นโยบายสำคัญประการหนึ่งของรัฐบาล "บิ๊กตู่" พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้า คสช. คือ การปราบปรามและป้องกันการคอร์รัปชั่นและทุจริต รวมทั้งแนวทางสร้างจิตสำนึกในเรื่องดังกล่าวของคนในประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาการจัดอันดับความโปร่งใสขององค์กรสากลปรากฏว่าประเทศไทยอยู่ในอันดับค่อนข้างแย่ แต่ขยับดีขึ้นมาในช่วงที่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาบริหารประเทศ
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้าที่ คสช.จะเข้ามาปฏิรูปประเทศ ได้มีกลุ่มบุคคลมองเห็นจุดเสี่ยงที่การทุจริตขยายวงกว้างขึ้น โดยเฉพาะผลสำรวจพบทัศนคติกลุ่มเด็กและเยาวชน ที่ยอมรับได้ถ้ารัฐบาลทุจริตคอร์รัปชั่นแล้วพวกเขาได้รับผลประโยชน์ด้วย
กว่า 2 ปีมาแล้ว ที่ "ชมรมคอรัปชั่น ฉันไม่ขอรับ” มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ได้ร่วมกิจกรรมกับเครือข่ายมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ มีนักศึกษาที่สนใจเป็นสมาชิกชมรมกว่า 100 คน ร่วมกันจัดกิจกรรมหลัก คือการเข้าค่าย การอบรม เพื่อเป็นจุดเริ่มต้นของการแก้ไขทัศนคติหรือค่านิยมเรื่องคอร์รัปชั่น
นายฉัตรชัย พรหมนา อาจารย์ที่ปรึกษา "ชมรมคอรัปชั่น ฉันไม่ขอรับ" มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี บอกเล่าถึงเป้าหมายชมรมว่า นี่คือความต้องการส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่เข้าใจว่าการคอร์รัปชั่นเป็นเรื่องใกล้ตัวที่เห็นกันทุกวัน เช่น การลอกข้อสอบ การโกหก การจอดรถในพื้นที่ห้ามจอด การไม่ปฏิบัติตามกฎจราจร และการทะเลาะกัน ล้วนเป็นการคอร์รัปชั่นที่ส่งผลกระทบทั้งต่อตัวเองและผู้อื่นที่เข้ามาแทรกซึมอยู่ในทุกระบบ จึงเป็นค่านิยมที่อันตราย ส่งผลกระทบต่อการพัฒนาประเทศในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงจึงต้องเริ่มที่คนรุ่นใหม่ โดยเริ่มจากเปลี่ยนตัวเองเป็นอันดับแรก
แต่ในการขับเคลื่อนกิจกรรมของชมรมทั้งหมดก็ยังเห็นว่ากิจกรรมยังไม่มีความต่อเนื่องและไม่ยั่งยืน สาเหตุหนึ่งมาจากขาดงบประมาณสนับสนุนการทำกิจกรรม ดังนั้น จึงเกิดการพูดคุยของ 4 องค์กรหลักที่ทำงานร่วมกันมาตลอด คือสำนักงานโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ หรือยูเอ็นดีพี องค์กรต่อต้านคอร์รัปชั่น ทรูคอฟฟี่ และมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่ร่วมกันหาแนวทางในการสร้างกระแสให้กลุ่มเยาวชนได้ติดตามและมีพื้นที่ในการแสดงความคิดเห็น
