ที่มา : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 5 / 2561
ทั้งการเดินทางท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชีวิตผู้คนทำให้ได้เห็นความไม่เท่ากันในชุมชนต่างถิ่น ประกอบกับทำงานเดิมที่เอื้อประโยชน์เฉพาะคนกลุ่มเล็ก บ่มเพาะแนวความคิดที่ต้องการทำงานด้านความยั่งยืนลงในหัวใจของคนหนุ่มรุ่นใหม่วัยต้น 20 กระทั่งนำไปสู่แผนชีวิตฉบับใหม่ที่นำพาชีวิตของ ไผ-สมศักดิ์ บุญคำ Founder & CEO แห่ง Local Alike สตาร์ทอัพด้านการท่องเที่ยว มาอยู่ตรงนี้ในวันนี้
และ ‘บัวบาน’ ก็มีโอกาสได้คุยกับเขาคนนี้ในวัย 34 ปี ถึงเส้นทางที่ผ่านมา รวมถึงความสำเร็จที่ผ่านการพิสูจน์แล้วว่าจากจุดเริ่มต้นธุรกิจเพื่อสังคม (Social Business) ที่เกิดจากความต้องการจะเป็นตัวกลางเชื่อมการท่องเที่ยวจากชุมชนสู่นักท่องเที่ยวที่เห็นความสำคัญของเจ้าของทรัพยากรอย่างแท้จริงนั้น สามารถเติบโตมาจนก้าวข้ามจุดคุ้มทุน พร้อมขยับเป้าหมายสู่ระดับโลก สามารถกวาดรางวัลจากการเข้าประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคมเกือบทุกเวที โดยล่าสุดชนะการประกวดในโครงการกระตุ้นการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ Booking.com Booster 2017 คว้าเงินรางวัลจำนวน 11.4 ล้านบาท เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ โดยในปัจจุบันขยายจาก 2 ชุมชนเริ่มต้น เป็น 70 ชุมชนทั่วประเทศ นำเงินรายได้กลับคืนสู่ท้องถิ่นกว่า 20 ล้านบาท
“ตอนนี้ถ้าพูดถึงการท่องเที่ยวยั่งยืนแล้วคนนึกถึง Local Alike เราก็แฮปปี้แล้ว (ยิ้ม) ซึ่งกว่าจะมาถึงตรงนี้ก็ต้องพิสูจน์ตัวเองพอสมควร และการรักษาระดับยากยิ่งกว่าการเริ่มต้น แต่ถ้าเรามีพื้นฐานเรื่องความยั่งยืน อย่างไรก็ไปต่อได้”
เริ่มต้นด้วยหัวใจที่อยากให้
“มันเป็นเรื่องจังหวะเวลาของชีวิตครับ หลังจากเป็นวิศวกรมาพักหนึ่ง รู้สึกว่าเราทำงานตอบโจทย์ให้คนไม่กี่คน ประกอบกับเราทำงานเหนื่อย สิ่งที่พอทำได้ก็คือไปเที่ยว และก็ได้เห็นความต่างเยอะมาก ที่หลวงพระบาง คุณภาพชีวิตเด็กเขาดี เพราะการท่องเที่ยวเข้าถึง ขณะที่เชียงตุง คุณภาพชีวิตเด็กยังแย่อยู่ ที่ชัดก็คืออินเดีย ทำให้ผมเห็นว่ามีคนเยอะมาก
