การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีเป็นไปอย่างรวดเร็ว รุนแรง และต่อเนื่อง ส่งผลกระทบอย่างมหาศาลต่อตลาดแรงงานในอนาคตอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ จึงเป็นทั้งความท้าทายของภาครัฐ เอกชน และสถาบันการศึกษาทั่วโลก ที่ต่างต้องหาแนวทางมาตรการรับมือ และวางแผนเชิงรุกในการสร้างบุคลากรเพื่อให้สอดคล้องกับอนาคต
"การศึกษาแห่งอนาคต" หรือการวางรูปแบบการศึกษาสมัยใหม่ จึงถูกพูดถึงในเวทีประชุมนานาชาติสำคัญระดับโลกหลายเวที ไม่ว่าจะเป็น "World Economic Forum" กระทั่งล่าสุดบนเวที "2019 Forum for World Education"ซึ่งจัดโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) ที่กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส เมื่อปลายปีที่ผ่านมา ถือเป็นเวทีใหญ่ที่ระดมนักการศึกษาชั้นนำของโลก คณบดีจากมหาวิทยาลัยชั้นนำ อดีตรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการหลายประเทศ ไปจนถึงตัวแทนคนรุ่นใหม่ที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน และเหล่านักธุรกิจชั้นนำของโลกมาร่วมเสนอแนวคิดรูปแบบการศึกษาแห่งอนาคตสำหรับทศวรรษหน้า
ปฏิเสธไม่ได้ว่า ภาคธุรกิจและอุตสาหกรรมทั่วโลกตื่นตัวกับการทรานส์ฟอร์มองค์กรไปสู่ยุคที่เทคโนโลยีกำลังจะพัฒนาไปไกลที่สุดนับตั้งแต่ยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา แน่นอนว่าการได้เห็นภาคเอกชนชั้นนำขับเคลื่อนมุมมองด้านการศึกษา ถือเป็นหนึ่งในกลไกกำหนดทิศทางการสร้างบุคลากรรองรับตลาดแรงงานว่าควรจะออกมาในรูปแบบไหน และจะมีผลสะท้อนกลับสู่การออกแบบการศึกษาสำหรับทศวรรษหน้าว่าจะมีหน้าตาเป็นอย่างไร
หนึ่งในองค์กรที่ตระหนักถึงความสำคัญในเรื่องนี้ คือ"เครือเจริญโภคภัณฑ์"ที่ให้ความสำคัญกับการวางรากฐาน "สร้างคน" ผ่านการศึกษา ด้วยแนวคิด"สร้างคนเก่งและคนดี"ซึ่งประธานอาวุโส "ธนินท์ เจียรวนนท์" ได้ร่วมถ่ายทอดแนวคิดแบบฉบับการสร้างคนดีและเก่งไว้ที่เวที 2019 Forum for World Education เช่นกัน
โดยประธานอาวุโสธนินท์ เสนอมุมมองถึงระบบการศึกษาที่ต้องให้ความสำคัญเริ่มตั้งแต่ก้าวแรก คือ "ครู" ที่จะต้องสร้างครูที่เก่ง มีคุณภาพและคุณธรรมเพื่อถ่ายทอดองค์ความรู้กับผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ และเมื่อเรียนรู้แล้ว สิ่งสำคัญคือ "การได้ลงมือทำ" ที่ถือเป็นการเรียนรู้ที่ดีที่สุด รวมทั้งอนาคตของระบบการศึกษาต้องปรับรูปแบบการศึกษาที่คู่ขนานทั้งการเรียนในทางทฤษฎีและให้ความสำคัญกับการปฏิบัติลงมือทำเพื่อสร้างประสบการณ์ชีวิตอย่างสอดคล้องกัน
แนวคิดดังกล่าวเป็นไปตามที่แนวทางของเครือฯให้ความสำคัญในเรื่อง "Work-based Education" ซึ่งได้นำมาพัฒนาและต่อยอดในการวางหลักสูตรและการจัดการเรียนการสอนกับสถาบันการจัดการปัญญาภิวัฒน์ หรือ PIM ในเครือเจริญโภคภัณฑ์จนเป็นแนวทางการผลิตบัณฑิตคุณภาพป้อนสู่ตลาดแรงงานมุมมองการเรียนรู้แบบ WorkBased Education คือการที่สถาบันการศึกษาไม่ใช่แค่การสอนหนังสือ แต่มีหน้าที่พัฒนาคน ผ่านทักษะที่จำเป็นคือ 1.ทักษะอาชีพหรือวิชาชีพ (Professional Skill) 2.ทักษะทางสังคม (Social Skill) รู้จักการสื่อสาร ทำงานเป็นทีม เข้าใจและเห็นใจผู้อื่น มีจิตสาธารณะ เป็นต้น และ 3.ทักษะชีวิต (Life Skill) คือความสามารถในการจัดการกับตัวเอง
