ที่มา : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 5 / 2561
นับตั้งแต่วันที่ตกหลุมรักการเที่ยวแบบฉายเดี่ยวแบ็กแพ็กเมื่อ 5 ปีก่อน ถึงวันนี้ ปั้น-จิรภัทร พัวพิพัฒน์ หนุ่มนักเดินทางเจ้าของเพจ The Walking Backpack ที่มีคนติดตามกว่า 2 แสนไลก์ ก็แบกเป้พร้อมกล้องคู่ใจออกตะลุยมาแล้วค่อนโลกเกือบ 50 ประเทศ ซึ่ง ‘บัวบาน’ ฉบับนี้ก็มีโอกาสดีได้ออกท่องโลกไปพร้อมกับเขา และเรียนรู้แนวคิดท่องเที่ยวยั่งยืนผ่านมุมมองของนักเดินทางที่ยึดหลัก ‘เปิดรับทุกความคิดที่โลกนี้มี’
เที่ยวคนเดียวก็ได้นี่... สบายดีด้วย
จากเรื่องเล่าย้อนวัยเด็กทำให้พบว่าความรักในการเดินทางของหนุ่มปั้น มีต้นทางมาจากครอบครัวของเขานั่นเองที่เป็นฝ่ายพาเที่ยวในวันหยุดทุกเทศกาล ส่งผลให้เป็นคนที่ชอบผจญภัยมาตั้งแต่เด็ก หากแต่จุดเปลี่ยนสำคัญที่สุดเกิดขึ้นตอนเรียนมหาวิทยาลัยปี 2 ที่สิงคโปร์ การไปเที่ยวคนเดียวครั้งแรกในชีวิตตามคำแนะนำของรุ่นน้องได้เปิดโลกของการเดินทางมุมใหม่ที่ไม่ใช่แค่ติดใจ หากยังกลายเป็นรูปแบบการเที่ยวเฉพาะตัวแบบแบกเป้ลุยเดี่ยวเที่ยวคนเดียวมาถึงวันนี้
“การเที่ยวครั้งนั้นทำให้ผมรู้สึกว่าโลกของผมเปลี่ยนไปเยอะมาก ได้เจอเพื่อนแบ็กแพ็กเกอร์ ซึ่งทุกคนมาจากแต่ละที่ในโลกแล้วก็มาเป็นเพื่อนกัน แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เป็นครั้งแรกที่ผมได้เรียนรู้ว่า เฮ้ย มันมีสังคมแบบนี้อยู่ด้วย และการเดินทางคนเดียวก็ไม่ได้ยากขนาดนั้น แค่นั่งรถออกจากหอพัก มาต่อเรือ ใช้เวลา 4-5 ชั่วโมง ก็ถึงเกาะเตียวมัน ซึ่งมีชื่อเสียงด้านเป็นแหล่งดำน้ำที่สวยที่สุด”
จากจุดเริ่มต้นแรกทำให้เกิดการออกเดินทางคนเดียวตามมาทุกครั้งหลังปิดเทอม เพื่อเรียนรู้โลกกว้าง ทำความรู้จักผู้คนใหม่ๆ พร้อมถ่ายรูปสวยๆ และการเดินทางก็มีรูปแบบเฉพาะตัวที่ชัดเจนขึ้น “ผมสนใจทุกเรื่องตั้งแต่สังคม วัฒนธรรม อาหาร ความเป็นอยู่ การใช้ชีวิต ทุกที่ที่ผมไปก็จะมีเรื่องน่าสนใจต่างกันไป แต่ที่ผมชอบหลักๆ เลยคือธรรมชาติ ทุกปีผมจะไปปีนภูเขาสูงหนึ่งครั้ง แล้วก็ไปดำน้ำหรือไปทะเลที่อยากไปหนึ่งครั้ง
“ผมเชื่อว่าพฤติกรรมการเป็นนักเดินทางและมนุษย์โลกที่ดี ก็คือต้องไม่เบียดเบียนธรรมชาติ ต้องดูแลรักษาธรรมชาติของที่นั่น และสิ่งหนึ่งที่เป็นหลักที่ผมใช้ก็คือ เวลาเดินทางไปไหนอย่าไปตัดสินเขาด้วยมาตรฐานของเรา ต้องเข้าใจว่าวัฒนธรรมของแต่ละประเทศ เราไม่สามารถเอาตัวเองมาเป็นบรรทัดฐานได้ ผมเดินทางเยอะจนมีหนึ่งเรื่องที่ผมเข้าใจ แล้วเก็บไปเป็นหลักในการใช้ชีวิตก็คือ โลกนี้มันไม่มีอะไรที่มันขาว-ดำ ถูก-ผิด 100% การเดินทางสอนให้ผมเปิดรับทุกความคิดที่โลกนี้มีอยู่ แล้วก็เก็บเอาสิ่งที่ดีที่เราเรียนรู้ในแต่ละที่มาปรับใช้ในสิ่งที่คิดว่าเหมาะสมกับตัวเรา แล้วก็ใช้ชีวิตเป็นคนที่มีความสุข”
ท่องเที่ยวต้องยั่งยืนทั้งสิ่งแวดล้อมและคน
“การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืนตามความเข้าใจของผม ประกอบไปด้วย 2 อย่าง คือ ความยั่งยืนทางสิ่งแวดล้อม คือไปเที่ยวอย่างไรไม่ให้กระทบสภาพธรรมชาติ ไม่ทำให้ธรรมชาติที่นั่นเสียหาย ส่วนเรื่องที่สอง คือความยั่งยืนในเรื่องของสังคมหรือมนุษย์ ไปเที่ยวอย่างไรไม่ทำให้วิถีชีวิตของชาวบ้านเขาเปลี่ยนไป ไม่ใช่ว่าสมัยก่อนเขาปลูกไร่ปลูกชา พอไปถึงแล้วเอาเงินไปเทๆ ทุกคนมาเป็นพนักงานรีสอร์ตหมด อันนี้ก็จะไม่ยั่งยืน ซึ่งถ้าจะพูดถึงความพยายามที่จะทำให้การท่องเที่ยวเป็นเรื่องยั่งยืน ในมุมของนักท่องเที่ยวผมว่าเราก็ทำได้ระดับหนึ่งนะครับ เช่น เริ่มจากการที่เราต้องรู้ว่าอะไรถูกต้อง อะไรไม่ถูกต้อง มีจิตสำนึก ไม่สนับสนุนการเบียดเบียนทั้งธรรมชาติและชาวบ้าน ไม่พยายามเอาอะไรจากตรงนั้นกลับมา ห้ามทิ้งขยะ หรือทำลายสภาพแวดล้อม แต่ก็ยังมีอีกหลายอย่างที่เป็นเรื่องของแต่ละประเทศที่เขาจัดการอย่างไรด้วย มีส่วนร่วมคนละครึ่งทางครับ”
จากจำนวนกว่า 30 ประเทศที่หนุ่มปั้นเคยไปเยือนมา เมื่อขอให้เขายกตัวอย่างสถานที่ท่องเที่ยวที่มีการจัดการที่ดีจนสร้างความประทับใจ หนุ่มนักเดินทางขอยกนิ้วให้กับที่นี่
“ตอนผมไปเที่ยวยุโรป มีเมืองหนึ่งทางใต้เทือกเขาแอลป์ ชื่อว่า Chamonix (ชาโมนี) เป็นศูนย์กลางของการปีนภูเขาน้ำแข็งมาเป็นพันปี ที่นี่มีการจัดการท่องเที่ยวทางธรรมชาติที่ดีมากๆ เลย เขาจัดโซนเลยว่าตรงนี้เป็นโซนนักท่องเที่ยว โซนที่ยังทำไร่ทำฟาร์มก็ห่างออกไป และไม่มีคนขับรถขึ้นไป ทุกคนนั่งรถไฟสายที่เชื่อมจากเมืองลียง (ฝรั่งเศส) ไปลงที่ชาโมนี พอไปถึงปุ๊บเขาก็จะจัดการชัดเจนเลยว่าแคมป์นี้กางเต็นท์ได้ 3 คน พอไซต์นี้เต็มก็ปิด ต้องไปพักที่อื่น แล้วการจะขึ้นไปปีนเขา นอกจากซื้อตั๋วแล้วยังต้องผ่านระบบการรับรองว่าต้องมีความรู้ มีอุปกรณ์ เตรียมการเรื่องความปลอดภัยมากพอ และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือจุดให้บริการนักท่องเที่ยว (Information Center) จะมีอยู่ 10-20 เคาน์เตอร์ เพื่อให้ความรู้ทุกคนว่านี่คือสิ่งที่คุณทำได้และนี่คือสิ่งที่คุณทำไม่ได้นะ มีคู่มืออย่างกับไปเรียนหนังสือ บอกทุกอย่างละเอียดและเป็นระบบระเบียบมากๆ เพราะฉะนั้นนักท่องเที่ยวทุกคนก็จะเต็มไปด้วยความรู้และพร้อมมาก
“ผมว่าสิ่งสำคัญในการท่องเที่ยวเชิงยั่งยืนคือการให้ความรู้คน ซึ่งผมคิดว่าเมืองไทยเราทำได้ค่อนข้างดีมากเลยนะครับถ้าเทียบกับที่อื่นในโลก ตอนนี้เมืองไทยเรามีโปรแกรมการท่องเที่ยวอย่างการไปใช้ชีวิตเรียนรู้กับชาวไร่ ชาวนา ชาวประมง ผมเคยไปจังหวัดสุราษฎร์ธานี ไปพักอยู่กับคุณลุงที่เป็นเจ้าของแพหอยแมลงภู่ ไปลงเรือช่วยคุณลุงทำประมง เขาสอนเราว่ากินหอยแมลงภู่ได้นะ แต่ต้องเอาปะการังลงไปปลูกเพื่อสัตว์น้ำจะได้โตทดแทนกันได้ ไม่ใช่จับมากินอย่างเดียว เป็นช่วงเวลาที่ผมชอบและประทับใจมากๆ เพราะได้เรียนรู้ชีวิตจริงๆ และเราไม่ได้ไปเปลี่ยนชีวิตคุณลุงให้หยุดการเป็นชาวประมงแล้วมาเป็นไกด์ทัวร์ เขาก็ยังเป็นชาวประมง