ทุกๆ วัน ตลาดริมเมย อำเภอแม่สอด จังหวัดตาก จะคลาคล่ำไปด้วยผู้คนทั้งชาวไทยและพม่า ตลาดแห่งนี้ไม่ได้เป็นแค่แหล่งช้อปปิ้งที่ใหญ่ที่สุดของคนแม่สอด แต่ยังเป็นด่านที่แรงงานเมียนมาอพยพมาเป็นแรงงานในฝั่งไทยอีกด้วย ส่งผลให้การค้าและเศรษฐกิจในแม่สอดคึกคักตลอดเวลา และนอกเหนือจากชายแดนแถบแม่สอด ชาวเมียนมายังเข้ามาผ่านช่องทางในหลายจังหวัดชายแดนของไทย ซึ่งรวมไปถึง พังงา ระนอง กาญจนบุรี แม่ฮ่องสอน เชียงใหม่และเชียงราย
แม้การเข้ามาของแรงงานชาวเมียนมาจะเป็นประโยชน์กับเศรษฐกิจของไทย ด้วยการชดเชยการขาดแรงงาน แต่ได้ซ่อนปัญหาไว้ในเวลาเดียวกันกล่าวคือ แรงงานพม่ากว่า 3 ล้าน กระจัดกระจายอยู่ตามพื้นที่ต่างๆ ทั่วประเทศ โดยเฉพาะตามตะเข็บชายแดน ส่งผลให้เยาวชนที่ติดตามพ่อแม่เข้ามา ไม่สามารถเข้าเรียนในระบบได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันเยาวชนต่างด้าวที่ต้องเข้าศึกษาตามศูนย์การเรียนรู้ที่จัดตั้งขึ้นโดยภาคเอกชนและองค์กรที่ไม่แสวงผลกำไร (NGO) ก็ไม่ได้รับการรับรองจากระบบการศึกษาของทั้งฝั่งไทยและเมียนมา เพราะศูนย์การเรียนรู้เหล่านี้ ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนและหลักสูตรที่ไม่ได้มาตรฐาน เมื่อเยาวชนเหล่านี้เติบโตและต้องเข้าสู่ตลาดแรงงาน ก็กลายเป็นแรงงานที่ขาดทักษะ ซึ่งส่งผลต่อการพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมและคุณภาพชีวิตในที่สุด
ด้วยเหตุนี้ องค์การการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนสโก (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization: UNESCO) ซึ่งเป็นองค์กรที่มุ่งพัฒนาการศึกษาภายใต้องค์การสหประชาชาติ (United Nation) จึงได้ร่วมกับ Microsoft สำนักงานส่งเสริมการศึกษานอกระบบและการศึกษาตามอัธยาศัย (กศน.) สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน (สพฐ.) มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน และ บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ริเริ่มจัดทำโครงการ “ส่งเสริมการเรียนรู้หนังสือผ่านสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา” (Mobile Literacy for Out-Of-School Children Project) ขึ้นในปี 2558 โดยอาศัยศักยภาพของเทคโนโลยีสารสนเทศและระบบสื่อสารประกอบด้วย โทรทัศน์และชุดอุปกรณ์รับสัญญาณดาวเทียม พร้อมช่องรายการสาระความรู้จาก ทรูวิชั่นส์ กว่า 80 ช่อง จากโครงการทรูปลูกปัญญา เพื่อใช้ในการเชื่อมต่อกับแท็บเล็ตของของครูและนักเรียนที่ติดตั้งแอพพลิเคชั่น LearnBig ซึ่งรวบรวมสื่อการเรียนรู้ทั้งภาษาไทย