"ความรู้ของเรา ประสบการณ์ของเราใช้กับสมัยใหม่ไม่ได้ ยุคก่อนอาจทำได้ แต่ยุคนี้ไม่ใช่แล้ว และกำลังเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ"ประธานอาวุโสเครือซีพีให้มุมมองถึงการเตรียมการด้านการศึกษาแห่งอนาคต
Work-Based Education คือการหาความรู้ผ่านประสบการณ์จากงานที่ทำ โดยมีการสนับสนุนจากสถาบันการศึกษาที่สามารถทำให้ผู้เรียนเข้าใจได้ว่าทั้งหมดที่ได้เรียนมานั้น ในที่สุดจะพบเจอในโลกของการทำงาน เป็นการสังเคราะห์ความรู้กลับเข้ามาสู่ผู้เรียนนั่นเอง
ดังเช่นที่ประธานอาวุโสเครือซีพี เน้นย้ำในหลายเวทีที่ได้มีโอกาสพูดถึงเรื่องการศึกษาว่าต้องปรับรูปแบบและพิจารณาว่า "ตลาดแรงงานต้องการอะไร ศึกษาวิจัยความต้องการในโลกยุคนี้ก่อน ต้องมองความต้องการในระดับโลกไม่ใช่แค่ในประเทศไทย เพราะต่อไปในอนาคตโลกจะไร้ขอบเขต คนไทยไม่จำเป็นต้องทำงานแค่ในประเทศไทยเท่านั้น และขอให้เห็นถึงการศึกษาว่าเป็นเรื่องเรียนรู้ตลอดชีวิต คนรุ่นเก่าก็ต้องใจกว้างและเรียนรู้จากคนรุ่นใหม่ด้วย มอบโอกาสให้คนรุ่นใหม่ได้ทำเรื่องใหม่ๆ"
นอกจากการจัดระบบการศึกษาที่สอดคล้องกับความต้องการของตลาดและรองรับยุคสมัยใหม่ที่เปลี่ยนผ่านแล้ว ประการสำคัญที่เครือฯมุ่งเน้นมาตลอดหลายทศวรรษ คือ "การลดความเหลื่อมล้ำทางการศึกษา" ซึ่งเครือฯมีโครงการ"ทุนซีพี" มอบทุนการศึกษาให้นิสิตนักศึกษาที่เรียนดีแต่ขาดแคลนทุนทรัพย์จากมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ ถือเป็นทุนการศึกษาของภาคเอกชนที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานที่สุดทุนหนึ่งของประเทศไทย โดยตั้งเป้าเพื่อช่วยพัฒนาเยาวชนของชาติ นักเรียน นิสิต นักศึกษาที่มีความประพฤติดี เรียนดี มีความมุ่งมั่น และมีความเป็นผู้นำ แต่ขาดแคลนทุนทรัพย์ ให้มีทุนทรัพย์เพียงพอในการศึกษา จนสำเร็จการศึกษา
พร้อมทั้งจัดให้ได้รับการฝึกอบรม การทำโครงการต่างๆ การฝึกประสบการณ์ และการพัฒนาความสามารถด้านภาษาอังกฤษ อันจะมีผลให้ผู้รับทุนการศึกษา ประสบความสำเร็จทั้งในด้านการเรียน และการสร้างเสริมทักษะที่จำเป็นต่อการพัฒนาตนเอง สังคม และประเทศชาติ ในอนาคต
นอกจากนี้ เครือซีพียังให้ความสำคัญกับการพัฒนาคนเพื่อปูทางไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืน ผ่านโครงการสานอนาคตการศึกษาคอนเน็กซ์ อีดี (CONNEXT ED) ที่ภาครัฐภาคประชาสังคม และภาคเอกชน ได้ผนึกกำลังสร้างวัฒนธรรมการมีส่วนร่วมด้านการศึกษาโดยนายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหารเครือฯเป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการขับเคลื่อนให้เกิดโครงการสานอนาคตการศึกษา คอนเน็กซ์ อีดีที่ปัจจุบันมีเครือข่ายพันธมิตรรวม33 องค์กร ซึ่งภาคเอกชนได้สนับสนุนทั้งด้านงบประมาณ องค์ความรู้และพนักงานจิตอาสาเพื่อทำหน้าที่ผู้นำรุ่นใหม่ (School Partner) ลงพื้นที่ปฏิบัติงานจริงและร่วมผลักดันยุทธศาสตร์การดำเนินงานไปสู่โรงเรียนประชารัฐทั่วประเทศ
เหล่านี้เป็นแก่นสำคัญที่เครือเจริญโภคภัณฑ์ตระหนักถึงความสำคัญด้านการศึกษา พร้อมส่งต่อคุณค่าสร้างคุณธรรมที่ต้องทำคู่ขนานไปกับเทคโนโลยี เพราะเชื่อมั่นว่าระบบการศึกษาที่ดีจะต้องปลูกฝังสิ่งที่เรียกว่า "คุณค่า" แล้วนำคุณค่านี้ไปใช้ให้เกิดประโยชน์ต่อคนทั้งโลก ต่อครอบครัว หรือตัวเองเป็นสำคัญ