หากคุณเป็นเพียงลูกจ้าง แต่มีความใฝ่ฝันจะเป็นเจ้าของธุรกิจ ความฝันนั้นจะเป็นจริงได้เมื่อคุณเป็นพนักงานเซเว่น อีเลฟเว่นที่มีความพร้อมและความมุ่งมั่นเต็มเปี่ยม เช่นเดียวกับ “มลุด พรมจารี” เจ้าของร้านแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น ถึง 3 สาขา จากโครงการแฟรนไชส์พนักงาน
บทบาทเจ้าของร้านแฟรนไชส์ เซเว่น อีเลฟเว่นของมลุด พรมจารี สร้างความแปลกใจให้กับวงการธุรกิจร้านค้าสะดวกซื้อพอสมควร เพราะเขาและเพื่อนพนักงานเซเว่น อีเลฟเว่นนับพันคน ได้รับโอกาสสำคัญจากบริษัท ซีพี ออลล์ จำกัด (มหาชน) ให้ใช้เงินลงทุนเพียง 30,000-50,000 บาท ในขณะเริ่มทำครั้งแรก กับสิทธิพิเศษเงินผ่อนชำระเป็นรายเดือน ก็สามารถเป็นผู้ประกอบการเจ้าของร้านตัวจริงได้อย่างง่ายดาย
มลุด เล่าว่าเริ่มต้นจากการเป็นพนักงานในร้านเซเว่นฯ ใช้ความตั้งใจทำงาน ศึกษา เรียนรู้ เชี่ยวชาญจนได้เป็นผู้จัดการร้าน กระทั่งวันหนึ่งเขาฝันไกล ต้องการสร้างอนาคตใหม่ จึงสอบถามเพื่อนพนักงานที่เคยเข้าโครงการแฟรนไชส์พนักงาน ซึ่งประสบความสำเร็จกับเส้นทางเดินใหม่ แต่ถึงอย่างนั้นก็ขอใช้เวลาศึกษารายละเอียดและเตรียมความพร้อมให้กับตัวเองถึง 3 เดือน
“พอได้ทำร้านแรกย่านบางหว้า ก็ทุ่มเทให้ร้านเต็มที่ การเป็นเจ้าของทำให้เราได้บริหารคน ได้รู้จักคนมากขึ้น รายได้เพิ่มขึ้นมาเรื่อยๆ พอเห็นว่าความขยันและตั้งใจของเราได้ส่งผลทั้งยอดขายและการประเมินต่างๆ เราก็ยิ่งขยันทำมากขึ้น จนกระทั่งมีนโยบายให้พนักงานสามารถขยายสาขาที่ 2 ได้ ซึ่งผลการคัดเลือก ทำให้เราติด 1 ใน 9 รายที่ได้รับโอกาสช่วงแรกๆ จึงเปิดอีกหนึ่งแถวๆพรหมวัฒน์ และนอกจากผลตอบแทนเป็นตัวเงิน ผมก็ยังได้รับรางวัลทุกปี เลยได้รับโอกาสให้เปิดสาขาที่ 3 แถวพระรามสองอีกด้วย”
การเป็นพนักงานเซเว่น อีเลฟเว่น ทำให้สนุกกับการแข่งขันกับตัวเองสร้างผลงานให้เป็นที่พึงพอใจ มีความสุขที่ได้เห็นรอยยิ้มของลูกค้า รู้สึกผูกพันกับลูกค้าประจำในชุมชน กลายเป็นความสบายใจในการทำงาน เขาจึงเป็นคนมุ่งมั่นมากขึ้น และเชื่อมั่นว่าเส้นทางเป็นผู้ประกอบการไม่ใช่เรื่องยากสำหรับเขา
มลุดบอกว่า ความถนัดในงานค้าปลีกและประสบการณ์ทำงานนานหลายปีของเขาเปรียบได้กับปริญญาหนึ่งใบ แต่ที่เหนือกว่านั้นคือ การได้ ‘คลุกวงใน’ รู้ซึ้งทุกระบบการทำงาน ทั้งการขาย และการบริการลูกค้า เนื่องจากตลอดชีวิตการทำงานที่ร้าน เขาต้องเข้ารับการอบรมหลายหลักสูตร จึงซึมซับความรู้และพัฒนาตัวเองอย่างต่อเนื่อง
“เพราะบริษัทฯให้โอกาสพนักงานมาเป็นเจ้าของร้านแฟรนไชส์ จึงทำให้ผมมีวันนี้ และบริษัทฯยังให้การช่วยเหลือ รวมถึงสนับสนุนสอนงานหลายๆ ด้าน ให้เรารู้ขั้นตอนกระบวนการบริหารจัดการร้าน มีการอบรมหลักสูตรต่างๆ ก่อนจะก้าวขึ้นมาเป็นผู้จัดการ ตอนผมเริ่มเข้ามาทำงานแรกๆผมเองก็จบแค่ม. 6 แต่ผมเชื่อว่าการอยู่มาก่อน ทำมานาน ทำให้ผมได้มีโอกาสเรียนรู้ระบบงาน รู้ว่าปัญหามันอยู่ตรงไหน มีอะไรบ้าง และสถานการณ์แบบนี้จะแก้ไขได้ยังไง ทำซ้ำจนชำนาญ นั่นเป็นข้อได้เปรียบ”