เมียนมา และกะเหรี่ยงมากกว่า 1,000 รายการ รวมถึง True ClickLife ซึ่งเป็นสื่อดิจิทัลเพื่อการเรียนรู้ครอบคลุม 8 สาระวิชา พัฒนาขึ้นโดยกลุ่มทรู นอกจากนี้ครูและนักเรียนยังได้เข้าถึงโลกกว้างและสาระความรู้จากทั่วโลกบนอินเทอร์เน็ตด้วยสัญญาณ wi-fi hotspot จาก Truemove H ทำให้เด็กมีพัฒนาการทางความรู้ที่ดีขึ้นและเท่าเทียมกับเด็กในเมืองใหญ่
ในปี 2558 ซึ่งเป็น ระยะแรกของโครงการ มีศูนย์การเรียนรู้ 20 แห่ง เข้าร่วม (15 ศูนย์และ5 กศน.ตำบล) ใน 3 จังหวัดคือ ตาก เชียงรายและระนอง ในระยะทื่ 2 ปี 2559 ได้ไปใช้กับ 40 แห่ง (15 ศูนย์และ 25 รร.ในสังกัด สพฐ.) ใน 3 จังหวัดคือ ตาก กาญจนบุรี และสมุทรสาคร
ปัจจุบันมีเยาวชนที่ได้เข้าร่วมเรียนรู้ด้วยสื่อพกพา และเข้าถึงการศึกษาที่มีมาตรฐาน กว่า 5,595 คน และเริ่มออกดอกออกผลให้เห็น ล่าสุด เด็กชายชิทโก้ (Chit Ko) เด็กชาวพม่าจบประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 จากศูนย์การเรียนรู้ซุคะหงษา แม่สอด สามารถสอบทำคะแนนสูงสุดของหลักสูตร กศน. ระดับชั้นประถมศึกษาของรัฐกระเหรี่ยง นอกจากนี้ นักเรียนจากศูนย์การเรียนรู้อื่นๆ ในโครงการสื่อพกพาฯ ยังติดอันดับ Top 5 นักเรียนที่มีผลการเรียนยอดเยี่ยม ของ กศน.พม่า อีกด้วย ซึ่งสะท้อนให้เห็นถึงคุณภาพการเรียนการสอนที่ได้มาตรฐาน ตามหลักสูตรระดับชาติของประเทศเมียนมาที่กำหนดไว้ นอกจากนี้ ความสำเร็จของเด็กชายชิทโก้ และเยาวชนจากศูนย์การเรียนรู้ในโครงการ ยังเป็นแบบอย่างให้กับเด็กๆต่างด้าวคนอื่นๆได้เดินรอยตามและยังช่วยดึงความสนใจของผู้ปกครองชาวเมียนมา มาให้ความสำคัญกับการศึกษาเพิ่มมากขึ้น เพื่ออนาคตที่มั่นคงของบุตรตนเอง
ไม่เพียงพัฒนาด้านการศึกษาให้เท่าเทียม โครงการสื่อพกพาฯ ยังเข้าไปดูแลด้านโภชนาการ ให้กับเยาวชนต่างด้าว ซึ่งส่งผลโดยตรงต่อระบบสมองและความจำ โดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้เข้าร่วมสนับสนุนโครงการเลี้ยงไก่ไข่เพื่อเป็นอาหารกลางวัน ให้กับศูนย์ที่มีความพร้อม ซึ่งนำร่องเป็นแรกที่ศูนย์การเรียนรู้อา โยน อู อ.แม่สอด จ.ตาก ซึ่งครูและเยาวชนของศูนย์เรียนรู้ที่นี่ได้ เรียนรู้การเลี้ยงไก่ไข่ที่ถูกสุขลักษณะ และ ยังปลูกพืชผักสวนครัวเพื่อประกอบการทำอาหารกลางวันอีกด้วย
ถึงวันนี้ เป็นเวลาเกือบ 2 ปีแล้ว โครงการนี้ได้ให้โอกาสกับเด็กต่างด้าวเข้ามาเรียนหนังสือโดยเฉพาะที่ศูนย์การเรียนซุคะหงษา ที่ อ.แม่สอด จ.ตาก ปัจจุบันมีครูชาวไทย 1 คน และครูชาวพม่า 7 คน ช่วยดูแลเด็กๆกว่า 100 คน ซึ่งนายสุคนธ์ ปานทอง เจ้าหน้าที่จากมูลนิธิช่วยไร้พรมแดน ผู้คลุกคลีอยู่กับเด็กๆในพื้นที่บอกว่า เด็กๆสนุกกับการเรียนมาก เนื่องจากทางศูนย์ฯใช้สื่อสมัยใหม่ซึ่งมีภาพเคลื่อนไหวในการเรียนการสอน ทำให้เด็กไม่รู้สึกเบื่อและตั้งใจเรียนมากขึ้น
