นอกจากระบบการค้าจะต้องมีมาตรฐานสูงแล้วผู้ประกอบการแฟรนไชส์ไม่ควรละเลยการบริการที่เยี่ยมยอดเพราะนี่คือหัวใจที่จะทำให้ร้านค้าเติบโตได้อย่างยาวนานและยั่งยืน เช่นเดียวกับ “ศยามล วิมลสมบัติ” เจ้าของร้านแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่นที่บริหารงานมานานกว่า 15 ปีแล้ว และยังขยายสาขาออกไปมากถึง 6 สาขา
ศยามล เล่าว่า ก่อนเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งของเซเว่น อีเลฟเว่น เธอและสามีเคยค้าขายข้าวสารมาก่อน นอกจากเหนื่อยแล้วยังไม่คุ้มกับการลงทุนลงแรง เพราะต้องออกไปส่งของเอง ในตอนแรกคิดทำร้านค้าปลีกทั่วไป แต่เพราะอุปสรรคที่ต้องออกไปซื้อของมาขายที่ร้านเอง เลยสนใจเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะนอกจากชื่อเสียง ประสบการณ์ในวงการค้าปลีก และความมั่นคงทางธุรกิจแล้ว ทางเซเว่นฯ จะรับหน้าที่จัดหาสินค้ามาให้เอง ในขณะที่เธอเพียงลงทุนครั้งแรกเท่านั้น ประกอบกับรักงานด้านบริการอยู่แล้ว จึงตัดสินใจซื้อแฟรนไชส์มาบริหาร หลังจากนั้นเพียง 6 เดือน ก็ขยายสาขาที่ 2 ซึ่งภายใน 5 ปีแรก เธอขยายร้านใหม่ไปได้ถึง 4 สาขา จากนั้นอีก 2 ปีให้หลังก็ทยอยเปิดสาขาใหม่อย่างต่อเนื่องในกรุงเทพฯ
“แฟรนไชซีมีสิทธิเลือกทำเลเปิดร้านที่ตนเองพอใจ ซึ่งเราเน้นเปิดตามย่านที่พักอาศัย ต่อมาเมื่อแฟรนไชซีรายใดต้องการเพิ่มรายได้ก็มักจะเลือกขยายสาขาเพิ่มซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ก่อนที่เซเว่น อีเลฟเว่นจะลงทุนสาขาใหม่ทางบริษัทจะถามแฟรนไชซีรายเดิมก่อนทุกครั้งว่าจะเปิดเพิ่มอีกสาขาหรือไม่ หากมีความพร้อมก็สามารถเปิดได้ ซึ่งบางคนอาจจะกังวลเรื่องแย่งลูกค้า แต่จากประสบการณ์ที่เปิดถึง 6 สาขา และอยู่ใกล้กันมาก คือ ปากซอยและกลางซอยเดียวกัน แม้จะเปิดใกล้กันขนาดนี้ ก็พบว่าลูกค้าคนละกลุ่มกัน และลูกค้าจะเข้าร้านใด ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและพึงพอใจในบริการร้านนั้นมากกว่า”
ศยามล บอกต่อว่า นอกจากเธอจะมีใจรักบริการเป็นทุนเดิมแล้ว สิ่งสำคัญของการเป็นผู้ประกอบการร้านแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น คือ ต้องลงมือทำด้วยตนเอง เข้าร้านสม่ำเสมอทุกวัน ทุกสาขา และควรสร้างปฏิสัมพันธ์กับลูกค้าด้วยตนเอง ส่วนหัวใจของการทำธุรกิจ ศยามลยกให้ ‘การบริหารคน’ เป็นเรื่องใหญ่ของการทำแฟรนไชส์ให้ประสบความสำเร็จ
“เราต้องบริหารงานด้วยใจ แต่เราทำทุกอย่างเองไม่ได้ตลอด จึงต้องอาศัยบุคลากร หรือพนักงานเป็นตัวขับเคลื่อนด้วย ซึ่งเรื่องคนเป็นเรื่องที่ต้องใส่ใจเป็นอันดับแรก เราต้องเปิดรับสมัครหน้าร้าน คัดเลือกพนักงานตั้งแต่ผู้จัดการร้าน ผู้ช่วยให้ทำงานแทนเราได้สรรหาแคชเชียร์พูดและขายเก่ง รวมถึงพนักงานทั่วไปในร้านเราต้องดูแลเขาให้ทำงานได้อย่างที่เราต้องการ และมีความสุขที่อยู่กับเรา แต่กว่าจะทำให้เด็กรักเราได้ เราต้องรักเด็กหรือพนักงานของเราก่อน ต้องดูแลใส่ใจความเป็นอยู่ ครอบครัวของเขา ทำให้พนักงานในร้านอยู่กับเราได้นาน เพื่อสร้างทีมงานให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทั้งช่วยทำยอดขาย หรือแบ่งเบาภาระ เช่นอยู่ผลัดดึกแทนเรา ช่วยเหลือเราได้ และเมื่อเขาทำยอดขายได้ตามเป้าหรือมากกว่า เราก็ต้องมีค่าเงินตอบแทนให้เพื่อเป็นกำลังใจการทำงานแก่เขา”
