24 มกราคม 2561 - ชุมชนน้ำพาง มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ องค์กรอ็อกแฟมประเทศไทย และภาคีเครือข่าย ร่วมจัดมหกรรม “น้ำพางโมเดล: บทพิสูจน์ความยั่งยืนจากมือประชาชน” เพื่อประกาศขับเคลื่อนความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการดำเนินโครงการน้ำพาโมเดล ณ หอประชุม โรงเรียนบ้านน้ำพาง ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน พร้อมจัดเสวนา “Con-nection สู่วันลงมือทำจริง” โดยมีผู้ร่วมเสวนาได้แก่นายประยงค์ ดอกลำไย รองผู้อำนวยการมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ ขององค์การอ็อกแฟมประเทศไทย และดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน และ ธรรมาภิบาล เครือเจริญโภคภัณฑ์ มีนายปกรณ์ อารีกุล เป็นผู้ดำเนินการเสวนา ซึ่งมีผู้สนใจเข้าร่วมฟังเป็นจำนวนมากจากหลากหลายสาขา อาทิ เกษตรกร เอ็นจีโอ นักวิชาการ สื่อมวลชน
นายประยงค์ ดอกลำไย รองผู้อำนวยการ มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ กล่าวว่า การจัดการที่ดินและทรัพยากรเป็นปัญหาเรื้อรังที่มีมายาวนาน จากประสบการณ์ของมูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ พบว่า “นำ้พางโมเดล” ตอบโจทย์อย่างน้อย 4 ด้าน ได้แก่ ด้านเศรษฐกิจที่มุ่งให้คนในชุมชนมี คุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น มีรายได้ที่มั่นคง ในด้านระบบนิเวศมีการฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติซึ่งแต่เดิมมีความอุดมสมบูรณ์อยู่แล้วให้ดียิ่งขึ้น และเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพของชุมชนในการจัดการที่ดินและ ทรัพยากรซึ่งทุกฝ่ายควรตระหนักถึง “สิทธิชุมชน” ประการสุดท้าย น้ำพางโมเดลจะเป็นพื้นที่ต้นแบบ สำหรับการขับเคลื่อนทางนโยบายเพื่อการจัดการป่าไม้และที่ดินอย่างธรรม ทั้งนี้ในการดำเนิน โครงการน้ำพางโมเดล ชาวชุมชนน้ำพางได้ปักหมุดคืนต้นไม้สู่ป่า คืนป่าสู่น่าน ตั้งเป้าหมาย 100,000 ต้นภายใน 5 ปี โดยจะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพดปีละ 20%
นายจักรชัย โฉมทองดี ผู้ประสานงานด้านนโยบายและการรณรงค์ขององค์การอ็อกแฟม ประเทศไทย กล่าวว่า ถ้าเราอยากจะเห็นต้นไม้อย่าให้ความสำคัญแค่การปลูก ต้องให้ความสำคัญกับการดูแลรักษาด้วย การปลูกต้นไม้ไม่ใช่เรื่องยากที่สุด เรื่องยากที่สุดคือทำอย่างไรให้ต้นไม้นั้นไม่ตาย และใครล่ะที่จะทำให้ ต้นไม้นั้นเจริญงอกงามได้ ถามว่าคนเมืองบินไปปลูกต้นไม้เสร็จแล้วใครจะเป็นคนรดนำ้ดูแล อย่างไรเสียก็หนีไม่พ้นชาวบ้านเกษตรกรในพื้นที่ ซึ่งมีอาชีพมีทักษะในการดูแลสิ่งเหล่านั้นอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นผมคิดว่า ตรงนี้เองเป็นคำตอบให้กับสังคมไทยว่า การที่เราจะเดินไปข้างหน้านั้น จะต้องตอบโจทย์ของชุมชนกับ สิ่งแวดล้อมไปพร้อมกัน และตรงนี้เองที่เราต้องแสดงออกร่วมกัน รับผิดชอบร่วมกัน เดินไปพร้อมกันโดยไม่ ทิ้งใครไว้ข้างหลังโดยเฉพาะชาวบ้านในพื้นที่
