ที่มา : วารสารบัวบาน ฉบับที่ 3 / 2560
เพราะเชื่อมั่นว่าการศึกษาคือรากฐานของความยั่งยืน และความรู้สึกรัก หวงแหน อยากปกป้องสิ่งใดสิ่งหนึ่งจะเกิดขึ้นได้เมื่อเรารู้จักสิ่งนั้นมากพอ จึงกลายมาเป็นจุดกำเนิดองค์กรให้การศึกษาด้านสิ่งแวดล้อมผ่านกระบวนการจัดค่ายในนาม EEC THAILAND (Environmental Education Centre) ที่มีนักแสดงฝีมือจัดจ้านอย่าง อเล็กซ์ เรนเดลล์ เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงหลักร่วมก่อตั้ง ถือเป็นอีกหนึ่งงานใหม่ที่เขาพร้อมทุ่มเทไม่แพ้การแสดง ขณะเดียวกันก็ถือเป็นเครื่องยืนยันว่า หัวใจแห่งการให้ รวมถึงความรักในธรรมชาติสิ่งแวดล้อมของหนุ่มหล่อมากฝีมือคนนี้เป็นของจริงล้วนๆ ซึ่งทีมบัวบานก็มีโอกาสดีที่ได้คุยกับ Co-Founder ไฟแรงในวันว่างจากคิวละคร และก่อนที่จะออกค่ายไปกับเด็กๆ เพื่อเก็บแนวคิดดีๆ ด้านการแบ่งปันและร่วมอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมมาฝากกัน
หัวใจรักธรรมชาติและการให้...เริ่มตั้งแต่วัยเยาว์
“มันคงอยู่ในใจเรามาตั้งแต่ยังเด็ก จำความได้ก็อยู่ในสถานการณ์ที่มีคนเชิญชวนให้เราทำบุญช่วยเหลือคนอื่นอยู่ตลอดเวลา เพราะผมเติบโตมากับสังคมเด็กและครูในโรงเรียนนานาชาติ ซึ่งเขาให้ความสำคัญกับการเทกแอ็กชั่น ไม่ใช่แค่บริจาคเงิน และพออายุสักประมาณ 9-10 ขวบ ก็ได้มาทำเรื่องของช้างกับครูอลงกต ชูแก้ว เขาพาไปดูแลช้างป่า ไปเรียนรู้เรื่องธรรมชาติ ตอนนั้นจำได้ว่าเล่นละครของค่ายบรอดคาซท์ฯอยู่ ผมถือกล่องไปหาคนตามกองถ่ายเพื่อที่จะเอาเงินบริจาคไปซื้อยาใส่ในกล้วยเพื่อป้อนช้างที่ป่วย ความชอบธรรมชาติมันเลยซึมซับเข้ามาในตัวเรา นอกจากนี้ยังเห็นว่านักฟุตบอลที่ผมชอบมักจะมีมูลนิธิของตัวเอง มอบเงินเป็นร้อยล้านให้เด็กยากจน ผมมองว่านี่เป็นเรื่องที่เจ๋งดี”
เวลาผ่านไปกว่า 10 ปี เด็กชายตัวน้อยเติบโตขึ้น ขณะที่หัวใจรักในธรรมชาติและการแบ่งปันก็ยังไม่จางจากไปไหน กลับยิ่งแสดงตัวชัดเจน หลังเรียนจบปริญญาตรีแล้วมีโอกาสได้ไปสัมผัสเสน่ห์โลกใต้น้ำ พร้อมบอกตัวเองทันทีว่าต้องทำอะไรเกี่ยวกับสิ่งนี้แน่นอน ประจวบกับจังหวะชีวิตโคจรกลับมาพบครูนักอนุรักษ์อีกครั้ง
