นับเป็นครั้งที่ 4 สำหรับความสำเร็จในการจัดการแข่งขัน Thailand Robofest Junior 2015 การแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงแชมป์ประเทศไทย โดยความร่วมมือ อำนวยการจัดโดยคณะวิศวกรรมศาสตร์และเทคโนโลยี สถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมกับโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี และเทศบาลนครปากเกร็ด ซึ่งในปีนี้มีเยาวชนให้ความสนใจและเข้าร่วมการแข่งขันกว่า 1,000 คน จาก 110 โรงเรียนทั่วประเทศ รวม 119 ทีม เปิด 27 สนามแข่งขันอย่างยิ่งใหญ่มากกว่าครั้งใดๆ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อ เทิดพระเกียรติเนื่องในวโรกาสสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระชนมายุครบ 60 พรรษา ตลอดจนให้ครูและนักเรียนได้เรียนรู้วิธีการออกแบบหุ่นยนต์ ยกระดับทักษะความสามารถ การใช้เครื่องมือช่าง ประกอบกับความคิดสร้างสรรค์และจินตนาการ ใช้ประโยชน์จากนวัติกรรมและเทคโนโลยีต่อสังคม และที่สำคัญเพื่อให้เยาวชนไทยก้าวไปสู่การแข่งขันในระดับสากล จัดขึ้นระหว่างวันที่ 20 – 21 มิถุนายน 2558 ณ หอประชุมสถาบันการจัดการปัญญาภิวิฒน์ ชั้น 3 ถ.แจ้งวัฒนะ
อาจารย์พรวิทย์ พัชรินทร์ตนะกุล รองอธิการบดีฝ่ายวิชาการ PIM ให้เกียรติเปิดเวทีกล่าวต้อนรับเข้าสู่พิธีการแข่งขันในฐานะเจ้าบ้าน ต่อด้วยประธานพิธี โดย ดร.วิทยา ศรีชมภู ผู้อำนวยการโรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ประธานศูนย์พัฒนาสาระการเรียนรู้เทคโนโลยีทางการศึกษาระดับมัธยมศึกษา จังหวัดนนทบุรี เปิดกรวยกระทงดอกไม้ที่ธูปเทียนแพ และถวายความเคารพพระฉายาลักษณ์ ให้เกียรติกล่าวโอวาท และร่วมมอบรางวัลกับคณะกรรมการหลัก ให้แก่เยาวชน ซึ่งการแข่งขันในครั้งนี้ได้รับการสนับสนุนจากผู้ใหญ่ใจดีทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมาอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี อาทิ สถาบันส่งเสริมการสอนวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน บริษัท Gammaco ประเทศไทย จำกัด บริษัท Innovative Experiment จำกัด และบริษัท จัสมิน อินเตอร์เนต จำกัด โดยเยาวชนที่เข้าร่วมการแข่งขันจะได้รับเหรียญและถ้วยรางวัล แห่งความสำเร็จ ซึ่งผู้ชนะจากประเภทการแข่งขันหุ่นยนต์ทั้ง 8 ประเภท จะได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานจากสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ซึ่งนับเป็นรางวัลเกียรติยศที่น่าภาคภูมิใจเป็นอย่างยิ่ง และสำหรับปีนี้ยังมีถ้วยรางวัลสิ่งประดิษย์จากประเทศอังกฤษ “Association British Inventors and innovators” สำหรับโครงงานหุ่นยนต์เพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิต และอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติ ตอกย้ำความเป็นสุดยอดรางวัลระดับประเทศและระดับสากล สร้างชื่อให้กับเยาวชน โรงเรียน คณาจารย์ผู้สอน ผู้ปกครองได้ยินดีกันถ้วนหน้าในพิธีปิดการแข่งขัน