ด้าน ดร.อธิป อัศวานันท์ ผู้บริหารด้านพัฒนาความยั่งยืนภาคกิจกรรมสัมพันธ์และการศึกษา สำนักบริหารความยั่งยืน ธรรมาภิบาล และสื่อสารองค์กร เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า เครือเจริญโภคภัณฑ์มีความจริงใจต่อการแก้ปัญหาการบุกรุกทำลายป่า รวมถึงการถดถอยของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และในฐานะเป็นองค์กรเอกชนที่มุ่งมั่นในแนวทางสู่ความยั่งยืน ที่ครอบคลุมทั้ง 3 มิติได้แก่ ด้านเศรษฐกิจ ความรับผิดชอบต่อสังคม และการให้ความสำคัญต่อสิ่งแวดล้อม เครือเจริญโภคภัณฑ์จึงพร้อมที่จะก้าวเข้ามามีส่วนร่วมในโครงการน้ำพางโมเดล เพื่อช่วยกันฟื้นฟูป่าต้นน้ำลำธาร สร้างจิตสำนึกในการดูแลรักษาป่า ส่งเสริมสนับสนุนในการสร้างรายได้แก่ชุมชนน้ำพาง เพื่อให้ชุมชนน้ำพางเติบโตได้อย่างยั่งยืนไปพร้อมกับความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าน้ำพาง
ในการนี้เครือเจริญโภคภัณฑ์จะสนับสนุนการรักษาทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ให้ฟื้นฟูและคงความอุดมสมบูรณ์ รวมถึงองค์ความรู้ที่จะสนับสนุนให้ชุมชนสามารถพัฒนาอาชีพได้อย่างเหมาะสม โดยมีความเชื่อมั่นต่อการดำเนินการตามแนวพระราชดำริการสร้างป่า สร้างรายได้แก่ชุมชนอย่างยั่งยืน รวมทั้งการสร้างความมีส่วนร่วมอย่างบูรณาการทุกภาคส่วน
“เราเชื่อว่าน้ำพางโมเดล จะเป็นต้นแบบความร่วมมือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องร่วมแก้ปัญหาเพื่อชุมชน สังคม และประเทศชาติ เครือฯมีความหวังว่าน้ำพางโมเดลจะเป็นโมเดลต้นแบบของชุมชนในการจัดการป่าอย่างยั่งยืน”
ทั้งนี้ “น้ำพางโมเดล” เป็นยุทธศาสตร์บูรณาการจัดการที่ดินและทรัพยากรอย่างยั่งยืนที่เกิดจากความร่วมมือร่วมใจของหลายภาคส่วน โดยมีชุมชนเป็นแกนสำคัญ ปัจจุบันมีสมาชิกเข้าร่วมโครงการ 285 ครัวเรือน พื้นที่รวม 4,253 ไร่ มีเป้าหมายประการแรกคือ จะอนุรักษ์ระบบนิเวศพื้นที่ป่า 90.91 % ของชุมชนให้มีความอุดมสมบูรณ์มากยิ่งขึ้น ประการที่ 2 จะลดพื้นที่ปลูกข้าวโพด ตำบลน้ำพาง ไม่น้อยกว่า 20 % ซึ่งเชื่อว่าภายใน 5 ปี ข้าวโพดจะหมดไปจากน้ำพาง ประการที่ 3 จะมีกองทุนหมุนเวียนในการฟื้นฟูและอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติโดยชุมชนท้องถิ่นบริหารจัดการ ประการที่ 4 จัดตั้งวิสาหกิจชุมชนกลุ่มเกษตรกรตำบลน้ำพาง ยกระดับอาชีพและรายได้ทั้งในและนอกภาคเกษตร และประการสุดท้าย คือ ชาวบ้านเข้าถึงสิทธิการใช้ประโยชน์ที่ดินและทรัพยากรมีคุณภาพชีวิตที่ดีมีรายได้ที่พอเพียงโดยคนอยู่ร่วมกับป่าอย่างสมดุลและยั่งยืน