ที่เกิดมาโดยไม่มีโอกาส จึงรู้สึกอยากทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับคนส่วนมากได้มากขึ้น แต่เราเรียนวิศวะมา ก็เลยอยากไปเรียนต่อก่อนเพื่อให้เข้าใจเรื่องการพัฒนาอย่างยั่งยืนจริงๆ” จากนั้นจึงหอบความรู้ระดับปริญญาโทด้านการจัดการอย่างยั่งยืน (Sustainable Management) จาก Presidio Graduate School สหรัฐอเมริกา กลับมาฝึกงานกับองค์กรที่ถือเป็นต้นแบบของการทำงานด้านความยั่งยืนในตอนนั้นคือที่มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ดอยตุง เก็บเกี่ยวประสบการณ์ลงพื้นที่โดยเฉพาะด้านการพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน แล้วก็ได้เวลาสานฝัน
เพราะเห็นปัญหาจึงอยากแก้ปัญหา
หนึ่งในสองของผู้ร่วมก่อตั้ง Local Alike ย้อนภาพให้เข้าใจรูปแบบองค์กรชัดขึ้น “สำหรับโมเดลธุรกิจที่ใช้ เป็นการผสมผสานจากหลายๆ ตัวอย่างตามปัญหาที่เจอ ถ้าอยากจะแก้ไขปัญหาการท่องเที่ยวที่ไม่ยั่งยืน เราต้องมองให้เห็นตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำว่าที่ไม่ยั่งยืนนั้นเพราะอะไร... เพราะชุมชนยังไม่พร้อม ดังนั้น ต้องเพิ่มศักยภาพชุมชนโดยเข้าไปพัฒนาชุมชนให้พร้อมก่อนที่จะขายบริษัททัวร์ ต้องทำงานกระทั่งเขาสามารถเข้าใจว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนเป็นแบบไหน ที่สำคัญต้องจัดการการท่องเที่ยวด้วยคนในชุมชนนั้น ผมเชื่อว่าเจ้าของทรัพยากรต้องมีส่วนในการตัดสินใจมากที่สุด การท่องเที่ยวถึงจะยั่งยืนได้
“ปัญหาต่อมาเรารู้ว่าช่องทางการขายไม่ค่อยมี ก็เลยต้องสร้างบริษัททัวร์ขึ้นมาเพื่อเป็นช่องทางให้กับชุมชน โดยทุกชุมชนสามารถจัดการท่องเที่ยวได้ด้วยตัวเอง กระบวนการท่องเที่ยวจะถูกจัดการโดยชาวบ้านต้องมีส่วน 100% ชาวบ้านต้องเป็นผู้นำเที่ยวเอง และนั่นหมายถึงชาวบ้านก็มีสิทธิที่จะได้รับเงินมากขึ้น จากแต่ก่อนเคยได้น้อยกว่า 10% เพราะมาร์จิ้นของบริษัททัวร์โดยทั่วไปนี่สูงมาก 50-60% แต่โมเดลของ Local Alike เราพยายามจะเปลี่ยนให้ชุมชนได้มากขึ้น โดยแบ่งสัดส่วนให้ชุมชนหรือคนที่เป็น Service Provider ได้ 70% ส่วนเราได้ 30% ก็อยู่ได้ ยกตัวอย่างนักท่องเที่ยวจ่ายมา 100 บาท เงิน 70 บาท ก็จะไปถึงคนที่เป็นไกด์ในชุมชน คนทำอาหารในชุมชน คนจัดหารถในชุมชน คนที่ทำกิจกรรมให้นักท่องเที่ยวได้ดู และถ้ามีการนอนพัก เงินก็จะไปหาโฮมสเตย์ในชุมชนด้วย
“จากนั้นชาวบ้านต้องเรียนรู้ที่จะใช้เทคโนโลยีในการเข้าหานักท่องเที่ยว เราก็มีมาร์เก็ตเพลซ (Market Place) เว็บไซต์ที่เป็นแพลตฟอร์มการท่องเที่ยวยั่งยืน โดยเราดึงชุมชนที่มั่นใจว่ามีองค์ความรู้ (Know-how) จัดทัวร์กับเราจนเชี่ยวชาญ จากตอนแรกที่เราเอาทัวร์ลงไปแล้วยืนขาสั่น แต่ตอนนี้แย่งไมค์เราพูดเองแล้ว ให้ขึ้นไปอยู่บนมาร์เก็ตเพลซ นั่นหมายถึงเราใช้เทคโนโลยีเชื่อมส่งนักท่องเที่ยวตรงไปหาเขาได้เลย ฉะนั้น ชุมชนก็จะได้รับเงินโดยตรงมากกว่า 85%