จนกระทั่งมาลงตัวที่การเปิดร้านกาแฟ ภายใต้แบรนด์ "คอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ" ขึ้นแห่งแรกของโลกที่มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เพราะส่วนหนึ่งคือร้านกาแฟเป็นวัฒนธรรมใหม่ที่กลุ่มวัยรุ่นให้ความนิยมเข้ามาทำกิจกรรมทั้งการอ่านหนังสือ การพบปะเพื่อนฝูง และทำการบ้านส่งอาจารย์ จึงมาลงตัวที่ร้านกาแฟชื่อฮาร์ดคอดังกล่าว
โดยมีเป้าหมายหลักของการเปิดร้าน คือหวังให้เป็นสภากาแฟสำหรับคนรุ่นใหม่ ที่ต้องการสร้างพื้นที่ทางสังคมได้พบปะ พูดคุย แสดงออกทางความคิดเห็น แลกเปลี่ยน และเป็นพื้นที่ให้สมาชิกชมรมวางแผนทำกิจกรรม ทั้งในมหาวิทยาลัยและลงสู่ชุมชน ในประเด็นทุจริตคอร์รัปชั่น รวมทั้งเปิดร้านกาแฟให้เป็นธุรกิจเพื่อสังคม เพื่อให้ชมรมมีรายได้ในการสานต่อเจตนารมณ์ให้สมาชิกได้มีกิจกรรมต่อเนื่อง
สำหรับแผนงานในปีนี้จะเปิดร้านนำร่อง 2 แห่ง คือ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่จะเปิดตัวอย่างเป็นทางการในเดือนสิงหาคมนี้ และมหาวิทยาลัยขอนแก่น ที่เตรียมเปิดให้บริการเดือนกันยายนเช่นกัน
"ร้านกาแฟคอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ" ถือเป็นธุรกิจเพื่อสังคม ที่จะจัดสรรกำไรจากการขายกาแฟไปทำกิจกรรมต้านคอร์รัปชั่น จึงสามารถเป็นโครงการต่อเนื่อง โดยทรูคอฟฟี่สนับสนุน กระบวนการทางธุรกิจด้านการลงทุน การบริหารจัดการร้าน การคัดเลือกวัตถุดิบ และการชงกาแฟ เป็นต้น สำหรับผู้บริหาร และพนักงานประจำ รวมทั้งพนักงานพาร์ทไทม์เป็นสมาชิกในชมรมที่ต้องผ่านการอบรม พูดคุย ทดสอบความรู้ความเข้าใจในเรื่องคอร์รัปชั่น เพื่อให้ทุกคนมีแนวทางการทำงานไปในทิศทางเดียวกัน" นายฉัตรชัย เล่าถึงโครงสร้างตลอดจนพนักงานที่ต้องมีทัศนคติไปในทิศทางเดียวกัน
ส่วนโลโก้ของร้าน ได้ซ่อนนัยแสดงความหมายในตัวตนเช่นกัน โลโก้ใช้เป็นรูปลูกศรชี้ขึ้นและลง แสดงความหมายและแนวคิดที่เปรียบเหมือนความดี ความไม่ดี ความถูกต้อง ความผิด เป็นสัญลักษณ์ที่เข้าใจและจดจำง่าย เหมาะและตรงกับความต้องการของกลุ่มวัยรุ่น นอกจากนี้ทางร้านได้ใช้เป็นโลโก้ใส่ลงในภาชนะรวมถึงผลิตภัณฑ์ต่างๆ ในร้านด้วย
ขณะเดียวกัน เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้ ส่วนหนึ่งต้องให้มืออาชีพทางด้านธุรกิจเข้ามาให้ความรู้ โดยทรูคอฟฟี่ได้สนับสนุนงบประมาณในการก่อสร้างร้านก่อน เมื่อร้านขายได้กำไรจะทยอยคืนร้อยละ 60 ให้แก่ทรูคอฟฟี่ ส่วนอีกร้อยละ 40 จะนำไปทำกิจกรรมต้านคอร์รัปชั่น หากทยอยคืนจนครบแล้ว นั่นเท่ากับกำไรทั้งหมดจะนำมาทำกิจกรรมได้อย่างเต็มที่ ซึ่งอยู่ระหว่างเตรียมหลักสูตรการเรียนการสอนที่มีเนื้อหาสอดคล้องกับคอร์รัปชั่น
