ด้วยความตระหนักถึงความมั่นคงของระบบนิเวศ รวมถึงเห็นความสำคัญของความยั่งยืนของชุมชนรอบข้าง ซีพีเอฟจึงมุ่งมั่นพัฒนาและยกระดับฟาร์มสุกรทุกแห่งของซีพีเอฟเป็น ฟาร์มสุกรสีเขียว โดยมีฟาร์มกาญจนบุรี เป็นฟาร์มต้นแบบของกรีนฟาร์มที่ได้ร่วมแบ่งปันสิ่งดีๆ แก่ชุมชนรอบข้างอย่างต่อเนื่อง ตามแนวทางการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม
น.สพ.จตุรงค์ โยธารักษ์ รองกรรมการผู้จัดการ กิจการผลิตสุกร ภาคกลาง บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ กล่าวว่า ด้วยความตระหนักถึงความมั่นคงของระบบนิเวศ และสิ่งแวดล้อม ซีพีเอฟจึงทุ่มเทพัฒนาการบริหารจัดการฟาร์มสุกรของบริษัททุกแห่งทั่วประเทศเป็นฟาร์มสีเขียว โดยมีกระบวนการเลี้ยงที่ทันสมัยที่สามารถจัดการเรื่องกลิ่นและแมลงวัน เน้นการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ ลดก๊าซเรือนกระจกและการใช้พลังงาน รวมถึงการสร้างสภาพแวดล้อมที่ดีต่อการทำงานของเจ้าหน้าที่ เพื่อผลิตสุกรปลอดโรค ปลอดสาร เพื่อการบริโภคที่ปลอดภัย ด้วยกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และลดมลภาวะที่ส่งกระทบต่อความเป็นอยู่ของประชาชนอย่างต่อเนื่อง
นายวิโรจน์ ใจบุญมา ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ กิจการผลิตสุกรภาคตะวันตก ฟาร์มสุกรกาญจนบุรี ตั้งอยู่บนพื้นที่ 306 ไร่ ต.สระลงเรือ อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี มีรูปแบบการจัดการสิ่งแวดล้อมโดยยึดแนวคิด “องค์กรอยู่ได้ ชุมชนอยู่ได้” ฟาร์มจึงคำนึงถึงปัญหาส่วนใหญ่ที่เกิดขึ้นจากการเลี้ยงสุกรได้แก่ กลิ่น แมลงวัน น้ำเสีย โดยการใช้เทคโนโลยีท้องถิ่นระดับโลก เช่น ระบบไบโอแก๊ส และระบบฟอกอากาศเพื่อลดกลิ่นท้ายโรงเรือนเลี้ยงสุกร ร่วมกับการดำเนินงานตามมาตรฐานสากลในการจัดการสิ่งแวดล้อม ISO14001 การจัดการด้านความปลอดภัย อาชีวอนามัยและสิ่งแวดล้อม หรือ SHE (Safety Health & Environment) เพื่อให้เจ้าหน้าที่ทำงานอย่างมีความสุขในสภาพแวดล้อมของฟาร์มที่สวยงามและเป็นระเบียบ การดำเนินงานของฟาร์มไม่ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชนรอบข้าง ปัจจุบัน ฟาร์มกาญจนบุรีจึงเป็นต้นแบบกรีนฟาร์มของบริษัทสำหรับถ่ายทอดความรู้ให้แก่เกษตรกรที่ร่วมโครงการ นักศึกษา และผู้ที่สนใจทั้งคนไทยและต่างชาติ
“ขณะนี้ ฟาร์มกาญจนบุรี อยู่ในระหว่างการปรับปรุงระบบที่เกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมของฟาร์มอย่างต่อเนื่อง อาทิ ระบบฟอกอากาศเพื่อลดกลิ่นจากพัดลมท้ายโรงเรือนเลี้ยงสุกร ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น พัฒนาระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อม ของเสีย น้ำ อากาศ และพลังงาน มีการลดการใช้ทรัพยากรและนำกลับมาใช้ใหม่ ให้เกิดประโยชน์สูงสุด รวมทั้งการปรับทัศนียภาพของฟาร์มให้เหมาะกับการใช้ชีวิตภายในฟาร์มอย่างสมดุล ตามแนวคิด “ฟาร์มสุกรโฉมใหม่ สไตล์รีสอร์ท เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม” นายวิโรจน์กล่าว
