กับชุมชนและรายได้จะนำมาเป็นเงินทุนเพื่อนำไปพัฒนาโรงเรียนของเราด้วย พวกผมจึงตั้งใจเลี้ยงไก่และทำหน้าที่ของพวกเราอย่างเต็มที่" น้องณัฐพงษ์ บอกด้วยใบหน้ายิ้มแย้ม โครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่ออาหารกลางวัน นักเรียน ที่ดำเนินการอย่างต่อเนื่อง ทำให้โครงการนี้เป็นที่ยอมรับว่าสามารถช่วยแก้ปัญหา ภาวะโภชนาการต่ำของเด็กไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม ซึ่งสะท้อนถึงเจตนารมณ์ที่แน่วแน่ ของซีพีเอฟและมูลนิธิพัฒนาชีวิตชนบทฯในการมุ่งสร้างโภชนาการทีดีแก่เยาวชนไทย พวกเขายังมีความรู้ในการเลี้ยงไก่ไข่เป็นอาชีพติดตัวไปด้วย