แม้กำลังเผชิญกับสถานการณ์ภัยแล้งไม่แตกต่างจากพื้นที่อื่นๆ ในประเทศไทย แต่ วรรณา ทองยิ้ม หนึ่งในเกษตรกรชาวไร่อ้อย และชาวบ้านอีกหลายครอบครัวในพื้นที่อำเภอกระเจา จังหวัดกาญจนบุรี กลับไม่ต้องรู้สึกกังวลต่อปัญหาดังกล่าวเช่นที่ผ่านมา เพราะเกษตรกรเหล่านี้ได้รับการแบ่งปันน้ำที่ผ่านการบำบัดตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนดแล้วจากฟาร์มหมู สีเขียวของบริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ ซีพีเอฟ นำมาใช้เพื่อการทำเกษตรในไร่อ้อยของตนเอง ซึ่งสามารถช่วยบรรเทาปัญหาภาวะขาดแคลนน้ำในระดับหนึ่งมาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว
ฟาร์มสุกรพันธุ์กาญจนบุรี อ.ห้วยกระเจา จ.กาญจนบุรี นับเป็นฟาร์มต้นแบบโครงการฟาร์มสีเขียว หรือกรีนฟาร์มของซีพีเอฟที่แสดงให้เห็นว่าภาคอุตสาหกรรมการเลี้ยงสัตว์สามารถอยู่ร่วมกับชุมชนได้อย่างยั่งยืนตามแนวทางการทำธุรกิจที่เป็นมิตรต่อชุมชนและสิ่งแวดล้อม ด้วยแนวคิด "ธุรกิจสีเขียว"ทำให้ฟาร์มของบริษัทมีการบริหารจัดการทั้งด้านพลังงาน น้ำ ของเสีย รวมถึงอากาศ เพื่อลดการใช้ทรัพยากรรวมถึงการนำทรัพยากรมาใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด ซีพีเอฟได้ให้ความสำคัญตั้งแต่การเลือกสถานที่ตั้งสถานประกอบการทั้งโรงงานและฟาร์มว่าจะต้องไม่อยู่ในแหล่งอนุรักษ์ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ด้วยความตระหนักถึงความมั่นคงของระบบนิเวศ และเห็นความสำคัญของการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและความหลากหลายทางชีวภาพ
ดังนั้น ทุกฟาร์มของซีพีเอฟที่ตั้งกระจายอยู่ทั่วประเทศและมีระบบการบริหารจัดการฟาร์มตามมาตรฐานฟาร์มสีเขียว (Green Farm) ประกอบด้วย 4 มาตรการสำคัญ คือ การสร้างฟาร์มระบบปิด เลี้ยงหมูด้วยโรงเรือนอีแวป การใช้ส้วมน้ำในโรงเรือนหมูอนุบาลและหมูรุ่น การใช้ระบบไบโอแก๊สที่ได้ก๊าซชีวภาพมาปั่นเป็นไฟฟ้าใช้ในฟาร์ม การทำระบบบำบัดน้ำเพื่อนำน้ำไปรดต้นไม้รอบฟาร์ม การนำระบบฟอกอากาศท้าย โรงเรือนมาใช้อย่างได้ผล พร้อมการปรับภูมิทัศน์ภายในฟาร์มให้ดูสวยงาม
ซีพีเอฟ ได้พัฒนาและปรับปรุงกระบวนการเลี้ยงด้วยการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรม นอกจากนี้ยังนำมูลสัตว์มาใช้ประโยชน์ได้อย่างเป็นรูปธรรม โรงงานแห่งนี้จึงไม่เพียงผลิตสุกรปลอดสารเพื่อการบริโภคอย่างปลอดภัยแต่ฟาร์มเลี้ยงสุกรของ ซีพีเอฟยังมุ่งเน้นการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่สำคัญฟาร์มแห่งนี้ยังได้แบ่งปันน้ำปุ๋ยจาก บ่อบำบัดบ่อสุดท้ายที่เป็นน้ำหลังจากการบำบัด ในระบบไบโอแก๊สซึ่งเข้าสู่กระบวนการบำบัด จนสะอาดและได้มาตรฐานตามที่กฎหมายกำหนด แบ่งสรรให้กับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่อ้อยรอบๆ ฟาร์มที่ขอความช่วยเหลือเข้ามา ซึ่งนอกจากช่วยแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำในการทำการเพาะปลูกแล้ว ยังมีส่วนช่วยลดต้นทุนการผลิตให้กับเกษตรกรเหล่านี้และเป็นการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมโดยการนำของเหลือใช้มา Reuse ให้เกิดประโยชน์สูงสุดอีกด้วย ซึ่งวันนี้ได้ถูกต่อยอดสู่ฟาร์มสุกรของบริษัททั้ง 31 แห่ง ให้กลายเป็นกรีนฟาร์ม จนครบทุกฟาร์ม เพื่อยกระดับภาพลักษณ์ ฟาร์มเลี้ยงสัตว์ของซีพีเอฟโดยใช้แนวคิด "การยกรีสอร์ทมาไว้ที่ฟาร์ม"