“นอกจากนั้นเมื่อรายได้เกิดขึ้น เศรษฐกิจดีแล้ว เราอยากให้เกิดสิ่งที่เป็นรูปธรรมของการพัฒนาชุมชน จึงตั้งกองทุนส่วนกลางระหว่างชุมชนกับ Local Alike เพื่อนำเงินส่วนนี้ไปแก้ปัญหาต่างๆ ในหมู่บ้านร่วมกันต่อไป ทั้งด้านการศึกษา สังคม และสิ่งแวดล้อม แต่กองทุนหมู่บ้านมักเป็นปัญหาทำให้ชาวบ้านแตกแยกกัน จึงต้องใช้เวลาศึกษาในแง่การจัดการ โดยเงินกองทุนมาจากการหารายได้ของทั้งบริษัทเราและชุมชนที่ชาวบ้านต้องเจียด 10% ของรายได้เข้ามารวมด้วย เมื่อไม่ใช่เงินได้เปล่าก็ทำให้มีความรักและหวงแหนมากขึ้น อย่างตอนนี้เราได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่น่าสนใจมากของ 2 หมู่บ้าน ใน จ. เชียงรายที่ลองให้เงินกองทุนไปจัดการเอง อย่างหมู่บ้านสวนป่า นำเงินกองทุนไปจัดการเรื่องขยะ คุยกับ อบต. ให้ทำเรื่องเข้ามาเก็บขยะทุกสัปดาห์ ตอนนี้กลายเป็นหมู่บ้านที่สะอาดมาก ส่วนหมู่บ้านหล่อโย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาศักยภาพเด็กมาก อยากให้เด็กหวงแหนพื้นถิ่นของตัวเอง จึงนำเงินกองทุนไปทำสนามเด็กเล่น เพื่อพัฒนาศักยภาพ ทำให้เด็กๆ ยังมีที่วิ่งเล่นได้เวลาฝนตก ซึ่งปีนี้เราจะโฟกัสไปที่การขยายเงินกองทุนไปยังหมู่บ้านอื่นๆ มากขึ้นในการนำเงินกองทุนไปจัดการเรื่องขยะน้ำ การศึกษา โครงสร้างพื้นฐานของหมู่บ้าน ฯลฯ และถ้าเมื่อไรโครงสร้างกองทุนแข็งแรง เอกชนบางแห่งที่สนใจก็สามารถร่วมสนับสนุนได้ สุดท้ายการท่องเที่ยวจะไม่ได้เป็นแค่เครื่องมือในการพักผ่อนหย่อนใจหรือสร้างเศรษฐกิจ แต่ยังเป็นเครื่องมือในการพัฒนาชุมชนได้จริงๆ”
ท่องเที่ยวยั่งยืน ชุมชนต้องเข้มแข็ง
ย้อนกลับไปเมื่อ 7 ปีก่อนตอนเริ่มต้น Local Alike เลือกพัฒนาการท่องเที่ยวจากชุมชนที่พอมองเห็นศักยภาพก่อนอย่างหมู่บ้านสวนป่า ดอยตุง จังหวัดเชียงราย และหมู่บ้านหล่อโย ดอยแม่สลอง จังหวัดเชียงราย “ต่อมาพอเรามีประสบการณ์และเป็นที่รู้จักมากขึ้น ชุมชนต่างๆ ก็เริ่มติดต่อมาให้เข้าไปช่วยทำ เราก็เลยต้องมีเกณฑ์ในการเลือกมากขึ้น สิ่งที่ต้องดูหลักๆ คือเอกลักษณ์ วัฒนธรรม วิถีชีวิตของชุมชน มีคนรุ่นใหม่ในชุมชนที่พร้อมจะต่อยอดได้หรือเปล่า เคยผ่านการพัฒนาด้านการท่องเที่ยวจนอยู่ในระดับที่พร้อมฉายแสงหรือยัง และที่สำคัญคือชุมชนเข้มแข็งแค่ไหน ซึ่งชุมชนต้องมีเวลามาทำ
เวิร์กช็อปกับเราเพื่อพัฒนาการท่องเที่ยวภายในชุมชนร่วมกัน