เมื่อการแข่งขันจบลงมีผู้คว้าชัยชนะได้รับถ้วยพระราชทานฯ จากการแข่งขันหุ่นยนต์ประเภทต่างๆ จำนวน 8 ทีม ถ้วยรางวัลสำหรับโครงงานที่ได้รับคัดเลือกตามประเภทต่างๆ จำนวน 4 ทีม และถ้วยรางวัลเกียรติยศสำหรับโรงเรียนที่ได้แชมป์การประกวดหุ่นยนต์ 3 สมัย จำนวน 1 โรงเรียน
ชนะเลิศการแข่งขันหุ่นยนต์ยุวชนชิงแชมป์ประเทศไทย ได้รับถ้วยรางวัลพระราชทานฯ
ประเภทที่ 1 การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ รายการ The Fast 2015 ได้แก่ ร.ร. สมุทรสาคร
ประเภทที่ 2 การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ รายการ 1-2-1 Sumo ได้แก่ ร.ร. ทานตะวันไตรภาษา
ประเภทที่ 3 การแข่งขันหุ่นยนต์อัตโนมัติ รายการ Hide and Seek ได้แก่ ร.ร. อุตรดิตถ์ 1
ประเภทที่ 4 การแข่งขันหุ่นยนต์กึ่งอัตโนมัติหรือบังคับมือ รายการ Gundam ได้แก่ ร.ร. หนองบัว 4
ประเภทที่ 5 การแข่งขันหุ่นยนต์รายการ Beam : Logic Gate ได้แก่ ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ทีม 8
ประเภทที่ 6 การแข่งขันหุ่นยนต์รายการ Beam : Non – Logic Gate ได้แก่ ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ทีม 11
ประเภทที่ 7 การแข่งขันหุ่นยนต์กึ่งอัตโนมัติ รายการ Robo Thai Fight ได้แก่ ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัยนนทบุรี ทีม 14
ประเภทที่ 8 การแข่งขันหุ่นยนต์รายการ Beam : วงจรพื้นฐาน ได้แก่ ร.ร. บ้านนา นายกพิทยากร
การแข่งขันโครงงานหุ่นยนต์ ได้รับถ้วยรางวัล “Association British Inventors and innovators”
รางวัลชนะเลิศ โครงงานหุ่นยนต์นอติลุส (Nautilus) ร.ร. สวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี
รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 จำนวน 2 รางวัล โครงงานพัดลงอัจฉริยะ 360 องศา ร.ร. อุตรดิตถ์ดรุณี และโครงงานเรือนเพาะเห็ดนางฟ้าอัตโนมัติ ร.ร. ชุมแพศึกษา
รางวัลขวัญใจมหาชน โครงงานสวิตซ์ รีโมทควบคุมด้วยปุ่มกดเดียวสำหรับผู้พิการทางแขนและขา ร.ร. ศึกษาสงเคราะห์ธวัชบุรี
รางวัลการประยุกต์ยอดเยี่ยม โครงงานระบบช่วยรักษาความสะอาดในห้องน้ำ ร.ร. วัดดอนมงคลสันติสุขวิทยา
ปิดท้ายด้วยถ้วยรางวัลเกียรติยศโรงเรียนดีเด่นสำหรับแชมป์ 3 สมัย ที่มีคะแนนสูงสุด เป็นไฮไลท์ความเป็นสุดยอดโรงเรียนที่ให้ความสำคัญกับการพัฒนาต่อยอดนวัติกรรมของเยาวชน ด้วยการทุ่มเทกำลังกายกำลังใจจากคณาอาจารย์สู่นักเรียนในสังกัด ต้องยกให้กับ โรงเรียนสวนกุหลาบวิทยาลัย นนทบุรี ที่ได้คว้าถ้วยรางวัลเกียรติยศประจำปี 2558 นี้ไปครอง อย่างเอกฉันท์
ตลอดระยะเวลาของการแข่งขันเต็มไปด้วยการประลองความคิดฝีมือ ที่เกิดจากความมุ่งมั่นและตั้งใจของนวัตกรตัวน้อยที่เข้าร่วมการแข่งขัน ความรู้บวกทักษะด้านกลศาสตร์ วิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ ถูกกลั่นออกมาเพื่อสรรค์สร้างหุ่นยนต์ของทีมให้คว้าแชมป์ นอกจากบรรยากาศของการแข่งขันที่เข้มข้นเรายังมองเห็นการทำงานร่วมกันเป็นทีม ความสามัคคีในหมู่เยาวชนผู้ที่มีใจรักเปี่ยมด้วยแววตาของการเรียนรู้สิ่งใหม่ๆด้านนวัติกรรม แลกเปลี่ยนเรียนรู้ซึ่งกันละกันอย่างไม่สิ้นสุด ซึ่งนับเป็นเวทีการแข่งขันหุ่นยนต์ที่สามารถผลักดันเยาวชนไปสู่ระดับนานาชาติในก้าวต่อไปอย่างแท้จริง