“ช่วงเวลาเดียวกันนั้นผมกลับไปที่เขาใหญ่ ได้เจอครูอลงกตอีกที เห็นสิ่งที่ครูทำกับช้าง กำลังสอนเรื่องสิ่งแวดล้อม เรื่องสัตว์ให้เด็กกลุ่มหนึ่งเหมือนที่เคยสอนตอนเราเด็ก แล้วก็ยังพาเด็กๆ ไปดำน้ำด้วย ผมรู้สึกว่านี่มันเป็นแชริตี้ของคนที่มีใจจริงๆ ไม่เห็นมีกล้องมาจับ ไม่เห็นต้องไปบอกใครเลยว่าเราทำ ด้วยความที่เราเป็นนักแสดง ก็ไปงานแชริตี้เยอะ เรารู้อยู่แก่ใจบางทีมันคือการแฝงมาร์เก็ตติ้งหรือเปล่า แต่นี่เราได้เห็นความจริงใจ ครูขับรถจากเชียงใหม่มาถึงปากช่องทุกเสาร์-อาทิตย์ เพื่อที่จะมาสอนดนตรีเด็กตาบอด โดยไม่ได้คิดค่าใช้จ่ายอะไรเลย คนพวกนี้กำลังทำเพื่อลูกหลาน เพื่ออนาคตที่ดีของโลกของเราอยู่นะ ซึ่งพอได้เห็นก็ติดใจ มีเวลาว่างผมก็ไปช่วยเขา ทำโครงการ ลงไปช่วยพาช้าง “ขวัญเมือง” จากภาคใต้มาอยู่ที่เขาใหญ่เพื่อเป็นครูช้าง สอนเด็กตาบอดและเด็กกำพร้า ไปทำงานเรื่องสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ลึกมาก ช่วงนั้นอินกับธรรมชาติมาก ทำให้เราย้อนกลับมาคิดว่า ถ้าสร้างเป็นองค์กรขึ้นมาจะดียังไง จะไปได้กว้างขนาดไหน คิดจากหนึ่งเป็นสอง สองเป็นสาม มารู้อีกทีก็เปิดบริษัท แล้วก็อยู่อย่างนี้มาสองปีแล้วครับ (ยิ้ม)”
สิ่งแวดล้อมยั่งยืนได้ด้วยการศึกษา
ด้วยความเชื่อว่าสิ่งดีงามที่ทำโดยคนกลุ่มเล็กๆ กลุ่มหนึ่งนั้นจะยิ่งส่งผลดีในวงกว้างหากมีระบบองค์กรเข้ามาดูแลจัดการ นำไปสู่บทบาทใหม่ของนักแสดงหนุ่มในฐานะผู้ร่วมก่อตั้ง EEC THAILAND องค์กรที่ดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อมศึกษา เน้นให้ความรู้เชิงลึกเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติอย่างสนุกสนานผ่านกระบวนการจัดค่ายเพื่อสร้างแรงบันดาลใจให้คนมีส่วนร่วมในการปกป้องทรัพยากรทางธรรมชาติ และการใช้ประโยชน์อย่างยั่งยืน
“ผมมีความเชื่อว่าการศึกษาเป็นทางออก เป็นวิธีที่จะทำให้ทรัพยากรธรรมชาติของเรายั่งยืนที่สุด ด้วยการให้การศึกษาเกี่ยวกับสิ่งสิ่งนั้น อย่างเช่นด้วงพวกนี้ครับ (หยิบกล่องตัวอย่างแมลงบนโต๊ะมาอธิบาย) ถ้าเราไม่เคยเห็นมาก่อน แล้วอยู่ๆ เราไปเข้าป่า เราไปเห็นด้วงตัวนี้ เราก็จะคิดว่ามันแค่ตัวด้วง แต่การที่เราพาเด็กๆ ไปค่าย ไปศึกษาว่าด้วงนี้ถิ่นที่อยู่อาศัยของมันอยู่ที่ไหน กินอะไร บ้านเรามีด้วงกี่แบบ ฯลฯ พอได้รู้จัก ด้วงนี้ก็จะมีคุณค่าทางใจกับคนที่ฟัง เหมือนเวลาไปดำน้ำ ถ้าไม่รู้ว่านั่นคือปลาอะไร เราก็ไม่ตื่นเต้น แต่พอรู้ว่าปลานี้ใกล้สูญพันธุ์ หรือเจอได้แค่ในเมืองไทยที่เดียว ก็เกิดความตื่นเต้นขึ้นมา เมื่อสัตว์พวกนี้มีความหมายทางใจกับเราปุ๊บ เราก็จะมีแรงบันดาลใจ มี Motivation มี Drive บางอย่างที่ทำให้เราอยากจะปกป้องสิ่งสิ่งนั้น เพราะฉะนั้นถ้าเราจะปกป้องอะไรก็แล้วแต่ เราต้องมีความรู้เกี่ยวกับสิ่งนั้นก่อน และการได้มาศึกษา คลุกคลีกับชาวบ้าน กับสิ่งมีชีวิต