“นอกจากนี้ยังมีบริษัทเอกชนหลายแห่งติดต่อให้เราเข้าไปพัฒนาหมู่บ้านที่เขามีเครือข่ายอยู่ในนั้น ดังนั้น เราต้องมีหลักเกณฑ์ที่ชัดเจนในการพิจารณาศักยภาพของชุมชนว่าเหมาะกับการท่องเที่ยวแบบนี้จริงหรือเปล่า ยกตัวอย่างล่าสุดเพิ่งคุยกับทาง CPF (บมจ. เจริญโภคภัณฑ์อาหาร) เพื่อร่วมพัฒนาชุมชน 2 พื้นที่ในเครือ ที่บางหญ้าแพรก จ. สมุทรสาคร เป็นสถานที่ท่องเที่ยวไม่ไกลกรุงเทพฯ สามารถมากินอาหารทะเลสดๆ พร้อมวิวที่เหมือนได้อยู่ทะเลจริงๆ กับปากน้ำประแส จ. ระยอง ที่จะทำให้ได้รู้จักวิถีชีวิตที่อุดมด้วยธรรมชาติสมบูรณ์ รวมถึงป่าชายเลนที่ทาง CPF ได้เข้ามาพัฒนากระทั่งเป็นสถานที่สำหรับสูดอากาศบริสุทธิ์กลับไป โดยองค์กรเป็นผู้สนับสนุนเงินทุนในการนำประชุมเชิงปฏิบัติการ (Implement Workshop) เพื่อพัฒนาชุมชนทั้งหมด และทั้งหมดนี้ก็จะกลายเป็นรายรับของชุมชน ตอนนี้ยังอยู่ในกระบวนการพัฒนา”
พูดได้ว่านับตั้งแต่วันแรกที่เริ่มต้นจนล่วงเข้าสู่วันนี้ การเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นมากมาย ทั้งในแง่ความสำเร็จของคนทำงานและพัฒนาการในทางบวกจากชุมชน “เห็นชัดครับ อย่างหมู่บ้านหล่อโย ดอยแม่สลอง เชียงราย ที่เคยทำท่องเที่ยวมา 30 กว่าปี เมื่อก่อนชาวบ้านวิ่งขายของที่ระลึก พอ 10 ปีให้หลังนักท่องเที่ยวเริ่มไม่ซื้อ ก็ต้องมีวิธีจัดการใหม่ที่ทำให้ชาวบ้านได้ผลประโยชน์มากที่สุด เราเริ่มทำงานกับผู้ประกอบการคนเดียวด้วยนะตอนนั้น (โยฮัน ประกาศิต เชอมือกู่ เจ้าของโฮมสเตย์บ้านดินอาข่า) ไปช่วยจนโฮมสเตย์บ้านดินเกิด พานักท่องเที่ยวเข้าไปให้ทำเวิร์กช็อปสานตะกร้าไม้ไผ่ เต้นรำแบบชาวเขา ซึ่งปกติไม่เคยมีในหมู่บ้าน ทำให้ตอนนี้ก็มีนักท่องเที่ยวเข้ามาสม่ำเสมอทุกเดือน แล้วตอนนี้เขาก็เอาเงินสะสมกองทุนไปทำเรื่องขยะ เรื่องการศึกษาเด็ก ถือเป็นชุมชนที่นำโมเดลทุกอย่างจากเราไปใช้ (ยิ้ม)
“อย่างในกรุงเทพฯ ตอนนี้ทัวร์ที่ได้รับฟีดแบ็กดีมากคือ ชุมชนกุฎีจีน ที่พานักท่องเที่ยวไปเรียนรู้การทำอาหารชาววัง พี่แตน (ขนิษฐา สกุลทอง) หนึ่งในคนชุมชนกุฎีจีนที่เราทำงานด้วย จากตอนแรกไม่รู้จะเล่าอะไร ตอนนี้เล่าได้ดีมาก ส่วนชุมชนคลองเตยเอง ผู้นำสื่อความหมายในชุมชนก็เล่าได้ว่าทำไมต้องทำทัวร์คลองเตย เพราะการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมือที่ทำให้คนรู้จักกันมากขึ้น ก็เลยนำเสนอเส้นทางท่องเที่ยวชุมชนคลองเตย ได้เดินผ่านทางรถไฟที่สวยมาก ได้กินขนมครก ร้อยพวงมาลัยกับชาวบ้าน เพื่อให้คนข้างนอกรู้ว่าคลองเตยไม่ได้มีแต่เรื่องแย่