แต่ในขณะเดียวกันการท่องเที่ยวก็เข้าไปช่วยเพิ่มรายได้ให้ชีวิตเขา หรืออย่างตอนนั้นผมไปบำเพ็ญประโยชน์สอนหนังสือให้ชาวเขา หมู่บ้านกะเหรี่ยงที่เชียงราย ก็ได้เห็นว่าชาวเขาที่นั่นก็ยังเป็นชาวไร่ ชาวนา ทำสวนอยู่ ไม่ได้เปลี่ยนอาชีพเพื่อมาหานักท่องเที่ยว ผมว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนมันต้องเป็นเรื่องที่ชาวบ้านมีอาชีพนี้อยู่แล้ว และพยายามเอาเรื่องการท่องเที่ยวมาเพิ่มเติมให้ไปด้วยกันได้ สิ่งที่สำคัญที่สุดก็คือการให้ความรู้นักท่องเที่ยว สร้างสตอรี่ขึ้นมาให้คนรู้ว่าชีวิตเขาเป็นแบบนี้นะ คนมาก็จะชอบ แล้วก็จะนำไปเผยแพร่ต่อไป”
นิยามการเดินทางในแบบของ ‘ปั้น The Walking Backpack’
“การเดินทางสำหรับผมก็คือ การเรียนรู้สถานที่ วัฒนธรรม แล้วก็วิถีชีวิต ดังนั้น ถ้ามีโอกาส ทุกคนก็ควรจะออกไปเรียนรู้นะครับว่าคนที่เขาใช้ชีวิตอยู่ที่อื่นเขาไม่เหมือนเราอย่างไร เป็นเรื่องที่น่าสนใจมาก เพราะจะทำให้โลกเรากว้างขึ้น แล้วก็ทำให้เราเก่งมากขึ้น ฉลาดมากขึ้น แต่ในขณะเดียวคนทุกคนบนโลกที่มีเป็นพันๆ ล้านคน ถ้าทุกคนเดินทางพร้อมกัน โลกก็อาจจะรองรับไม่ไหว เราจึงต้องเดินทางด้วยมายด์เซตที่ว่า... เที่ยวอย่างไรไม่ให้โลกแย่ลง ไม่เบียดเบียนโลก ไม่เบียดเบียนธรรมชาติ และไม่เบียดเบียดคนที่เราจะเดินทางไปเจอ ถ้าเราทำแบบนี้ได้เราก็จะเป็นคนที่เก่งขึ้น มีความรู้มากขึ้น ในขณะเดียวกันโลกก็จะเป็นที่ที่ดียิ่งขึ้น
“สำหรับจุดหมายปีนี้คือ... ยังไม่มีแพลนล่วงหน้า (หัวเราะ) การเดินทางของผมก็คือใช้ชีวิตอยู่กับช่วงเวลานั้น อะไรที่เป็นโอกาสเดินเข้ามาก็เก็บมันไว้ แล้วก็ตอบสนองกับทุกสถานการณ์ไปเรื่อยๆ ทำทุกวันให้ดีที่สุด ผมเป็นคนโชคดีที่สามารถเปลี่ยนการเดินทางให้เป็นงานเสริมได้ การเดินทางไปเที่ยวก็จะมีการเล่าเรื่องผ่านวิดีโอ เล่าเรื่องผ่านตัวหนังสือ
ปีนี้ก็อาจจะค้นหาต่อไปว่าการเดินทางกับการเล่าเรื่องจะออกมาในรูปแบบไหน ผมคิดเสมอว่าการเดินทางเป็นวิธีการเติมแบตฯ เติมพลังชีวิต เติมพลังใจให้ชีวิตเดินต่อไปเรื่อยๆ”
ABOUT HIM
การศึกษา : คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขา Materials Science และ Engineering มหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (National University of Singapore หรือ NUS)
งานประจำ : เป็นวิศวกรด้านพัสดุดีไซน์ (Materials Engineering) ที่บริษัท Micron Technologies ประเทศสิงคโปร์
งานอดิเรก : เป็นนักเดินทางที่ถ่ายทอดเรื่องราวและประสบการณ์ท่องโลกผ่านแฟนเพจ The Walking Backpack
ผลงาน : เขียนหนังสือ 2 เล่ม ‘The Walking Backpack ออกเดินแล้ว อย่าหันหลังกลับ’ และ ‘The Walking Backpack ลากคุณชายไปอินเดีย’ มีรายการทีวี The Walking Backpack : Road Trip Series ออกอากาศช่อง Mono 29 และรีรันที่ seeme.me
ติดตามต่อที่ : www.facebook.com/TheWalkingBackpack/
Instagram : @punpuapipat