มันทำให้เรื่องสิ่งแวดล้อมเข้าไปอยู่ในใจของเขาแล้ว พอเด็กๆ พวกนี้เติบโตขึ้นมาเป็นผู้หลักผู้ใหญ่ เป็นนักตัดสินใจในเจเนอเรชั่นต่อไป เขาก็จะไม่ตัดสินใจทำเรื่องที่จะทำลายสิ่งมีชีวิต เขาจะนึกถึงส่วนรวม นี่คือความยั่งยืนที่สิ่งแวดล้อมศึกษาจะสามารถเข้าไปในจิตของคน ลึกกว่าใจนะครับ ทำให้เขาเติบโตมาเป็นที่พึ่งให้กับสิ่งมีชีวิตได้ และนี่คือจุดประสงค์ของเรา”
ให้ธรรมชาติเป็นห้องเรียน
“การเรียนหนังสือที่โรงเรียนมันก็ดีพอระดับหนึ่ง แต่ผมคิดว่ามันไม่พอ เด็กๆ ต้องเรียนรู้นอกห้องเรียนด้วย ต้องไปเรียนรู้กับโลกแห่งความเป็นจริง ให้เห็นถึงปัญหาของสังคมจริงๆ ซึ่งพอเริ่มทำ เด็กบางคนที่มาค่ายแรกจนถึงวันนี้ยังไม่เคยพลาดสักค่ายเลยครับ แล้วน้องคนนี้อยู่ขอนแก่นด้วยนะ คุณพ่อคุณแม่ขับรถพามา เพราะเขาเห็นกระบวนการบางอย่างที่เปลี่ยนแปลง เราไม่ได้สอนแค่เรื่องสิ่งแวดล้อม แต่เราสอนทักษะชีวิต สร้างวิธีคิดที่เป็นระบบให้กับเด็กๆ เอาวิทยาศาสตร์สิ่งแวดล้อมมาสอน เอาชุดกาวน์ในห้องแล็บมาให้เขาใส่ ให้ดูกล้องจุลทรรศน์ ให้วาดรูป เพื่อให้เขารู้ว่าทุกขั้นตอนมันมี 1 2 3 4 บางคนไม่ได้ไปเรียนพิเศษเลย มาเข้าค่ายกลับไป คะแนนที่โรงเรียนเพิ่มขึ้น”
ภายใต้ปรัชญาการเรียนรู้ในรูปแบบ “LET NATURE BE OUR CLASSROOM - ให้ธรรมชาติเป็นห้องเรียนของเรา” กิจกรรมของ EEC จึงแบ่งเป็น 4 ประเภทด้วยกัน Wild Life, Marine Life, Private Camp และ CSR Solutions โดยมีอาจารย์อลงกต ชูแก้ว เป็น Programme Director นำทีมดูแลจัดการหลักสูตร ร่วมกับวิทยากรผู้เชี่ยวชาญเรื่องสิ่งแวดล้อมในแต่ละด้าน
“ค่ายของเรามีทั้งหมด 4 แบบ แบบที่ 1 คือ Wild Life พาเด็กๆ ไปเรียนรู้เรื่องธรรมชาติในป่า ไม่ว่าจะเป็นที่เขาใหญ่ ดอยอินทนนท์ จังหวัดเลย เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี ขึ้นอยู่กับว่าคอนเทนต์นั้นเหมาะกับการสอนในฤดูอะไร อย่างเดือนกุมภาพันธ์ เป็นช่วงที่กล้วยไม้บาน เราพาเด็กๆ ไปศึกษาเรื่องกล้วยไม้ที่ จ.เลย ช่วงเมษายนน้ำจะนิ่งก็พาเด็กๆ ไปทำกิจกรรม พาร์ตที่ 2 Marine Life ธรรมชาติทางทะเล ที่กระบี่ สิมิลัน เกาะลันตา เป็นหลัก พาร์ตที่ 3 Private Camps ออก แบบกระบวนการเรียนรู้ให้กับใครก็ได้ ถ้าคิดดีๆ ทุกบริษัทต้องมีทริปเอาท์ติ้ง ซึ่งผมก็เพิ่งมารู้นะ (ยิ้ม) ก็พยายามเสนอเอาท์ติ้งแนวทางใหม่ๆ ให้กับเขา และพาร์ตที่ 4 CSR Solutions สำหรับบริษัทที่ต้องการทำ CSR ซึ่งเราสามารถออกแบบค่ายให้การศึกษาเรื่องเหล่านี้ได้ รวมไปถึงสิ่งเล็กๆ น้อยๆ อย่างเด็กๆ Gap Year ที่มาจากต่างประเทศ มาทำธีสิส เราอยากเป็นองค์กรที่เป็นที่พึ่งด้านนี้ ใครนึกถึงสิ่งแวดล้อม ต้องนึกถึง EEC เป็นที่แรกในประเทศ”