“เด็กๆที่นี่มาจากครอบครัวที่หาเช้ากินค่ำ บางครอบครัวไม่เห็นความสำคัญกับการศึกษา คุณครูก็พยายามชักจูงผู้ปกครองให้นำลูกๆของพวกเขาให้เข้ามาเรียน เพื่อมีอนาคตที่ดี ส่วนเด็กๆพอได้เข้ามาเรียน ก็สนุกสนานกับวิชาที่เรียน เด็กหลายคนพยายามและตั้งใจเรียนมาก” นายสุคนธ์บอกและกล่าวเพิ่มเติมว่า ศูนย์ฯ ไม่เพียงแต่สอนวิชาการ แต่จะสอนด้านจริยธรรมและวัฒนธรรมไทย เพื่อขัดเกลาพฤติกรรม เพื่อให้พวกเขามีความเข้าใจและอาศัยอยู่ร่วมกับคนไทยอย่างสันติสุข
“เด็กๆบางคนฝันอยากเป็นหมอ พยาบาล ตำรวจและครู” นายสุคนธ์กล่าวด้วยความภูมิใจและบอกว่า ถือเป็นความสำเร็จเล็กๆของโครงการฯที่ช่วยจุดประกายความฝันของเด็กๆขึ้นมา และยังจะช่วยผลักดันให้พวกเขาเดินไปข้างหน้าเพื่อไปถึงที่หมายนั้น
ดร.กันทิมา กุญชร ณ อยุธยา หัวหน้าคณะผู้บริหาร (ร่วม)ด้านนวัตกรรมและความยั่งยืน กลุ่มทรู หนึ่งในผู้ร่วมสนับสนุนโครงการสื่อพกพาเพื่อเด็กนอกระบบการศึกษา กล่าวว่า “เครือเจริญโภคภัณฑ์ และ กลุ่มทรู มีความมุ่งมั่นที่จะนำนวัตกรรมด้านการสื่อสารครบวงจรเข้าไปช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคม โดยเฉพาะด้านการศึกษา ซึ่งเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาศักยภาพของมนุษย์ไม่ว่าชาติใดภาษาใด ที่สำคัญการศึกษาที่ดี ยังจะช่วยให้เยาวชนเหล่านี้เติบโตมีคุณภาพชีวิตที่ดี และสามารถสร้างแรงบันดาลใจเพื่อส่งต่อคุณค่าดีๆ ให้กับสังคมต่อไปอีกด้วย”
และเป็นที่น่าภูมิใจที่โครงการสื่อพกพาสำหรับเด็กนอกระบบการศึกษา ได้รับเลือกให้เป็น 1 ใน 38 โครงการ ที่ได้รับรางวัล “ซีพี...เพื่อความยั่งยืน” ซึ่งจัดขึ้นโดยเครือเจริญโภคภัณฑ์ เมื่อต้นปีที่ผ่านมา เพื่อยกย่องโครงการเพื่อสังคมดีเด่น สร้างความยั่งยืนให้กับชุมชนสังคม ครอบคลุมทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม โครงการสื่อพกพาเพื่อเด็กนอกระบบการศึกษาสามารถสร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับเยาวชนและสังคมได้อย่างเป็นรูปธรรม และยังสะท้อนความมุ่งมั่นของเครือฯ ในการดำเนินธุรกิจ ควบคู่การการพัฒนาสังคมอย่างยั่งยืน และสอดคล้องกับเป้าหมายขององค์การสหประชาชาติ ในการลดความเหลื่อมล้ำด้านการศึกษาอีกด้วย
“Every 2030 ensure every child completes free, equitable and quality primary and secondary education”
From The United Nations Sustainable Development Goals.