“ภูมิใจที่สุดตรงที่ทุกชุมชนที่เราทำงานด้วยยังอยู่กับเรา ยังรักเราอยู่ (ยิ้ม) โดยเขาก็ยังไม่ได้เห็นเงินเป็นตัวหลักสำคัญของการทำท่องเที่ยวในหมู่บ้าน ถือว่าสำเร็จในการทำงานร่วมกันแล้วเราดึงศักยภาพของเขาออกมาให้ดีที่สุด ซึ่งความคาดหวังของเราคือการรักษาวิถีชีวิตที่เป็นเอกลักษณ์อันสวยงามชุมชนให้คงอยู่ แต่คุณภาพชีวิตดีขึ้น
“การเปลี่ยนแปลงสำหรับชุมชน แน่นอนเมื่อมีนักท่องเที่ยวเข้าไป ก็มีรายได้เพิ่มขึ้นแน่นอน แต่ก็ต้องมั่นใจว่ามีการกระจายเงินอย่างเป็นธรรม เพราะฉะนั้นก็ต้องทำโครงสร้างที่ชัดเจน เรามีคนในทีมที่เป็น Social Impact Manager ทำหน้าที่วัดผลกระทบทางสังคมทั้ง 70 ชุมชน ที่เราทำงานด้วยตอนนี้ว่ารายได้เพิ่มขึ้นเท่าไร ซึ่งส่วนใหญ่รายรับต่อปีของเขาจะเพิ่มขึ้นประมาณ 20% ถ้าถามว่าการท่องเที่ยวยั่งยืนจะสร้างการเปลี่ยนแปลงอย่างไร พูดให้คนเห็นชัดที่สุดคือเรื่องของรายได้ครับ ผมรู้สึกว่าเมืองไทยเราสร้างรายได้เยอะมากจากการท่องเที่ยว ตัวเลขล่าสุด ปี 2560 อยู่ที่ราว 2.76 ล้านล้านบาท ถ้าเราดึงเงินตรงนั้นเข้าชุมชนมากขึ้น จะสามารถใช้ในการพัฒนาคุณภาพชีวิตของชุมชนได้เยอะมากจริงๆ คุณภาพชีวิตของคนจะดีขึ้นมาก ซึ่งมันทำได้ ถ้าเราเลือกที่จะทำนะ (ยิ้ม) และผมรู้สึกว่าการท่องเที่ยวเป็นเครื่องมืออย่างหนึ่งที่ทำให้คนเข้าใจกัน ได้ใกล้ชิดกันมากขึ้น ซึ่งเราก็พยายามใช้การท่องเที่ยวในการทำให้คนคุยกันมากขึ้น”
เส้นทางท่องเที่ยว (ยั่งยืน) ไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบ
ย่อมไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับการทำสิ่งที่ถือเป็นการบุกเบิก โดยเฉพาะการเป็นบริษัททัวร์ด้านท่องเที่ยวยั่งยืนแห่งแรกๆ ของเมืองไทย และแม้ตอนนี้จะไม่มีคำถามแล้วถึงความสำเร็จของ Local Alike แต่อุปสรรคปัญหาก็มีเข้ามาท้าทายเสมอ เพียงแต่เปลี่ยนรูปแบบไปบ้างตามสถานการณ์ “มันก็เป็นเส้นทางของการทำธุรกิจ ตอนเริ่มต้นอาจเป็นปัญหาในการหาโมเดลที่จะตอบโจทย์ปัญหาต่างๆ ที่เราไปเจอมา ต้องหาเงินทุนมาอย่างไร เพราะเมื่อก่อนเคยคุยกับหลายเจ้ามาก แล้วไม่มีใครสนใจเลย จึงต้องหาวิธีการใหม่ในการหาเงินมาทำงานในแบบที่เราอยากให้มันเป็น โดยส่งแผนธุรกิจเข้าประกวด แล้วก็โชคดีที่เราชนะมาหลายรางวัล หลังจากนั้นทุนเริ่มเข้ามาเอง (หัวเราะ) ซึ่งรางวัลต่างๆ ที่เราได้รับมาก็เป็นตัวพิสูจน์ว่าสุดท้ายคนก็เห็นว่าสิ่งที่เราทำมันสำคัญจริงๆ
“ในช่วงกลางๆ ของการทำงาน ปัญหาก็จะเป็นเรื่องการหาตลาดที่เหมาะสมกับชุมชน ตอนเปิดตัวเราคิดว่าตลาดรายบุคคลที่เป็นต่างชาติน่าจะเหมาะ แต่ปรากฏว่าต้องใช้งบประมาณสูงมาก เราก็เลยหันมาจับตลาดองค์กร ซึ่งให้ผลตอบรับดีมาก ถือว่า Local Alike แทบจะเป็นผู้บุกเบิกเจ้าแรกเลยที่พาลูกค้าจากองค์กรไปทำทริป Co-operate Outing และตอนนี้ก็กลายมาเป็นตลาดหลักของเรา