แม้จะเริ่มต้นจากคนกลุ่มเล็กๆ ในรูปแบบบริษัทเล็กๆ แต่ทว่าเป้าหมายระยะไกลนั้นยิ่งใหญ่ไม่น้อย ตามที่นักแสดงหนุ่มผู้ร่วมก่อตั้งยืนยันว่า...ไม่ได้มาเล่นๆ
“สำหรับ EEC ผมว่ามันจะใหญ่ขึ้นได้เรื่อยๆ เพราะยิ่งทำยิ่งเปิดกว้าง ยิ่งมีคนสนใจ ยิ่งทึ่งกับสิ่งที่เราทำ ล่าสุดเมื่อเดือนที่แล้วผมพาเด็กๆ ไปนำเสนอโครงการ Fighting Extinction ในงานเสวนา* ที่มีบอสใหญ่จาก IUCN (International Union for Conservation of Nature) องค์กรสิ่งแวดล้อมทั่วโลกมารวมตัวกัน เขาไม่รู้ด้วยซ้ำว่าผมเป็นนักแสดง แต่เขารู้จัก EEC หลายคนเข้ามาทัก มาขอแลกนามบัตร บอกว่าถ้าอยากจะมาทำอะไรที่ญี่ปุ่น ที่ฟิลิปปินส์ ติดต่อมานะ ดังนั้น ผมคิดว่าองค์กรนี้จะใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ อยากให้มีห้องเรียน มีเบสแคมป์อยู่ที่เขาใหญ่ เป็นศูนย์การเรียนรู้ที่มีที่พักให้เด็กๆ ได้ไปเรียนรู้ สามารถที่จะรับเด็กๆ หลายแบบ รวมถึงเด็กๆ ที่ไม่มีโอกาสดีเท่าเด็กในเมือง มากกว่านั้นเรายังสามารถที่จะไปถึงต่างประเทศได้ ทำเรื่องของคอนเฟอเรนซ์ จัดสัมมนาสิ่งแวดล้อมสำหรับทั้งเด็กและผู้ใหญ่ คิดใหญ่ครับ ฝันใหญ่เลย ผมไม่ได้มาเล่นๆ ครับ
“จากปีแรกกำหนดไว้ประมาณ 4 กิจกรรม เราทำไปประมาณ 9 กิจกรรม ปีที่สองทำทั้งหมดประมาณ 36 ค่าย พอมาปีนี้ก็มีโปรแกรมเยอะมาก และเต็มเร็วมาก สำหรับปีหน้าเราก็กำลังวางแผนค่ายอยู่ และกำลังจะมีโปรเจ็กต์ใหญ่ๆ พร้อมขยายสเกลของงาน เพิ่งเมื่อ 4 เดือนมานี้เองที่ผมรู้สึกว่าตำแหน่งงานที่ต้องการมันครบ อยู่ตัวแล้ว ทำให้เราสามารถหาแผนกเพิ่มที่จะเสริมเรื่องคุณภาพของค่ายได้ เช่น ฝ่ายวิชาการ ถึงบริษัทจะยังไม่ใหญ่ แต่มีระบบที่เริ่มจะนิ่ง องค์กรสามารถเลี้ยงตัวเองได้”
นอกเหนือจากผลตอบรับที่ถือได้ว่าเกินคาดหมายทีเดียว เด็กๆ ที่มาเข้าค่ายต่างได้รับความรู้กลับไปเต็มเปี่ยม ในส่วนของคนทำงานเองก็ยังได้เรียนรู้และพัฒนาไม่แพ้กัน
“ถ้ามาสัมภาษณ์เมื่อสองปีที่แล้ว ผมจะพูดไม่รู้เรื่องขนาดนี้นะ (ยิ้ม) เป็นความโชคดีที่จังหวะชีวิตพาให้เรามาเจอตรงนี้ คือเราเล่นละครมาเยอะ แต่ก็เคยคิดอยู่ในใจว่าอยากใช้ความคิดของเราทำอะไรอื่น ไม่อยากที่จะรอคนโทร.มา แต่พอผมมีบริษัทนี้ ผมเป็นฝ่ายโทร.