นายวิโรจน์กล่าวว่า ระบบการจัดการด้านสิ่งแวดล้อมฟาร์มกาญจนบุรี เริ่มต้นจากโรงเรือนเลี้ยงสุกรแบบปิด หรือระบบ EVAP (Evaporative Cooling System) มีระบบฟอกอากาศจากท้ายโรงเรือน มีส้วมน้ำเพื่อให้สุกรขับถ่ายและรวบรวมน้ำเสียที่ผสมมูลสุกรให้ไหลลงท่อที่ฝังใต้ดินความลึกประมาณ 3-4 เมตร เพื่อป้องกันกลิ่นและแมลงวัน น้ำเสียและมูลสุกรจะถูกพาไปยังบ่อรวมน้ำเสียและปล่อยลงบ่อหมักแบบพลาสติกคลุมบ่อ (Covered Lagoon) เพื่อให้เกิดก๊าซชีวภาพและนำไปเป็นเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อใช้ภายในฟาร์มซึ่งทดแทนการใช้ไฟฟ้าได้ร้อยละ 45 ส่วนกากมูลสุกรจากการหมักนำออกมาตากแห้งบนลานตากตะกอน และน้ำที่ผ่านการบำบัดจากระบบไบโอแก๊ส ผ่านการตกตะกอนจนถึงบ่อสุดท้ายใช้รดต้นไม้ภายในฟาร์ม
นายวิโรจน์กล่าวต่ออีกว่า ฟาร์มกาญจนบุรี เปรียบเสมือนบ้านหลังใหญ่ในชุมชนตำบลสระลงเรือ การดำเนินงานตามแนวทางกรีนฟาร์มจึงควบคู่ไปกับการดำเนินกิจกรรมเพื่อสังคมกับชุมชนรอบฟาร์ม ในรูปแบบของการแบ่งปันสิ่งดีๆให้กับชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ตั้งแต่ การแบ่งปันน้ำจากบ่อบำบัดบ่อสุดท้ายช่วยเกษตรกรไร่อ้อยรอบฟาร์ม 10 กว่ารายรวมพื้นที่ประมาณ 500 ไร่ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนจากภัยแล้ง
นายชำนาญ เพ็ชรปานกัน หนึ่งในเกษตรกรไร่อ้อยที่ขอแบ่งปันน้ำจากฟาร์มมาใช้ในไร่ของตนเองกว่า 60 ไร่เพราะเดือดร้อนจากไม่มีน้ำรดต้นอ้อย กล่าวว่า พื้นที่ไร่อ้อยในแถบนี้อยู่นอกเขตชลประทานในฤดูแล้งจึงไม่มีน้ำรดต้นอ้อย ทำให้บางปีประสบความเสียหายจากอ้อยตาย หลังจากใช้นำ “น้ำปุ๋ย” จากฟาร์มมาใช้มากว่า 5 ปี สิ่งที่คุณชำนาญเห็นความเปลี่ยนแปลง คือ ผลผลิตของอ้อยเพิ่มขึ้นเป็น 15 ตันต่อไร่ จากเดิมทำได้ 6-7 ตันต่อไร่ และลดการใช้ปุ๋ยเคมีลงครึ่งหนึ่งช่วยลดต้นทุนอีกทางหนึ่งด้วย คุณชำนาญตั้งใจจะปรับพื้นที่ปลูกให้สม่ำเสมอ เพื่อให้ผลผลิตเพิ่มถึง 20 ตันต่อไร่เหมือนเพื่อนเกษตรกรข้างเคียงทำได้
นายวิโรจน์ กล่าวว่า นอกจากนี้ ฟาร์มยังนำประสบการณ์จากการเข้าร่วมเวทีระดับประเทศ Thailand 5S Award และได้รับรางวัล Golden Award 2 ปีติดต่อกัน (ปี 2556-2557) มาริเริ่มโครงการ “5ส สู่ บวร” (บวร คือ บ้าน-วัด-โรงเรียน) เพื่อแบ่งปันความรู้เรื่อง 5ส ให้แก่บ้าน วัด และโรงเรียนที่อยู่รอบฟาร์มมาเป็นเวลา 2 ปีแล้ว สำหรับบ้าน ฟาร์มเริ่มจากพนักงานไปใช้กับบ้านเป็นต้นแบบบ้าน 5ส ของชุมชน และกำลังขยายสู่บ้านของผู้นำชุมชน และชาวบ้านที่สนใจต่อไป โดยตั้งเป้าหมายให้ชุมชนรอบฟาร์มกาญจนบุรี เป็นชุมชน 5ส ต่อไป
“เราเห็นว่าระบบ 5ส จะช่วยพัฒนาคุณภาพชีวิตคนจากการสร้างวินัยให้ชุมชน ผ่าน “โครงการวัดสร้างสุข” ฟาร์มเชิญพนักงานจิตอาสา ชาวบ้านในชุมชน และเกษตรกรในโครงการส่งเสริมการเลี้ยงสุกรสุพรรณบุรี และราชบุรี มาร่วมทำกิจกรรม 5ส ที่วัดพรหมนิมิต เพื่อสร้าง “สัปปายะ” (การมีที่พักอาศัยที่เหมาะสมของพระสงฆ์) สำหรับโรงเรียนเมตตาจิตตที่ร่วมโครงการ ฟาร์มได้ถ่ายทอดความรู้ระบบ 5ส ให้กับนักเรียนผ่านโครงการ “โรงเรียนปลอดภัย” เพื่อปลูกฝังความมีระเบียบวินัย และความปลอดภัยจากการเรียนรู้ด้วยตัวเอง โดยสอนให้นักเรียนประเมินความเสี่ยงภายในโรงเรียน และฟาร์มสนับสนุนการปรับปรุงความปลอดภัยภายในโรงเรียนเพื่อลดความเสี่ยงต่างๆ เช่น ระบบไฟฟ้าภายในโรงเรียน และมีแผนที่จะขยายผลโครงการไปอีก 11 วัดและ 9 โรงเรียนในพื้นที่กาญจนบุรีเพิ่มเติม” นายวิโรจน์กล่าว.