นอกจากจะสร้างงานสร้างอาชีพให้กับพนักงานแล้ว เธอยังเปิดโอกาสให้บุคลากรในร้านมีความก้าวหน้า พัฒนาตัวเองเป็นเจ้าของกิจการอีกด้วย โดยสนับสนุนผู้จัดการสาขาให้เข้าร่วมโครงการแฟรนไชส์พนักงาน ซึ่งตอนนี้ผู้จัดการสาขาคนหนึ่งสามารถเปิดร้านแฟรนไชส์เซเว่นฯ ที่จังหวัดนครสวรรค์ถึง 2 สาขาแล้ว
ไม่เพียงแต่บริหารคนในร้านให้มีศักยภาพเท่านั้น ยังต้องพุ่งความสำคัญไปที่ ‘บริการลูกค้า' เป็นอันดับหนึ่ง แฟรนไชซีรายนี้อธิบายว่า เจ้าของร้านต้องมั่นใจในการบริการของตัวเอง ทั้งต้องมีสินค้าหลากหลายและพร้อมให้บริการตามที่ลูกค้าต้องการ โดยสอบถามทั้งพนักงานและลูกค้าว่า สินค้าที่ให้บริการเพียงพอต่อความต้องการหรือมีข้อบกพร่องหรือไม่ เพื่อนำมาแก้ไขปรับปรุงร้านให้เป็นที่พึงพอใจของลูกค้ามากที่สุด
ศยามล เปิดเผยเคล็ดลับการทำงานให้ประสบความสำเร็จว่า นอกเหนือจากความใส่ใจด้านบริการที่สามารถสร้างยอดขายให้เติบโตแล้ว ร้านสะดวกซื้อที่จะประสบความสำเร็จได้นั้นจำเป็นต้องอยู่ภายใต้มาตรฐานที่ดีด้วยโดยมีระบบบริหารจัดการที่ดี มีเทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อช่วยให้การสั่งซื้อและจัดวางสินค้ามีประสิทธิภาพ สามารถตรวจนับสินค้า ควบคุมการตัดจ่าย และรับส่งสินค้าได้อย่างรอบคอบ รวมทั้งลดค่าใช้จ่ายหรือมีเปอร์เซ็นต์สูญเสียให้น้อยที่สุด อีกทั้งยังต้องนำเสนอโปรโมชั่นใหม่ๆ ให้กับลูกค้าอย่างต่อเนื่อง
“แม้เราจะทุ่มเทให้กับร้านเราเต็มที่ แต่ก็ไม่ใช่การทำงานลำพัง ภายหลังที่เราผ่านการฝึกอบรม ทั้งความรู้ด้านการขาย ตลอดจนรับรู้ระบบสนับสนุนการขายเพื่อนำไปปรับใช้ในร้านแล้ว แต่เมื่อใดที่มีข้อสงสัยหรือมีปัญหา ทีมงานของเซเว่น อีเลฟเว่นก็จะให้คำปรึกษาและดูแลเราเสมอ ทุกครั้งที่มีปัญหาทางบริษัทก็จะช่วยเหลือเราอย่างเต็มที่”
สำหรับผู้ที่ต้องการอาชีพที่มั่นคง ศยามลแนะนำว่าให้ลองสมัครเข้ามาหรือสอบถามคอล เซอร์วิสก่อนตัดสินใจเป็นแฟรนไชซี ส่วนผู้เป็นแฟรนไชซีอยู่แล้ว ขอให้ใช้ใจทำงาน อย่าท้อต่ออุปสรรคต่างๆ และอยากให้มองเป้าหมายระยะไกลว่า ไม่เพียงแค่เงินที่จะได้รับเท่านั้น แต่ธุรกิจนี้ยังเป็นมรดกตกทอดถึงลูกหลานได้ ซึ่งตอนนี้ลูกชายของเธอกำลังให้ความสนใจสมัครเป็นสมาชิกครอบครัวเซเว่น อีเลฟเว่น เพราะคลุกคลี ซึมซับระบบการขายและบริการแบบเซเว่น อีเลฟเว่นมาตั้งแต่เด็ก ทั้งยังติดใจเทคโนโลยีใหม่ๆ จากร้านสะดวกซื้อแบรนด์นี้อีกด้วย
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการแฟรนไชส์มากว่า 25 ปีแล้ว และยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสร้างเจ้าของกิจการร้านค้าปลีกยุคใหม่ ปัจจุบันมีร้านแฟรนไชส์จำนวน 4,669 สาขา คิดเป็น 56% ส่วนร้านบริษัทมีจำนวน 3,721 สาขา คิดเป็น 44% ซึ่งจำนวนร้านที่เป็นแฟรนไชส์เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง
เมื่อแฟรนไชส์ซี่รายใดต้องการเพิ่มรายได้ก็มักจะเลือกขยายสาขาเพิ่มซึ่งเราก็เป็นหนึ่งในนั้น แต่ก่อนที่เซเว่น อีเลฟเว่นจะลงทุนสาขาใหม่ทางบริษัทจะถามแฟรนไชซีรายเดิมก่อนทุกครั้งว่าจะเปิดเพิ่มอีกสาขาหรือไม่ หากมีความพร้อมก็สามารถเปิดได้ ซึ่งบางคนอาจจะกังวลเรื่องแย่งลูกค้า แต่จากประสบการณ์ที่เปิดถึง 6 สาขา และอยู่ใกล้กันมาก คือ ปากซอยและกลางซอยเดียวกัน แม้จะเปิดใกล้กันขนาดนี้ ก็พบว่าลูกค้าคนละกลุ่มกัน และลูกค้าจะเข้าร้านใด ก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและพึงพอใจในบริการร้านนั้นมากกว่า