การจุดประกาย โมเดลร้านคอฟฟี่คอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ ได้รับการสนับสนุนจากมหาวิทยาลัย และจาก ผศ.ตรีเนตร สาระพงษ์ รองอธิการบดี ฝ่ายพัฒนานักศึกษา ที่ให้ความสำคัญ และเปิดโอกาสให้มีพื้นที่แลกเปลี่ยนทางความคิด ซึ่งสภากาแฟสำหรับคนรุ่นใหม่ที่นี่ เป็นความต้องการเห็นพลังเข้มแข็งที่เริ่มจากคนรุ่นใหม่ให้เยาวชนรู้เท่าทันร่วมกันสร้างค่านิยมใหม่ของสังคม
ปัจจุบันร้านกาแฟคอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ ตั้งอยู่ในมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ที่อาคารศูนย์เครื่องมือกลาง หรือตึกซีทีบี ข้างอาคารเรียนรวม 5 เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-18.00 น. พร้อมเปิดหน้าเพจให้ติดตามเรื่องราวความเคลื่อนไหวและกิจกรรมในเฟซบุ๊ก "ร้านกาแฟคอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ ม.อุบล" ซึ่งเป็นอีกช่องทางในโลกออนไลน์ที่จะเข้าติดตามและร่วมเป็นหนึ่งในการผลักดันแก้ปัญหาการทุจริตให้สังคมไทยโปร่งใส
"ผมติดตามความเคลื่อนไหวของชมรมคอร์รัปชั่น ฉันไม่ขอรับ มาตลอด เพราะสนใจปัญหาทุจริตคอร์รัปชั่นในประเทศไทยมาตั้งแต่สมัยเรียนในระดับมัธยมศึกษา เมื่อทราบข่าวว่ามหาวิทยาลัยจะเปิดร้านกาแฟคอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ จึงตัดสินใจมาสมัครเป็นสมาชิกของชมรม เมื่อวันเปิดตัววันที่ 8 มิถุนายน ผมรู้สึกประทับใจเพราะมีประเด็นเรื่องคอร์รัปชั่นที่สนใจให้แลกเปลี่ยนกับเพื่อนๆ ที่มีแนวคิดเดียวกันด้วย" นายสุวิทย์ สิงห์สี นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ลูกค้าที่เข้ามาใช้บริการบอกเล่าถึงความประทับใจและมุ่งมั่นในการเปลี่ยนแปลง
นักศึกษาชั้นปีที่ 1 คณะรัฐศาสตร์ ได้พูดถึงบรรยากาศในร้านว่า ไม่ต่างจากร้านกาแฟทั่วไป แต่ภายในร้านแห่งนี้ได้แบ่งเป็นโซน มีทั้งโซนให้พักผ่อน เหมือนกับร้านอื่น โซนสำหรับพูดคุยในการทำกิจกรรมเรื่องคอร์รัปชั่น และโซนสำหรับทำกิจกรรม เช่น งานศิลปะที่มีความหมายเกี่ยวกับคอร์รัปชั่นด้วยเช่นกัน ทำให้มีเพื่อนนักศึกษาที่ให้ความสนใจในประเด็นเดียวกันได้มีพื้นที่สำหรับการพูดคุย
ดังนั้น ร้านกาแฟคอรัป "ฉัน" ไม่ขอรับ แม้เป็นโครงการนำร่องของมหาวิทยาลัยอุบลราชธานีและมหาวิทยาลัยขอนแก่น แต่ความจริงแล้วเป็นมากกว่าร้านกาแฟ เพราะที่นี่คาดหวังให้เป็นพื้นที่เพื่อให้สังคมเกิดการเปลี่ยนแปลง สร้างกระแสการมีส่วนร่วม สร้างอัตลักษณ์ให้คนรุ่นใหม่ หากได้รับผลตอบรับและประสบความสำเร็จ ก็จะกลายเป็นกรณีศึกษาและให้มหาวิทยาลัยอื่นที่สนใจได้นำโมเดลนี้ไปใช้ ซึ่งจะขยายเครือข่ายไปยังมหาวิทยาลัยระดับภูมิภาคอื่นด้วย
ถือเป็นการเปิดพื้นที่สร้างการเรียนรู้และทัศนคติที่ปลูกฝังด้วยมุมมองที่ดีสู่สังคม...และสร้างคนรุ่นใหม่ “โตไปไม่โกง"
ที่มา : คมชัดลึก