หาทุกคนเอง ผมรู้สึกว่าได้ความมั่นคงของชีวิต ได้สร้างอะไรที่เป็นมิตรกับสังคมในแบบที่เป็นตัวของเราเอง มันคือความภาคภูมิใจที่รู้สึกดีมาก และสิ่งที่ผมได้รับมากที่สุดคือการคิดในมุมที่กว้างขึ้น สามารถตัดคำว่า Comfort Zone ออกได้หมด มีแรงขับบางอย่างที่เราต้องไปให้ถึง คำว่าไม่สำเร็จจะไม่อยู่ในวิธีคิดของเราเลย เพราะเราจะไม่ปล่อยให้มันไม่สำเร็จน่ะ หรือการอยู่กับธรรมชาติเยอะก็ได้ตัดคำว่ากิเลสออก ทำให้ใจเรานิ่งและค้นหาตัวเองเจอ แล้วก็สามารถอยู่กับสังคมไหนก็ได้อย่างมีความสุข ไม่ว่าจะในฐานะผู้บริหารที่นี่ หรือในฐานะนักแสดงคนหนึ่ง ได้เห็นความสำคัญของสิ่งที่สำคัญกับชีวิตเราจริงๆ เปลี่ยนความคิดให้เรามีความสุขกับสิ่งที่ทำ”
การศึกษาคือปัญหาวิกฤติ
“สิ่งแวดล้อมที่วิกฤติที่สุดในมุมมองของผมคือเรื่องของการศึกษา และความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม เราเติบโตมาโดยคิดว่าสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่น่าเบื่อ เป็นเรื่องวิชาการ พอผมลงมาทำงานแล้ว ก็อยากทำให้เด็กรู้สึกสนุกกับสิ่งแวดล้อม ผมคิดว่าไม่มีวิธีอื่นที่ยั่งยืนไปกว่านี้แล้ว เพราะการที่คุณให้การศึกษากับชาวบ้าน หรือคนที่ไม่มีโอกาส ก็คือการให้โอกาสในเรื่องการดูแลสิ่งมีชีวิตในระยะยาว การศึกษาสามารถที่จะเป็นทางออกให้กับทุกปัญหาในโลกเรา ที่จริงเรามีองค์ความรู้เยอะมาก มีผู้เชี่ยวชาญที่เก่งมาก แต่ด้วยความที่สิ่งแวดล้อมมันไม่ใช่กระแสหลัก ก็เลยไม่สามารถที่จะเอาองค์ความรู้นี้ไปบอกกับประชาชนทั่วไปได้ แรงขับเคลื่อนของเราจึงอยู่ที่ประเด็นนี้ เราต้องการให้องค์ความรู้กับประชาชนผ่านช่องทางต่างๆ เพื่อปลุกคนให้ลุกขึ้นมามีส่วนร่วม ผมทำคนเดียวไม่ได้ องค์กรแค่หนึ่งหรือสององค์กรทำไม่ได้ เพราะเรื่องของสิ่งแวดล้อมทุกคนต้องช่วยกันดูแล เราต้องการคนจากทุกสังคมมาร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยกันดูแลทรัพยากรของเรา”
วิธีรักษ์โลกง่ายๆ ในแบบอเล็กซ์
“ผมเป็นคนเชื่อว่า ถ้าเราทำดีต่อสิ่งรอบตัวเรา ทุกอย่างมันก็จะดีไปเอง เพราะฉะนั้นอยากให้ทุกคนทำทุกอย่างที่มันเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิต เป็นมิตรกับคน เป็นมิตรกับสัตว์ และมีความรับผิดชอบกับสิ่งที่ตัวเองทำ เวลาไปเที่ยวก็ทำสิ่งเล็กๆ น้อยๆ ได้ครับ เช่น การทิ้งขยะ แม้กระทั่งการพูดจา ผมก็คิดว่ามันมีผลต่อสิ่งแวดล้อมนะ (ยิ้ม) อยากให้ทุกคนคิดในทางบวก แล้วทำตัวเป็นมิตรกับสิ่งมีชีวิตทั้งหมด แค่นี้ก็ช่วยทำทุกอย่างให้ดีขึ้นแล้วล่ะครับ”
สนใจร่วมกิจกรรมกับ EEC THAILAND (ENVIRONMENTAL EDUCATION CENTRE) คลิกที่ http://eecthailand.com/