“แต่ระดับความยากในตอนนี้มาถึงจุดที่ต้องขยายงาน มีชุมชนที่เราต้องดูแลมากขึ้นมากถึง 70 ชุมชนทั่วประเทศ เพราะฉะนั้นทีมเราต้องโตด้วย ตอนนี้ผมก็เลยยุ่งเรื่องการจัดการทีม ต้องบริหารอย่างไรให้คนในทีมแฮปปี้ ให้องค์ความรู้ที่เรามีอยู่และความเป็นแบรนด์ Local Alike อยู่ในตัวน้องๆ ทุกคน
“ด้วยความที่เราเกิดมาจากการทำงานกับชุมชน ผมรู้สึกว่าการทำงานกับชุมชนง่ายกว่าการทำธุรกิจเยอะนะ (หัวเราะ) เพราะการทำงานกับชุมชนนี่ใช้ใจ ใช้ความรู้สึก กับความเป็นจริง ไม่มีเล่ห์อะไรเลย แต่ตอนนี้พอต้องทำธุรกิจมากขึ้น โอกาสที่จะได้ลงไปทำงานกับชุมชน ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้สึกว่าถนัดที่สุดก็น้อยลงมาก ก็ต้องพยายามบาลานซ์ครับ เพราะผมรู้สึกว่าถ้าอยู่กรุงเทพฯ นานมากๆ จะรู้สึกไม่มีพลังแล้ว (หัวเราะ) ก็ต้องเดินทางไปหาชุมชนบ้าง
“อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน Local Alike ผ่านจุดคุ้มทุนเมื่อ 2 ปีที่แล้ว เพราะทุกโมเดลที่เราทำมันสามารถสร้างรายได้ให้หมดเลย ในการพัฒนาชุมชนเรามีองค์กรหรือพาร์ตเนอร์เข้ามาสนับสนุนเงินทุน ด้านบริษัททัวร์แน่นอนเราทำรายได้ ส่วนเว็บมาร์เก็ตเพลซเราก็เริ่มทำรายได้ มีนักท่องเที่ยวต่างชาติจองเข้ามาสม่ำเสมอ เงินกองทุนก็เริ่มที่จะสร้างรายได้เพียงพอ ดังนั้น ทุกวันนี้สำหรับ Local Alike เราอยู่ได้ (ยิ้ม) ชุมชนยังแฮปปี้กับเรา นี่คือส่วนสังคม ส่วนเศรษฐกิจ บริษัทเราอยู่ได้แล้ว ด้านสิ่งแวดล้อม ทุกทัวร์ของเราแน่ใจได้ว่าเราไม่ทำลายสิ่งแวดล้อม พร้อมกับให้ความรู้นักท่องเที่ยวในการไม่ทำลายสิ่งแวดล้อมเช่นกัน ก็ตอบทั้งสามโจทย์ความยั่งยืนนี้
“ตอนนี้ Local Alike ทำงานระดับหมู่บ้าน เราก็อยากท้าทายตัวเองเหมือนกันนะ โดยพยายามที่จะจับสเกลใหญ่ในระดับตำบลอำเภอมากขึ้น อยากทำให้การท่องเที่ยวชุมชนเป็นสมการหลักของการท่องเที่ยวบ้านเรา โดยไม่ถูกมองแค่ Sea Sand Sun มันควรจะเป็น Sea Sand Sun แล้วก็ Sustainable
“นอกจากนี้เรากำลังขยายโมเดล Local Alike ไปยังประเทศอื่นด้วย โดยร่วมมือกับองค์กร Local Partners ที่มีศักยภาพ อย่างที่เวียดนามเราทำมาหนึ่งปีแล้ว มีประมาณ 5 ชุมชนที่จะพัฒนาต่อต้นปีนี้ รวมถึงกำลังจะคุยกับที่ไต้หวันและอินเดีย สุดท้ายเมื่อแชร์มาร์เก็ตเพลซด้วยกันจะทำให้เรามีโปรดักต์ที่หลากหลายมากขึ้น ไม่ใช่แค่ในเมืองไทย