ระเบียบ ปทุมสูตร กำนันเทศบาลตำบลสระลงเรือ อ. ห้วยกระเจา จ. กาญจนบุรี คือหนึ่งในเสียงสะท้อนจากชาวบ้านในฐานะเกษตรกร ที่ใช้ชีวิตอยู่รอบรั้วฟาร์มกาญจนบุรีว่าที่ผ่านมาชาวชุมชนเห็นถึงความพยายามของซีพีเอฟ ในการพัฒนาให้ฟาร์มแห่งนี้อยู่ร่วมกับชุมชน และไม่ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่ของชาวบ้านซึ่งฟาร์มนี้มีความแตกต่างจากฟาร์มหมูอื่นๆ คือ ทัศนียภาพที่ร่มรื่นจนหลายคนที่ผ่านไปมาไม่คิดว่าเป็นฟาร์มหมู หากแต่คิดว่าเป็นรีสอร์ท
โครงการผลิตแก๊สชุมชนจากมูลสุกรนับเป็นอีกหนึ่งโครงการภายใต้นโยบายฟาร์มสีเขียว ที่ซีพีเอฟร่วมมือกับกระทรวงพลังงาน จัดทำในพื้นที่นำร่อง ต.แพรกหา จ.พัทลุง โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีผลิตแก๊สชีวภาพสู่เกษตรกรรายย่อยให้สามารถผลิตและใช้พลังงานได้อย่างยั่งยืน เพื่อช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านไฟฟ้าของเกษตรกรอย่าง ต่อเนื่อง รวมถึงเป็นการช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งโครงการนี้ซีพีเอฟได้สนับสนุนเกษตรกรที่ร่วมโครงการเลี้ยงสุกรขุนให้นำมูลสุกรเข้าสู่ระบบไบโอแก๊สแบบ Plug Flow ที่สามารถชักกากตะกอนได้ ทำให้ระบบผลิตแก๊สมีประสิทธิภาพสูงช่วยลดปัญหามลพิษและเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกร อีกทั้งยังเหลือแจกจ่ายให้กับชุมชนที่อยู่บริเวณรอบโรงงานและฟาร์มอย่างเกื้อกูล ปัจจุบันมีผู้ใช้ไบโอแก๊สใน ต.แพรกหา แล้วกว่า 1,500 ครัวเรือน
ลุงอั้น-ป้าจิ้น เทพหนู ชาวชุมชน หมู่ 5 ต.แพรกหากล่าวว่า ดีใจมากที่องค์กรต่างๆได้ร่วมกันคิดแก้ปัญหาระหว่างฟาร์มกับชุมชน จนเกิดเป็นโครงการนี้ที่ทำให้ทุกฝ่ายได้ประโยชน์ร่วมกัน ในส่วนของฟาร์มก็ได้พลังงานไฟฟ้าไว้ใช้ช่วยลดต้นทุนการเลี้ยงหมู ส่วนชาวบ้านก็หมดปัญหา เรื่องกลิ่นเหม็นและแมลงรบกวน และยังมีก๊าซหุงต้มไว้ใช้ ลดรายจ่ายได้มากกว่า 350 บาทต่อเดือน เมื่อรวมกันทั้ง 1,500 ครัวเรือน สามารถประหยัดรายจ่ายส่วนนี้ได้มากถึงปีละ 6,300,000 บาท ซึ่งกลายเป็นสวัสดิการให้กับชุมชน
ไม่เพียงการนำไปทำแก๊สชีวภาพเท่านั้น หากมูลสุกรอีกส่วนจะถูกนำไปใช้ต่ออย่างคุ้มค่า คือการทำเป็นปุ๋ยชีวภาพ และได้แจกจ่ายปุ๋ยมูลสุกรดังกล่าวให้กับเกษตรกรทั่วไปที่ต้องการ รวมทั้งมอบให้กับโรงเรียนที่อยู่ในชุมชนรอบรั้วโรงงานและฟาร์มของซีพีเอฟ นำไปเป็นปุ๋ยปลูกผักในโครงการอาหารกลางวันให้กับนักเรียน ที่เข้าร่วมโครงการ "ซีพีเอฟ อิ่ม สุข ปลูกอนาคต"เกียรติศักดิ์ ทัศคร ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านบุสูง จ.ปราจีนบุรี กล่าวถึงโครงการฯ นี้ว่า "โรงเรียนได้เข้าร่วมโครงการ ซีพีเอฟ อิ่มสุข ปลูกอนาคต โดยได้รับการสนับสนุนโครงการปลูกผัก กางมุ้งจากฟาร์มโคกอุดม ซึ่งเป็นฟาร์มของซีพีเอฟที่อยู่ใกล้โรงเรียน โดยอาศัยมูลสุกรจากฟาร์ม มาเป็นปุ๋ยและปรับปรุงดิน ทำให้ผักที่นักเรียนปลูกเติบโตสามารถเก็บเกี่ยวนำมาใช้ประกอบเป็นอาหารกลางวันให้เด็กทุกคนรับประทานได้อย่างเพียงพอ และพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด"
ซีพีเอฟได้แสดงให้เห็นถึงความรับผิดชอบต่อสังคมรอบข้าง โดยไม่ว่าซีพีเอฟจะเข้าไปอยู่ตรงจุดไหนของสังคมไทย สิ่งที่ยึดมั่นเป็นหลักคือการให้ความสำคัญกับการดูแลความสุขของคนในชุมชนและสิ่งแวดล้อมเช่นนี้ตลอดไป ทั้งนี้เพื่อการอยู่ร่วมกันอย่างยั่งยืน.