นายอดิเรก ศรีประทักษ์ กรรมการผู้จัดการใหญ่และประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร ด้วยการเสริมสร้างความรู้ ความสามารถ และให้มีโอกาสในการเติบโตด้านอาชีพมาอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเปรียบเหมือนการเพาะเมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพด้านการเกษตรและอาหาร เพื่อเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาวงการเกษตรกรรมและอาหารของไทย ทั้งนี้ บริษัท ได้รับเกียรติจากสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ (PIM) ร่วมมือจัดตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรขึ้น
“ด้วยวิสัยทัศน์ที่จะก้าวสู่ “ครัวของโลก” ซีพีเอฟมุ่งมั่นผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพและปลอดภัย เพื่อร่วมสร้างความมั่นคงทางอาหารให้แก่ประชากรทั่วโลกที่มีกว่า 7 พันล้านคนและมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังนั้น การร่วมกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ก่อตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรขึ้น เพื่อที่จะผลิตบุคลากรรุ่นใหม่ด้านการเกษตรและอาหารที่มีคุณภาพระดับโลก เพื่อรองรับการเติบโตของซีพีเอฟทั้งในประเทศและประเทศอื่นๆ ทั่วโลกในอีก 10-20 ปีข้างหน้า และช่วยขับเคลื่อนในการพัฒนาขีดความสามารถทางด้านการแข่งขันของซีพีเอฟเพื่อก้าวไปสู่บริษัทชั้นนำระดับโลกต่อไป” นายอดิเรกกล่าว
วันที่ 10 มิถุนายนของทุกปี ถือเป็นวันคล้ายวันสถาปนาคณะอุตสาหกรรมเกษตรเป็นวันที่คณะฯ ได้รับการอนุมัติสภาสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ให้จัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2557 ซึ่งมีหลักสูตรการศึกษาของคณะฯ ให้มีการเรียนการสอนที่มีทั้งภาคปฏิบัติควบคู่กับภาคทฤษฎี ตามวิสัยทัศน์ของสถาบันฯ ที่ว่า Creating Professionals by Work-Based Learning โดยตลอด 4 ปีของการศึกษาจะเน้นการเรียนรู้ในภาคปฏิบัติที่มีสัดส่วนร้อยละ 55 ของเวลาการเรียนทั้งหมด ส่วนร้อยละ 45 จะเป็นการเรียนรู้ภาคทฤษฎี นอกจากนี้ นักศึกษาจะได้เรียนรู้จากผู้ชำนาญการในด้านต่างๆ จากซีพีเอฟ และได้เรียนรู้จากการฝึกปฏิบัติงานในสถานที่ทำงานจริงๆ เกี่ยวกับการเลี้ยงสัตว์ การจัดการเทคโนโลยีฟาร์ม การจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ฟาร์มเลี้ยงไก่ และ ฟาร์มหมูของซีพีเอฟ ซึ่งเป็นส่วนสำคัญในการเตรียมความพร้อมให้นักศึกษาสามารถทำงานได้ทันทีเมื่อจบการศึกษา
“ที่ผ่านมา ซีพีเอฟต้องมีการพัฒนาบุคลากรที่รับเข้ามาใหม่ เพื่อให้พนักงานใหม่ได้เรียนรู้และเข้าใจธุรกิจ และการทำงานของบริษัท แต่ผู้ที่จบจากคณะอุตสาหกรรมเกษตรสามารถเข้าทำงานกับซีพีเอฟ หรือบริษัทด้านเกษตรกรรมและอาหารได้ทันที เนื่องจาก นักศึกษาเหล่านี้มีประสบการณ์การทำงานที่หน่วยธุรกิจของซีพีเอฟตั้งแต่ปีแรกจนจบการศึกษา” นายอดิเรกกล่าว
“ที่สำคัญ คณะฯ ยังเชิญวิทยากรมีชื่อเสียงจากมหาวิทยาลัยในต่างประเทศ ที่มีความเชี่ยวชาญด้านเกษตรอุตสาหกรรมมาให้ความรู้และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ให้แก่นักศึกษาและบุคลากรของคณะ โดยในช่วง 2 ปีแรก คณะฯ ได้เชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยไอโอวา (Iowa State University) และ มหาวิทยาลัย อาร์คันซอ (University of Arkansas) และต่อไปจะเชิญวิทยากรจากมหาวิทยาลัยชั้นนำอื่นๆ ในยุโรป ญี่ปุ่น ไต้หวัน มาให้ความรู้กับนักศึกษาอย่างต่อเนื่อง” นายอดิเรกกล่าว
ในปีแรกนี้ มีนักศึกษาเข้าเรียน 51 คนจากจำนวนผู้ที่สนใจสมัครเข้าร่วมคัดเลือกทั้งหมด 400 คนทั่วประเทศ ซึ่งผู้สมัครเหล่านี้ต้องผ่านการสอบข้อเขียน และผ่านการคัดเลือกรอบสองด้วยการฝึกงานจริงที่ศูนย์การเรียนรู้สีคิ้วของซีพีเอฟ ที่จังหวัดนครราชสีมา เพื่อให้ได้นักศึกษาที่มีความสนใจด้านเกษตรกรรม ที่มีความพร้อม และมีคุณสมบัติเหมาะสมที่สุดในการเข้าเรียน
ในช่วง 3 ปีแรกนี้ คณะจะเปิดการเรียนการสอนภาคภาษาไทยก่อน ระหว่าง 3 ปีนี้คณะฯ จะมีการพัฒนาหลักสูตรให้มีความเป็นสากลมากขึ้นและมีความสมบูรณ์มากที่สุด เพื่อเตรียมไปสู่การเปิดหลักสูตรภาคภาษาอังกฤษต่อไป เพื่อเปิดรับนักศึกษาต่างชาติเข้ามาศึกษาคณะนี้ ซึ่งช่วงแรกจะเริ่มรับนักศึกษาจาก 14 ประเทศที่ซีพีเอฟเข้าไปลงทุนก่อน เช่น จีน อินเดีย เวียดนาม ฟิลิปปินส์ รัสเซีย บังคลาเทศ หรือ ปากีสถาน เพื่อให้เยาวชนเหล่านี้ได้กลับไปทำงานด้านนี้ในประเทศตนเอง ซึ่งถือเป็นการผลิตบุคลากรด้านการเกษตรให้กับประเทศต่างๆ ทั่วโลก รวมถึงเป็นรองรับการเติบโตของธุรกิจซีพีเอฟในอนาคตอีกด้วย
ทั้งนี้ การก่อตั้งคณะอุตสาหกรรมเกษตรนี้ ถือเป็นการช่วยยกระดับการศึกษาไทยด้านเกษตรกรรม ที่นับเป็นรากฐานอาชีพของประเทศ ให้กับเยาวชนรุ่นใหม่ ที่เป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศต่อไปในอนาคต ด้วยการร่วมพัฒนาและยกระดับองค์ความรู้ด้านเกษตรกรรมและการผลิตอาหารของประเทศให้ก้าวหน้า และเพิ่มศักยภาพให้กับประเทศไทยในการเตรียมความพร้อมที่จะแข่งขันกับนานาประเทศทั่วโลก