“สำหรับอีก 5-10 ปีข้างหน้า เป้าหมายส่วนตัวที่วางไว้ก็เชื่อมโยงกันอยู่กับเป้าหมายในเรื่องของการทำงาน ถ้าธุรกิจของเราอยู่ได้ เราก็สามารถเลี้ยงตัวเองได้ ดูแลครอบครัวได้ดีขึ้น ซึ่งตอนนี้เราก็เลี้ยงตัวเองได้แล้วในเรื่องของธุรกิจ แต่ก็ยังอยากจะเห็นเมืองไทยเป็นที่รู้จักมากขึ้นในเรื่องการท่องเที่ยวยั่งยืน เราอยากเป็นองค์กรที่เป็นตัวอย่างว่าการท่องเที่ยวแบบยั่งยืนควรจะมีวิถีปฏิบัติอย่างไร
“อาจจะแปลกนิดหนึ่งตรงที่เราทำธุรกิจโดยมีเป้าหมายเพื่อให้ชุมชนจัดการตัวเองได้ นั่นหมายถึงว่าถ้าเขาออกจากธุรกิจนี้ได้โดยที่ไม่มีเราคอยช่วยเหลือ Local Alike ก็จะแฮปปี้มากๆ เมื่อถึงเวลานั้นเราก็มีทางออกโดยอาจหาโอกาสใหม่ๆ ทำธุรกิจใหม่ๆ กับชุมชน เช่นธุรกิจผลิตภัณฑ์ชาวบ้าน เพราะอันที่จริงเราทำบริษัทนี้มาเพื่อแก้ปัญหาอะไรบางอย่าง ถ้าปัญหานั้นหมดไป หมายความเขาไม่ต้องมีเราแล้วก็ได้ ผมเชื่อว่ามันน่าจะเป็นเป้าหมายและเป็นคำตอบที่ดีที่สุดของการทำกิจการเพื่อสังคมนะ”
นิยามความยั่งยืน
“สำหรับ ‘ความยั่งยืน’ ผมมองว่า ทุกอย่าง ต้องเริ่มจากราก ในการท่องเที่ยวเรามองให้มันเป็นต้นไม้ สิ่งที่เราเห็น วัดวาอาราม หรือสถาปัตยกรรม ของที่ระลึก อาจจะเป็นแค่ใบหรือกิ่ง แต่สิ่งที่เราไม่เคยเห็นคือราก ซึ่งผมว่าก็คือคนในพื้นที่ที่เป็นเจ้าของทรัพยากร ถ้าเราทำให้รากแข็งแรงได้ ไม่ว่าจะโตเป็นต้นหรือใบ อย่างไรมันก็สวยงาม”
ABOUT LOCAL ALIKE
เริ่มก่อตั้ง : ปี 2013
ภารกิจหลัก : มุ่งสร้างโอกาสให้ชุมชนและคนในท้องถิ่นมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นผ่านรูปแบบการท่องเที่ยววิถีไทยที่แตกต่างและมีเอกลักษณ์
รางวัลที่ได้รับ :
- รองชนะเลิศอันดับที่ 3 โครงการ BANPU Champions for Change ปีที่ 2 ในการประกวดแผนธุรกิจเพื่อสังคม ระบบภูมิภาคเอเชีย DBS NUS Social Venture Challenge Asia ประเทศสิงคโปร์
- ชนะเลิศรายการ AIS the Startup 2014 ในสาขา Social Business
- ชนะเลิศการแข่งขัน Young Social Entrepreneurship Program 2014 จาก Singapore International Foundation (SIF) ประเทศสิงคโปร์
- ชนะเลิศ Digital Innovation Award สาขา Digital Aids Asia
- ชนะเลิศ Thailand Green Excellent Awards 2015: Community-Based Tourism
- ชนะเลิศ Chivas The Venture, Social Enterprise ปี 2556
- เข้ารอบ 10 ทีมสุดท้าย รางวัล Booking.com Booster 2017 โดย Booking.com ณ กรุงอัมสเตอร์ดัม เนเธอร์แลนด์
เพิ่มเติมคลิก : www.facebook.com/LocalAlikehttp://www.facebook.com/LocalAlike