มลุด เล่าต่อว่า สิ่งที่เขาต้องเรียนรู้เพิ่มเติม คือเรื่องการบริหารคน ซึ่งเป็นเรื่องใหม่ที่ท้าทายชีวิตของเขาอย่างมาก เนื่องจากต้องรับผิดชอบชีวิตคนอื่นและรับภาระมากขึ้น ตั้งแต่รับสมัครและคัดเลือกพนักงานด้วยตัวเองบริหารเงินเดือนพนักงาน ตลอดจนจัดการสวัสดิการและแก้ปัญหาจุกจิกทั้งเรื่องการทำงานและเรื่องครอบครัว
นอกจากนั้น พนักงานยังเป็นอีกหนึ่งเหตุผลสำคัญทำให้เขาต้องขยายสาขาที่ 2 และ 3 เพิ่มขึ้น เนื่องจากมองว่าน้องๆในร้านต้องเติบโตไปพร้อมกันกับเขา เมื่อผู้ช่วยผู้จัดการหรือพนักงานที่มีผลงานดี มีความสามารถต้องการก้าวขึ้นเป็นผู้จัดการร้าน โดยมีความพร้อมและอยากมีรายได้เพิ่ม การเข้าไปอยู่ร้านแห่งใหม่จึงเป็นคำตอบที่เหมาะสมอย่างที่สุด หรือหากใครมีความพร้อมจะเป็นผู้ประกอบการ มลุดก็พร้อมที่จะส่งต่อให้เข้าโครงการแฟรนไชส์พนักงานเช่นเดียวกับเขา
“เรื่องคนเป็นเรื่องใหญ่ ผมคิดว่าร้านที่ไม่ประสบความสำเร็จเพราะเจ้าของร้านไม่สร้างคน และถอดใจ ไม่มีกำลังใจจะทำธุรกิจต่อ หรือคิดว่าจะทำไม่ได้ แต่ผมอยากให้เขาคิดใหม่ว่า ทำไมคนอื่นยังทำได้ อยู่ได้ แล้วทำไมเราจะทำไม่ได้ เพียงแต่เราต้องมีเทคนิคในการพูดคุยกับน้องๆพนักงานในร้าน แต่ละคนร้อยพ่อพันแม่จึงต้องอธิบายอย่างใจเย็น และให้ผลตอบแทนคืนกลับพนักงานอย่างเหมาะสม ให้รางวัลบ้าง เมื่อเราได้มากก็แบ่งให้น้องๆพนักงานบ้าง เพื่อให้เขารักเรา อยู่กับเราได้นานๆ”
ส่วนเทคนิคการครองใจลูกค้าและทำให้ยอดขายเติบโตจนสามารถขยายสาขาได้เรื่อยๆนั้น มลุดเผยเคล็ดลับว่า การขายในร้าน ไม่ใช่แค่ยืนขายหน้าแคชเชียร์เท่านั้น แต่เราต้องรักษามาตรฐานของร้านไว้ซึ่งสามารถตรวจสอบระบบการให้บริการได้ต้องใส่ใจกับรายการโปรโมชั่นใหม่ๆ เคลียร์ลูกค้าหน้าแคชเชียร์ได้เร็ว ทำให้ลูกค้าประทับใจและมั่นใจในคุณภาพสินค้าและบริการ เพื่อให้ลูกค้าติดใจแล้วมาซื้อที่ร้านของเราอย่างต่อเนื่องถึงแม้จะมีแฟรนไชส์ซี่รายอื่นเปิดไม่ห่างกันมาก ลูกค้าคนละกลุ่มกันก็จริง แต่แฟรนไชส์ซี่ก็ต้องใส่ใจในการให้บริการ อย่าทิ้งลูกค้าที่เป็นของเราอย่างเด็ดขาด
สำหรับคนที่สนใจธุรกิจแฟรนไชส์เซเว่น อีเลฟเว่น ถ้าอยากทำต้องมุ่งมั่นที่จะทำตรงนี้จริงๆ และมีความทะเยอทะยาน ไม่ลังเลที่จะกระโจนลงไป ตั้งใจลุยทำงานร้านของตัวเองอย่างเต็มที่ เมื่อทุกคนคิดและทำได้อย่างนั้นจริงๆ ความสำเร็จก็อยู่ไม่ไกลเกินเอื้อม
ซีพี ออลล์ ผู้บริหารเซเว่น อีเลฟเว่น ได้ส่งเสริมให้เกิดผู้ประกอบการแฟรนไชส์มากว่า 25 ปีแล้ว และยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องเพื่อมุ่งสร้างเจ้าของกิจการร้านค้าปลีกยุคใหม่ ปัจจุบันมีร้านบริษัทจำนวน 3,721 สาขา คิดเป็น 44% ร้านแฟรนไชส์จำนวน 4,669 สาขา คิดเป็น 56% ในจำนวนดังกล่าวเป็นร้านแฟรนไชส์พนักงาน จำนวน 1,015 สาขา ซึ่งจำนวนร้านที่เป็นแฟรนไชส์เติบโตอย่างรวดเร็วและต่อเนื่อง